หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ข้าวนอกจากจะเป็นอาหารหลักของคนไทยที่มีคุณค่าทางอาหาร และโภชนาการสารพัดแล้ว ข้าวยังสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องประทินผิว และความงามได้อีกด้วย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลอภัยภูเบศร บอกเล่าเก้าสิบเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของข้าวในเรื่องความสวยงามไว้ในหนังสือ “ข้าว ความลับของ...สุขภาพ และความงาม” ว่า ในอดีตคนไทยโบราณมีการใช้ “น้ำซาวข้าว” มาสระผม ซึ่งจะช่วยบำรุงเส้นผมให้นุ่มลื่น ไม่เป็นรังแค และมีกลิ่นหอมของน้ำซาวข้าว นอกจากนี้ ถ้าจะให้ดีให้ใช้น้ำซาวข้าวที่เก็บไว้หลายวันหรือที่เรียกว่า “น้ำมวกส้ม” ซึ่งเมื่อนำมาสระผมจะทำให้ผมเป็นเงางามกว่าน้ำซาวข้าวธรรมดา และยังใช้สระผมร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นได้ อีกหลายตำรับ ไม่ว่าจะเป็นยาสระผมน้ำซาวข้าวใบหมี่ ตำรับยาสระผมมะกรูดและน้ำข้าวกล้องปั่น ตำรับของสาวภูไท นอกจากนี้รำข้าวยังช่วยปลูกผมได้อีกด้วย ซึ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาที่ช่วยให้คนพึ่งตัวเองได้ แต่ปัญหาก็คือ ในยุคสมัยนี้ การจะใช้น้ำซาวข้าวมาสระผม คงเป็นเรื่องยากลำบากเต็มที | ||||
ด้วยเหตุดังกล่าว ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยคืนความชุมชื้นให้เส้นผมคือ การใช้น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก หมักผม ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ว่านหางจระเข้ ไข่แดง มะขามป้อม รำข้าว หรือใช้แชมพูทั่วไปสระผมสลับการใช้น้ำขาวสระผมบางครั้งก็ได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากจะข้าวนำมาใช้เพื่อความงามของผมแล้ว ยังสามารถนำข้าวมาบำรุงผิว ทำให้ผิวอ่อนเยาว์ เปล่งปลั่ง ช่วยแก้สิว แก้ฝ้าได้อีกด้วย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ เล่าว่า สาวไทยสมัยก่อนใช้น้ำซาวข้าวมาล้างหน้า ด้วยเชื่อว่า จะทำให้ผิวหน้าเปล่งปลั่งเป็นนวลใยไร้สิวฝ้า แป้งข้าวจ้าวใช้กล่อมผิว ให้ผิวสวย ไร้ผดผื่นคัน จึงถือเป็นความชาญฉลาดของผู้คนในอดีต เนื่องจากปัจจุบันพบว่า องค์ประกอบต่างๆ ของข้าว ล้วนมีประโยชน์ต่อผิวพรรณ | ||||
นอกจากนี้ สารสกัดจากรำข้าวยังทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น น้ำมันจากจมูกข้าวช่วยเคลือบผิวไม่ให้สูญเสียความชุ่มชื้น เพื่อปกป้องการระคายเคืองของผิวหนัง ส่วนแป้งข้าวเจ้าก็มีคุณสมบัติลดอาการระคายเคืองและดูดซับ เหมาะที่จะใช้ทำแป้งฝุ่น ผลิตภัณฑ์จากข้าวจึงเหมาะที่จะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ สำหรับบำรุงผิวพรรณและปกป้องผิว ภญ.ดร.สุภาภรณ์ บอกต่อว่า ในส่วนของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ก็ได้มีการค้นคว้าวิจัยเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว จึงนำไปสู่การผลิตเป็นสบู่รำข้าว และผลิตภัณฑ์หลากหลาย โดยครีมบำรุงผิวผลิตจากรำข้าวและมะขามป้อม จะช่วยบำรุงบริเวณผิดหนังที่ย่น ด้าน เช่น บริเวณข้อศอก หัวเข่า และครีมหมักผมจากรำข้าวและมะขามป้อม ที่ช่วยบำรุงเข้มข้นเส้นผมและหนังศีรษะให้มีความยืดหยุ่น ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดที่มีการนำมาจำหน่ายเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ก็ยังมีสบู่จากรำข้าว, สบู่สระผมจากรำข้าว รวมถึงโลชันรำข้าวเพื่อการทำความสะอาดหน้าที่ผลิตจากสารสกัดจากรำข้า ซึ่งกำลังพัฒนาเพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยี แห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผลิตเซรั่มนาโนจากน้ำมันรำข้าวเพื่อใช้ในการกระตุ้นการงอกของเส้นผมในผู้มี ปัญหาผมบาง และครีมพริกนาโนที่ใช้สรรพคุณวิเศษของพริกช่วยลดอาการปวดเมื่อย โดยสกัดความเผ็ดร้อนออกไป ด้วยนาโนเทคโนโลยี ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ข้าวมีคุณประโยชน์มากมายสารพัด ครอบคลุมทั้งการใช้เป็นอาหารสุขภาพ การใช้เป็นยา และเสริมความงาม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เอา ไว้มิให้สูญหายไป โดยเฉพาะความรู้พื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับข้าว |
การพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียวเมื่อประมาณกว่า 4 ทศวรรษ ที่ผ่านมานั้น เน้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิต มากกว่าจะคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการของพันธุ์ข้าว ระบบการส่งเสริมการปลูกข้าวสมัยใหม่ที่เน้นการปลูกข้าวเชิงเดี่ยวโดยใช้สาย พันธุ์ข้าวหลักๆ เพียงไม่กี่สายพันธุ์ ได้ทำให้พันธุ์ข้าวพื้นบ้านเป็นจำนวนมากหายไปจากผืนนา ทั้งๆที่พันธุ์ข้าวพื้นบ้านนั้น มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าพันธุ์ข้าวทั่วไปที่เรารู้จักหลายเท่า
ทั้งนี้ จากการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมากกว่า 200 สายพันธุ์ ร่วมกับชุมชนชาวนาในจังหวัดอุบลราชธานี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ยโสธร มหาสารคาม พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช เพื่อนำไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงศักยภาพในการป้องกันและรักษาโรค โดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล ผลการวิเคราะห์พบว่า พันธุ์ข้าวพื้นบ้านหลายสายพันธุ์มีคุณค่าทางโภชนาการที่น่ามหัศจรรย์ ดังต่อไปนี้
วิตามินอี
วิตามินอีเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ ช่วยไขกระดูกในการสร้างเลือด ช่วยขยายเส้นเลือด ต้านการแข็งตัวของเลือด ลดความสามารถในการจับตัวเป็นลิ่มเลือด และลดอัตราเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด สมอง หัวใจ บำรุงตับ ช่วยระบบสืบพันธุ์ เซลล์ประสาท และกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ตามปกติ ช่วยให้ผิวพรรณสดใส ลดริ้วรอย และช่วยสมานแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกให้หายเร็วขึ้น เป็นต้น
ข้าวเจ้าหน่วยเขือสูงมีวิตามินอีสูงถึง 26.2 เท่า หอมมะลิแดง และมะลิดั้งเดิมสูง 11-12 เท่า ข้าวหนียวเล้าแตกสูง 10.3 เท่า ข้าวเหนียวก่ำเปลือกดำ 6.5 เท่า และข้าวช่อขิง 6 เท่า ของข้าวกล้องทั่วไป
ลูทีน
ลูทีนเป็นสารธรรมชาติจัดอยุ่ในกลุ่มของสารรงควัตถุ ที่มีสีในตระกูลของสารแคโรที-นอยด์ แต่มีความแตกต่างจากคาโรทีนอยด์ชนิดอื่นตรงที่จะไม่เปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ มีหน้าที่ที่สำคัญในการช่วยป้องกันโรคต้อกระจกที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูง อายุ
ข้าวเหนียวก่ำเปลือกดำมีลูทีนสูงถึง 25 เท่าของข้าวหอมมะลิ
เบต้าแคโรทีน
เบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ กล่าวคือ สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอหลังจากถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ การรับประทานอาหารประเภทที่มีเบต้าแคโรทีนสูง จะช่วยบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยให้กระดูก ผม ฟัน และเหงือกแข็งแรง สร้างความต้านทานให้ระบบหายใจ
ในข้าวเหนียวก่ำเปลือกดำ มีสารเบต้าแคโรทีนสูงถึง 3.81 เท่า ข้าวหน่วยเขือ 1.68 เท่า และข้าวเล้าแตก 1.58 เท่า ของข้าวเจ้ากล้องทั่วไป การบริโภคข้าวก่ำร่วมกับผักพื้นบ้าน เช่น ยอดแค ตำลึง ชะอม ขี้เหล็ก กระถิน จะช่วยเพิ่มวิตามินเอให้กับร่างกาย
ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการสร้างเม็ดเลือดแดง จากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการพบว่า ในข้าวหน่วยเขือ หอมมะลิแดง หอมมะลิทั่วไป เหนียวก่ำเปลือกดำ เหนียวเล้าแตก และช่อขิง มีธาตุเหล็กสูง 2.9-1.9 เท่าของข้าวเจ้ากล้องทั่วไป
สารทองแดง
ทองแดงเป็นสารอาหารที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากเป็นส่วนประกอบในเอนไซม์หลายตัวในร่างกาย เช่น การสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย การกำจัดอนุมูลอิสระ การสร้างความยืดหยุ่นของผิวหนัง การขาดทองแดงก่อให้เกิดภาวะซีดจากโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวมีมากเม็ดเลือดแดงลดลง โคเลสเตอรอลในเลือดสูงและการเต้นของหัวใจผิดปกติ
ข้าวหน่วยเขือ หอมมะลิแดง เหนียวหอมทุ่ง มีทองแดงสูง 5-3.8 เท่าของข้าวกล้องทั่วไป
ข้าวหอมมะลิแดงกับศักยภาพในการป้องกันและบรรเทาโรคเบาหวาน
จากการทดสอบพบว่า ข้าวหอมมะลิแดงที่หุงสุกแล้วมีการเพิ่มขึ้นของระดับของน้ำตาลกลูโคสในช่วง เวลา 20 นาทีแรกค่อนข้างช้า คือ 10.60 กรัมต่อ 100 กรัม และปริมาณน้ำตาลกลูโคสหลังจากย่อยผ่านไป 120 นาที มีค่าเพียง 8.59 กรัมต่อ 100 กรัม แสดงให้เห็นว่าข้าวหอมมะลิแดงน่าจะเป็นข้าวพื้นเมืองที่มีดัชนีน้ำตาลที่ เหมาะกับการส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่อยู่ในภาวะปกติ หรือผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รับประทาน เพราะเมื่อรับประทานข้าวชนิดนี้เข้าไปแล้ว ร่างกายจะมีปริมาณน้ำตาลกลูโคสเพิ่มสูงขึ้นช้ากว่าข้าวเจ้าทั่วไป
ข้าวพื้นบ้านมีสารแอนติออกซิแดนท์มากกว่าข้าวทั่วไป
แอนติออกซิแดนท์ คือ สารที่สามารถขจัดอนุมูลอิสระออกจากร่างกาย ในข้าวพื้นบ้านมีสารทองแดง สังกะสี เบต้าแคโรทีน วิตามินอี ซึ่งมีความสามารถดังกล่าว การบริโภคอาหารที่มีแอนตี้ออกซิแดนท์จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง ลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคความจำเสื่อม โรคไขข้ออักเสบ แก่เร็ว เป็นต้น
เรื่องโดย....แผนงานฐานทรัพยากรอาหาร
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9510000107428a