กินผักผลไม้แบบไหน ได้ประโยชน์ / เอมอร คชเสนี

โดย เอมอร คชเสนี 29 เมษายน 2554 11:48 น.



 ผัก ผลไม้มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างยิ่ง มีเส้นใยอาหารที่ช่วยในระบบทางเดินอาหาร และระบบขับถ่าย เป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่ ช่วยป้องกันและบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แถมยังช่วยบำรุงผิวพรรณ แต่ผักผลไม้นั้นมีมากมายหลายชนิด ตลอดจนมีการแปรรูปออกมาในหลากหลายรูปแบบ หลายคนคงสงสัยว่า คุณประโยชน์ต่างๆ ของผักผลไม้แต่ละชนิด แต่ละรูปแบบ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร





       - ผักผลไม้สีต่างๆ มีประโยชน์เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
       

       สีสันในผักผลไม้มาจากสารเคมีตามธรรมชาติที่แตกต่างกันไป เช่น
       ผักผลไม้สีส้ม สีเหลือง เช่น แครอท ฟักทอง และผักใบเขียวเข้ม เช่น ตำลึง คะน้า ผักบุ้ง บร็อกโคลี จะมีเบต้าแคโรทีนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวการก่อมะเร็ง นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ
      
       ผักผลไม้สีแดง เช่น มะเขือเทศ แตงโม มะละกอสุก จะมีไลโคปีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้เช่นกัน และยังช่วยลดคอเลสเตอรอลตัวร้ายได้อีกด้วย
      
       ผักผลไม้สีเหลือง และผักใบเขียวเข้ม เช่น ข้าวโพด ผักกาด คะน้า ปวยเล้ง ผักโขม จะมีลูทีนและซีแซนทินซึ่งช่วยบำรุงสายตาและป้องกันความเสื่อมของดวงตา
      
       ผักผลไม้สีม่วง เช่น ดอกอัญชัน กะหล่ำม่วง มะเขือม่วง เบอร์รีชนิดต่างๆ จะมีแอนโทไซยานินซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด และช่วยต้านการอักเสบ
      
       - ผักผลไม้ชนิดใดดีที่สุด
       

       สารสำคัญในผักผลไม้ชนิดต่างๆ ทำงานออกฤทธิ์ส่งเสริมเกื้อหนุนกัน จึงไม่มีชนิดใดดีที่สุด การรับประทานให้หลากหลาย สลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวัน อย่าให้ซ้ำซากจำเจจะดีที่สุด
      
       - ผักดิบกับผักสุก มีประโยชน์เหมือนกันหรือไม่
       

       ผักสุกอาจจะสูญเสียวิตามินบางตัว เช่น วิตามินซี ซึ่งสลายตัวได้ง่ายเมื่อผ่านความร้อน แต่บางคนอาจประสบปัญหาท้องอืดจากการกินผักดิบ หรือท้องเสียเพราะล้างไม่สะอาด
      
       ผักบางชนิดรับประทานสุกจะมีประโยชน์กว่า เช่น มะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุกหรือผ่านกระบวนการ เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ ร่างกายจะนำไลโคปีนไปใช้ได้ดีกว่าผลสด
      
       - น้ำผักผลไม้ มีประโยชน์เหมือนผักผลไม้สดหรือไม่
       

       น้ำผักผลไม้ไม่มีกากใยเหมือนกับผักผลไม้สดๆ กากใยช่วยให้เรารู้สึกอิ่ม ช่วยขัดขวางการดูดซึมไขมันและคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงไขมันอุดตันในเส้นเลือด ป้องกันโรคอ้วน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดีต่อระบบการขับถ่าย ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร และลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
      
       แต่สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้รับประทานผักผลไม้สด ก็อาจจะดื่มน้ำผักผลไม้เสริม โดยควรจะคั้นเอง ดีกว่าซื้อน้ำผักผลไม้สำเร็จรูปซึ่งจะมีปริมาณน้ำตาลสูง น้ำผักผลไม้ที่คั้นเองยังสะอาดปลอดภัยกว่าซื้อนอกบ้านอีกด้วย
      
       - ผักผลไม้แห้ง ดีหรือไม่
       

      
       ผักผลไม้แห้งที่ใส่น้ำตาลจะให้พลังงานสูงกว่าผักผลไม้สดประมาณ 1 เท่าตัว ควรรับประทานแต่น้อย ไม่เช่นนั้นอาจจะอ้วนได้
      
       ส่วนผักผลไม้แห้งที่เติมเกลือ เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง ก็มีผลต่อโรคความดันโลหิตสูง ควรรับประทานแต่น้อยเช่นกัน
      
       - ผักผลไม้แช่แข็งหรือบรรจุกระป๋อง ยังมีประโยชน์หรือไม่
       

      
       กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสามารถรักษาคุณค่าทางอาหารเอาไว้ได้ อาจสูญเสียวิตามินบางชนิดไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับเสื่อมคุณภาพ
      
       อย่างไรก็ตาม ผักผลไม้แช่แข็งต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมเท่านั้น ส่วนผักผลไม้กระป๋อง ควรเลือกชนิดที่ไม่เติมเกลือและน้ำตาล หรือแต่งเติมสิ่งต่างๆ ให้น้อยที่สุด
      
       - สารสกัดจากผักผลไม้ ทดแทนผักผลไม้สดได้หรือไม่
       

       ผักผลไม้สดมีทั้งกากใย วิตามิน เกลือแร่ มากมายหลายชนิด ที่ทำงานประสานส่งเสริมกัน ซึ่งผักผลไม้ที่แปรรูปเป็นอาหารเสริมหรือสารสกัดไม่สามารถทดแทนได้
      
       ควรรับประทานผักผลไม้ให้ได้ทุกมื้อ ทุกวัน เทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยไม่ให้การรับประทานผักกลายเป็นเรื่องจืดชืดจำเจ คือการสร้างสรรค์เมนูผักตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นผัดผัก ต้มแกง ผักจิ้มน้ำพริก เครื่องเคียงในอาหารยำ สลัดผักผลไม้ โดยเลือกผักผลไม้ชนิดต่างๆ ให้หลากหลาย ผู้ที่ชื่นชอบผักผลไม้เป็นพิเศษอาจจะหั่นผสมลงไปในข้าว กับข้าว หรือเครื่องดื่ม รับประทานผลไม้เป็นอาหารว่างแทนขนมขบเคี้ยว ดื่มน้ำผักหรือน้ำผลไม้คั้นเองสักวันละแก้ว หรือแม้แต่หันมากินข้าวกล้องแทนข้าวขาว ก็เพิ่มคุณค่าให้กับมื้ออาหารได้ไม่น้อย
      
       ติดตามฟังรายการ “Happy & Healthy”
       ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
       ทางคลื่นของประชาชน คนนำปัญญา FM 97.75 MHz
       และ www.managerradio.com
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000052750