โดย เอมอร คชเสนี | 25 กุมภาพันธ์ 2554 12:37 น. | |
สัตว์มีพิษอีกชนิดหนึ่งที่จะกล่าวถึงในวันนี้ ก็คือ งูพิษ ค่ะ
เมืองไทยมีงูค่อนข้างชุกชุม เนื่องจากเป็นเมืองร้อน ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม มีห้วยหนองคลองบึง ท้องไร่ท้องนา พงหญ้า โพรงไม้ ฯลฯ เหมาะที่งูจะซุกตัวอยู่อาศัย ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีสถิติของเด็กและผู้ใหญ่ที่ถูกงูกัดไม่ใช่น้อย งูนั้นมีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่อาจแบ่งได้คร่าวๆ เป็น 2 ประเภท คือ งูไม่มีพิษและงูมีพิษ
งูไม่มีพิษ มีฟันแต่ไม่มีเขี้ยว เมื่อถูกกัด แผลจะบวมเล็กน้อย สังเกตที่บาดแผลจะเห็นรอยฟันแต่ไม่มีรูที่เกิดจากเขี้ยวงู การปฐมพยาบาลก็เพียงแต่ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ แล้วซับให้แห้ง ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซที่สะอาด จากนั้นไปพบแพทย์เพื่อประเมินและสังเกตอาการ
ส่วนลักษณะของงูมีพิษนั้น ดวงตามักจะเรียวยาว หัวเป็นรูปสามเหลี่ยม มีรอยบุ๋มหรือหลุมอยู่ตรงกลางระหว่างหัวตา รูจมูกทั้งสองอยู่ด้านข้าง มีเขี้ยวโค้งสองข้างที่ขากรรไกรบน ภายในเขี้ยวจะเป็นร่องกลวงเหมือนเข็มฉีดยา ขณะที่มันกัดเหยื่อ ต่อมพิษภายในปากของมันจะถูกบีบตัวและฉีดน้ำพิษไหลมาตามร่องเขี้ยวเข้าสู่บาด แผล จะเห็นรูเขี้ยวงู 2 รูบนแผลอย่างชัดเจน อาจเห็นรอยฟันบนและฟันล่าง และรอยย้ำเป็นจ้ำจากกระดูกฟันกราม
การถูกงูพิษกัดไม่จำเป็นต้องมีอาการรุนแรงเสมอไป ประมาณ 50% ของผู้ที่ถูกงูพิษกัดอาจไม่มีอาการอะไรเลย มีเพียง 25%ที่เกิดอาการจากพิษงู งูพิษในบ้านเรา ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม งูกะปะ งูทับสมิงคลา งูเขียวหางไหม้ และงูทะเล พิษของพวกมันแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
พิษต่อระบบประสาท เมื่อถูกพิษจะมีอาการอ่อนเปลี้ย ง่วงซึม ลืมตาไม่ได้ กลืนลำบาก ขากรรไกรแข็ง พูดอ้อแอ้ และหยุดหายใจ พิษงูในกลุ่มนี้ ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา
พิษต่อระบบเลือด เมื่อถูกพิษจะมีอาการปวดแผล มีเลือดออกในหลายทาง เช่น ตามไรฟัน ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด เลือดออกในสมอง พิษงูในกลุ่มนี้ ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้
พิษต่อระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ พิษของงูทะเล เมื่อถูกพิษจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อทั้งแขน ขา ลำตัว เมื่ออาการมากขึ้นจะถึงกับเคลื่อนไหวไม่ได้ ปัสสาวะเป็นสีดำคล้ำ ระบบขับถ่ายปัสสาวะล้มเหลว
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด
- ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่ถูกงูกัด เพราะงูยังสามารถฉกกัดได้อีก แม้ว่ามันจะถูกตีก็ตาม
- บอกให้ผู้ป่วยใจเย็น อย่าตกใจ เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว เลือดสูบฉีดแรงขึ้น พิษงูจะเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้เร็วขึ้นด้วย
- พยายามเคลื่อนไหวบริเวณที่ถูกกัดให้น้อยที่สุด อาจใช้ไม้ดามไว้ เพื่อลดการเคลื่อนไหว จะช่วยให้พิษกระจายช้าลง
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ และนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ระหว่างนั้นให้แผลอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ หากมีเลือดออกให้ปล่อยไว้ เพื่อให้พิษไหลออกมาให้มากที่สุด
- อาจใช้ผ้าหรือเชือกรัดไว้เหนือแผลที่ถูกงูกัด ให้รัดแน่นโดยให้นิ้วสอดได้ 1 นิ้วเป็นเวลานาน 1 นาที แล้วคลายออกทุกๆ 15 นาที หากรัดแน่นจนเกินไปจะทำให้เนื้อเยื่อตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง แต่ห้ามทำในกรณีที่ถูกงูที่มีพิษต่อระบบเลือดกัด เพราะจะทำให้มีอาการบวมและเลือดออกมากขึ้น หากไม่มั่นใจว่าสามารถทำได้อย่างถูกต้อง ไม่ควรปฐมพยาบาลด้วยวิธีนี้
- ไม่ควรใช้ปากดูดพิษออกจากบาดแผล เพราะมีอันตรายทั้งผู้ที่ช่วยเหลือและผู้ที่ถูกงูกัด หากผู้ช่วยเหลือมีแผลในช่องปาก ก็อาจทำให้พิษเข้าสู่บาดแผลและเสียชีวิตได้ ส่วนอันตรายต่อผู้ที่ถูกงูกัดก็คือ แบคทีเรียในช่องปากอาจทำให้แผลติดเชื้อได้
- ห้ามกรีดแผล ใช้ไฟจี้ ใส่ยา พอกยา หรือประคบน้ำแข็งที่แผล เพราะอาจทำให้แผลหายช้าและติดเชื้อได้
- อย่าให้เครื่องดื่มหรือยาที่กระตุ้นประสาทหรือระงับประสาท เช่น สุรา กาแฟ และยาแก้ปวดจำพวกมอร์ฟีนหรือแอสไพริน เพราะอาจเสริมพิษงูได้
- สิ่งที่สำคัญก็คือ ควรจดจำให้ได้ว่าเป็นงูอะไร หรือจำลักษณะของงูที่กัดให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะลวดลายและสีของงู หากมีซากงูก็นำไปให้แพทย์ดูด้วย เพื่อแพทย์จะได้แก้พิษและรักษาได้อย่างถูกต้อง
การป้องกันไม่ให้ถูกงูกัด
- หลีกเลี่ยงการเดินในที่รกหรือมีหญ้าสูง หากจำเป็นควรใส่กางเกงขายาวหนาๆ สวมรองเท้าหุ้มข้อ และถือไม้ยาวๆ เดินไปก็ฟาดพุ่มไม้ใบหญ้าไปด้วย หากมีงูอยู่ในบริเวณนั้น มันจะได้ตกใจและเลื้อยหนีไป
- หากเดินผ่านต้นไม้ใหญ่ควรสังเกตด้วยว่ามีงูอยู่ตามกิ่งไม้หรือไม่
- หลีกเลี่ยงการเดินทางในป่าหรือทุ่งนาเวลากลางคืน หากจำเป็นต้องเตรียมไฟฉายไปด้วย
- หากจำเป็นต้องพักแรมในป่า อย่านอนบนพื้นโล่งๆ
- งูมักจะออกล่าเหยื่อ เช่น อึ่งอ่าง กบ เขียด และบรรดาสัตว์เหล่านี้ก็ชอบหากินในคืนที่ฝนตก ดังนั้น ในคืนฝนตก ให้ระวังงูไว้ด้วย
- เมื่อน้ำท่วม งูมักจะหาที่หลบน้ำ ดังนั้น หากอาศัยอยู่ในบ้านสวน ต้องระวังงูให้ดี
- งูมักจะนอนขดอยู่ในถ้ำ ตามพงหญ้า โพรงไม้ ซอกหิน ท่อนไม้ผุๆ หรือที่รก ควรระวังบริเวณเหล่านี้เป็นพิเศษ
งูจะกัดก็ต่อเมื่อคิดว่ากำลังจะถูกทำร้าย มันจึงป้องกันตัวเองด้วยการโจมตีศัตรูก่อนด้วยการฉกกัด หากวันใดต้องประจันหน้ากับงูอย่างไม่มีทางเลี่ยง ให้ตั้งสติให้ดี ทำตัวนิ่งๆ เข้าไว้ โดยมากงูจะเลื้อยหนีไปเอง เพราะมันก็กลัวเราเหมือนกัน
ติดตามฟังรายการ “Happy & Healthy”
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
ทางคลื่นของประชาชน คนนำปัญญา FM 97.75 MHz
และ www.managerradio.com
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000024987