การปฐมพยาบาลเมื่อสัตว์มีพิษกัดต่อย (2) / เอมอร คชเสนี



โดย เอมอร คชเสนี 17 กุมภาพันธ์ 2554 11:13 น.





ตอน ที่แล้วเราได้รู้จักแมลงมีพิษและวิธีการปฐมพยาบาลกันไปแล้วนะคะ วันนี้มารู้จักสัตว์มีพิษที่เพียงแค่ได้เห็น หลายคนก็ทั้งเกลียดและกลัวแล้ว นั่นก็คือ แมงป่อง ตะขาบ และกิ้งกือค่ะ
       





       กิ้งกือ
      
       โดยปกติกิ้งกือเป็นสัตว์ที่ไม่มีพิษไม่มีภัยกับมนุษย์หรือสัตว์อื่น วิธีการป้องกันตัวของมันก็คือ การม้วนขดตัวเป็นวงกลม อย่างไรก็ตามกิ้งกือบางชนิดสามารถพ่นพิษออกมาจากรูข้างลำตัว อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง แพ้และคันได้ หากสารพิษเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบได้
      
       ควรสอนเด็กๆ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกิ้งกือ หากถูกพิษให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด หากมีอาการคันให้ทายาแก้แพ้ หากพิษเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำอุ่น และปรึกษาจักษุแพทย์
      
       ตะขาบ
       

       พิษของตะขาบโดยทั่วไปจะไม่รุนแรง มักทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง แต่บางรายหากมีอาการบวมมากบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า อาจกดเส้นเลือดจนกระทั่งนิ้วขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เนื้อตายถึงขั้นต้องตัดนิ้วทิ้งได้ บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ใจสั่น แต่พิษตะขาบโดยทั่วไปก็ไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามมีรายงานการเสียชีวิตของเด็กหญิงที่ถูกตะขาบขนาดใหญ่กัดที่ บริเวณศีรษะ
      
       ตะขาบอาจเข้ามาหลบซุกซ่อนอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะในฤดูฝน ควรตรวจห้องนอนห้องน้ำให้ดี หมั่นสังเกตในผ้าห่ม ใต้ฟูก เสื้อผ้าที่ตากไว้ หรือในรองเท้า หากจำเป็นต้องเดินลุยเข้าไปในจุดที่มีน้ำท่วมขัง ก็ควรใส่รองเท้าที่ห่อหุ้มมิดชิด หรือรองเท้าบูทยาง





       การปฐมพยาบาลเมื่อถูกตะขาบกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และล้างออกให้หมด ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง จากนั้นประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการปวดบวม หรือรับประทานยาแก้ปวดหากมีอาการ ทายาแก้แพ้บริเวณที่บวมแดง แต่หากถูกกัดแล้วปวดบวมมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ หากนิ้วบวมจนเนื้อเริ่มดำ อาจกลายเป็นเนื้อตายจนต้องตัดทิ้ง
      
       แมงป่อง
       

       ลักษณะเด่นของแมงป่องอยู่ที่ส่วนท้อง ซึ่งยาวเรียวออกไปจนดูคล้ายกับหาง ตอนปลายที่งอโค้งขึ้นมีอวัยวะสำหรับต่อยซึ่งมีน้ำพิษ แมงป่องจะใช้ก้ามหนีบเหยื่อ ตวัดหางต่อย แล้วปล่อยน้ำพิษเข้าไปในร่างกายของเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อเป็นอัมพาตก่อนจะกิน
      
       โดยทั่วไปแมงป่องจะออกหากินในเวลากลางคืน และหลบซุกซ่อนตัวในเวลากลางวัน ในฤดูฝนมันอาจจะเข้ามาหลบฝนอยู่ในบ้านคน จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ แมงป่องมีหลายชนิดและหลายขนาด ผู้ที่ถูกต่อยจะมีอาการไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของแมงป่องและจำนวนน้ำพิษ บางพันธุ์มีพิษน้อย แต่บางพันธุ์ก็อาจเล่นงานเราจนอาการหนักได้





       แมงป่องในบ้านเรามีพิษน้อยกว่าชนิดที่พบในต่างประเทศ พิษของแมงป่องโดยทั่วไปจะทำให้ปวดบวม แต่พันธุ์ที่มีพิษร้ายแรงจะกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ทำให้มีอาการกลอกตา ลิ้นสั่น กลืนไม่ได้ กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว มีไข้สูง และหยุดหายใจได้ นอกจากนี้ยังกระตุ้นระบบประสาททั่วไปของร่างกายทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง มีอาการชัก เซลกล้ามเนื้อตาย ปัสสาวะเข้ม และไตวายได้
      
       การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งๆ อย่าเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้พิษกระจายอย่างรวดเร็ว ล้างแผลให้สะอาด แล้วใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่ถูกต่อย เพื่อบรรเทาปวดและให้เส้นเลือดหดตัว พิษจะได้กระจายช้าลง รับประทานยาแก้ปวดหากมีอาการ ในรายที่มีอาการใจสั่น ไข้ขึ้น ชัก ปัสสาวะเข้ม มีความผิดปกติทางระบบประสาท ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล
      
       ยังมีสัตว์มีพิษอื่นๆ อีกหลายชนิดนะคะ ติดตามได้ในตอนต่อไปค่ะ
      
       
       ติดตามฟังรายการ “Happy & Healthy”
       ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
       ทางคลื่นของประชาชน คนนำปัญญา FM 97.75 MHz
       และ www.managerradio.com
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000021286