โดย เอมอร คชเสนี | 15 กุมภาพันธ์ 2554 11:02 น. |
แมลงและสัตว์มีพิษที่พบเจอได้มีหลาย ชนิด ไม่ว่าจะเป็น ผึ้ง ต่อ แตน ตะขาบ แมงป่อง งู ฯลฯ การเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูกสัตว์เหล่านี้กัดหรือต่อยจึงเป็นสิ่ง สำคัญ
อาการหลังจากถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ระยะเวลาที่เกิดอาการก็อาจช้าหรือเร็วแตกต่างกันไป เนื่องจากมีภูมิต้านทานแตกต่างกันไป คนที่มีภูมิต้านทานสูงอาจมีอาการเฉพาะที่เพียงเล็กน้อย แค่อาการบวมแดง ปวดเล็กน้อย และหายไปในเวลาไม่นาน
ส่วนคนที่มีภูมิต้านทานน้อย จะมีอาการแพ้มาก เช่น อาการคัน บวมแดง ขยายออกไปบริเวณข้างเคียงและเป็นอยู่หลายวัน เช่น ถูกต่อยบริเวณมือ อาจบวมแดงลามขึ้นไปถึงข้อมือหรือข้อศอก
บางรายอาจมีอาการที่ระบบอื่นของร่างกายด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย คลื่นไส้อาเจียน มีไข้สูง บางรายที่มีอาการรุนแรงมากจะมีอาการหายใจติดขัดหรือหายใจลำบาก กลืนน้ำลายยาก เนื่องจากลำคอบวมอักเสบ อาจหมดสติ หรือช็อกจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผึ้ง ต่อ แตน
สำหรับตัวต่อ แตน เมื่อต่อยจะไม่ทิ้งเหล็กในไว้ ส่วนผึ้งจะปล่อยเหล็กในไว้บริเวณที่ต่อย เหล็กในและถุงน้ำพิษจะอยู่บริเวณปลายของส่วนท้องที่เรามักเรียกกันว่าก้น เมื่อผิวหนังบริเวณที่ถูกต่อยเคลื่อนไหวหรือเราบีบผิวหนัง จะทำให้เหล็กในเคลื่อนตัวฝังลึกลงไปในเนื้อมากขึ้นและมีน้ำพิษหลั่งออกมามาก ขึ้นด้วย
เมื่อถูกผึ้งหรือแมลงกัดต่อย แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนของแมลง ตำแหน่งที่ถูกต่อย ภูมิต้านทานและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในแต่ละคนว่ารุนแรงเพียงใด
อาการ
- ผิวหนังจะปวด บวมแดง มีผื่นนูนหนาเหมือนลมพิษ
- อาการทางระบบทางเดินหายใจ คือ อาจทำให้กล่องเสียงบวม เสียงแหบ ทำให้หลอดลมหดตัว เกิดอาการหายใจลำบากคล้ายคนเป็นหอบหืด
- อาการทางระบบทางเดินอาหาร คือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง หรือท้องเดิน
- อาการทางระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ที่รุนแรงที่สุด คือ อาการช็อกจากการแพ้ ซึ่งอาจเกิดได้เพียงไม่กี่วินาทีหลังถูกต่อยจนถึง 30 นาที หรือนานกว่านั้นก็ได้ หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้
อาการช็อกจากการแพ้เฉียบพลัน สังเกตได้จากผู้ป่วยจะอ่อนเพลียมาก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจหอบ หายใจมีเสียงดัง คอบวม ลิ้นบวม หน้าบวม ริมฝีปากบวม คันผิวหนัง แสบร้อน โดยเฉพาะบริเวณหน้า หน้าอก หลัง ผิวหนังทั่วไปอาจขาวซีดเป็นดวงๆ หรือบวมนูนเหมือนลมพิษ มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาจเป็นลม ชีพจรเต้นเร็วแต่เบามาก ความดันโลหิตตอนแรกอาจสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ต่อมาจะลดลงมาก ใบหน้าเขียวคล้ำ บริเวณรอบปากและลิ้นซีดขาว
การปฐมพยาบาล
เมื่อถูกผึ้งต่อยจะมีเหล็กในและถุงน้ำพิษติดอยู่ การเอาเหล็กในออกโดยเร็วจะช่วยลดปริมาณน้ำพิษที่จะเข้าสู่ร่างกายได้
การเอาเหล็กในออกอย่างถูกวิธี คือให้ใช้ใบมีดที่สะอาดขูดผิวหนังบริเวณที่ถูกต่อย เหล็กในจะหลุดตามใบมีดออกมา ไม่ควรใช้คีม แหนบ หรือนิ้วมือ คีบออก เพราะหากดึงครั้งแรกไม่ออก จะทำให้ส่วนที่หักคาอยู่ใต้ผิวหนังดึงออกยากมากขึ้น หรือทำให้น้ำพิษเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น
หลังจากนั้นใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่ถูกต่อย เพื่อช่วยลดอาการปวดบวม และป้องกันไม่ให้พิษกระจายไปที่ส่วนอื่นของร่างกาย จากนั้นอาจใช้ยาทาสำหรับแมลงสัตว์กัดต่อยเพื่อลดการอักเสบ และรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
หากอาการแย่ลงหรือในกรณีที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงควรรีบนำส่งโรง พยาบาล ระหว่างนั้นให้ใช้ผ้ารัดเหนือบริเวณที่ถูกต่อย เพื่อช่วยลดน้ำพิษที่จะกระจายเข้าสู่กระแสโลหิต การรัดนี้ทำได้เมื่อถูกต่อยบริเวณแขนหรือขาเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือลำตัว
หากผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้นอนหงาย ยกปลายเท้าให้สูงกว่าระดับศีรษะ คลายเสื้อผ้าให้หลวม และห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว แต่ยังหายใจอยู่ ให้จับนอนตะแคง เชิดคางไว้ เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง ท่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ลิ้นตกไปปิดกั้นทางเดินหายใจ หากไม่หายใจและคลำชีพจรไม่ได้ ต้องช่วยหายใจและนวดหัวใจ ตามวิธีการกู้ชีพที่ได้เคยกล่าวไปแล้ว
ตามปกติผึ้ง ต่อ แตน จะทำร้ายเราก็ต่อเมื่อรังของมันถูกรบกวน ดังนั้นหากไม่อยากโดนต่อย ก็อยู่ห่างๆ รังของมันเอาไว้ คราวหน้ามารู้จักสัตว์มีพิษชนิดอื่นๆ กันต่อค่ะ
ติดตามฟังรายการ “Happy & Healthy”
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
ทางคลื่นของประชาชน คนนำปัญญา FM 97.75 MHz
และ www.managerradio.com
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000020091