โดย เอมอร คชเสนี | 6 มกราคม 2554 18:18 น. |
เมื่อ สิ่งแปลกปลอมหลุดติดคอจนไปอุดกั้นทางเดินหายใจ การปฐมพยาบาลระหว่างเด็กเล็กและผู้ใหญ่ จะมีวิธีการที่แตกต่างกัน เนื่องจากความบอบบางของสรีระ นอกจากนี้ ผู้ป่วยหมดสติหรือไม่หมดสติ ก็ทำให้มีวิธีการปฐมพยาบาลที่ต่างกันด้วย
การปฐมพยาบาลผู้ใหญ่หรือเด็กเล็กที่อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป กรณีมีสติ
ไม่ควรใช้นิ้วมือล้วงหรือควานหาสิ่งของในปากของผู้ป่วย เพราะอาจทำให้ของที่อยู่ในปากตกลงไปในหลอดลมได้ หากผู้ป่วยไอหรือสำลัก ปล่อยให้ไอจนเศษอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาจนหมด แต่หากไม่สามารถหายใจได้ ไม่ไอ ไม่สำลัก ควรรีบโทรเรียกรถพยาบาล ระหว่างนั้นให้ปฐมพยาบาล ดังนี้
- ยืนด้านหลังผู้ป่วย แล้วสอดแขนทั้งสองข้างไว้ใต้แขนของผู้ป่วย
- กำมือข้างที่ถนัด กดตรงกลางท้อง บริเวณกึ่งกลางระหว่างกระดูกลิ้นปี่กับสะดือ แล้วใช้มืออีกข้างจับไว้ให้แน่น
- จากนั้นให้ออกแรงกระตุกเข้าหาตัว พร้อมๆ กับดันขึ้นด้านบน โดยออกแรงกระตุกให้หนักและทำเป็นจังหวะสม่ำเสมอ วิธีนี้เป็นการบังคับอากาศที่อยู่ในปอดให้อัดกระแทกออกมาที่บริเวณหลอดลม จะช่วยให้สิ่งแปลกปลอมหรือเศษอาหารหลุดออกมาได้
- ให้ทำจนกว่าผู้ป่วยจะเริ่มสำลัก หรือไอจนสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หรือจนกว่าผู้ป่วยจะหายใจเองได้ จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนตะแคง เพื่อรอรถพยาบาลหรือรีบนำส่งโรงพยาบาล
การช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยวิธีนี้อาจทำให้เกิดการบอบช้ำหรือบาดเจ็บที่ อวัยวะภายใน หรือสิ่งแปลกปลอมอาจจะหลุดออกมาไม่หมดและอาจตกลงไปที่ปอด ทำให้เกิดการอุดตันหลอดลมหรือปอดติดเชื้อ ดังนั้นเมื่อปฐมพยาบาลด้วยวิธีนี้ จึงควรไปพบแพทย์ทุกครั้ง
หากผู้ป่วยตัวใหญ่มากหรือเป็นหญิง ตั้งครรภ์ อาจต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่กดโดยเลื่อนมาที่ตำแหน่งกระดูกลิ้นปี่แทน และใช้วิธีการเหมือนเดิม
ในกรณีที่อยู่คนเดียวก็สามารถปฐม พยาบาลด้วยวิธีนี้ได้ด้วยตัวเอง โดยกำมือข้างที่ถนัดแล้วใช้มืออีกข้างกดกระแทกขึ้นลงบริเวณเดียวกันจนกว่า เศษอาหารจะหลุดออกมา
ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาล ระหว่างนั้นให้ปฐมพยาบาล ดังนี้
- ให้ผู้ป่วยนอนลงกับพื้น ไม่ควรใช้นิ้วล้วงเข้าไปในปากเพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกมา เพราะจะทำให้สิ่งแปลกปลอมตกลงไปลึกมากยิ่งขึ้น
- หากผู้ป่วยไม่หายใจ ให้ยกคางผู้ป่วยขึ้นให้ศีรษะแหงนไปข้างหลังให้มากที่สุด ใช้มือบีบจมูกไว้ แล้วเป่าลมเข้าไปในปากของผู้ป่วย 2 ครั้ง สังเกตด้วยว่าลมเข้าไปที่ปอดของผู้ป่วยหรือไม่ โดยดูได้จากการกระเพื่อมขึ้นลงของหน้าอก รอให้หน้าอกยุบลงเสียก่อน จึงเริ่มเป่าลมครั้งที่สอง
- หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงของหน้าอกเมื่อเป่าลมเข้าไป ให้จับคางผู้ป่วยให้ศีรษะแหงนสูงขึ้นกว่าเดิม แล้วลองเป่าอีกครั้ง หากยังไม่สำเร็จ ต้องใช้วิธีกระแทกที่ท้อง โดยคุกเข่าคร่อมผู้ป่วย ใช้สันมือวางลงไประหว่างสะดือและกระดูกลิ้นปี่ ใช้มืออีกข้างกดทับลงไป แล้วกระแทกในจังหวะขึ้นลง ประมาณ 6-10 ครั้งเร็วๆ
- จากนั้นให้ตรวจดูว่าสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาหรือยัง โดยเปิดปากของผู้ป่วย ใช้มือข้างหนึ่งจับขากรรไกรและลิ้นเอาไว้ แล้วใช้นิ้วชี้ของมืออีกข้างงอเหมือนตะขอและกวาดเข้าไปในปากบริเวณกระพุ้ง แก้มหรือที่โคนลิ้น หากเจอเศษอาหารให้เอาออกมา หากไม่พบอะไร ให้เริ่มเป่าลมเข้าปากสองครั้งเหมือนเดิม
- หากผู้ป่วยยังไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง ให้ใช้วิธีกระแทกแบบเดิมอีก 6-10 ครั้ง ให้ทำจนกว่าเศษอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
การปฐมพยาบาลเด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี กรณีมีสติ
- การปฐมพยาบาลเด็กทารกนั้นให้ใช้วิธีตบหลัง โดยจับทารกนอนคว่ำ ห้อยศีรษะลง พาดลำตัวของเด็กไว้ที่หน้าขา ใช้แขนประคองเอาไว้เพื่อไม่ให้เด็กหล่นลงมา
- ใช้สันมือตบลงไปบริเวณด้านหลัง ตำแหน่งกึ่งกลางกระดูกหัวไหล่ 4 ครั้งติดกัน
- หากสิ่งแปลกปลอมยังไม่หลุดออกมา ให้จับทารกนอนหงาย แต่ยังคงห้อยศีรษะลงเหมือนเดิม
- ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางกดลงไปที่ตำแหน่งใกล้ๆ กระดูกลิ้นปี่ กดลงไปประมาณ 1 นิ้ว ทำ 4 ครั้งติดกันจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
การปฐมพยาบาลเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี กรณีหมดสติ
ในกรณีที่เด็กเล็กหมดสติเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ให้จับเด็กนอนหงาย ยกคางขึ้นให้ศีรษะหงายไปด้านหลัง ระวังอย่ากดบริเวณเนื้อนิ่มที่อยู่ใต้คาง เพราะจะไปกดทับเส้นเลือดแดงใหญ่ ตรวจดูว่าเด็กยังหายใจหรือไม่ ถ้าไม่หายใจแล้ว ให้ใช้วิธีเป่าปากดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
ติดตามฟังรายการ “Happy & Healthy”
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
ทางคลื่นของประชาชน คนนำปัญญา FM 97.75 MHz
และ www.managerradio.comhttp://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000001443