การปฐมพยาบาลเมื่อสัตว์มีพิษกัดต่อย (3) / เอมอร คชเสนี





โดย เอมอร คชเสนี 19 กุมภาพันธ์ 2554 07:25 น.







สัตว์มีพิษอีกสองชนิดที่จะกล่าวถึงในวันนี้ ก็คือ แมงมุมบางชนิด และ แมงกะพรุนไฟ ค่ะ





       แมงมุมมีพิษ
       

       แมงมุมนั้นมีมากมายหลายชนิด แต่ที่มีพิษภัยต่อคนเรานั้นมีอยู่ไม่กี่ชนิด บางชนิดมีพิษเพียงแค่ทำให้เกิดอาการบวมแดง แต่บางชนิดก็มีพิษรุนแรงถึงตายได้ ที่รู้จักกันดี ก็คือ แมงมุมแม่ม่ายดำ (Black Widow Spider)
      
       แมงมุมแม่ม่ายดำ เป็นแมงมุมตัวโต ลำตัว ท้อง และขา มีสีดำหรือสีน้ำตาล ที่หน้าท้องจะมีลวดลายลักษณะคล้ายนาฬิกาทรายสีส้มแดง มักอาศัยอยู่ในที่มืด ในกองไม้ ตอไม้ หรือรอยแตกของพื้น และจะกัดเมื่อถูกรบกวน
      
       พิษของแมงมุมแม่ม่ายดำจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท อาการของผู้ที่โดนกัดมักจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อแรกถูกกัดอาจจะรู้สึกเหมือนถูกเข็มแทงเจ็บๆ คันๆ หลังจากนั้นจะเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งเริ่มจากบริเวณรอบๆ แผล แล้วลุกลามจนปวดร้าวไปทั่วทั้งตัว ต่อมาจะมีอาการอ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก ชัก และอาจเสียชีวิตได้
      
       อย่างไรก็ตาม แมงมุมที่มีพิษร้ายมักไม่ค่อยพบในประเทศไทย เคยมีรายงานคนไทยที่ถูกแมงมุมชนิดนี้กัด มีอาการเจ็บบริเวณแผล เหงื่อออกมาก ปวดท้อง หายใจและพูดลำบาก อาการเป็นอยู่ชั่วคราว และหายเป็นปกติในหนึ่งวัน
      
       นอกจากแมงมุมแม่ม่ายดำ ยังมีแมงมุม Brown Recluse Spider หรือแมงมุมสีน้ำตาล บางคนก็เรียกว่าแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล เมื่อถูกกัดจะมีอาการปวดมาก ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้เช่นกัน
      
       เมื่อถูกแมงมุมมีพิษกัด หากอาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณแผล รับประทานยาแก้ปวดหากมีอาการ
      
       ส่วนในรายที่มีอาการปวดกล้าม เนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง ใจสั่น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล พยายามอย่าขยับแขนขาที่ถูกกัด เพื่อไม่ให้พิษกระจายไปอย่างรวดเร็ว ใช้ผ้ารัดเหนือบาดแผลให้แน่น แล้วคลายออก 90 วินาที ทุกๆ 15 นาที เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้ แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และอาจให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน





       แมงกะพรุนไฟ
       

       ชาวเลมักเตือนว่าไม่ควรลงเล่นน้ำทะเลในฤดูมรสุม ถ้าอยากเล่นต้องระวังแมงกะพรุนไฟให้ดี หากสัมผัสถูกแมงกะพรุนไฟจะมีอาการแสบที่ผิวหนัง ต่อมาจะปวดแสบปวดร้อนมากเหมือนโดนไฟหรือสารเคมี เห็นรอยแดงชัดเจน รอยแดงนั้นจะกระจายเป็นบริเวณกว้างคล้ายถูกตีด้วยแส้ บางรายอาจปวดมากจนเป็นตะคริว อาการปวดจะนานอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง หรืออาจนานเป็นชั่วโมง บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ หมดสติ และทำให้จมน้ำตายได้
      
       หากแมงกะพรุนไฟติดอยู่ที่ตัวให้ใช้ไม้หรือวัตถุที่ไม่แหลมคมเขี่ยออก พยายามเขี่ยเพียงครั้งเดียวให้หลุด อย่าให้แมงกะพรุนไฟเคลื่อนไหว หรือเลื่อนไหลไปถูกพื้นที่บริเวณอื่นของร่างกาย เพราะจะทำให้การไหม้กระจายเป็นบริเวณกว้างมากยิ่งขึ้น
      
       เมื่อเขี่ยแมงกะพรุนไฟออกแล้ว ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หากใช้น้ำจืดล้างจะทำให้กระเปาะพิษแตกได้และทำให้พิษยิ่งลุกลาม หากไม่มีน้ำเกลืออาจใช้น้ำทะเลล้างแทน แต่หากน้ำทะเลสกปรก ก็อาจทำให้ติดเชื้อได้
      
       จากนั้นใช้สำลีหรือผ้าก๊อซชุบแอลกอฮอล์หรือน้ำส้มสายชู เช็ดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนไฟเบาๆ จนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง ในตำราพื้นบ้านจะใช้ผักบุ้งทะเลที่ขึ้นอยู่ตามชายหาด ทุบให้พอแหลก แล้วพอกไว้บริเวณบาดแผล อาการปวดแสบปวดร้อนจะทุเลาลงภายในเวลาไม่นาน เรียกได้ว่าธรรมชาติให้ของแก้มาคู่กัน
      
       หากมีกระเปาะพิษติดอยู่ ให้ใช้คีมคีบกระเปาะพิษออก หลังจากหายปวดแล้ว ให้เช็ดอีกครั้งด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำส้มสายชู จากนั้นใช้ครีมที่มีส่วนผสมของ hydrocortisone ทาบริเวณแผลไหม้ รอยไหม้จะดีขึ้นเรื่อยๆ
      
       อย่างไรก็ตาม แผลจากแมงกะพรุนไฟอาจกลายเป็นแผลเรื้อรัง หรือเป็นแผลเป็นตลอดชีวิต หรืออาจถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดทำให้เสียชีวิตได้ หากมีอาการมากควรไปพบแพทย์ แพทย์จะทายาชาลดความเจ็บปวด อาจให้ยาแก้แพ้ ยาสเตียรอยด์ ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และให้ยาปฏิชีวนะหากมีอาการติดเชื้อ
      
       คราวหน้ามาติดตามเรื่องของงูพิษกันต่อค่ะ
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000021973