สาระน่ารู้ - สุขภาพใจ สุขภาพจิต


บันได 5 ขั้น สู่ชีวิตใหม่ ที่มีค่าและเป็นสุข

บันไดขั้นที่ 1 มองตัวเองว่าดีและมีค่าทุกวัน

ในแต่ละวันให้นึกถึงความดี และความโชคดีของตนเอง เริ่มต้นด้วยการตื่นนอนตอนเช้า ให้ยิ้มกับตัวเอง และนึกว่าโชคดีที่ได้ตื่นขึ้นมาแล้ว ให้นึกถึงความดีของตนเอง ที่เคยทำมาแล้วในอดีต (ที่สามารถนึกได้ง่ายๆ) เช่น เคยทำบุญ เคยช่วยคนที่อ่อนแอกว่า เคยสงเคราะห์สัตว์ ฯลฯ คิดว่าตัวเองดี และมีคุณค่าที่ได้เคยทำสิ่งดีๆ และให้นึกซ้ำๆ จะได้เกิดความเชื่อตามที่นึกนั้น คุณก็จะเกิดความอิ่มเอิบใจ และเชื่อว่าตัวเองมีความดี ความเก่ง ตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วย คุณจะเกิดความอยากมีชีวิตอยู่ และสร้างสิ่งที่ดีๆ ให้กับชีวิตต่อไป และต้องอวยพรตัวเองเสมอๆ อย่าแช่ง หรือตำหนิตัวเอง และอย่ารอให้คนอื่นมาชื่นชมคุณ ซึ่งมักจะไม่ได้ดั่งใจ หรือได้มาก็ไม่สมใจ
บันไดขั้นที่ 2 มองคนอื่นดี มองโลกในแง่ดี

ขั้นนี้คุณจะต้องมองว่า ทุกๆ คน มีขีดจำกัดของความสามารถ ความดี ความเก่งกันทุกคน ตามความเป็นจริงของเขา ซึ่งไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกันเลย ส่วนความไม่ดี หรือไม่เก่งของเขา (ซึ่งมีกันทุกคน) ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขาไป ให้มองเฉพาะส่วนที่ดีของเขาเท่านั้น ถ้าคุณทำได้เช่นนี้ คุณก็จะเป็นคนที่มองอนาคน และชีวิตดี มีความหวังที่ดีในชีวิตตลอดเวลา สองสิ่งนี้ ถ้าคุณทำเป็นนิสัย คุณจะพบว่า โลกนี้มีสิ่งที่ดีๆ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ และท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นสุขนิยมทั้งชีวิต
บันไดขั้นที่ 3 ทำวันนี้ให้ดีที่สุด

คือการอยู่กับปัจจุบัน ทำกิจกรรมในวันนี้และเวลานี้ให้ดีที่สุด ทำได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่ทุกข์ร้อน หรือคาดหวังกับผลลัพธ์ของมัน ไม่ว่าจะสมใจ หรือไม่สมใจก็ตาม จงชื่นชมในความตั้งใจ ทำเต็มความสามารถของตนเอง และคิดต่อว่า ในอนาคตจะต้องทำให้ดีกว่านี้ นอกจากนั้น คุณต้องเลิกจดจำ หรือนึกถึงเรื่องที่ไม่ดีที่เกิดกับคุณในอดีต เพราะการจดจำเรื่องราวที่ไม่ดีในอดีต เท่ากับคุณไปสะกิดแผลในใจ และจะทำให้คุณเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น จนส่งผลให้ปัจจุบันคุณไม่มีความสุข และกลัวว่าอนาคตจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีซ้ำๆ อีก
บันไดขั้นที่ 4 มีความหวังและเชื่อว่าอนาคตจะดีเสมอ

ความหวัง ความเชื่อ เกิดจากความคิดถึงบ่อยๆ หรือได้ยินบ่อยๆ จงนึกและบอกกับตัวเองเสมอว่า อนาคตจะดีขึ้นอีกเรื่อยๆ จะส่งผลให้เกิดกำลังใจมากขึ้น อยากพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตโดยไม่กลัว มีอารมณ์ขัน และไม่จริงจังกับชีวิตมากนัก แต่จะมีความหวังที่ดีๆ (Good Hope) อยู่เสมอ แต่อย่ามีความคาดหวัง (Expectation) กับชีวิต เพราะถ้าคาดหวังกับชีวิต เรามักจะกลัว หรือกังวลว่าจะไม่ได้ผลลัพธ์ดังความคาดหวัง หรือเมื่อได้มาแล้วก็มักไม่พอใจ จึงอาจทำให้เกิดทุกข์ได้

บันได้ขั้นที่ 5 ปรับปรุงตัวเองเสมอ

โดยปรับปรุง 4 ส่วนที่มีความสำคัญต่อชีวิต คือ


1.
การงาน ให้มีความขยัน อดทน หมั่นหาความรู้ใส่ตัว และกล้าลงมือปฏิบัติในสิ่งที่ควรทำ จะทำให้มีการลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตได้เรื่อยๆ และปรากฏเป็นผลงานที่ชัดเจน

2.
ครอบครัว จะต้องยึดหลักที่เป็นมงคลต่อกันคือ ไม่อิจฉา ไม่ระแวง ไม่แข่งขัน ไม่นอกใจ รู้จักการให้และการอภัย มีน้ำใจ และรู้จักเกรงใจกัน

3.
สังคม หมั่นสร้างมิตรเสมอ มีการให้ความสำคัญกัน ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และพูดจากันแบบปิยะวาจา

4.
ตนเอง ต้องมีการพัฒนาตนเองเสมอ มีความภูมิใจตนเองตามความเป็นจริง สามารถให้กำลังใจตัวเองได้ และมีกำลังใจที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น


แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th/e-magazine - นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 68 กุมภาพันธ์ 2549

ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

อารมย์ขันบำบัด

คู่มือคลายเครียด (1)

กำลังใจ เอาชนะความเศร้า

วิธีขับไล่ความโกรธเกรี้ยว

อารมณ์ขันบำบัด
ันเวลาในแต่ละวันที่ผ่านไป หลายคนมีความสุขจนล้นเหลือ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ดูจะไม่ค่อยมีความสุขเลย สาเหตุที่ทำให้ไม่มีความสุขนั้น มาจากหลายสาเหตุ แต่ก็มีอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เป็นอย่างนั้นได้นั่น คือ "ความเครียด" และวิธีคลายเครียดอีกวิธีหนึ่งก็คือ กรมีอารมณ์ขัน ถ้าวันๆ คุณไม่ได้หัวเราะกับใครเขาเลย นั่นแหละค่ะคุณกำลังป่วยอยู่นะคะ และจงเปลี่ยนเถอะค่ะ เพราะอารมณ์ขันถูกพิสูจน์แล้วว่า เป็นยาวิเศษที่ช่วยบกบัดโรคได้
นาย แพทย์ Normal Cousins เป็นคนแรกที่เขียน เกี่ยวกับการอาการป่วย ankylosing spondlitis ของเขา ซึ่งทำให้เขาเจ็บปวด เนื่องจากเนื้อเยื่อกระดูกสันหลัง ที่เชื่อมโยงกันผิดปกติไป โรคนี้พบได้น้อยมาก และเขาได้ทดลองใช้ อารมณ์ขันในการบำบัดตัวเอง เขาพบว่า หลังจากหัวเราะงอหายอยู่สัก 15 นาที จะช่วยให้เขาลดความเจ็บปวดลงได้ ถึง 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ ตัวอย่างเลือดยังแสดงผลว่า การอักเสบลดลงด้วย แล้วในที่สุดเขาก็หายป่วย จนกระทั่งเขา เผยแพร่เรื่องนี้ในบทความอันโด่งดังชื่อ "Anatomy of an illness"
หลังจากนั้น มีการศึกษาเรื่องอารมณ์ขัน ช่วยบำบัดอาการป่วยอย่างกว้างขวาง จนทุกวันนี้ ความสนใจเรื่องผลกระทบ จากอารมณ์ขันรุดหน้าไปมาก และจัดเป็นความรู้หนึ่งในสาขา Psychoneuro-immunology ซึ่งศึกษาเรื่องปัจจัยทาง จิตวิทยา สมอง และระบบภูมิชีวิตที่ตอบสนองต่อสุขภาพ
ในอินเดียถึงขนาดมีการตั้ง "ชมรมหัวเราะ" ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคน จะมาพูดคุยและหัวเราะกันในตอนเช้า ข่าวว่ากิจการ ของชมรมได้ผลดีมาก จนกระทั่งดังพอๆ กับชมรมโรตารี่ของอเมริกาเชียวละ
การหัวเราะเป็นภาษาสากล และเป็นการติดต่อทางอารมณ์ด้วย (สังเกตดูว่าเวลาเห็นคนอื่นหัวเราะ คุณมักจะ หัวเราะตาม) การหัวเราะเป็นความสนุกสนานโดยธรรมชาติ ทำให้ผู้คนหันหน้าเข้าหากันพูดคุยกัน ทำลายกำแพงเฉพาะตัว และที่ดีที่สุดคือ การหัวเราะไม่มีผลข้างเคียง ที่ทำความเสียหายใดๆ ต่อร่างกายเลย
มาดูว่าอารมณ์ขันและการหัวเราะ มีผลอย่างไนต่อร่างกายเรา (จากหลักฐานที่มีการพิสูจน์แล้ว)
ความดันโลหิตลดลง
ฮอร์โมนเกี่ยวกับความเครียดลดลง ขณะเดียวกันการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ก็เป็นปกติ
กระตุ้นระบบ ภูมิชีวิต (Immune system) ทำให้ T-celll ซึ่งเป็นทหารประจำตัว คอยกำจัดเชื้อโรคเพิ่มจำนวนขึ้น รวมถึงแอนติบอดีอื่นๆ ในร่างกายด้วย
คลายความเจ็บ ปวด อารมณ์ขันทำให้ผู้ป่วยลืมความเจ็บปวด และยังกระตุ้นการสร้างเอนดอร์ฟินในร่างกาย ซึ่งเป็นฮอร์โมนระงับปวดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
กล้ามเนื้อ ได้ผ่อนคลาย ขณะที่คุณหัวเราะ กล้ามเนื้ออื่นๆ ที่ไม่ได้สัมพันธ์กับการหัวเราะ จะผ่อนคลาย และเมื่อ หยุดหัวเราะ กล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กับการหัวเราะ ก็จะผ่อนคลาย เป็นการทำงานสองขั้นตอนเชียวนะ
หายใจดีขึ้น การหัวเราะบ่อยๆ ทำให้ปอดโล่ง หายใจได้ลึกขึ้นดีมากๆ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการหายใจ
นอกจากนี้ การหัวเราะทำให้เรารู้สึกดีกับการมีชีวิตอยู่ คน ที่สามารถสร้างอารมณ์ขัน และหัวเราะได้ ในยามที่ต้อง เผชิญสถานการณ์ที่เลวร้าย เช่น ป่วยด้วยโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ว เป็นต้น นับว่าเป็นความกล้าหาญ และจะทำให้ผู้นั้น รู้สึกถึงพลังในตัวเอง นอกจากให้ผลดีทางกาย อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น ผู้ป่วยยังคลายความเศร้าหมอง และช่วยเปิดทัศนคติในการมองโลก ด้วยแง่มุมที่กว้างขึ้น และเป็นไปในทางบวก
ทันทีที่คุณคิดถึงเรื่องโจ๊ก ตลกโปกฮา สมองซีกซ้ายจะเริ่มทำหน้าที่ คิดวิเคราะห์จัดสรรถ้อยคำ ต่อมาสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอารมณ์ จะเริ่มตอบสนองโดยพลัน ชั่วครู่สมองซีกขวา จะร่วมปะติดปะต่อเรื่องราวพริบตาเดียว คลื่นสมองจะเพิ่มขึ้น และแพร่ขยายไปทั่วบริเวณของสมอง ก่อนที่จะเล่าเรื่องโจ๊กนั้นออกมาเสียอีก แล้วในที่สุด ก็ระเบิดเป็นการหัวเราะนั่นเอง
อารมณ์ขัน จึงทำให้สมองแทบทุกส่วน ได้ทำงานประสานกันยิ่งกว่ากิจกรรมหลายๆ อย่างที่ทำกันเสียอีก ฉะนั้น เวลาไปเยี่ยมคนไข้ครั้งต่อไป แทนที่จะมัวจับเจ่า พาให้คนไข้เศร้าไปด้วย โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร จงเปลี่ยนมาหัวเราะ ร่วมกับเขาดีกว่า ถึงใครจะว่าผิดกาลเทศะ แต่คู้รู้นี่ว่า คนไข้กำลังได้รับยาวิเศษ 

การสร้างความสุขกาย อารมณ์ สังคม จิตวิญญาณ
บอกร่างกายตัวเองว่า  
ฉันจะไม่ทำอะไรเกินกำลังที่ร่างกายจะรับได้
ฉันจะถนอมร่างกาย ให้แข็งแรงมีสุขภาพดี ไม่ทำร้าย ด้วยการเอาพิษภัยต่างๆ มาใส่ตัว
ฉันจะดูแลรักษาความเจ็บไข้ ที่เป็นอยู่ตามสมควร ไม่ปล่อยปละละเลย แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
อารมณ์
มีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่บิดเบือนหรือเก็บกด พยายามหาทางออก ให้เหมาะสมตามกาลเทศะ
หาจุดดีๆ ในตัวเองให้พบ แม้ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ชื่นชมกับสิ่งที่เป็น คุณค่าของตนเองนั้น
ถ้า เห็นว่าเหลือบ่ากว่าแรง ที่จะดูแลตัวเองได้ ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนฝูงที่ไว้วางใจ หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
สังคม
เปิด ตัวเอง ให้มีกิจกรรมร่วมกับคนอื่น อย่าคิดว่าฉันอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่แคร์ใคร เพราะนั่นเป็นการคิดที่ผิด และจะนำไปสู่ปัญหาทางจิตได้
รู้จักการให้และรับ รู้จักการแพ้ และชนะ ไม่เอาแต่ใจตัวเองเป็นหลัก
รู้จักชื่นชมกับความสำเร็จของคนอื่น
ให้ความเห็นอกเห็นใจกับคนที่มีทุกข์
สามารถให้ความรักคนอื่น และได้รับความรักจากคนอื่น
จิตวิญญาณ
มีจิตใจที่เป็นอิสระ ต้อนรับทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิต ด้วยความยินดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี 
แล้วตอบสนองอย่างมีสติ และรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำ
ยอม รับสิ่งที่ตนเองเป็น อย่าให้คนอื่นมาเติมเต็ม สิ่งที่ตนเองขาดอย่างไม่เหมาะสม ด้วยการการลดคุณค่าของตนเอง เช่นไปประจบสอพลอ หรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับ หรือเพื่อเอาตัวรอด
มีความเต็มใจและจริงใจ ในการแบ่งปันหรือช่วยเหลือคนอื่น โดยไม่ต้องรอการร้องขอ หรือทำไปเพื่อต้องการผลตอบแทน
คู่มือคลายเครียด (1) 
ความเครียด เป็นภาวะของอารมณ์ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ คับข้องใจ หรือถูกบีบคั้นกดดัน จนทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ใจ สับสน โกรธ หรือเสียใจ

ความเครียดที่มีไม่มากนัก จะเป็นแรงกระตุ้น ให้คนเราเกิดแรงมุมานะ ที่จะเอาชนะปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ได้ คนที่มีความรับผิดชอบสูง จึงมักหนีความเครียดไปไม่พ้น

ความเครียดที่เป็นอันตราย คือ ความเครียดในระดับสูง ที่คงอยู่เป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต พฤติกรรม ครอบครัวการทำงาน และสังคมได้

ดังนั้น เราจึงควรรู้จักการผ่อนคลาย ความเครียดที่ถูกวิธี เพื่อให้การดำเนินชีวิตของเราเป็นสุข

ความเครียดเกิดขึ้นได้อย่างไร

ความเครียด เกิดจากสาเหตุ 3 ประการคือ

1.
สาเหตุทางด้านจิตใจ ได้แก่ ความกลัวว่าจะไม่สมหวัง กลัวจะไม่สำเร็จ หนักใจในงาน หรือภาระต่างๆ รู้สึกว่าตัวเอง ต้องทำสิ่งที่ยากเกินความสามารถ มีความวิตกกังวลล่วงหน้ากับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น

2.
สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ได้แก่ การเปลี่ยนช่วงวัย การแต่งงาน การตั้งครรภ์ การเริ่มเข้าทำงาน การเปลี่ยนงาน การเกษียณอายุ การย้ายบ้าน การสูญเสียคนรัก เป็นต้น

3.
สาเหตุจากการเจ็บป่วยทางกาย ได้แก่ การเจ็บไข้ ไม่สบายที่ไม่รุนแรง ตลอดไปจนถึง การเจ็บป่วยด้วยโรคที่รุนแรงและเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

การเผชิญกับความเครียด

คนเรามีความสามารถ ในการจัดการกับความเครียดได้อยู่แล้วทุกคน แต่ในระหว่างที่เราต้องเผชิญกับความเครียด เราควรมีแนวททางที่เหมาะสมดังนี้คือ

1.
สำรวจตนเองว่าเครียดหรือไม่

2.
ยอมรับความจริงและคิดในเชิงบวก

3.
การวางแผนแก้ปัญหา

4.
ผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม

การยอมรับความจริงและคิดในเชิงบวก

เมื่อมีปัญหา อย่าเพิ่มความกดดันให้ตนเอง โดยการมองโลกในแง่ร้าย ให้พยายามคิดในเชิงบวก และมองโลกในหลายๆ แง่มุม เช่น


มองว่างานหนัก งานยาก เป็นการท้าทายความสามารถ เป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้กับตัวเรา


การที่คนอื่นตำหนิเรา เป็นการช่วยให้เราได้เห็นตนเอง ในส่วนที่ควรปรับปรุง และสามารถพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นไปอีก


ยอมรับว่าคนทุกคนมีโอกาสประสบกับปัญหา และมีโอกาสผิดพลาดได้ทั้งนั้น และเราควรแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น ทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นได้

การวางแผนแก้ไขปัญหา

เมื่อทราบว่าเรามีความเครียด จนทำให้ชีวิตไม่มีความสุข หนทางที่เหมาะสมคือ พยายามค้นหาสาเหตุของความเครียด แล้วแก้ไขให้ตรงจุด ความตึงเครียดจะผ่อนคลายลงไปเอง ซึ่งการค้นหาสาเหตุของความเครียด อาจใช้วิธีการสำรวจตนเอง นึกทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ และวิเคราะห์สถานการณ์ หรือความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในบางโอกาสอาจพูดคุยกับผู้ใกล้ชิด เพื่อปรึกษาและช่วยค้นหาสาเหตุ และวิธีการแก้ไขปัญหาความเครียดนั้น โดยอาจมองหา วิธีการแก้ไขปัญหาหลายๆ วิธี และพิจารณาวิธีที่ดีที่สุดแล้ว จึงลงมือแก้ไขปัญหา

การผ่อนคลายความเครียด

เมื่อทราบว่ามีความเครียด และรู้สึกว่าถูกรบกวน จนทำให้ไม่มีความสุข ควรหาวิธีการผ่อนคลายความเครียดที่เหมาะสม เพื่อมิให้ความเครียดนั้นเป็นอันตราย ต่อสุขภาพการและสุขภาพจิต ซึ่งการผ่อนคลายความเครียดนั้นมี 2 ระดับ ดังนี้คือ

ระดับที่ 1 การคลายเครียดในภาวะปกติ

ระดับที่ 2 การคลายเครียดในภาวะที่มีความเครียดสูง

คู่มือคลายเครียด (2) - การคลายเครียดในภาวะปกติ

การคลายเครียดในภาวะปกติ เป็นวิธีการคลายเครียดที่คนทั่วไปนิยมปฏิบัติ โดยมักเลือกปฏิบัติในวิธีที่เคยชิน ถนัด หรือชอบ และสนใจ ทั้งนี้เพียงเพื่อให้ความเครียดลดลง รู้สึกสบายใจมากขึ้น เช่น

1.
หยุดพักการทำงาน หรือกิจกรรมที่กำลังทำอยู่นั้นชั่วคราว ลุกขึ้นไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ ยืนยืดเส้นยืดสาย สะบัดแขนขา สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ก็จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น

2.
ทำงานอดิเรกที่สนใจหรือถนัดและชื่นชอบ จะทำให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน สนุกหรือมีความสุข ลืมความเครียดที่มีอยู่ไปขณะหนึ่ง ทำให้ไม่หมกมุ่นกับปัญหาที่ทำให้รู้สึกเครียดได้ งานอดิเรกมีหลายประเภท เช่น



เล่นดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ ฟังเพลง


ทำงานศิลปะ งานประดิษฐ์


ปลูกต้นไม้ ขุดดิน ทำสวน


ตกแต่งบ้าน ตัดเย็บเสื้อผ้า


เขียนหนังสือ เขียนบันทึกต่างๆ อ่านหนังสือ


ดูโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฟังวิทยุ

3.
เล่นกีฬาหรือบริหารร่างกาย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเดิน วิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เตะตะกร้อ เล่นเทนนิส แบดมินตัน เตะฟุตบอล โดยเลือกเล่นกีฬาที่ชอบหรือถนัด

4.
พบปะสังสรรค์กับเพื่อนที่ไว้วางใจ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน เช่น การรวมกลุ่มพูดคุยเรื่องที่สนุกสนาน อยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนที่อารมณ์ดี สร้างอารมณ์ขันให้กับตนเอง เพื่อให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลินและผ่อนคลาย

5.
พักผ่อนให้เพียงพอ คนที่เครียดมักจะมีอาการนอนไม่หลับ หลับยาก หรือหลับแล้วตื่นกลางดึก ฝันร้าย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย การที่จะทำให้กลางคืนมีการนอนหลับที่ดีนั้น สิ่งสำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน และอย่ากังวลว่าจะนอนไม่หลับ ให้เข้านอนเป็นเวลา และหากไม่ง่วงนอน ก็ให้หากิจกรรมบางอย่างทำไปก่อน เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ฟังวิทยุ เป็นต้น

6.
ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานหรือที่บ้านให้เหมาะสม เช่น จัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ ทำความสะอาดบ้านและที่ทำงานให้ดูดีขึ้น ซึ่งหากสิ่งแวดล้อมดูสะอาด เรียบร้อย และสวยงามน่าอยู่แล้วย่อมทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีและช่วยลดความเครียดลงได้

7.
เปลี่ยนบรรยากาศชั่วคราว ในบางครั้งที่เราอาจคร่ำเคร่ง หรือเคร่งเครียดกับการทำงาน หรือกิจกรรมบางอย่างมาก ๆ อาจทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ซ้ำซาก จำเจเกินไป จนทำให้ไม่มีความสุข ดังนั้นการเปลี่ยนบรรยากาศชั่วคราวด้วยการชักชวนคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงออกไปท่องเที่ยวชมธรรมชาติ หลีกหนีบรรยากาศที่จำเจไปชั่วคราว หยุดงานชั่วขณะ หยุดพักผ่อนบ้าง เดินทางไปสถานที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และเพลิดเพลินสักระยะหนึ่ง จะทำให้ความตึงเครียดลดลง และพร้อมที่จะลุยงานต่อไปได้ใหม่

สิ่งสำคัญที่ควรระลึกถึงคือ การหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การดื่มสุรา สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน กินของจุกจิก หรือใช้ยาเสพติด เพราะนอกจากจะทำลายสุขภาพแล้ว ยังอาจทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย เช่น เสียทรัพย์สินเงินทอง เกิดความขัดแย้งไม่เข้าใจกับคนในครอบครัว เป็นต้น
อารมณ์ขัน ใช่แค่สีสันชีวิต



ฮ่า ฮ่า ฮ่า...หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส ไม่ใช่คำโม้ หรือโอ้อวดเกินจริงแต่อย่างใด เสียงหัวเราะยังมีประโยชน์สารพัด ที่คุณจะประหลาดใจ

หัวเราะเป็นยาวิเศษ

การได้หัวเราะแต่ละครั้ง นอกจากสร้างสีสันให้บุคลิก และสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีได้แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อจิตใจ และร่างกายควบคู่กันด้วย เพราะ
ในขณะที่หัวเราะ กล้ามเนื้อบนใบหน้าและตามร่างกาย จะหดยืดและคลายตัว ส่งผลช่วยคลายความตึงเครียดได้อย่างดี

ยิ่งกว่านั้น จากการค้นคว้าของ ARISE (Associates for Research Into the Science of Enjoyment) หรือองค์การวิจัยเพื่อศาสตร์แห่งความสุข ซึ่งเป็นสถาบันกลาง ที่รวมผลงาน การค้นคว้าโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั่วโลก ยังได้พบคุณค่าของการหัวเราะ ที่มีผลต่อสุขภาพของคนเราอย่างมากมาย นั่นคือ

การหัวเราะ จะช่วยลดระดับฮอร์โมน ที่ก่อให้เกิดความเครียดลง และยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารสำคัญ ที่จะช่วยลดความเจ็บปวด และทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เมื่อใดที่หัวเราะร่างกายยัง จะผลิตเซลล์ ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง และเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสได้มากขึ้นด้วย ซึ่งเซลล์ที่ว่านี้ จะคงอยู่นานถึงอีกวันรุ่งขึ้นเลยทีเดียว

หัวเราะ บริหารร่างกาย

นอกจากนี้ ถ้าได้หัวเราะบ่อยๆ ในแต่ละวัน จะมีค่าเท่ากับเต้นแอโรบิคได้ถึง 10 นาที หรือ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ 15 นาที เพราะขณะหัวเราะหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตและอุณหภูมิก็เพิ่มขึ้น การได้หัวเราะแบบสุดๆ จะช่วยให้ปล่อยลมหายใจได้เต็มที่ คุณรู้สึกสบายเช่นเดียวกับออกกำลังกาย และยังเป็นการเพิ่มออกซิเจนในเลือด สูบฉีดไปยังผิวหนังช่วยเร่ง การผลัดผิวให้สดใสยิ่งขึ้น

มาเพิ่มอารมณ์ขันกันดีกว่า

ด้วยเทคนิคการเพิ่มอารมณ์ขัน ที่โครงการความสุขของสถาบันออกซ์ฟอร์ดจัดทำขึ้น ดังนี้

เริ่มต้นที่ตัวคุณแสวงหาสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกขบขัน หรือลองเปลี่ยนวิธีมองโลกในด้านดี ที่อาจทำให้คุณเห็นมุมขำๆ ที่คนอื่นคิดไม่ถึง หาเรื่องสนุกให้ตัวเอง เช่น พบปะพูดคุยกับเพื่อนที่เต็มไปด้วยมุขตลก หรือดูหนังตลก อย่าจมอยู่กับความโศกเศร้า โดดเดี่ยวหรือความเครียด รู้ตัวเมื่อไหร่ รีบพาตัวเองออกมาทำสิ่งสนุกๆ โดยด่วน สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือการมองโลกในแง่ดี คิดในทางที่ดีเข้าไว้ ทุกปัญหามีทางออกเสมอ

ถึงคราวหัวเราะครั้งต่อไป... ฮ่า ฮ่า ฮ่า ให้เต็มที่ เพื่อรับประโยชน์ที่ดีกับสุขภาพของคุณเอง แล้วคุณจะรู้สึกว่าโลกใบนี้ยังมีมุมดีๆ ที่น่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ
คู่มือคลายเครียด (3) - การคลายเครียดในภาวะที่มีความเครียดสูง  

การคลายเครียดในภาวะที่มีความเครียดสูง
เมื่อมีความเครียด กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายจะหดเกร็ง และจิตใจจะวุ่นวายสับสน ดังนั้น เทคนิคการผ่อนคลายความเครียดส่วนใหญ่ จึงเน้นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และการทำจิตใจให้สงบเป็นหลัก ซึ่งวิธีที่จะนำเสนอในที่นี้ จะเป็นวิธีง่ายๆ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ตามความเหมาะสม เนื่องจากบางคนอาจจะปฏิบัติได้ผลในบางวิธี ดังนั้น จึงควรเลือกใช้ในวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง คือ ทำให้ผ่อนคลายได้ดีที่สุด วิธีต่างๆ มีทั้งสิ้น 6 วิธี ดังนี้คือ
 
  การฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ
 
  การฝึกการหายใจ
 
  การทำสมาธิเบื้องต้น
 
  การใช้เทคนิคความเงียบ
    การใช้จินตนาการ
    การใช้เทปเสียงคลายเครียดด้วยตัวเอง
ขอให้ลองอ่านวิธีทั้งหมดอย่างคร่าวๆ ดูก่อน หากชอบวิธีไหน เป็นพิเศษจึงค่อยอ่านโดยละเอียด และนำไปฝึกฝนด้วยความตั้งใจต่อไป
ในการฝึกครั้งแรกๆ ใจอาจจะยังคอยพะวงอยู่กับ ขั้นตอนการฝึกจนรู้สึกว่า ความเครียดยังไม่ได้รับการผ่อนคลาย ออกไปเท่าที่ควร แต่เมื่อฝึกหลายครั้ง จนเกิดความชำนาญ จะช่วยคลายเครียดได้เป็นอย่างดี
สำหรับการฝึกคลายเครียดนั้น เมื่อเริ่มฝึก ควรฝึกบ่อยๆ วันละ 2-3 ครั้ง และควรฝึกทุกวัน ต่อเมื่อฝึกจนชำนาญแล้ว จึงลดลงเหลือเพียงวันละ 1 ถึง 2 ครั้งก็พอ และฝึกเฉพาะ เมื่อรู้สึกเครียดเท่านั้นก็ได้ แต่อยากแนะนำให้ฝึกทุกวัน โดยเฉพาะก่อนนอนจะช่วยให้จิตใจสงบ และนอนหลับสบายขึ้น
หากคุณได้ลองฝึกปฏิบัติ การผ่อนคลายความเคียดตามวิธีการต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ไม่สามารถผ่อนคลายความเครียดที่มีอยู่ได้ คุณควรพบแพทย์ เพื่อพอคำแนะนำปรึกษาต่อไป
กลวิธีคลายเครียด
 ความเครียดทางอารมณ์ เป็น สิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนไม่มากก็น้อย ความเครียดอาจจะเกิดจากปฏิกิริยาในตัวเราเอง เช่น ปวดท้องอึขณะที่ขับรถติดในชั่วโมงเร่งด่วน หรือความเครียดที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น หุ้นตก สูญเสียเงิน ถูกโกงแชร์ เป็นนายกโดนปฎิวัติ ฯลฯ

ความเครียดขนาดน้อยๆ เป็นเรื่องปกติ ไม่มีปัญหา แต่อาจจะมีประโยชน์ ที่ทำให้เราพยายามเอาชนะมัน ทำให้เรามีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย เช่น เครียดเพราะกลัวสอบเอ็นทรานซ์ไม่ได้ จึงทำให้ขยันเรียน แต่ความเครียดถ้ามีขนาดมาก ก็มีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ความเครียดอาจจะทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง ทำให้เป็นหวัดง่าย เริมกำเริบ หรือในบางคนอาจจะเกิดโรคจู๋หมดน้ำยา หรือถึงขนาดฆ่าตัวตาย

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความเครียด แนะนำหลักการลดความเครียดไว้หลายอย่าง ขั้นแรกหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียด เขาให้คำนิยามของสาเหตุความเครียดไว้ว่า มันคือภาวะที่บีบคั้น ที่เกินความสามารถของเราที่จะตอบสนองได้
ความสามารถในการตอบสนองต่อความเครียด ขึ้นกับพันธุกรรม บุคลิกภาพ ประสบการณ์ของชีวิตของเรา เช่น คนบางคนอาจจะเครียด เมื่อต้องขึ้นไปร้องเพลงบนเวที แต่บางคนชอบมาก เนื่องจากมีพันธุกรรม หรือบุคลิกของความไม่ขี้อายชอบแสดงออก บางคนเข้าใกล้หมาแล้วเครียดมาก เนื่องจากมีประสบการณ์โดนหมากัดตอนที่ยังเด็ก
สาเหตุของความเครียดหลายอย่าง มันเห็นได้เข้าใจได้เด่นชัด เช่น พ่อหรือแม่เสียชีวิต ลูกไม่สบาย แฟนเลิกร้าง กิ๊กเลิกรา หางานทำ ไม่ได้ ถูกไล่ออกจากงาน หาเงินไม่พอใช้ เป็นหนี้พนันบอล ฯลฯ แต่ความเครียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันก็ไม่ควรมองข้าม เช่น ต้องขับรถฝ่าจราจรไปส่งหรือรับลูกที่โรงเรียนทุกวัน เพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี คอมฯ มีปัญหาแฮงค์บ่อยทำให้ต้นฉบับหาย น้ำมันราคาแพง ความเครียด เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ถ้าเป็นอยู่นานๆ ก็สามารถสร้างความเสียหาย ให้กับชีวิตร่างกายหรือสุขภาพของเราได้มาก เพราะมันกระตุ้นร่างกายเรา ให้หลั่งฮอร์โมนความเครียดตลอดเวลา ทำให้เกิดโรคขึ้น เช่น ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ แล้วตามมาด้วยอัมพาตอัมพฤกษ์

กลวิธีคลายเครียดที่ผู้รู้แนะนำไว้ และคุณสามารถเลือกเอาไปใช้ได้มีหลายอย่าง คือ

จดบันทึกประจำวัน
 
จดบันทึกประจำวันสักหนึ่ง สัปดาห์ ให้สังเกตดูว่าเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด ที่เราตอบสนองทางกาย ใจ หรืออารมณ์ในทางลบ และให้จดวันเวลาของเหตุการณ์ไว้ด้วย เขียนบรรยายเหตุการณ์เอาไว้ย่อๆ เราอยู่ในเหตุการณ์ตรงไหน มีใครเกี่ยวข้องบ้าง อะไรเป็นสาเหตุของความเครียด และบรรยายถึงการตอบสนองของเรา ต่อความเครียดนั้นด้วย อาการทางกายของเราเป็นอย่างไร เช่น หัวใจเต้นแรง ใจสั่น เหงื่อแตก ความรู้สึกของเราเป็นอย่างไร เราพูดอะไร หรือทำอะไรลงไปบ้าง เสร็จแล้วให้คะแนนความเครียดของเราจาก 1 ถึง 5 (น้อยไปมาก)
 
จดบันทึกรายการของสิ่งหรือ สถานการณ์ต่างๆ ที่บีบคั้นเราให้ใช้เวลา และพลังงานกับมันในหนึ่งสัปดาห์ว่ามีอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น การงานที่เราทำอยู่ งานอาสาสมัคร ขับรถพาลูกไปเรียนพิเศษ ดูแลพ่อหรือแม่ที่แก่เฒ่า เสร็จแล้วให้คะแนนความมากน้อยของความเครียดที่ เราประสบจาก 1 ถึง 5 เหมือนข้างบน
ี้หลังจากนั้น เราก็มานั่งพิจารณาสิ่งที่เราจดบันทึกไว้ พิจารณาสิ่งที่เราคิดว่าทำให้เราเครียดมากๆ แล้วเลือกขึ้นมาอย่างหนึ่ง เพื่อทำการวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคที่ใช้แก้ปัญหาดังนี้

ปรับปรุงทักษะการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทักษะนี้สามารถทำให้คุณเก่ง ในการแยกแยะเป้าหมาย และให้ความสำคัญก่อนหลังของสิ่งที่เราต้องทำ ซึ่งจะช่วยลดความเครียดในชีวิตได้ ให้ใช้ทักษะต่างๆ ดังต่อไปนี้ช่วยลด ความเครียด
 
สร้างความคาดหมายที่เป็นไปได้จริง และขีดเส้นตายให้กับงานที่เราจะทำ และทำการตรวจสอบความก้าวหน้าเป็นประจำ
 
จัดระเบียบบนโต๊ะทำงาน กำจัดกระดาษที่ไม่มีความสลักสำคัญ โดยการโยนมันทิ้งไป
 
เขียนรายการแม่บทของสิ่งที่เราต้องทำก่อนหลังประจำวันแล้วทำตามนั้น
 
ตลอดทั้งวันที่ทำงานหมั่นเช็ครายการ แม่บทที่เราทำไว้ ว่าเราได้ทำเสร็จไปตามลำดับก่อนหลังที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า
 
หัดใช้สมุดนัดที่เขาเรียกว่าแพ ลนเนอร์ เพื่อจดบันทึกสิ่งที่เราวางแผนจะทำล่วงหน้า เป็นวัน เป็นเดือน หรือเป็นปี หรือเขียนรายการแม่บทตามที่กล่าวข้างบนนั้น เป็นรายการที่ต้องทำก่อน-หลังประจำวัน ลงบนแพลนเนอร์ด้วย แล้วทำไปตามนั้น และทำการประเมินผลประจำวัน จะเกิดผลดี ไม่เกิดความยุ่งยาก สับสน ผิดนัด ใช้แพลนเนอร์เก็บเบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ของคนสำคัญหรือลูกค้า เพื่อความสะดวกใน การค้นหาติดต่อ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ผิดพลาดเสียเวลาน้อยลง มีเวลาทำงาน อย่างอื่นหรือรื่นเริงมากขึ้น
 
สำหรับการทำงานหรือโครงการที่มีความสำคัญมาก ให้กันเวลาที่ห้ามใครมารบกวนไว้ต่างหาก เพื่อการทำงานที่ต่อเนื่องและเป็น ความลับ
หลีกเลี่ยงความเบื่อหน่ายหมดไฟในการทำงาน

ถ้าคุณมีความรู้สึกหมดไฟ ไม่อยากทำงาน หรือเครียดมากเป็นเวลานานเป็นสัปดาห์ ความรู้สึกนี้จะมีผลต่อความสัมพันธ์ในทางอาชีพ และในชีวิตส่วนตัวหรือในการทำมาหากินของคุณได้

ความอัดอั้นตันใจที่มากล้น ความรู้สึกเมินเฉยต่อการงาน ความหงุดหงิดรำคาญใจเป็นเวลายาวนาน ความขุนเคืองใจ และมีความโน้มเอียงที่จะโต้เถียงเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ เป็นตัวชี้บ่งถึงอาการหมดไฟในการทำงาน ซึ่งจำเป็นต้อง ได้รับการจัดการเยียวยาให้มันดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเขาแนะนำกลยุทธในการต่อสู้ดังนี้
 
ดูแลตัวเองให้สุขภาพดี กินอาหารให้ครบห้าหมู่ กินให้ครบทุกมื้อรวมทั้งอาหารเช้า กินในขนาดที่พอประมาณ (ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม) นอนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอให้พอเหมาะ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ร่างกายของท่านแข็งแรง สามารถสู้กับความเครียดทางกายและใจได้ดี
 
สร้างสัมพันธไมตรีกับเพื่อนใน ที่ทำงานและนอกที่ทำงาน หาเพื่อนสนิทที่เราสามารถบ่นเรื่องคับข้องใจ ปรับทุกข์เรื่องการงานให้ฟังได้ ทำให้มีหนทางในการแก้ปัญหา ที่ก่อความเครียดของเราได้ หลีกเลี่ยงการคบค้ากับคนที่เรามีความรู้สึกไม่ดี คนไม่จริงใจ ไม่เป็นกัลยาณมิตร เพราะจะยิ่งจะตอกย้ำความรู้สึกย่ำแย่ให้มากขึ้น ในมงคลสูตรก็กล่าวไว้ให้คบคนดี หลีกหนีคนพาล มองหากัลยาณมิตร
 
รู้จักลาพักผ่อน ลาพักร้อน วาเคชั่น บางคนอาจจะลาไปปฏิบัติธรรมฝึกวิปัสสนากรรมฐาน หรือปลีกวิเวก สำหรับคนที่ทำได้ มันจะทำให้คลายเครียดลงได้มาก แน่นอน และสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ลาได้ไม่มาก ก็อาจจะมีการเบรคพักคลายเครียดชั่วครู่ในเวลาทำงาน ก็จะช่วยได้บ้าง
 
ในบางกรณีจำเป็นต้องฝึกการ ปฏิเสธ หัด “Say No” กับเพื่อนที่มาชวนไปทำโน่นทำนี้ ที่ทำให้เราเครียด เช่น เป็นสาวเป็นแส้เที่ยวแร่ไปตามที่อโคจร ไปนั่งตามผับตามบาร์ ดื่มเหล้าสูบยาซึ่งเป็นท่าทีเชิญชวนให้ หนุ่มเหน้าเข้ามาโอภาปราศรัยอยากได้ปลื้ม
 
หัดยับยั้งชั่งใจไม่โต้เถียงกับ ใครๆ โดยไม่เลือก พยายามใจเย็น มีสติ สัมปชัญญะ เถียงเฉพาะเรื่องที่มีความสลักสำคัญจริง (ไม่ใช่เรื่องทักษิณออกไป) แต่ที่ดีที่สุดคือหุบปากไม่เถียงกับใครเลย ทุกครั้งที่เถียงกัน จะมีการหลั่งของฮอร์โมนความเครียด ความดันเลือดพุ่งขึ้นทุกที
 
ทางออกของความ เครียดที่ควรหัดมีไว้คือ การอ่านหนังสือที่เราชอบ ทำงานอดิเรกที่เรารัก ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่เราสนุก ทำให้รู้สึกชื่นมื่นเพราะเอนดอร์ฟิน (สารสร้างสุข) หลั่งออกมา
ถ้าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่มีผลดีต่อ คุณ ก็จำเป็นต้องหาที่พึ่ง เช่น เข้าหาปรึกษาพระที่เราเคารพนับถือ เอาธรรมะเข้าข่ม หรือใช้มืออาชีพอย่างนักจิตวิทยา หรือให้จิตแพทย์ช่วยก็จะดีที่สุด อย่าลืมว่าความเครียดอาจจะทำให้ถึงตายได้ อย่าปล่อยให้มันเรื้อรังนะครับ
 ความเครียด
 ความเครียด เป็น สภาวะที่บุคคลรู้สึกไม่เป็นสุข ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเอง หรือจากการถูกเร้าด้วยบางสิ่งบางอย่าง ในสิ่งแวดล้อมที่อยู่ก็ได้ มีผู้จำแนกที่มา และการแสดงออกของความเครียดไว้ ดังนี้


 
จากสิ่งเร้า เช่นความกดดันจากเวลา ความคับข้องใจ ในความสัมพันธ์กับคนบางคน หรืออุบัติเหตุ (Brief & George,1995 ; Kahn & Byosiere,1992)
 
เป็นเรื่องของการที่บุคคลรับรู้ คาดหวัง ตีความ และจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ประสบ (Lazarus,1966)
 
เกิดจากการที่ความต้องการของบุคคล ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นจริง ในสิ่งแวดล้อม (Edwards,1992)
 
อาการทางสรีระ ต่างๆ เป็นสิ่งที่บอกถึง การมีความเครียดกดดันอยู่ เช่นเหงื่อออกมาก ใจสั่น หายใจหอบถี่ หน้าซีด ปวดท้อง ปั่นป่วน วิงเวียน ปวดศีรษะ ฯ ที่ไม่พบ

สาเหตุทางกาย (Selye,1956)


ความเครียดในที่ทำงานมาจาก

 
สิ่งเร้าทางกายภาพ เช่น มลพิษต่างๆในที่ทำงานทั้งกลิ่น เสียง ฝุ่น ความร้อน ความเย็น สารเคมี  สารพิษ ความสกปรก
 
ลักษณะงาน เช่นความกดดันจากเวลางาน งานหนักหรือซับซ้อน งานซ้ำซากจำเจ  หรือเครื่องมืออุปกรณ์ไม่สมบูรณ์ หรือเสียบ่อย 
 
บทบาท เช่นไม่ชัดเจนหรือขัดแย้งกัน มีการทำงานที่ทับซ้อน หรือก้าวก่ายกัน
 
ลักษณะ สังคม เช่นมีปัญหากับหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน  มีปัญหาการปรับตัวทางเพศที่ไม่เหมาะสม  มีม็อบ และความรุนแรง หรือการที่ต้องทำงานกับคนที่เรื่องมาก จุกจิกจู้จี้กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
 
เวลางาน เช่น ระยะเวลาทำงาน การเข้าเวร หรือทำงานเป็นกะ การมีช่วงเวลาทำงานที่นานเกินไป หรือการทำงานล่วงเวลา
 
ตำแหน่งงาน เช่น ความมั่นคง และโอกาสของความก้าวหน้ามีน้อย
 
อุบัติเหตุ เช่น การประสบอุบัติเหตุจากงานที่ทำ ทำงานที่เสี่ยงอันตราย หรือการได้รับพิบัติภัยของที่ทำงาน  กลุ่มทหาร ตำรวจ หรือพนักงานดับเพลิงอยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้
 
การ เปลี่ยนแปลงขององค์กร เช่น การต้องรวมกับที่อื่น เพื่อความอยู่รอด การลดขนาด รวมทั้งการนำเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยมาใช้ อาจจะทำให้รู้สึกหวั่นไหว ต่อความมั่นคงในงานได้
ความคิดความเชื่อที่นำไปสู่ความเครียด
 
 แสวงหาความพึงพอใจอย่างฉาบฉวย  เพ้อฝันสร้างวิมานในอากาศ
 
 เลี่ยงการทำงานให้สำเร็จ ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ
 
 เฉื่อยชา ไม่เรียนรู้จากประสบการณ์ ทำให้ทำผิดซ้ำๆ
 
ไม่อดทนต่อสิ่งที่มากระทบ หันไปหลงใหลไสยศาสตร์  
 
จู้จี้เจ้าระเบียบ ไม่ยืดหยุ่น  
 
หลีกเลี่ยงที่จะพัฒนาตัวเอง ฯลฯ
ความคิดความเชื่อที่ทำให้ปรับตัวได้
 
ยอมรับความเป็นจริงในภาวะต่างๆ และพร้อมที่จะเผชิญหน้า และแก้ไขอย่างยืดหยุ่น
 
เชื่อมั่นในตนเอง และมีความมั่นคงเข้มแข็งทางจิตใจ
 
ยอมรับปมด้อยของตัวเอง แต่ไม่ท้อถอยที่จะสร้างสิ่งทดแทน
 
ขอความช่วยเหลือจากคนข้างเคียง หรือสังคมในแง่กำลังใจ วัตถุ เงินทองเมือจำเป็น
 
ระมัดระวังป้องกันอันตรายอย่างเหมาะสม     
 
ใจกว้าง สนใจ และสามารถยอมรับความคิดเห็นคนอื่นๆ ได้
 
เรียนรู้จากความผิดพลาด
 
มีความมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพในการดำเนินชีวิต
เทคนิคการผ่อนคลายความเครียด
 
1.
ระบายกับบุคคลที่ไว้วางใจ
 
2.
ทำงานอดิเรกที่ชอบเช่น กีฬา / ดนตรี / ศิลปะ / ปลูกต้นไม้ / เลี้ยงสัตว์เลี้ยง
 
3.
ฝึกการหายใจอย่างถูกต้อง ให้อ็อกซิเจนเข้าถึงปอดได้เต็มที่
 
4.
สร้างจินตนาการถึงสิ่งที่ทำให้มีความสุข และรู้สึกผ่อนคลาย
 
5.
ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดความตึงเครียดทางร่างกาย  จิตใจก็จะผ่อนคลายตามมา
 
6.
การปรับความคิด ให้เหมาะสม คือ อยู่กับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ติดอยู่กับเรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรือกังวลกับเรื่องในอนาคต ที่ยังมาไม่ถึงมากเกินไป
 
7.
การผ่อนคลายด้วยวิถีตะวันออก เช่นการทำสมาธิ โยคะ ชิกง ไท้เก็ก การนวด การทำอโรม่า เป็นต้น

10 เคล็ดลับบริหารเวลา ลดความเครียด
บางทีการที่คุณรู้สึกยุ่งและเครียดอยู่ตลอดเวลา อาจจะไม่ได้มาจากการที่คุณมีงานมากเกินไป หรือมีเวลาไม่มากพอ แต่เพราะคุณไม่รู้จักใช้เวลาของตัวเองมากกว่า

หนึ่งในปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดความเครียดในการทำงาน ก็คือ งานที่มากเกิน และไม่มีเวลาพอจะทำให้เสร็จ วิธีง่ายๆ ในการออกจากปัญหานี้ก็คือ การจัดระเบียบ และบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายของการบริหารเวลา ไม่ใช่เป็นการหาเวลามากขึ้น แต่คือการจัดลำดับความสำคัญ และใช้เวลาที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด เราได้รวบรวมเคล็ดลับ 10 อย่าง เพื่อให้คุณควบคุมชีวิตตัวเองได้ และสนุกกับสิ่งที่ตัวเองทำ

1.
ทำรายการสิ่งที่ต้องทำและจัดลำดับความสำคัญ นี่คือจุดเิริ่มต้นของการบริหารเวลา เขียนรายการของภารกิจที่ต้องทำ จัดลำดับมันตามความสำคัญ และวางแผนว่าคุณจะทำมันเสร็จเมื่อไร เขียนหน้าที่และกิจกรรมที่จะช่วยทำมันได้เร็วที่สุด การจัดความสำคัญของภารกิจจะช่วยคุณลดความตึงเครียดลงได้

2.
สร้างกิจวัตร เลือกเวลาใสก็ได้ในแต่ละวันหรือสัปดาห์ เพื่อจัดการกับภารกิจบางอย่าง เช่น ตอบอีเมล์ โทรศัพท์ ทำงานเอกสาร และทำตามนั้นให้เป็นกิจวัตร

3.
เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ มันมีบางเวลาที่คุณต้องเรียนรู้ที่จะสร้างขอบเขต การจัดเวลาที่ไม่ดีบ่อยครั้งเป็นผลมาจากตัวเราเอง ที่ชอบตอบตกลงกับหลายสิ่งหลายอย่างเกินไป ทุกครั้งที่เราตกลงจะทำบางอย่างที่นอกเหนือตารางของเรา ภารกิจอื่นที่จัดเวลาเอาไว้ก็จะไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นเรียนรู้ที่จะปฏิเสธบ้าง บางครั้งคำว่า "ไม่" ก็ต้องพูดกับตัวเองด้วย อย่างได้รับอะไรก็ตามที่มากเกินขอบเขตความสามารถของคุณ

4.
เรียนรู้ว่าคุณทำงานตอนไหนดีที่สุด คุณสามารถค้นพบตัวเองได้ด้วยการดูผลงานของตัวเองสักช่วงหนึ่ง จากนั้น ก็ให้เวลาที่ตัวเองทำงานได้ดีที่สุดสำหรับการทำงานสำคัญที่สุด

5.
แบ่งภารกิจใหญ่ๆ ให้ย่อยลง ถ้าเป็นไปได้ ภารกิจใหญ่ๆ ควรถูกแบ่งเป็นภารกิจเล็กๆ หลายๆ เรื่อง มันจะทำให้ง่ายขึ้นที่จะรับมือกับมัน นอกจากนี้ การใช้วิธีการแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ คุณจะสามารถจัดมันให้เข้ากับตารางเวลาอันแสนยุ่งของคุณได้ง่ายขึ้น

6.
ประหยัดความพยายามเอาไว้บ้าง ตัดสินใจว่าภารกิจไหนที่ต้องการความใส่ใจอย่างละเอียดลออ และอะไรที่สามารถทำได้แบบสบายๆ การพยายามทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ นอกจากจะเป็นได้ยากแล้ว มันยังยิ่งทำให้คุณเครียดหนักขึ้นไปอีก

7.
เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็น แยกแยะงานที่ต้องทำให้เสร็จ กับงานที่สามารถแบ่งไปให้คนอื่นได้ มองหาวิธีที่จะพัฒนาวิธีทำงานให้เสร็จเร็วขึ้น และพยายามทำงานที่ต้องทำเป็นประจำให้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ หรือปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้น

8.
จำกัดเวลา เรากำลังพูดถึงการบริหารเวลา ฉะนั้น โดยธรรมชาติ พร้อมกับการตั้งเวลาเริ่มต้นสำหรับกิจกรรม เราจำเป็นต้องตั้งเวลาที่จะหยุดเอาไว้ด้วย นี่จะต้องการการประมาณการ แต่การเดาของคุณจะพัฒนาขึ้นเมื่อได้ฝึกฝน นี่จะปล่อยให้คุณและคนอื่นสามารถจัดเวลาของกิจกรรมได้ดีกว่า

9.
อย่าโหดร้ายกับตัวเอง ให้เวลาตัวเองมากพอที่จะทำงานให้เสร็จ และลดความวิตกกังวล ถ้าคุณมีปัญหาในการทำงานให้ทันเดดไลน์ ให้เวลาตัวเองมากกว่าทีุ่คุณคิดว่าต้องการ เพื่อทำงานให้เสร็จอีก 20 เปอร์เซ็นต์

10.
วางแผนเพื่อทำให้ทุกอย่างเสร็จ คุณต้องหาเวลาเอาไว้เพื่อวางแผนและจัดตารางเวลาของคุณด้วย