“อ่อนเพลีย” เป็นหนึ่งในอาการยอดฮิตของหลาย ๆ คน ไม่เพียงเกิดจากพักผ่อนไม่เพียงพอ ตรากตรำเรียน-ทำงานหนัก เครียด หรือ กังวลเท่านั้น เมื่อใดที่ร่างกายอยู่ในภาวะพร่อง “สารอาหารบางจำพวก” ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้สึก “เหนื่อยล้า” ได้เช่นกัน
สารอาหารแรกคือ “ธาตุเหล็ก” พบมากในเนื้อสัตว์ ทั้งหมู ไก่ กุ้ง หอย ปลา ไข่ ตับ และจากพืช จำพวกผักกาดหอม ฟักทอง ต้นหอม มะเขือพวง ใบขี้เหล็ก มันเทศ เผือก ลูกพรุน ถั่ว ลูกเดือย งา มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด เมื่อร่างกายขาดจะทำให้โลหิตจาง อ่อนเพลีย สมาธิสั้น การเรียนรู้ลดลง เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อในร่างกาย และสมองได้น้อยลง
ถัดมาเป็น “แมกนีเซียม” จากเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักใบเขียว อัลมอนด์ มีความสำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อระบบประสาท สมอง และช่วยการทำงานของทริปโตเฟน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็นในการเสริมสร้างสารเมลาโตนิน หรือ สารสื่อประสาท ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ วิตกกังวลน้อยลง เมื่อร่างกายขาดจะทำให้เกิดความรู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
นอกจากนั้น ยังรวมถึง “วิตามินซี” ซึ่งมีมากในผักตระกูลกะหล่ำ อย่างกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี โดยขณะประกอบอาหารไม่ควรต้ม หรือ ผัดนานเกินไป เนื่องจากความร้อนจะทำลายวิตามินซีได้ง่าย นอกจากนั้น ยังพบในมะเขือเทศ ส้ม ฝรั่ง มะละกอ กล้วย สับปะรด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เมื่อร่างกายขาดจะมีอาการอ่อนเพลีย ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง ทำให้ติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรียได้ง่าย
สารอาหารข้างต้นถือเป็นยาชูกำลังชั้นดี รับประทานประจำในปริมาณพอเหมาะ นอกจากจะอิ่มท้อง ยังได้คุณค่าทางโภชนาการด้วย.