"มะม่วง" หนึ่งในผลไม้ที่ออกมากมายในฤดูร้อนต่างก็ออกผลกันทั่วถิ่นแดนไทย ใครที่หลงใหลในรสชาติของมะม่วงช่วงนี้นับเป็นโอกาสดีอีกครั้งที่จะได้ลิ้มรสความอร่อยของมะม่วงอีกครั้ง มะม่วงเปรี้ยวกินกับน้ำปลาหวาน จิ้มเกลือ จิ้มกะปิ ให้รสจี๊ดจ๊าดถึงใจ มะม่วงสุก ปอกเปลือกส่งเข้าปากให้รสชาติหวานหอมถึงใจ ส่วนใครอยากเพิ่มดีกรีความอร่อยของมะม่วงสุก เมนู"ข้าวเหนียวมะม่วง" นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย และในร้านข้าวเหนียวมะม่วงที่ซื้อหาได้ทั่วไป ร้านข้าวเหนียวมะม่วงที่ถือว่าเป็นทีเด็ดและมีชื่อในเรื่องของความอร่อยนั้น นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ไม่กังวลเรื่องน้ำหนัก "ผู้จัดการตระเวนกิน" มี 5 ยอดร้านข้าวเหนียวมะม่วงชื่อดังที่มีอายุเก่าแก่(ขั้นต่ำ 20 ปีขึ้นไป) มากระตุ้นต่อมน้ำลาย ซึ่งแต่ละร้านมีความโดดเด่นในเลือกรสชาติที่แตกต่างกันออกไป ใครชอบร้านไหนก็ไปตระเวนกินกันได้ตามใจปาก ส่วนปัญหาความลำบากในเรื่องของน้ำหนักที่ตามมาค่อยไปว่ากันทีหลัง | |||||
ก.พานิช นับเป็นร้านข้าวเหนียวมะม่วงเก่าแก่อายุเกือบ 80 ปี ที่ตั้งอยู่ตรงแพร่งภูธร ผ่านมาถึงวันนี้ ก.พานิช ยังคงไว้ซึ่งสูตรเด็ดของร้านเหมือน เดิมโดยมี พาณี เฉียบฉลาด สะใภ้ของร้านยุคดั้งเดิม เป็นผู้สืบสานตำนานความอร่อย ย้อนไปเมื่อปี 2472 ร้านนี้ยังไม่มีชื่อร้านอย่างเป็นทางการ แต่ลูกค้ามักเรียกกันว่า"ข้าวเหนียวแม่ภี" จนกระทั่งปี 2475 ชื่อ"ก. พานิช" ได้ถือกำเนิดขึ้นในยุทธจักรข้าวเหนียวมะม่วงแห่งบางกอก โดยชื่อ "ก." มาจากชื่อ"นายกาบ เฉียบฉลาด" เจ้าของร้าน ส่วน"พานิช" มาจากการค้าขาย เมื่อรวมกันแล้ว ก.พานิช ก็คือ การทำมาค้าขายของนายกาบนั่นเอง แต่ว่าจริงๆแล้วคนทำข้าวเหนียวมะม่วงตัวจริงเสียงจริง คือ "สารภี เฉียบฉลาด" ภรรยาของนายกาบ(ลักษณะคล้ายๆพรรคการเมืองพรรคใหญ่ในบ้านเราเหมือนกัน ที่หลังบ้านคือผู้ดูแลพรรคตัวจริงเสียงจริง) ที่เรียนรู้สืบทอดสูตรมาจากมารดาคือ"ลี้ ขำอัมพร" ผู้ซึ่งเคยเป็นช่างเครื่องอยู่ในวัง | |||||
ส่วนมะพร้าวที่ใช้ต้องเป็นมะพร้าวจากชุมพรที่แก่จัด ไม่มีจาวมะพร้าว เมื่อคั้นออกมาแล้วจะให้กะทิที่เข้มข้น ด้านน้ำตาลต้องเป็นน้ำตาลเมืองกาญจน์ โดยใช้เกลือไอโอดีนเป็นส่วนผสมเท่านั้น ไม่เพียงแต่ใช้ของดี แต่ที่ร้าน ก.พานิช ยังเน้นเรื่องความสะอาดในทุกขั้นตอน ทำให้ข้าวเหนียวมูน "ก.พานิช" สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติได้นานถึง 3 วัน โดยไม่ต่องพึ่งพาสารกันบูดแต่อย่างใด ในส่วนวิธีการมูนข้าวเหนียวของ "ก.พานิช" เริ่มจากแช่ข้าวเหนียวประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วนำไปนึ่งอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้เมล็ดข้าวอ่อนนุ่มขึ้น จากนั้นนำน้ำกะทิที่ใส่น้ำตาล เกลือ แล้วละลายให้เข้ากัน และกรองน้ำกะทิอีกรอบให้สะอาด จากนั้นเทน้ำกะทิลงไปคลุกเคล้ากับข้าวเหนียวนึ่ง ซึ่งบางเจ้าอาจจะต้องปิดฝาอบไว้สักพักแล้วค่อยตักขาย เรียกว่าเป็นการทำให้ข้าวเหนียวตื่น คือเม็ดพองขยายใหญ่ แต่สำหรับที่นี่พอแห้งสักพักก็ตักขายได้เลย สังเกตว่าเม็ดข้าวจะเรียวเล็ก นุ่มนวล รูปทรงกำลังดี และยังจะทำให้ได้รสชาติความหอมกรุ่นที่ติดจมูก จนเป็นที่ติดใจของลูกค้ามานานหลายสิบปี สำหรับผู้ที่อยากลองลิ้มชิมรสข้าวเหนียวมะม่วง "ก.พานิช" ควรไปซื้อที่ร้านดั้งเดิมที่แพร่งภูธร เพราะจะได้ข้าวเหนียวมูนร้อนๆ รสชาติกลมกล่อม หอมกรุ่น ละมุนลิ้น มากินอย่างอิ่มหนำ | |||||
ถ้าใครได้ผ่านไปแถวเทเวศร์ คงจะคุ้นเคยกับร้านขายข้าวเหนียวมูนชื่อคล้ายๆ กันกับร้าน ก.พานิช ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะเจ้าของร้านคือ รัชนี เฉียบฉลาด นั้นเป็นลูกสาวคนเล็กของ นายกาบ-และสารภี เฉียบฉลาด เจ้าของ "ร้าน ก.พานิช" นั่นเอง โดยหลังจากที่คุณแม่สารภีเสียชีวิต รัชนีได้มาเปิดเป็นร้านของตัวเอง โดยใช้ชื่อร้าน"ลูกสาว ก.พานิช" ซึ่งจนถึงปัจจุบันร้านนี้เปิดมาได้กว่า 30 ปีแล้ว เมื่อเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆ ของแม่สารภี และเป็นลูกมือช่วยทำข้าวเหนียวมูนมาตั้งแต่ยังเล็ก เรื่องรสมือจึงไม่ต้องห่วงว่าจะผิดเพี้ยนไปจาก ร้าน ก. พานิช เพราะใช้สูตรเด็ดเคล็ดลับที่เหมือนกัน ปริมาณของส่วนผสมต่างๆ ก็ชั่งตวงเท่ากันเป็นมาตรฐาน รวมถึงข้าวเหนียวที่ใช้ ก็ต้องเป็น ข้าวเหนียวเขี้ยวงู จากเชียงราย ซึ่งเป็นของที่ดีที่สุดเช่นกัน เพียงแต่มะพร้าวที่ใช้ทำกะทินั้น จะต้องเน้นที่ความสดใหม่ จึงมีเจ้าประจำที่อยู่ใกล้ๆ ถ้าหากจะใช้เมื่อไหร่ก็เรียกได้ทันที ข้าวเหนียวมะม่วงร้าน "ลูกสาว ก.พานิช" สามารถเก็บไว้ได้นาน 24 ชั่วโมง เพราะอย่างที่รู้กันว่าของกินที่เกี่ยวกับกะทิจะเก็บไว้ไม่ได้นาน ถึงแม้ไม่เสียแต่ว่าก็จะออกหืน กระนั้นก็มีลูกค้าบางคนที่เก็บไว้ได้หลายวันเพราะเก็บในตู้เย็น แต่อย่างนั้นคุณรัชนีก็ไม่อยากแนะนำ เพราะว่าถ้าจะกินให้อร่อยก็ต้องกินกันสดๆ ใหม่ๆ | |||||
นอกเหนือจากขายข้าวเหนียวมูนแล้ว ทางร้านยังขายสิ่งที่คู่กัน นั่นก็คือ มะม่วง ซึ่งก็ต้องเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้และมะม่วงอกร่องเท่านั้นจึงจะอร่อย เพราะทั้งสองพันธุ์จะเนื้อหนาสีเหลืองนิ่มละเอียด รสหวานและมีกลิ่นหอม รวมถึงขนมชนิดต่างๆ ทางร้านก็จะทำหมุนเวียนขายคู่กับข้าวเหนียวมะม่วง เพราะถึงแม้เดี๋ยวนี้มะม่วงจะออกผลได้ตลอดปี แต่ช่วงที่คนนิยมกินข้าวเหนียวมูนกันมากก็ยังเป็นช่วงฤดูกาลของมะม่วงอยู่ดี เพราะฉะนั้นหน้าร้อนนี้ ถ้านึกอยากกินข้าวเหนียวมะม่วง ที่มีฝีมือสูตรเด็ดสืบต่อมาจากรุ่นคุณแม่ และถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ถือเป็นตำนานแห่งข้าวเหนียวมูนชื่อดัง ก็ต้องลองไปพิสูจน์ความอร่อยกันดู | |||||
"ขายกันมานานเป็น 70 ปี ลืมตาตื่นขึ้นมาก็เห็นขายกันแล้ว ได้ส่งลูกหลานเรียนจนถึงด๊อกเตอร์กันเป็นแถว" คือคำกล่าวของ บัณฑิตย์ ไทยถนอม ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้สืบต่อกิจการ "บุญทรัพย์ (คุณหลวง)" ร้านข้าวเหนียวมะม่วงชื่อดังและเก่าแก่แห่งย่านบางรัก บัณฑิตย์ เล่าถึงที่มาของชื่อร้านรวมถึงผู้ให้กำเนิดร้านนี้ว่า ก็คือ คุณตาของเขาเอง ชื่อเดิมคือ สนั่น นาทะสิริ ซึ่งต่อมาได้รับราชทินนามตามตำแหน่งว่า พันตำรวจตรี หลวงนาทสิริวัต ส่วนบุญทรัพย์เป็นนามสกุลเดิมของคุณยายสะอาด (ภรรยาของคุณหลวง) รวมกันเป็นชื่อร้าน "บุญทรัพย์ (คุณหลวง)" โดยคุณหลวง หรือคุณตาของบัณฑิตย์นั้น เคยเป็นกรรมการโรงงานน้ำตาล และมีฝีมือในการทำของกินและขนมต่างๆ แรกเริ่มที่ร้านขายขนมไทยหลากหลายชนิดเป็นหลัก และจะทำข้าวเหนียวมูนก็เฉพาะช่วงที่มีข้าวเหนียวใหม่ ซึ่งจะออกราวปลายเดือนธ.ค.-ม.ค. เพราะข้าวเหนียวจะยังคงมียาง และมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ และอีกช่วงคือหน้ามะม่วง ราวเดือน มี.ค.-พ.ค. | |||||
ด้วยรสชาติความเข้มข้น หวานมัน เป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้า ชื่อเสียงของร้านก็ขจรขจายไปทั่ว ทำให้ที่ร้านต้องทำข้าวเหนียมมูนออกมาขายตลอดทั้งปี และกลายเป็นเมนูขึ้นชื่อประจำร้าน โดยยังคงเอกลักษณ์ตามสูตรต้นตำรับคุณหลวงทุกประการ จะมียกเว้นบ้างก็เรื่องของมะพร้าวที่คนสมัยก่อนต้องใช้มะพร้าวจากทับสะแก น้ำตาลเมืองเพชร และต้องเป็นน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี แต่ปัจจุบันนี้คงจะทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว จึงต้องสั่งส่วนผสมต่างๆจากตลาดแหล่งที่อยู่ใกล้ๆ แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ข้าวเหนียวที่ร้านใช้ทำ ยังเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงู ที่มาจากทางภาคเหนือ แต่กระนั้นบัณฑิตย์ก็ย้ำด้วยว่า "แต่ถึงข้าวเหนียวเขี้ยวงูจะดีขนาดไหน มันก็ต้องขึ้นอยู่ที่คนทำด้วย เพราะจะอร่อยไม่อร่อย หัวใจสำคัญอยู่ที่คนทำ" บัณฑิตย์บอกด้วยว่า เอกลักษณ์เด่นของข้าวเหนียวร้านนี้คือ รสชาติของข้าวเหนียวที่จะออกหวานไม่เหมือนคนอื่น เรียกว่าที่เคยเป็นมาเมื่อ 70 ปี อย่างไร ณ วันนี้ก็เป็นอย่างนั้น คือ เข้มข้น หวาน มัน มีอมเค็มนิดๆ ให้มันกลมกล่อม เพราะบางคนจะตามกระแส ลดกะทิ ลดน้ำตาลลง ซึ่งไม่ใช่เอกลักษณ์ของข้าวเหนียวมูนที่แท้จริง วิธีมูนข้าวเหนียวของร้าน เริ่มจากแช่ข่าวเหนียวประมาณ 2 -3 ชั่วโมง แล้วนำข้าวไปนึ่งให้พอดี จากนั้นเอาน้ำกะทิที่ใส่น้ำตาลทราย เกลือ ให้ได้ปริมาณหวาน มัน เค็ม เทลงไปในข้าวเหนียว ปิดฝาสักพัก ให้ความร้อนจากข้าวเหนียวเป็นตัวนำ เพื่อกะทิจะได้ซึมเข้าไปให้ข้าวเหนียวพอง บาน ไม่ให้แฉะและไม่ให้แข็งจนเกินไป ถามถึงว่าวันหนึ่งๆขายข้าวเหนียวได้ปริมาณเท่าไหร่ เรื่องนี้บัณฑิตย์ตอบว่าถ้าเมื่ออดีตตกวันละประมาณ 20 กะละมัง เดี๋ยวนี้เหลือประมาณวันละ 6-7 กะละมัง เท่านั้นเอง เพราะหลายๆ คนกลัวเรื่องแครอสเตลรอลจึงกินข้าวเหนียวมะม่วงกันน้อยลง แต่ถึงอย่างไร ทุกวันนี้ร้านก็ยังอยู่ได้ เพราะด้วยชื่อเสียงเมื่ออดีตที่สร้างไว้ดี มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ ซึ่งตัวบัณฑิตย์เองก็ได้สืบทอดสูตรการทำข้าวเหนียวมูนและพยายามทำให้มี คุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน | |||||
ข้าวเหนียวมะม่วง "แม่วารี" นับเป็นอีกหนึ่งในร้านข้าวเหนียวมะม่วงรสเด็ด ที่ตั้งขายอยู่ตรงช่วงต้นซอยทองหล่อมานานกว่า 20 ปี โดยมี "วารี จีนสุวรรณ" หรือ "แม่วารี" เป็นเจ้าของร้าน และเป็นเจ้าของสูตรข้าวเหนียวมูนที่โดนใจใครหลายๆ คน แม่วารีบอกว่า เดิมทีครอบครัวของแม่วารีเองขายข้าวเหนียวมูนมานานแล้ว อยู่ที่ตลาดพญาไท แม่วารีเองก็ช่วยครอบครัวขายมาตลอด จนกระทั่งเมื่อแม่วารีได้แต่งงานมีครอบครัว ก็ได้ย้ายครอบครัวออกมา และนำเอาวิชาชีพทำข้าวเหนียวติดตัวมาด้วย แล้วมาเปิดร้านขายข้าวเหนียวมะม่วงเอง โดยได้มีการดัดแปลงสูตรบ้างเล็กน้อย เพื่อให้เป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง และใช้ชื่อของตัวเองมาตั้งเป็นชื่อร้านขายมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งการทำข้าวเหนียวมูนสัก 1 กะละมังที่นำออกมาขายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม่วารีบอกว่า จะต้องทำการคัดสรรตั้งแต่วัตถุดิบหลักคือข้าวเหนียว โดยคัดข้าวเหนียวเป็นพิเศษให้ได้ข้าวเหนียวที่เม็ดใหญ่ ไม่มีข้าวเจ้าปน ส่วนน้ำกะทิก็ต้องเป็นกะทิที่ใช้แต่มะพร้าวเนื้อขาวล้วนๆ และเลือกแต่มะพร้าวแก่ๆ มาคั้น เพราะมะพร้าวแก่จะทำให้ได้น้ำกะทิที่เข้มข้น มีสีขาวสวย และจะคั้นมะพร้าวสดๆ ไม่มีการคั้นตั้งทิ้งไว้ค้างคืน สำหรับขั้นตอนการทำข้าวเหนียวมูนก็ใส่ใจเป็นพิเศษ โดยจะทำการตวงข้าวเหนียวให้ได้ปริมาณที่ต้องการ และนำข้าวเหนียวมาขัดแห้ง คือเอาข้าวเหนียวมาขัดถูเบาๆ กับสารส้ม เพื่อให้ข้าวเหนียวเกิดความเงา จากนั้นนำข้าวเหนียวมาแช่น้ำ เอามาล้างกับน้ำสารส้มและขัดอีกประมาณ 2-3 น้ำ ซึ่งการล้างและขัดด้วยสารส้มนี้ ก็มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งแม่วารีบอกว่า จะต้องทำการล้างเอาสารส้มออกให้หมด โดยจะต้องล้างน้ำเปล่าทิ้งอีกประมาณ 4 น้ำ จนแน่ใจว่าสารส้มโดนล้างออกหมดแล้ว โดยมีวิธีการพิสูจน์ว่าสารส้มออกหมดหรือยัง ด้วยวิธีการแตะชิม เอามือแตะน้ำแตะปลายลิ้นชิมดู ถ้าชิมแล้วรสชาติยังเฝื่อนอยู่ ก็ต้องล้างออกให้จนหมด เพราะถ้าล้างน้ำสารส้มออกไม่หมด จะเป็นปัญหาตรงที่ข้าวเหนียวเมื่อมูนออกมาแล้ว รสชาติจะออกเฝื่อนๆ ลิ้น หลังจากได้ข้าวเหนียวที่ขัดล้างเรียบร้อยแล้ว ก็แช่ข้าวเหนียวอีกประมาณ ครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ข้าวเหนียวนิ่ม จึงจะเอามานึ่ง พอนึ่งสุกก็นำมามูนกับส่วนผสมที่เตรียมไว้ คือ เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยการนำเอาเกลือ น้ำตาล และกะทิผสมรวมกันแล้วคนให้ส่วนผสมทั้ง 3 ตัวนี้เข้ากันจนใส เรียกว่าให้ใสปิ๊งเหมือนแก้ว ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นและเคล็ดลับที่สำคัญของน้ำกะทิที่แม่วารีนำมาทำ การมูนข้าวเหนียว เพราะการคนจนให้น้ำกะทินั้นใสจะส่งผลให้ข้าวเหนียวที่มูนออกมาแล้วนั้นเก็บ ไว้ได้นาน ซึ่งข้าวเหนียวมูนของแม่วารีสามารถเก็บได้นานถึง 2 วันไม่เสีย โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น แม่วารีแนะนำด้วยว่าการกินข้าวเหนียวมูนถ้าจะให้อร่อยจริงๆ ควรจะกินช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม เพราะว่าช่วงนี้จะเป็นข้าวเหนียวใหม่ ที่นำมาทำข้าวเหนียวมูน จะทำให้ได้ข้าวเหนียวมูนที่หอม หวานมัน กินคู่กับมะม่วงหวานๆ เข้ากันดีเชียวนักละ | |||||
อีกหนึ่งร้านข้าวเหนียวมะม่วงชื่อก้อง ที่ถ้าใครชอบไปเดินซื้อของกินที่ตลาด อตก. (จตุจักร) แล้วเป็นต้องแวะซื้อข้าวเหนียวร้านนี้กลับบ้านไปกินทุกราย จะเป็นร้านไหนไปไม่ได้นอกจากร้าน "ข้าวเหนียวมูนแม่ประไพศรี" นี้ที่ตอนนี้ สมพิศ กมลวรรณ ลูกสาวแม่ประไพศรี เป็นผู้สืบทอดการทำข้าวเหนียวมูนจากแม่ประไพศรี สมพิศ บอกว่า "ข้าวเหนียวมูนแม่ประไพศรี" ก่อกำเนิดจากการที่ คุณแม่ประไพศรี กมลวรรณ เคยบวชชีอยู่ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และที่นั่นมีแม่ชีสอนทำข้าวเหนียวมูน ท่านจึงได้ฝึกทำในช่วงที่ท่านบวชชีอยู่ จนกระทั่งเมื่อท่านสึกจากการเป็นชี ท่านก็ได้นำเอาสูตรการทำข้าวเหนียวมูนนั้นติดตัวมาด้วย และนำสูตรนั้นมาดัดแปลงอีกที มาทำเป็นข้าวเหนียวมูนสูตรของแม่ประไพศรีขึ้นมาขายเอง โดยเปิดร้านขายที่บ้านเกิดเมืองนนท์ (จ.นนทบุรี) เป็นที่แรกและขายมาจนถึงทุกวันนี้ นับอายุได้ก็ปาเข้าไป 30 ปีแล้ว การทำข้าวเหนียวมูนสูตรของแม่ประไพศรีเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกข้าว เหนียวที่มีลักษณะที่ดี เลือกใช้เฉพาะข้าวเหนียวเขี้ยวงู เม็ดเล็กๆ เรียวยาว ข้าวเหนียวจะได้ออกมาเป็นเม็ดสวย และน้ำกะทิก็เลือกใช้แต่มะพร้าวน้ำหอม มาคั้นทำน้ำกะทิ เพราะจะทำให้ได้น้ำกะทิที่มีความหอมมัน ส่วนการทำข้าวเหนียวมูนของที่นี่ เริ่มจากการนำข้าวเหนียวไปแช่ ถ้าเป็นข้าวเหนียวใหม่ก็จะแช่จนให้ข้าวเหนียวขึ้นน้ำ แล้วนำข้าวเหนียวนั้นมาซาวเบาๆ เพราะว่าข้าวเหนียวใหม่เม็ดจะเปราะ จะต้องค่อยๆ ซาวและล้างข้าวเหนียวให้สะอาด เพื่อจะได้ข้าวเหนียวที่ไม่หักเป็นรูปที่สวยงาม พอแช่ข้าวเหนียวเสร็จก็เอาไปนึ่งจนสุก และนำมามูนกับส่วนผสม น้ำกะทิ เกลือ และน้ำตาล จนได้ข้าวเหนียวมูนสูตรของแม่ประไพศรีจะมีลักษณะเด่นตรงที่เม็ดข้าวเหนียวจะ เม็ดเล็กยาว และมีความนุ่ม รสชาติจะออกเค็มมากกว่าหวาน เพราะปกติมะม่วงหวานอยู่แล้ว ข้าวเหนียวเลยออกรสเค็มนิดๆ เค็มตามธรรมชาติของน้ำกะทิ ซึ่งข้าวเหนียวของที่นี่จะเก็บได้นานประมาณ 3 วัน แค่ตั้งไว้ข้างนอกไม่ต้องเอาแช่ตู้เย็น เพราะถ้าเอาไปแช่ตู้เย็นแล้วหข้าวเหนียวจะมีลักษณะกลายเป็นเม็ดใครเม็ดมัน จะทำให้ข้าวเหนียวไม่อร่อย และการกินข้าวเหนียวมูนถ้าจะอร่อยมากยิ่งขึ้น สมพิศแนะนำว่า ที่ร้านจะมีมะม่วงยายกล่ำซึ่งเป็นมะม่วงที่กินคู่กับข้าวเหนียวมูนจะเข้ากัน มากที่สุด และก็เป็นมะม่วงอกร่อง หรือจะกินกับหน้าอื่นๆ อาทิ หน้ากุ้ง หน้าปลา หน้ากลอย และหน้ากะฉีก (เป็นมะพร้าวผัดกับน้ำตาลปี๊บ) ซึ่งไม่ว่าจะกินกับมะม่วงอะไรหรือหน้าอะไร ก็อร่อยเข้ากันกับข้าวเหนียวมูนของแม่ประไพศรีได้เป็นอย่างดี | |||||
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * เข็มทิศข้าวเหนียวมะม่วง "ก. พานิช" ตั้งอยู่ที่ 431-433 เยื้องปากซอยแพร่งภูธร ถ.บ้านตะนาว กทม. ร้านอยู่ริมถนน เปิดทุกวัน เวลา 07.30-19.30 น. ข้าวเหนียวมูนกิโลกรัมละ 100 บาท โทร. 0-2221-3554 "ลูกสาว ก. พานิช" ตั้งอยู่ที่ 250/5 ถ. สามเสน เทเวศร์ บางขุนพรหม กทม. ร้านอยู่ริมถนน ตรงข้ามกับไปรษณีย์เทเวศร์ เปิดทุกวัน 07.00-20.00 น. ข้าวเหนียวมูนกิโลกรัมละ 90 บาท โทร. 0-2281-7838 "บุญทรัพย์ (คุณหลวง)" ตั้งอยู่ที่ 1478 เจริญกรุง บางรัก กทม. อยู่ริมถนนเจริญกรุง ตรงข้ามกับร้านแว่นตาท็อปเจริญ เปิดทุกวัน เวลา 07.00-19.00 น. ข้าวเหนียวมูนกิโลกรัมละ 80 บาท ขายปลีกขีดละ 10 บาท ขาย 2 ขีดขึ้นไป โทร. 0-2234-4086 "ข้าวเหนียวมะม่วงแม่วารี" ตั้งอยู่ที่ 1 ซ. สุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) ถ.สุขุมวิท คลองเตย กทม. เปิดทุกวัน ตลอด 24 ชม. ข้าวเหนียวมูนกิโลกรัมละ 90 บาท โทร. 0-2392-4804, 0-2714-0419 "ข้าวเหนียวมูนแม่ประไพศรี" มีหลายสาขาด้วยกัน จ. นนทบุรี ตั้งอยู่ที่ 80/200 หมู่ 4 ซ.ศรีพรสวรรค์ สวนใหญ่ จ.นนทบุรี เปิดทุกวัน เวลา 04.00-20.00 น. ข้าวเหนียวมูนกิโลกรัมละ 60 บาท โทร. 0-2527-1407 ตลาดอตก. (จตุจักร) เป็นแผงร้านตั้งอยู่ตรงทางขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน เปิดทุกวัน เวลา 08.00-19.00 น. ข้าวเหนียวมูนกิโลกรัมละ 80 บาท โทร. 0-2271-3315 เมืองทองธานี ตั้งอยู่ที่ตลาดรวมใจ เมืองทองธานี เปิดทุกวัน เวลา 08.00-19.00 น. ข้าวเหนียวมูนกิโลกรัมละ 70 บาท โทร. 0-1913-0656 นอกจากนี้ก็ยังมีขายที่ห้างบิ๊กซีทั้ง 8 สาขา คือ สาขาติวานนท์, รัตนาธิเบศร์, แจ้งวัฒนะ, ลาดพร้าว, สะพานความ, งามวงศ์วาน, ราชดำริ, หัวหมาก เปิดทุกวัน ปิดเปิดตามเวลาของห้างฯ |