“เปอรานากาน”อาหารแห่งความรัก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 มกราคม 2548 11:54 น.





โดย : แม่ช้อย นางรำ






อร่อยแค่ไหน อย่าดูที่นิ้วหัวแม้โป้ง ให้ดูจานที่เกลี้ยงบนโต๊ะก็แล้วกัน
       “กุมภาพันธ์...เดือนหน้า
      
       ก็จะถึง“วันวาเลนไทน์”
      
       เมืองมะละกา...ที่นั่นมี
      
       อาหารแห่งความรักเจ้าค่ะ”

      
       เริ่มต้นปีใหม่ เจ้านายขา ขอให้อีชั้นเริ่มต้น “เมนูผู้จัดการ”ด้วยอาหารที่มีความหมายแห่งความรักนะเจ้าค่ะ
       เพราะความรักทำให้โลกหมุน
      
       ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่เข้ามา ก็เพราะเรารักกันไงเจ้าค่ะ จึงทำให้โลกต้องเคลื่อนไหว โลกคงจะหยุดทันใด ถ้าโลกนี้คนไร้ความรักทันที
      
       เพราะฉะนั้น อีชั้นจึงเลือกที่จะเขียนอาหารแห่งความรัก อยากให้คนในโลกรักกัน
      
       เดินทางมาแล้วแทบจะรอบโลก กินอาหารมาแล้วทุกสถานที่ มีแห่งเดียวในโลกนี้เท่านั้น คนที่นั่นเขาเรียกอาหารที่เขารับประทานว่า...“เลิฟ ฟู้ด ( Love Foods)”
       

       อาหารแห่งความรักที่ว่านี้ อยู่เมืองมะละกา ไม่ใกล้..ไม่ไกลจากเมืองไทยเราเท่าไร สมัยกรุงศรีอยุธยา เคยเป็นเมืองของเราเสียด้วยซ้ำ
      
       มาเสียไปตอนที่ ฝรั่งปอร์ตุเกสมาล่าเมืองขึ้น ได้เมืองกัว อินเดีย แล้วก็มาได้มะละกา จากไทย จากนั้นก็ไปได้เมืองมาเก๊า จากจีนสองแผ่นดินที่เป็นเมืองขึ้นปอร์ตุเกส คือ เมืองกัว เมืองเก๊า อีชั้นเคยเขียนแนะนำไปแล้วเหลือแต่กานี่เท่านั้น( น่าแปลกมั๊ยเจ้าค่ะ เมืองขึ้นของปอร์ตุเกส มักใช้ตัว ก. ไก่เป็นชื่อเมือง)






อาหาร “เปอรานากาน” จีนก็กินได้ แขกก็กินดี ไม่มีปัญหา
       วันนี้..อีชั้นจะพาเจ้านายไปกิน อาหารแห่งความรักที่เมือง “มะละกา”ประเทศมาเลเซีย
      
       มะละกา เมือง “มะละกอ” ถ้ามีคนสงสัยถามว่า มะละกอมาจากไหน อีชั้นก็ตอบด้วยหลักฐานประวัติศาสตร์ว่า มาจากเมืองมะละกา
      
       เรื่องนี้มีอยู่ว่า “มะละกอ”เป็นพืชผลของอเมริกา ใต้ นักเดินเรือปอร์ตุเกส นำมาเผยแพร่เมืองนี้ คนไทย เอาไปสับและโขลกโปก..โปกเป็น ตำส้ม..ส้มแล้วว่าอร่อยดี แต่ลิ้นไทยก็เรียกเจ้าผลไม้นี้ว่า “มะละกอ” เพราะได้มาจาก “มะละกา”
       

       “เมืองมะละกา”อยู่ตรงช่องแคบมะละกา ตรงกันข้ามกับเกาะสุมาตรา ก่อนที่ปอร์ตุเกสจะมายึดเป็นเมืองขึ้น เพราะต้องการคุมเส้นทางเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียเข้ามหาสมุทรแปซิฟิก
      
       คนจีนเคยเดินทางมาที่นี่ก่อน ตั้งแต่สมัย”ซำปอกง”ยกกองทัพเรือเป็นพันลำผ่านมา จากนั้นอิทธิพลของนักเดินเรืออาหรับ พวกกะลาสีซินแบดก็เข้ามาปักหลักแทน
      
       เมืองนี้ก็เลยมีคนสองสัญชาติ คือเป็นคนจีนไม่กินเนื้อ แล้วก็อาหรับไม่กินหมู แต่คนทั้งสองวัฒนธรรม สองศาสนา ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีปัญหาโดยเฉพาะอาหารการกิน
      
       นี่ล่ะเจ้าค่ะ ที่มาของอาหารแห่งความรักที่เรียกว่า “เปอรานากาน”
       







บ้านของชาวบ้าบา ที่มาของอาหารเปอรานากาน
       เมื่อสาวจีนต้องแต่งงานกับหนุ่มแขก หรือสาวแขกต้องแต่งงานกับหนุ่มจีน จะอยู่จะกินกันได้ เพราะทั้งสองฝ่ายคิดค้นเมนูอาหารขึ้นมาเปิบร่วมกัน
      
       “อาหารเปอรานากาน”..เป็นอาหารที่ไม่มีทั้งเนื้อหมู และไม่มีทั้งเนื้อวัว
      
       คนจีนนับถือเจ้าแม่กวนอิมก็กินได้ คนแขกไม่กินเนื้อหมูก็กินได้
      
       บทสรุปทั้งหลายจึงมาลงที่กินอาหารซีฟู้ด อาหารทะเลประเภท กุ้ง หอย ปู ปลาแทน เกิดเป็นเมนูอาหารที่เรียกว่า “เปอรานากาน” แทนนี่ไง
      
       อาหารที่ว่านี้ กำเนิดเกิดขึ้นที่เมืองมะละกาแห่งนี้ แล้วก็ขยายไปถึงสิงคโปร์ บางทีก็มีบางทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ถ้าจะว่ากันถึงต้นตำรับแล้วไซร้ก็ต้องไปกินที่เมืองมะละกา มาเลเซียนี้เท่านั้น ถึงจะได้รสชาติดังเดิม
      
       อาหารแห่งความรักจะมีเครื่องเทศแบบแขก รวมทั้งมีพริกเผ็ดๆ แต่ก็มีรสชาติเค็มๆเลี่ยนๆ มันๆ แบบคนจีน
      
       ถ้าเจ้านายผ่านไปที่นั่น แวะไปกินร้านไหนที่มะละกาเมนูก็จะคล้ายๆกันทุกเรื่องคือมี กุ้งทะเลผัดพริกแกง ปูทะเลผัดพริกไทยดำ ปลาหมึกผัดน้ำหมึก(ความจริงเป็นสูตรของคนจีนฮกเกี้ยน)
      
       แล้วที่จะต้องสั่งให้ได้คือ ผักบุ้งจีนผัดกะปิแขก ที่เรียกว่าปาราจัน อาหารแห่งความรัก “เปอรานากาน” จะจบลงด้วยของหวาน จะชื่อเป็นมาเลย์หรือเป็นชื่อของพวกบาบ้า (หมายถึงลูกครึ่งผสมแขกจีนในมาเลย์) อย่างไร อย่าไปสนใจ
      
       แต่เมื่อกินเข้าไปแล้ว คนไทยจะต้องร้องว่า.... “ลอดช่องนี่หว่า”
       

       ก็ลอดช่องนั่นล่ะเจ้าค่ะ อิทธิพลของคนอยุธยาก็ยังอยู่ในเมืองมะละกา ด้วยลอดช่องน้ำกะทิแบบคนไทยโบราณดั้งเดิมเจ้าค่ะ...เจ้านาย