เปิดประสบการณ์ถ่ายภาพหอดูดาวเกาหลีใต้

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
ภาพ หอดูดาวโซแบกซาน Sobaeksan Optical Astronomy Observatory (SOAO) หอดูดาวแรกของสถาบันดาราศาสตร์และอวกาศเกาหลี (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fisheye 15 มม. / F2.8 / ISO 1600 / 30 วินาที)
       ใน ช่วงที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานกับโครงการยุวทูตดาราศาสตร์ ณ ประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นการเดินทางไปทัศนศึกษาหน่วยงานทางดาราศาสตร์ ณ สาธารณรัฐเกาหลี เช่น Korea Astronomy and Space Science Instuitute (KASI) ณ เมือง Daejeon ซึ่งเป็นเมืองแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้เรียนรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าของวงการดาราศาสตร์ในเกาหลีใต้ ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสามผู้นำทางดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นอกเหนือจากจีน และญี่ปุ่น
      
        นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการทำงานของนักดาราศาสตร์ ณ หอดูดาว Bohyunsan ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร หอดูดาวโซแบกซาน Sobaeksan Optical Astronomy Observatory (SOAO) หอดูดาวแรกของสถาบันดาราศาสตร์และอวกาศเกาหลี หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุ Taeduk ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 14 เมตร ท้องฟ้าจำลอง อุทยานวิทยาศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงของสาธารณรัฐเกาหลี
      
        และยังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ทางดาราศาสตร์ของสาธารณรัฐเกาหลี ด้วยการเยี่ยมชมหอดูดาว Cheomseongdae ซึ่งเป็นหอดูดาวโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในเกาหลีใต้ สร้างขึ้นในรัชสมัยของราชินีซอนต๊อก มีอายุมากกว่า 1,300 ปี และในทริปนี้ผมรับหน้าที่ถ่ายภาพสถานที่สำคัญทางดาราศาสตร์ของ ณ สาธารณรัฐเกาหลี มาให้ชมกันครับ แต่ก่อนอื่นผมขอเล่าประสบการณ์ในการสังเกตการณ์ท้องฟ้าที่ได้เห็นสภาพความ แตกต่างของท้องฟ้าระหว่างยอดเขาของสาธารณรัฐเกาหลี กับยอดดอยอินทนนท์ของไทยเราว่าแตกต่างกันอย่างไรครับ
      
       สภาพความแตกต่างของท้องฟ้าระหว่างยอดเขาของเกาหลีใต้กับยอดดอยอินทนนท์ของไทยเป็นอย่างไรบ้าง
      
        จากประสบการณ์ที่ได้ปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ทดสอบทัศนวิสัยของท้องฟ้า ณ ยอดดดอยอินทนนท์ เพื่อศึกษาค่าต่างๆ ที่จะมีความเหมาะสมในการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มากว่า 2 ปี เมื่อให้เปรียบเทียบถึงสภาพความแตกต่างด้านต่างๆระหว่างยอดดอยอินทนนท์ กับ ยอดเขาประเทศเกาหลี ผมจะขอเปรียบเทียบออกมาเป็นข้อแล้วกันนะครับ
      
        - ด้านทัศนวิสัยของท้องฟ้า : ส่วนตัวผมคิดว่ายอดดอยอินทนนท์ดีกว่ามากกครับ ทั้งค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้าหรือเรียกสั้นๆว่า ค่า Seeing ความมืดของท้องฟ้า มลภาวะทางแสง (Light pollution) ก็ถือว่าดีกว่า ทั้งนี้น่าจะมาจากยอดดอยอินททน์ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากว่า 2,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่พวกฝุ่นละออง ควัน หรือระดับฟ้าหลัวนั้นขึ้นมาไม่ถึง ประกอบกับยอดดอยอินทนนท์อยู่ไกลจากตัวเมืองค่อนข้างมาก จึงทำให้ยอดดอยอินทนนท์มีทัศนวิสัยของท้องฟ้างและความมืดค่อนข้างมากครับ
      
        - ด้านจำนวนวันที่ท้องฟ้าเปิดสามารถถ่ายภาพท้องฟ้าหรือใช้งานหอดูดาวได้ : ยอดดอยอินทนนท์ มีจำนวนที่ท้องฟ้าเปิดสามารถใช้งานหอดูดาวได้มากกว่า 60 เปอร์เซ็น โดยจะไม่สามารถใช้งานได้ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ในช่วงเดือนปลายเดือนพฤษภาคม - ต้นเดือนตุลาคม แต่ยอดเขาของเกาหลีใต้มีจำนวนวันที่ท้องฟ้าเปิดสามารถถ่ายภาพท้องฟ้าหรือใช้ งานหอดูดาวได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็น ดังนั้นทางหน่วยงานทางดาราศาสตร์ของประเทศเกาหลีใต้ จึงได้ไปก่อสร้างหอดูดาวขนาดใหญ่ไว้ที่ต่างประเทศ ที่มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ดีกว่า เช่น ประเทศชิลี ดังนั้นจะเห็นว่าประเทศเราค่อนข้างจะโชคดีที่ช่วงเวลาที่ท้องฟ้าเปิดมี มากกว่าต่างประเทศ
      
        - ด้านอุณหภูมิ : อุณหภูมิที่ยอดเขาเกาหลีใต้ ต้องขอบอกไว้เลยครับว่าหนาวกว่ามากกกกก เรียกได้ว่าทรมาณเลยทีเดียว ประกอบกับมีหิมะอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องมาจากประเทศเกาหลีตั้งอยู่ในตำแหน่งละติจูดที่สูงกว่าเราค่อย ข้างมาก จึงมีสภาพอุณหภูมิที่เย็นกว่า ดังนั้น นักดาราศาสตร์ที่จะปฏิบัติงานบนยอดเขาต้องเตรียมเครื่องกันหนาวกันเป็นอย่าง ดี และหากช่วงที่เกิดพายุหิมะการขึ้นลงหอดูดาวก็จะค่อนข้างยากลำบากมากขึ้นอีก ด้วย แต่ในส่วนตัวผมก็ชอบนะครับเพราะมีหิมะให้เล่น เวลาถ่ายภาพออกมาดูสวยดีครับ (บ้านเราไม่มีหิมะครับ อาจจะพูดแบบเด็กบ้านนอกคนหนึ่งแล้วกันครับ)
      
        - สภาพภูมิประเทศ : ต้องยอมรับเลยว่าบนยอดเขาของเกาหลี โดยรอบมักจะไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ จะมีเพียงต้นไม้ขนาดเล็กๆ ทำให้พื้นที่โดยรอบหอดูดาวดูโล่งกว้าง แต่ยอดดอยอินทนนท์เป็นเขตป่าดิบชื้น มีต้นไม้สูงใหญ่มากกว่าซึ่งอาจทำให้บดบังมุมมองบางส่วนได้

สภาพ เส้นทางขึ้นหอดูดาวโซแบกซาน (SOAO) ระหว่างทางเต็มไปด้วยหิมะทำให้การเดินทางค่อนข้างลำบาก ซึ่งแตกต่างกับยอดดอยอินทนนท์ที่เส้นทางสะดวกและปลอดภัยกว่า
       อย่าง ไรก็ตาม จากที่กล่าวมาในแต่ละด้านจะเห็นว่า สภาพโดยรวมนั้น ยอดดอยอินทนนท์มีความเหมาะสมค่อนข้างดีทั้งด้านค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้า จำนวนวันที่ท้องฟ้าเปิดสามารถใช้งานหอดูดาวได้ ความมืดของท้องฟ้า และอุณหภูมิ เพียงแต่ประเทศเกาหลีใต้นั้น มีความก้าวหน้าของวงการดาราศาสตร์และให้ความสำคัญกับดาราศาสตร์มานานแล้ว หากประเทศไทยให้ความสำคัญทางด้านดาราศาสตร์มากขึ้น ส่วนตัวผมก็มั่นใจว่าประเทศไทยก็จะเป็นหนึ่งในผู้นำทางดาราศาสตร์ในภูมิภาค เอเชียตะวันออก ได้ไม่ยากเย็นนัก และในคอลัมป์นี้ผมจะขออธิบายเทคนิคและวิธีการ และการเลือกใช้อุปกรณ์เล็กๆน้อยๆ ในการถ่ายภาพตามสถานที่หอดูดาวต่างๆให้ทราบกันซักหน่อยครับ
      
       มาทำความเข้าใจกันก่อน
      
        ในการไปเยี่ยมชมตามหอดูดาวต่างๆ ก็ดี หรืออาจเป็นท้องฟ้าจำลองก็ดี โดยส่วนใหญ่หอดูดาวมักถูกออกแบบให้เป็นโดมครึ่งวงกลมและมีพื้นที่ไม่กว้าง มากนัก ดังนั้นอุปกรณ์ที่น่าจะเหมาะที่จะใช้ถ่ายภาพให้ได้ คลอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ก็น่าจะเป็นเลนส์มุมกว้าง (Wide Lens) หรืออาจเป็นเลนส์ตาปลา ( Fisheye Lens) ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีและได้ภาพที่มีมุมมองแปลกตาอีกด้วย

ภาพ หอดูดาว Bohyunsan ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบออฟติคอลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ตั้งอยู่ในประเทศ เกาหลีใต้ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fisheye 15 มม. / F2.8 / ISO 1600 / 30 วินาที)
       อุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพภายในหอดูดาวมุมกว้าง
        1. เลนส์มุมกว้าง (Wide Lens) หรืออาจเป็นเลนส์ตาปลา ( Fisheye Lens) ยิ่งมุมรับภาพมากเท่าไหร่ก็จะสามารถเก็บรายส่วนต่างๆ ภายในโดมดูดาวได้มากเท่านั้น แต่ก็อย่าลืมว่ายิ่งเลนส์มุมกว้างเท่าไหร่ การบิดเบือนหรือการบิดเบี้ยว (Distortion) ของภาพก็มากตามมาด้วยครับ ดังนั้นก็ควรเลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ของการถ่ายภาพแล้วกันนะครับ
       
       2. ขาตั้งกล้อง ก็อุปกรณ์ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง หากเราจำเป็นต้องถ่ายภาพในช่วงเวลาที่มีแสงน้อย ขาตั้งกล้องก็เป็นอุปกรณ์ที่จะใช้ให้ภาพของเราคมชัดได้ดีที่สุด
      
       3. แฟลช หากภายในโดมมีแสงน้อยๆ แฟลชก็ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ภาพของเรามีความสว่างมากขึ้น โดยอาจต้องใช้แผ่นกระจายแสงร่วมด้วยขณะถ่ายภาพด้วยแสงแฟลช เพื่อให้ภาพมีความสว่างทั่วทั้งภาพครับ

เลนส์ ตาปลา (Fisheye) นิยมนำมาใช้ในการถ่ายภาพในหอดูดาวเนื่องจากมีมุมรับภาพกว้าง และประกอบกับภายในโดมหอดูดาวจะเป็นทรงโค้งครึ่งวงกลม ซึ่งจะทำให้เก็บภาพได้ทั่วทั้งโดม
       เทคนิคและวิธีการ
      
       1. ในการถ่ายภาพภายในหอดูดาวซึ่งส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ค่อนข้างคับแคบ ในส่วนตัวผมมักจะเลือกใช้เลนส์ตาปลา (Fisheye) ในการเก็บภาพตัวกล้องเพื่อให้ได้ภาพทั้งหมด และเลือกถ่ายภาพในมุมต่ำ โดยอาจนั่งกับพื้น มหรือในบางครั้งก็นอนกับพื้นไปเลยก็ได้ครับ
      
        2. หากภายในหอดูดาวมีความสว่างค่อนข้างน้อย เราก็จำเป็นต้องถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง และทำให้เราสามารถเลือกค่ารูรับแสงแคบๆ เพื่อให้ได้ความชัดลึกทั่วทั้งภาพอีกด้วย
      
        3. ในการถ่ายภาพหากกล้องมีขนาดใหญ่มาก สภาพแสงในส่วนที่อยู่สูงๆ มักจะมีความมืด ไม่สว่างมากนัก ควรใช้แฟลชในการเปิดเงามืดและกระจายแสงแฟลชร่วมด้วย เพื่อให้ได้ภาพที่สว่างทั่วทั้งภาพ โดยปรับมุมของหัวแฟลชให้ตั้งขึ้นแล้วสะท้อนแสงแฟลชกับผนังของโดม เป็นสะท้อนแสงให้แสงแฟลชกระจายทั่วโดม
      
        4. การถ่ายภาพภายในหอดูดาวส่วนมาก จะมีผนังสีขาวเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในการถ่ายภาพเพื่อให้เหมือนกับที่ตาเรามองเห็น ควรชดเชยแสงให้สว่างขึ้นอีก 1-2 สตอป เพื่อให้ภาพดูไม่มืด
      
        5. สำหรับการถ่ายภาพหอดูดาวจากภายนอก และเพื่อเป็นการให้ภาพสื่อถึงความเป็นหอดูดาว ผมมักจะเลือกถ่ายภาพในเวลากลางคืน ในช่วงเวลาที่มีกลุ่มดาวสว่างขึ้นบนท้องฟ้าเป็นฉากหลัง เพื่อแสดงความเป็นหอดูดาวมากยิ่งขึ้นครับ และแน่นอนครับเลนส์มุมกว้างก็เป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ของผมครับเพื่อเก็บภาพทั้งหอดูดาวและกลุ่มดาวบนท้องฟ้าอีกด้วย

ภาพ หอดูดาวของท้องฟ้าจำลองกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fisheye 15 มม. / F2.8 / ISO 1600 / 1/60 วินาที)
      
ภาพ หอดูดาวโซแบกซาน Sobaeksan Optical Astronomy Observatory (SOAO) (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fisheye 15 มม. / F4 / ISO 1600 / 1/60 วินาที โดยเปิดแสงแฟลชสะท้อนขึ้นกับโดมช่วยเพื่อเปิดเงามืดได้ภาพที่สว่างทั่วทั้ง ภาพ)
       
ภาพ หอดูดาว Bohyunsan ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบออฟติคอลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ตั้งอยู่ในประเทศ เกาหลีใต้ โดยเปิดแสงแฟลชสะท้อนขึ้นกับโดมช่วยเพื่อเปิดเงามืดได้ภาพที่สว่างทั่วทั้ง ภาพ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fisheye 15 มม. / F2.8 / ISO 800 / 1/60 วินาที)
       
ภาย ในห้องปฏิบัติการวิจัยเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ (Solar research Laboratory) และกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ (Solar Telescope) (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fisheye 15 มม. / F5.6 / ISO 800 / 1/125 วินาที)
       
ภาพ หอดูดาวโซแบกซาน Sobaeksan Optical Astronomy Observatory (SOAO) บริเวณด้านนอกหอดูดาว โดยมีกลุ่มดาวสว่างเป็นฉากหลังทำให้แสดงถึงความเป็นหอดูดาวได้ดียิ่งขึ้น (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fisheye 15 มม. / F2.8 / ISO 1600 / 30 วินาที)
       
หอ สังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุ Taeduk ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 14 เมตร (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fisheye 15 มม. / F3.5 / ISO 2000 / 60 วินาที)
      
เกี่ยวกับผู้เขียน
      
       
      
       ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
      
       สำเร็จ การศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
      
       ปัจจุบันเป็นเจ้า หน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"
      
       "คุณค่าของภาพถ่ายนั้น ไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบาย ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย" 
      
  ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์