เตือน 10 เมนูอันตรายหน้าร้อน เน้นกินร้อน ช้อนกลาง



หน้า ร้อนบ้านเราที่ดูจะร้อนขึ้นทุกปีๆ ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น เป็นลม อาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ท้องเสีย เพราะอากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่มีโอกาสจะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงขอให้ระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ ขอให้ยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ ได้แก่

1. กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารข้ามมื้อให้อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อน
2. ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น
3. ให้ฟอกสบู่ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและภายหลังจากใช้ห้องส้วม
รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง

การป้องกันโรคในฤดูร้อน 1. ให้เฝ้าระวังโรคในพื้นที่ หากพบมีผู้ป่วยเกิดขึ้นให้รีบดำเนินการสอบสวนควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดทันที
2. ให้ดูแลควบคุมมาตรฐานน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด โรงงงานผลิตน้ำแข็ง ซึ่งในฤดูร้อนจะมีการบริโภคน้ำแข็งน้ำดื่มสูงขึ้นกว่าฤดูกาลอื่นๆ
3. ดูแลกวดขันความสะอาดโรงอาหารโรงเรียน ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร และตลาดสด ขอความร่วมมือผู้ประกอบการดูแลความสะอาดสถานที่และส้วมสาธารณะต่างๆ
4. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนให้รู้จักอาการของโรค การปฏิบัติตัวที่จะไม่ให้ป่วย และขอความร่วมมือให้การดูแลความสะอาดห้องส้วม ห้องครัว

หลีกเลี่ยงจากโรคอาหารเป็นพิษ ท้องร่วงระมัด ระวังให้อาหารสะอาดปลอดภัยด้วยอยู่เสมอ ไม่ปรุงอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานานก่อนนำไปให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบจะเสียง่ายกว่าปกติ อาหารประเภทยำ ลาบ ต้องปรุงให้สุก เนื่องจากอากาศร้อนจะทำให้อาหารบูดเสียง่าย ผู้ปรุงอาหารต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี แต่งกายสะอาด รวบผม ล้างมือก่อนปรุงและหลังประกอบอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะต้องล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ส่วนผู้เดินทางท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคอาหารนั้น ถ้าจะแวะรับประทานอาหารขอให้เลือกร้านที่มั่นใจว่าสะอาด หรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย สำหรับน้ำดื่มหรือน้ำแข็งควรมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจาก อย. รวมทั้งล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ทุกครั้ง

10 เมนูอันตรายทอปฮิตหน้าร้อน 1. ลาบ/ก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ
2. ยำกุ้งเต้น
3. ยำหอยแครง
4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำในปริมาณมาก เช่น อาหารกล่องแจก
5. อาหาร/ขนม ที่ราดด้วยกะทิสด
6. ขนมจีน
7. ข้าวมันไก่
8. ส้มตำ
9. สลัดผัก
10. น้ำแข็ง

ส่วนอาหารปิ้งย่างที่นิยมรับประทานกัน เช่น หมูกระทะ กุ้งกระทะ ช่วงหน้าร้อนนี้ขอให้ใจเย็นๆ เวลาปิ้ง ควรปิ้งให้สุกจะได้ปลอดภัยจากอาหารเป็นพิษ ระยะ นี้เน้นรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ เท่านั้น ส่วนอาหารถุงอาหารกล่อง อาหารห่อ ต้องรับประทานภายใน 4 ชั่วโมงหลังปรุงสุก อาหารกระป๋องแม้จะปลอดภัยก็ต้องดูวันหมดอายุ อาหารค้างคืน ต้องอุ่นทำให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง อย่าลืมฤดูร้อนผู้ปรุงอาหารต้องปรุงอาหารให้ “สุก ร้อน สะอาด” ส่วนผู้บริโภคต้อง “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ”