"ยาต้านมะเร็ง"ทุกชนิด อนาคตที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ความหวังของมนุษย์ที่จะได้รู้จักกับยาที่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิดอาจไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไปเมื่อนักวิทยาศาสตร์ของภาควิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย

สแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการทดลองตัวยาซึ่งถูกปลูกถ่ายลงในหนูทดลอง และสามารถต่อต้านเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ในมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งรังไข่, มะเร็งลำไส้, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งสมอง, มะเร็งตับ และมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยใช้สารต้านทานชนิด

หนึ่งเข้าไปทำลายภูมิคุ้มกันของเซลล์มะเร็งส่งผลให้ถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันที่อยู่ในร่างกาย

การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์เมื่อ10 ปีก่อนพบว่าในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวจะผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งออกมามากเป็นพิเศษเรียกว่า ซีดี 47 โปรตีนชนิดนี้ซึ่งมีในเซลล์เม็ดเลือดปกติทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันที่มีอยู่รอบๆ เซลล์เข้ามาทำลายตัวของมันเอง และเซลล์มะเร็งก็ใช้ข้อได้เปรียบนี้หลอกระบบภูมิคุ้มกันให้ตัวมันเองอยู่รอดและกระจายตัวไปทำลายเซลล์ส่วนอื่นๆต่อไป หลายปีต่อมานักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการทดลองกับหนูพบว่าการยับยั้งการผลิต ซีดี 47 ในเซลล์มะเร็งด้วยสารต้านทานสามารถรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งถูกปลูกถ่าย

ลงในตัวหนูทดลองได้กระทั่งปัจจุบันทีม

นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าสารต้านทาน

ซีดี 47 นั้นไม่เพียงแต่มีผลกับมะเร็งเม็ดเลือดเท่านั้นแต่ยังทำงานได้ดีกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ด้วย

นักวิทยาศาสตร์ทำการทดสอบประสิทธิภาพของสารต้านทานซีดี 47 บนจานเพาะเชื้อพบว่าเซลล์มะเร็งและเซลล์ภูมิคุ้มกันไม่มีปฏิกิริยาต่อกัน แต่เมื่อใส่สารต้าน ซีดี 47 ลงไปปรากฏว่าเซลล์ภูมิคุ้มกันเข้าทำลายเซลล์มะเร็งทุกๆ ชนิดที่ทำการทดลอง ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้ทำการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ลงไปบนเท้าของหนูทดลอง ซึ่งเป็นจุดที่ตรวจสอบหาเนื้องอกได้ง่ายที่สุด และทำการให้สารต้าน ซีดี 47 ผลการทดลองปรากฏว่าหนูที่ปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ของมนุษย์ลงไป หลังได้รับการรักษาเซลล์มะเร็งจะหดตัวลงและไม่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนูที่ถูกปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งเต้านมหลังได้รับสารต้านทาน ซีดี 47 สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างสิ้นเชิงและหนูสามารถอยู่รอดโดยไม่เป็นมะเร็งถึง

4 เดือนหลังหยุดการรักษา

อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองที่ได้จำเป็นต้องมีการวิจัยที่ต่อเนื่องไปถึงการทดลองกับเซลล์มะเร็งในมนุษย์ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ได้รับทุนวิจัยจาก สถาบันเพื่อเวชศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพของรัฐแคลิฟอร์เนีย จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำการทดลองกับมนุษย์ต่อไป


ที่มา นสพ.มติชน