เป็นอีกหนึ่งข่าวที่พ่อแม่ทุกท่านควรพิจารณากันให้ดี ๆ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ได้มอบหมายศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ให้ความรู้ประชาชน
เพื่อ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการเลือกบริโภคอาหารและยาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งได้มีการออกมาเตือนพ่อแม่อย่าหลงเชื่อโฆษณา และระดมยาให้เด็กเกินสมควร เพราะอาจทำให้เด็กไม่โต และป่วยด้วยยาในที่สุด
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า เด็กยุคใหม่ถูกจับให้กินยาประจำหลายขนานราวกับผู้ใหญ่ ถ้ามีการเก็บสถิติคงติดอันดับต้น ๆ ในเรื่องการกินยากันเลยทีเดียว
ทั้ง ที่ความจริงแล้วการให้ยาในปริมาณยิ่งมาก ยิ่งไปกดภูมิคุ้มกันเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เป็นภูมิแพ้ ที่จะต้องกินยาหลังอาหารทุกมื้อ ทำให้โรคที่เป็นดีขึ้นในตอนแรก แต่หลังจากนั้นจะพบกับสภาพที่หนักกว่าเดิม
ดังนั้น ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติท่านนี้ได้เตือนพ่อแม่ระวัง "ยาร้าย" ดังต่อไปนี้
1. ยาภูมิแพ้ ยาฆ่าเชื้อ และยาแก้แพ้ ทำให้เด็กเรียนหนังสือไม่รู้เรื่องได้ ยิ่งหลายขนานยิ่งมีโอกาสตีกันกับยาชนิดอื่น ความน่ากลัวของยาชนิดนี้อยู่ที่การต้องกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ถ้า ไม่จำเป็นเมื่อแพ้หายแล้วควรหยุดใช้ ในเด็กที่ได้ยาฆ่าเชื้อนาน ๆ ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอจนป่วยง่าย และยาฆ่าเชื้อบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นไข้ได้เองถ้าใช้ติดต่อกันนาน (Drug fever)
2. ยาสเตียรอยด์ ตัวร้ายสุดมีทั้งแบบ พ่นจมูก พ่นคอ ยากิน และยาทา สเตียรอยด์ที่ว่าเป็นยายอดนิยม ที่ถูกจ่ายให้คนไข้ภูมิแพ้มาก โดยฤทธิ์ของมันจะไปปิดกระดูกให้หยุดโต เด็กจะตัวแกร็น และอ้วนฉุ ที่สำคัญคือจะไปทำให้กระดูกผุ ปิดกั้นความสูงของเด็กจนเสียโอกาสไปในเด็กวัยกำลังโต
3. ยาขยายหลอดลม ยากลุ่มนี้ หากเด็กได้รับมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย คล้ายไฮเปอร์ลามไปถึงใจสั่น ทรมานถึงขนาดเรียนไม่รู้เรื่อง หงุดหงิดง่าย และนอนไม่หลับทั้งคืนได้
4. ยาลดน้ำมูกแบบเมา ๆ ยาน้ำลดน้ำมูกที่นิยมกันมีการใส่แอลกอฮอล์เข้าไปมาก ทำให้รสอร่อย เช่น รสองุ่น รสส้ม จิบเข้าไปแล้ว เด็กจะไม่ตื่นมาโยเย เพราะเมาจากยาที่ผสมแอลกอฮอล์นั่นเอง
5. ยาแก้ปวด อย่าเห็นพาราเซตตามอลเป็นเรื่องเล่น ๆ ดูเป็นยาปลอดภัยแต่อันตรายเหมือนกัน เพราะถ้าใช้ผิดขนาด เช่น เอาของผู้ใหญ่มาแบ่งครึ่งให้เด็กก็อาจทำอันตรายต่อตับของเด็กได้ ทางที่ดี ควรเลือกยาที่เฉพาะกับเด็กโดยตรงจะดีกว่า
6. ยาลดไข้ ไม่ธรรมดาเหมือนกันโดยเฉพาะยาลดไข้กลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) อย่างไอบูโพรเฟ่น ที่เด็กป่วยไข้เลือดออกกินแล้วอาจชักได้ ในเด็กที่มีไข้ยังไม่ทราบสาเหตุไม่ควรให้ยาลดไข้กลุ่ม "เร็วสั่งได้" นี้เพราะมีสิทธิ์ที่จะช็อคได้สูง
7. ยาธาตุ เด็กน้อยปวดท้องบ่อยมักถูกป้อนด้วยยาธาตุ เอามหาหิงคุ์ทาพุงจนกลิ่นตลบ ในเด็กโรคกระเพาะถ้าได้ยาธาตุน้ำขาวพวกอะลั่มมิลค์บ่อยเกินไป ยาจะไปยับยั้งการดูดซึมแร่ธาตุ วิตามิน รวมไปถึงยาอื่น ๆ และการได้ธาตุอลูมิเนียม จากยาน้ำขาวพวกนี้มากไปก็อาจมีผลต่อสมองได้
8. ยาระบาย ไม่ว่าแบบน้ำ เม็ด หรือยาสวนก้น ต้องดูสุขภาพเด็กให้ดี ถ้ามีอาการเพลีย หรือซึมจากการขาดน้ำอยู่แล้ว ยาถ่ายที่ทำให้ท้องเสียอันตรายถึงช็อคได้ ส่วนในเด็กท้องผูกต้องดูแผลปากทวาร (Anal fissure) ให้ดีก่อนสวนด้วย
9. ยาช่วยนอน ถ้าเด็กนอนไม่หลับ ควรหาสาเหตุให้พบเสียก่อน รวมไปถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเด็ก เช่น ยาแก้โรคสมาธิสั้น โดยการรักษาที่ดีต้องใช้พฤติกรรมบำบัด และกิจกรรมบำบัดควบคู่ไปด้วยจะดีที่สุด
10. วิตามินสังเคราะห์ ในเด็กที่กินอาหารไม่ครบ วิตามินเสริมเป็นตัวช่วยที่ดี แต่ต้องระวังวิตามินประเภทสังเคราะห์ อย่างกรดวิตามินเอ วิตามินอี และน้ำมันตับปลาที่มากเกินไป เพราะอันตรายต่อตับเด็กได้
"รู้แบบนี้แล้วก็ใช่ว่าจะให้ทิ้งยาดังกล่าวในทันที เนื่องจากยาพวกนี้สะสมอยู่ในตัวเด็กนานนับเดือนนับปี ถ้าหยุดทันที เด็กอาจมีอาการทรุดลงได้
อย่างยาสเตียรอยด์ที่เด็กภูมิแพ้ได้นาน ๆ การหยุดแบบหักดิบจะทำให้ต่อมหมวกไตไม่ทันตั้งตัว และทำงานไม่ทัน อาจกลายเป็นโรคที่ป่วยด้วยต่อมหมวกไตได้" ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติทิ้งท้าย
ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
Life & Family