ดูแลสุขภาพ : มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย พบมากในช่วงอายุ 35-50 ปี “มะเร็งปากมดลูก” เป็นโรคที่ป้องกันได้ สามารถตรวจหา “ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก” ได้ทั้งๆ ที่ยังไม่มีอาการ
และสามารถป้องกันได้ และรักษาให้หายขาดได้ถ้าพบในระยะเริ่มแรก ดังนั้น ก็จะทำให้อัตราการเกิดโรคและอัตราการตาย จากโรคมะเร็งปากมดลูกลดลง
ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก
1. สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย (ต่ำกว่า 18 ปี)
2. มีคู่นอนหลายคน สำส่อนทางเพศ
3. มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
4. มีโรคเรื้อรังหรือโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์
5. เคยมีความผิดปกติของปากมดลูก จากการตรวจภายในและทำแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear)
วิธีการที่ใช้ตรวจหา “ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก” เรียกว่า การตรวจแป๊ปสเมียร์ คือการเก็บเอาเซลล์เยื่อบุปากมดลูก ที่ลอกหลุดออกมาแล้วนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง
สัญญาณเตือนภัย
ในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการเลย หรืออาจมีเลือดออกจากช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมาผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่น ปริมาณมาก สีผิดปกติ หรืออาจปนเลือด
การป้องกัน
ตรวจภายในทุก 1-3 ปี ไม่สูบบุหรี่ ใช้ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ไปพบแพทย์หากมีตกขาวผิดปกติ หรือมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคน ควรได้รับการตรวจ “แป๊ปสเมียร์” เพื่อเช็กมะเร็งปากมดลูก อย่างน้อยปีละครั้ง และฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
วิธีการรักษา
1. การผ่าตัด ใช้ในมะเร็งระยะต้น (ระยะที่ 1 ถึง 2 ต้นๆ) โดยทำการผ่าตัดมดลูก และต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน
2. การให้รังสีรักษาทำได้ 2 วิธี ใช้ในระยะเริ่มลุกลาม (ระยะที่ 2 ถึงระยะ 4 ต้นๆ) โดยใช้ร่วมกับเคมีบำบัด
- โดยการให้รังสีรักษาจากเครื่องแพทย์จะให้รังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง 5 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลา 5-6 สัปดาห์
- ร่วมกับการฝังแร่อาบรังสีบริเวณปากมดลูกอีก 3-4 ครั้ง
3. การให้เคมีบำบัด โดยการให้เคมีเข้าในเลือดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยใช้ร่วมกับการฉายรังสี หรือให้ในผู้ป่วยระยะแพร่กระจาย หรือกลับเป็นซ้ำ
กินอย่างไรห่างไกลมะเร็ง
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่ควรรับประทานอาหารซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง ได้แก่
- อาหารที่มีไนเตรทไนไตรท์ และสารไนโตซามีน ที่พบได้ในอาหารที่ผ่านกระบวนการเก็บถนอมอาหาร และไส้กรอก แฮม แหนม
- อาหารที่ใส่สีสังเคราะห์ที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร ควรใช้สีที่ทำจากธรรมชาติ
- อาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสารพิษจากเชื้อรา พบมากในอาหารแห้งที่ขึ้นรา เช่น ถั่วลิสง พริกแห้ง
- อาหารที่ไหม้เกรียมเช่น เนื้อสัตว์ที่ปิ้ง ย่าง จนเป็นสีดำ
- อาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด อาหารหมักดอง
- อาหารที่มีไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง
3. รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี และผักพวกกะหล่ำ บร็อคโคลี่ หัวหอม กระเทียม และธัญพืช พวกข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด จะมีสารต้านมะเร็ง
4. รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ อาหารที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง ผลไม้พวกเบอร์รี่ (สตรอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ เชอร์รี่) อาหารที่มีวิตามินอีสูง
5. รับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย เช่น อาหารพวกปลา โดยเฉพาะปลาน้ำลึก จะมีอีพีเอและดีเอชเอที่จะช่วยชะลอการแพร่ของมะเร็ง
6. ล้างและทำความสะอาดอาหารก่อนรับประทาน เพื่อลดสารตกค้างในอาหาร เช่น ยาฆ่าแมลงในผัก ผลไม้
7. งด หรือลด การดื่มแอลกฮอลล์ การสูบบุหรี่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็ง
โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น โทร.0-2910-1600
ขอบคุณ
คม ชัด ลึกออนไลน์
ดูแลสุขภาพ
โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น