สาเหตุภายในช่องปาก ส่วนใหญ่เกิดจากการไม่รักษาสุขภาพช่องปากให้ดี เช่น แปรงฟันไม่สะอาด มีคราบอาหารหรือคราบแบคทีเรียเกาะอยู่ตามผิวฟัน ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม ก็ทำให้มีกลิ่นปากได้ ถ้ามีเศษอาหารติดตามซอกฟัน ต้องกำจัดออกโดยใช้ไหมขัดฟัน ซึ่งควรฝึกใช้ให้เป็นนิสัยอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
การมีฟันผุ ทำให้เศษอาหารติดค้างอยู่ในรูฟันที่ผุ อาหารเหล่านี้จะบูดเน่าและทำให้เกิดกลิ่น หรือผู้ที่มีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน มีหนองที่ปลายรากฟัน หนองพวกนี้จะมีกลิ่นมาก
การแก้ไขคืออุดฟันซี่ที่มีการผุนั้น ถ้าผุทะลุโพรงประสาทแล้ว ก็ต้องรักษารากฟัน ถ้าผุมากจนไม่สามารถเก็บฟันไว้และรักษาให้ดีเหมือนเดิม ก็จะต้องถอนออก แล้วใส่ฟันปลอม
โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ เหงือกอักเสบเนื่องจากมีหินปูน มีการสะสมของเศษอาหาร มีการทำลายอวัยวะรอบรากฟัน เหงือกอ้าออกจากตัวฟัน เศษอาหารเข้าไปสะสมได้ง่ายขึ้น และแปรงออกได้ไม่หมด นานๆ ไปจึงส่งกลิ่นออกมา การแก้ไขคือต้องกำจัดหินปูนออกให้หมด โดยให้ทันตแพทย์ขูดออก ในรายที่เหงือกอ้าออกมาก และมีหินปูนเข้าไปสะสมอยู่มาก อาจต้องผ่าตัดเปิดเหงือกออกเพื่อกำจัดหินปูนให้หมด แล้วจึงปิดเหงือกกลับเข้าไปตามเดิม
สำหรับยาสีฟันที่โฆษณาว่ากำจัดหินปูนได้นั้น ที่จริงเพียงแต่ไม่ทำให้เกิดการสะสมของหินปูนใหม่ แต่ถ้ามีหินปูนอยู่แล้ว จะกำจัดออกได้วิธีเดียวคือให้ทันตแพทย์ขูดออก สำหรับผู้ที่เป็นและเคยรักษาโรคปริทันต์มาแล้ว การแปรงฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกำจัดคราบแบคทีเรียหรือคราบอาหารออกได้หมด ต้องใช้เครื่องมือทำความสะอาดเพิ่ม เช่น ไหมขัดฟัน แผ่นเทปรัดฟัน แปรงซอกฟัน เป็นต้น
แผลในช่องปาก ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น แผลของเนื้องอกต่างๆ ในช่องปากจะส่งกลิ่นรุนแรงมาก เพราะแผลเนื้องอกจะมีหนองและของเสียต่างๆ มาก การแก้ไขคือ รักษาแผลหรือเนื้องอกนั้นโดยเร็ว เมื่อแผลหาย กลิ่นปากก็จะลดลง
นอกจากนี้กลิ่นปากอาจเกิดขึ้นได้ภายหลังการถอนฟัน หรือผ่าตัดในช่องปาก เนื่องจากขณะมีแผลในปาก ผู้ป่วยมักจะใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ถนัด การรับประทานอาหารอ่อนทำให้มีอาหารติดฟันได้ง่ายและมากขึ้น แผลที่มีเลือดไหลซึม จะเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อโรคในช่องปาก ทำให้เกิดการบูดเน่าของอาหารและเลือดมีกลิ่นเหม็นได้
การแก้ไขคือ ขณะมีแผลในปาก ไม่ควรละเลยการทำความสะอาดช่องปาก หลังรับประทานอาหารควรแปรงฟันทันที โดยใช้แปรงปัดเบาๆ เพื่อไม่ให้คราบอาหารเกาะฟันนาน จะแปรงออกได้ง่ายกว่า ถ้าอ้าปากหรือแปรงฟันไม่ได้ ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ ทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นพันนิ้วเช็ดฟัน เมื่อแผลหายและแปรงฟันหรือรับประทานอาหารได้ตามปกติแล้ว กลิ่นปากก็จะหายไป
ผู้ที่ใส่ฟันปลอมหรือใส่เครื่องมือต่างๆ ในปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน เครื่องมือกันฟันล้มเก หรือเฝือกสบฟัน เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้ ถ้ารักษาความสะอาดไม่ดีจะทำให้มีกลิ่นได้ โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทำด้วยอะคริลิกหรือมีส่วนของอะคริลิกอยู่ด้วย เนื้ออะคริลิกจะมีรูพรุน จะดูดซึมของเหลวต่างๆ ได้ ถ้าล้างไม่สะอาด อาหารก็จะบูดเน่าติดอยู่กับเครื่องมือ ทำให้มีกลิ่นได้ ดังนั้นควรทำความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งหลังจากถอดแล้ว และถ้ายังไม่ใส่ต่อควรแช่ไว้ในน้ำสะอาด และก่อนใส่ควรทำความสะอาดอีกครั้ง ฟันปลอมที่ใส่มานานแล้ว ถ้ามีคราบหรือหินปูนเกาะ อาจใช้น้ำยาสำหรับแช่ฟันปลอมโดยเฉพาะ แช่ได้เป็นครั้งคราว
ลิ้นที่เป็นฝ้า เนื่องจากมีการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรียบนผิวด้านบนของลิ้น ก็เป็นสาเหตุของกลิ่นปากได้ เราสามารถใช้แปรงสีฟันแปรงลิ้นขณะแปรงฟัน หรือใช้ผ้า ไหมขัดฟัน หรือไม้ขูดลิ้น ขูดออก นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีกากก็ช่วยขัดถูลิ้นได้ เช่น อ้อย สับปะรด
น้ำลาย ก็มีส่วนทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ถ้ามีน้ำลายน้อย ชำระล้างเศษอาหารได้ไม่หมด ก็จะทำให้มีกลิ่นปากได้ ตอนตื่นนอนจึงมักจะมีกลิ่นปาก เพราะขณะหลับมีการไหลเวียนของน้ำลายน้อย ผู้ที่มีน้ำลายข้นเหนียว ก็จะชำระล้างเศษอาหารได้ไม่ดีเท่าผู้ที่มีน้ำลายใส ดังนั้นถ้ารู้สึกว่าปากแห้งคอแห้ง ควรดื่มน้ำบ่อยๆ
บางครั้งกลิ่นปากจะเกิดขึ้นได้จากสภาวะของร่างกาย เช่น ในเด็กแรกเกิดจนถึงระยะหย่านม ปากจะมีกลิ่นหอม เมื่อโตขึ้น จะเริ่มมีกลิ่นมากขึ้น ขึ้นอยู่กับระบบการย่อยและเผาผลาญของร่างกาย และจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสุขภาพช่องปากของแต่ละคนด้วย
โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน เริ่มตั้งแต่จมูก คอ จนถึงหลอดลม เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบหรือที่เรียกว่า ไซนัสอักเสบ เกิดจากมีของเหลวหรือหนองอยู่ในโพรงอากาศของกระดูกใบหน้า ซึ่งมีหลายโพรง การอักเสบจนมีหนองนี้ จะทำให้มีกลิ่นออกมาทางจมูกขณะหายใจ และทางปากขณะพูด ผู้ที่เป็นหวัดเรื้อรังนานๆ จะทำให้โพรงจมูกอักเสบได้
ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้เป็นหวัดบ่อยๆ หรือเป็นนานๆ การรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรค และทำให้หนองหรือการอักเสบหายไปนั้น ควรทานให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง มิฉะนั้นอาการต่างๆ จะไม่หายขาด และกลับเป็นใหม่ได้อีก และอาจทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้อีกด้วย
โรคมะเร็งที่โพรงจมูก จะมีกลิ่นเหม็นมาก และจะมีหนองไหลออกจากจมูกลงไปในคอ เวลาก้มศีรษะ ซึ่งจะต้องปรึกษาแพทย์
โรคทอนซิลอักเสบ ผู้ที่เจ็บคอขณะที่มีการอักเสบในลำคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ก็จะมีกลิ่นปากได้ และจะหายไปได้เมื่อคอหายอักเสบ
โรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอด ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง วัณโรคปอด หรือมะเร็งที่ปอด จะมีกลิ่นออกมากับลมหายใจและลมปากได้ ผู้ที่สูบบุหรี่นานๆ ก็ทำให้ลมหายใจและลมปากมีกลิ่นได้เช่นกัน
ระบบย่อยอาหาร เริ่มตั้งแต่ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีหนอง อาจมีกลิ่นออกมาขณะพูดหรือเรอได้
ผู้ที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยเป็นประจำ เมื่อมีลมออกจากกระเพาะ ก็จะมีกลิ่นเหมือนอาหารบูดตามออกมาด้วย
ระบบขับถ่าย ผู้ที่ระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องผูกบ่อยๆ เมื่อมีลมดันขึ้นหรือเรอ ก็จะทำให้มีกลิ่นได้เช่นกัน
ได้ทราบอย่างนี้แล้ว ใครที่มีกลิ่นปากอย่าเพิ่งวิตกว่าจะเป็นโรคร้ายแรงนะคะ สาเหตุส่วนใหญ่ของกลิ่นปากจะมาจากภายในช่องปาก ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความสะอาดของเหงือกและฟัน ส่วนสาเหตุภายนอกช่องปากที่พบบ่อยคือ โรคไซนัสและคออักเสบ
นอกจากนี้กลิ่นปากยังเกิดได้จากการที่สารมีกลิ่นถูกดูดซึมเข้าทางกระแสโลหิต และถูกขับถ่ายออกทางลมหายใจ เหงื่อ น้ำลาย หรือทางปัสสาวะ สารที่ถูกดูดซึมเข้าไปนี้อาจมาจากอาหาร เครื่องดื่ม ยา หรือมีการสะสมของสารที่ผิดปกติในเลือด
การรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น เช่น กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศ สะตอ จะทำให้มีกลิ่นปากได้ แต่เมื่อถูกย่อย ดูดซึม และขับถ่ายออกหมด กลิ่นก็จะหายไป แต่ถ้ารับประทานอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้มีกลิ่นปากอย่างต่อเนื่องได้ด้วย
นอกจากนี้ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ก็ทำให้มีกลิ่นปาก ยาบางชนิดก็อาจทำให้เกิดกลิ่นได้ เช่น ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคจิตบางตัว ก็ทำให้มีกลิ่นได้
การใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อดับกลิ่นปาก ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม น้ำยาบ้วนปากที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค มักใช้เมื่อมีอาการอักเสบ ติดเชื้อ หรือมีแผลในช่องปากหรือลำคอเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นประจำโดยไม่ได้กำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นออกไป เช่น โรคเหงือกอักเสบ ฟันผุ หรือรากฟันเป็นหนอง ถ้าไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ กลิ่นปากก็จะไม่มีวันหมดไปได้
เหตุผลที่ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างต่อเนื่อง เพราะยาจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามปกติในช่องปากให้หมดไป จะทำให้ติดเชื้อราได้ง่าย และถ้าเป็นเชื้อราแล้ว จะรักษาค่อนข้างยากและหายช้า สำหรับน้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ ซึ่งทันตแพทย์แนะนำให้อมบ้วนปาก เพื่อป้องกันฟันผุ สามารถใช้ได้ โดยเลือกชนิดที่ไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคผสมอยู่
การที่มีกลิ่นออกมากับลมหายใจหรือลมปาก ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ แต่ถ้าสุขภาพร่างกายและสุขภาพภายในช่องปากปกติดี การมีกลิ่นปากเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่แก้ไขได้
- รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อทุกวัน
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะการดื่มน้ำมากๆ ช่วยล้างแบคทีเรียออกจากน้ำลาย
- อย่าปล่อยให้ปากแห้ง เพราะจะทำให้ความเข้มข้นของแบคทีเรียในปากเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ง่าย
- ดื่มน้ำมะนาว จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำลาย
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นปากได้
- แปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร และอย่าลืมแปรงด้านบนของลิ้นด้วย
- ถ้าไม่สะดวกจะแปรงฟัน ให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่า และหากแปรงเสียให้เปลี่ยนแปรง
- ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- เลิกสูบบุหรี่
- และตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าเป็นกลิ่นปากที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวหลังรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง ให้เคี้ยวใบสะระแหน่ ผักชีฝรั่ง หรือกานพลูหลังมื้ออาหาร หรือสะดวกกว่านั้นก็คือ เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาลหลังมื้ออาหารนั่นล่ะค่ะ