โรคเกี่ยวกับต่อมน้ำลาย

วิตามินซีกับต่อมน้ำลาย

เวลาที่ผู้ป่วยมีภาวะต่อมน้ำลายอักเสบ แพทย์จะให้ยาเพื่อลดอาการอักเสบ ลดไข้ แก้ปวด และแนะนำการปฏิบัติตัว รวมทั้งให้อมวิตามินซี (ASCORBIC ACID) วิตามินซีนั้นมีรสเปรี้ยวซึ่งจะกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายขับน้ำลายออกมาหล่อเลี้ยงช่องปากมากขึ้น มีผลทำให้ต่อมน้ำลายลดอาการอักเสบและลดอาการบวมได้เร็วขึ้น จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นวิตามินซีก็ได้ บางท่านอาจดื่มน้ำผลไม้หรือรับประทานผลไม้รสเปรี้ยว หรือแม้แต่อมลูกอมรสเปรี้ยวๆ ก็จะมีผลเช่นเดียวกัน

เนื่องจากเราต้องการรสเปรี้ยวของอาหารมากระตุ้นเพื่อให้ต่อมน้ำลายขับน้ำลายออกมา เพราะฉะนั้นวิตามินซีที่รับประทานจึงควรอมให้ละลายในปากก่อนที่จะกลืน ส่วนวิตามินซีที่มีความเข้มข้นมากๆ นั้น อาจไม่เหมาะในการนำมาอมในช่องปาก เพราะอาจมีรสชาติที่เปรี้ยวเกินไปจนทำให้เกิดภาวะอักเสบของเยื่อบุช่องปากได้

วิตามินซีมีข้อดีต่อต่อมน้ำลาย และยังมีข้อดีในการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย และทำให้ผิวพรรณสดใส รวมทั้งเป็นหนึ่งในสารต้านมะเร็งด้วย และเป็นวิตามินที่ไม่สะสมในร่างกาย นั้นคือถ้าร่างกายได้รับวิตามินซีเข้าไปในปริมาณที่มากเกินความต้องการ วิตามินวีส่วนเกินก็จะขับออกมาทางปัสสาวะหมด ส่วนข้อเสียของวิตามินซี คือ มีความเป็นกรด จึงระคายเคืองกระเพาะ อาหารและทางเดินอาหารได้ และทำให้ฟันสึกได้ นอกจากนั้นวิตามินซีที่ใช้อมนั้นมักจะมีส่วนผสมของน้ำตาลเพื่อให้ได้รสชาติที่น่าพอใจ น้ำตาลเหล่านี้อาจเป็นตัวก่อให้เกิดภาวะฟันผุได้ วิตามินวีที่มีความเข้มข้นมากๆ ในปัสสาวะ อาจก่อให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ และอาจทำให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ด้วย

ดังนั้นเมื่อจะรับประทานวิตามินซีควรดื่มน้ำตามเยอะๆ และปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาจะดีที่สุดค่ะ

การผ่าตัดต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร (Submandibular Gland Excision)

ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร (Submandibular gland) เป็นต่อมที่มักมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อ มากกว่าต่อมน้ำลายอื่นๆ อันมีสาเหตุมาจาก การมีท่อทางเดินน้ำลายที่ค่อนข้างยาว และอยู่บริเวณพื้นปาก โดยมีรูเปิดที่พื้นปากส่วนหน้าใต้ลิ้น ทำให้มีโอกาสเกิดนิ่วในทางเดินน้ำลาย และนำมาสู่การติดเชื้อของต่อมน้ำลาย ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการ ปวด บวม บริเวณใต้ขากรรไกร ในกรณีที่เป็นมาก อาจเป็นมากจนกลายเป็นฝีบริเวณใต้ขากรรไกรได้

นอกจากปัญหาเรื่องการติดเชื้อแล้ว ปัญหาเรื่องเนื้องอก ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเนื้องอกของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร มีโฮกาสเป็นเนื้อร้าย หรือที่เรียกว่า มะเร็ง ได้ประมาณ 50%

โดยสรุป ข้อบ่งชี้ ของการผ่าตัด ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร มีดังนี้

มีการอักเสบติดเชื้อ ซ้ำแล้วซ้ำอีก
การอักเสบเรื้อรังของต่อมน้ำลาย
นิ่วในทางเดินน้ำลาย
ก้อนเนื้อบริเวณต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร
การรักษาด้วยการผ่าตัด จำเป็นต้องดมยาสลบ ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชม. โดยลงแผลยาวประมาณ 4-5 ซม. การผ่าตัดนี้มีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ
ดังต่อไปนี้

การเกิดอันตรายกับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณมุมปาก หากเกิดขึ้นทำให้มีปากเบี้ยวขณะที่ยิ้ม หรือห่อปาก มีทั้งเป็นแบบชั่วคราว และบบถาวร หากเป็นแบบชั่วคราว อาการจะค่อยๆดีขึ้นภายในระยะเวลา 2-6 เดือน
การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
เลือดหรือน้ำเหลืองตกค้างบริเวณใต้แผลผ่าตัด
หลังจากตัดต่อมน้ำลายออก แพทย์จะส่งชิ้นเนื้อ เพื่อรับการตรวจทางพยาธิวิทยา และจะวางแผนการรักษาตามผลการตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป

การผ่าตัดต่อมน้ำลายหน้าหู (Parotidectomy)

ต่อมน้ำลายหน้าหู เป็นต่อมน้ำลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวต่อมน้ำลาย จะมีเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงใบหน้า วิ่งผ่านกลางต่อม ทำให้แบ่งต่อมน้ำลายหน้าหูได้เป็น ส่วนตื้น และส่วนลึก โดยใช้เส้นประสาทนี้เป็นตัวแบ่ง

การผ่าตัดต่อมน้ำลายหน้าหู มี 2 แบบ

แบบแรก เป็นการผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายที่อยู่ในชั้นตื้นกว่า เส้นประสาทที่มาเลี้ยงใบหน้าออก (Superficial Parotidectomy) โดยทั่วไปมักทำการผ่าตัดแบบนี้

แบบที่สอง เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาต่อมน้ำลายออกทั้งหมด คือออกทั้งชั้นตื้นและชั้นลึกต่อเส้นประสาท (Total Parotidectomy) ปกติจะทำในกรณีที่เป็นเนื้องออกในชั้นลึก หรือเป็นเนื้อร้าย
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อมน้ำลายหน้าหูได้แก่

เป็นเนื้องอกของต่อมน้ำลาย ทั้งชนิดไม่ร้าย และชนิดร้ายแรง หรือเป็นมะเร็ง ทำผ่าตัดเพื่อตัดต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในต่อมน้ำลาย ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง ในกรณีที่เป็นต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง

การผ่าตัดต่อมน้ำลายหน้าหู มีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญดังนี้

1.การเกิดอันตรายกับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงใบหน้า เป็นได้ทั้งแบบชั่วคราว (มีโอกาสเกิดประมาณ 10%) และแบบถาวร (มีโอกาสเกิดประมาณ 5%) หากเป็นแบบชั่วคราว อาการจะดีขึ้นภายในระยะเวลา 2-6 เดือน โดยอาจมีอาการปิดตาไม่สนิท ปากเบี้ยวเวลายิ้ม ในระหว่างที่รอการฟื้นต้วของเส้นประสาท ควรทำกายภาพบำบัดของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อฝ่อ การเป็นแบบถาวร แพทย์อาจพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การผ่าตัดเพื่อดึงกล้ามเนื้อ เพื่อให้ใบหน้าไม่ผิดรูป หรือการผ่าตัดเพื่อต่อเส้นประสาท เป็นต้น

2.มีเหงื่อออกที่บริเวณแก้มข้างที่ผ่าตัด ขณะเคี้ยวอาหาร (Frey’s Syndrome) บางรายอาจเป็นแค่ชื้นๆ แต่บางราย อาจเป็นมากถึงขนาดเหงื่อหยดเป็นเม็ดๆขณะที่กินอาหารได้ โดยทั่วไป การผ่าตัดต่อมน้ำลายมี จะมีโอกาสเกิดภาวะนี้ประมาณ 30-40 % มักเกิดในช่วง 1-12 เดือนหลังการผ่าตัด มีสาเหตุมาจาก เส้นประสาทที่มาเลี้ยงต่อมน้ำลาย มีการเชื่อมต่อกลับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงต่อมเหงื่อบริเวณแก้ม ทำให้ขณะกินอาหาร มีการกระตุ้นต่อมน้ำลายเพื่อสร้างและปล่อยน้ำลาย ก็จะมีการกระตุ้นต่อมเหงื่อที่แก้มร่วมไปด้วย อาจแก้ไขโดยใช้ยากำจัดกลิ่นใต้วงแขนชนิดครีม ทาบริเวณแก้ม เพื่อทำให้ต่อมเหงื่อบริเวณดังกล่าวฝ่อลง หากไม่ได้ผล อาจทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อหาเนื้อเยื่อรอบๆมากั้นไม่ให้เส้นประสาทเหล่านี้ มีการเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยการฉีดโบท๊อกซ เพื่อให้ต่อมเหงื่อบริเวณแก้มหยุดทำงาน ได้ผลค่อนข้างดี

3.อาการชาบริเวณใบหู เกิดจากมีการตัดเส้นประสาทที่รับความรู้สึกบริเวณใบหู เนื่องจากทางเดินของเส้นประสาทนี้ ขวางต่อมน้ำลาย แพทย์จึงจำเป็นต้องตัดออก หลังผ่าตัด ใบหูจะชาหรือไม่ค่อยรู้สึกอยู่นาน 6-12 เดือน หลังจากนั้นเส้นประสาทรอบๆ จะงอกมากทดแทน ทำให้อาการชาน้อยลง อาการชาใบหูนี้ ไม่เกี่ยวเนื่องกับการได้ยินแต่อย่างใด

4.การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด มักไม่เป็นปัญหา เนื่องจากจะมีการเตรียมให้ปราศจากเชื้อในแผลที่จะทำผ่าตัด รวมทั้งการให้ยาปฏิชีวนะทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด

5.เลือดออกใต้แผลผ่าตัด มักไม่เป็นปัญหาเนื่องจากแพทย์มักใส่ท่อระบายเลือด หลังผ่าดัด และจะนำท่อนี้ออกหลังผ่าตัด 2-3 วัน

6.น้ำลายขังใต้แผล (Seroma) เกิดจากต่อมน้ำลายชั้นลึก สร้างน้ำลายออกมาขังใต้แผล และทำให้มีน้ำลายซึมออกมาที่แผลได้ ป้องกันและรักษาได้โดยการทำแผล เจาะดูดน้ำลายออก และใช้ผ้าพันบริเวณแผลให้แน่น เพื่อไม่ให้มีน้ำลายตกค้าง

7.อาการอ้าปากได้น้อยลง ส่วนใหญ่เป็นแบบชั่วคราว เกิดมาจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวอาหาร สามารถรักษาได้โดยการบริหารอ้าปาก

8.แผลเป็นหลังการผ่าตัด โดยปกติ แผลมักเห็นชัดขึ้นภายใน 3 เดือนแรก และจะค่อยๆจางหายไปในระยะเวลา 1 ปี

ทั้งหมดนี้ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในการผ่าตัดต่อมน้ำลาย หากมีข้อสงสัยประการใด อย่าลืมสอบถามแพทย์ที่ให้การรักษาก่อนการผ่าตัดนะครับ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย

เนื้องอกของต่อมน้ำลาย

เนื้องอกของต่อมน้ำลาย มีทั้งแบบไม่ร้าย และเนื้องอกแบบร้าย หรือที่เรียกกันว่า เป็นมะเร็งนั่นเอง จากอุบัติการณ์พบว่า ต่อมน้ำลายที่มีขนาดเล็ก จะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่า มีหลักในการจำง่ายๆ คือ ต่อมน้ำลายหน้าหู ซึ่งเป็นต่อมน้ำลายที่ใหญ่ที่สุด มีโอกาสเป็นมะเร็ง 1 สลึง หรือ 25% ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร มีโอกาสเป็นมะเร็ง 50 สตางค์ หรือ 50% และต่อมน้ำลายใต้ลิ้น มีโอกาสเป็นมะเร็งประมาณ 3 สลึง คือประมาณ 75%

อาการที่สำคัญของเนื้องอก ก็คือการมีก้อนบริเวณต่อมน้ำลาย ซึ่งมักค่อยๆโตขึ้น และมักไม่ค่อยมีอาการอะไร ผู้ป่วยอาจคลำพบก้อนโดยบังเอิญ หรือมีคนทัก หรือไปรับการตรวจร่างกายประจำปีแล้วพบ ในบางราย อาจมาด้วยอาการต่อมน้ำลายอักเสบ จากการที่ก้อนอุดกั้นทางเดินน้ำลาย เมื่อต่อมน้ำลายยุบบวม จึงตรวจพบก้อน

เมื่อพบก้อนที่ต่อมน้ำลาย แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของเส้นประสาทที่เกี่ยวข้อง บางกรณี อาจทำการเจาะดูดเพื่อเอาเซลไปตรวจ (การเจาะดูดเซลไปตรวจในบริเวณต่อมน้ำลาย มีข้อจำกัด) หรือบางครั้ง อาจต้องทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจหาขอบเขตของก้อน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตรวจและความเห็นของแพทย์ที่ดูแลอยู่

ปกติถ้าพบก้อนที่ต่อมน้ำลาย แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัด เป็นทั้งการรักษา และเป็นวิธีที่สามารถให้การวินิจฉัยได้แม่นยำทีสุด จากการได้เนื้อเยื่อมาตรวจ

การผ่าตัดเนื้องอกบริเวณต่อมน้ำลายหน้าหู จำเป็นต้องลงแผลค่อนข้างยาว เนื่องจากมีความจำเป็นต้องเข้าไปหาเส้นประสาทที่มาเลี้ยงใบหน้า และเก็บไว้ให้กับผู้ป่วย หากเกิดอันตรายกับเส้นประสาทเส้นนี้ จะทำให้กล้ามเนื้อที่แสดงอารมณ์ของใบหน้าทำงานผิดปกติ เช่น ปิดตาไม่สนิท ปากเบี้ยวเวลายิ้มหรือทำปากจู๋ ซึ่งอาจเป็นชั่วคราว (ประมาณ 1-2 เดือน) หรือเป็นแบบถาวร ในกรณีที่ช้ำมาก หรือถูกตัดขาดเป็นต้น สำหรับโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดเนื้องอกของต่อมน้ำลาย จะกล่าวในตอนต่อไป

หากเป็นเนื้องอกของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร ก็แนะนำให้ตัดออกเช่นเดียวกัน โดยจะลงแผลบริเวณใต้ขากรรไกร ความยาวประมาณ 4-5 ซม. แล้วเข้าไปตัดเนื้องอกออก บริเวณนี้จะมีเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงมุมปาก รวมทั้งเส้นประสาทรับความรู้สึกที่ลิ้น ซึ่งต้องทำการผ่าตัดด้วยความระมัดระวัง หลังการผ่าตัด แพทย์จะส่งชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา หากเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม แต่หากโชกไม่ดี เป็นเนื้องอกชนิดร้ายหรือเป็นมะเร็ง การรักษาขั้นตอนต่อไป จะขึ้นกับชนิดของเซลมะเร็ง บางชนิด อาจไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ใช้ติดตามการรักษา ก็เพียงพอ บางชนิด จำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อนำต่อมน้ำลายที่เหลือออกให้หมด หรืออาจจำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอออกทั้งหมดด้วย นอกจากนี้แล้ว อาจจำเป็นต้องให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยการให้รังสีรักษา หรือให้เคมีบำบัดเพิ่มเติมอีกด้วย

เห็นอย่างนี้แล้ว หากมีก้อนที่บริเวณแก้ม ใต้คาง รีบไปตรวจกับแพทย์ อย่านิ่งนอนใจนะ

นิ่วในทางเดินน้ำลาย

เมื่อพูดถึงนิ่ว คนส่วนใหญ่จะนีกถึงนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือนิ่วในทางเดินน้ำดี แต่คุณทราบหรือไม่ว่า นิ่ว ก็สามารถเกิดในทางเดินน้ำลายได้เช่นเดียวกัน

ร่างกายเรามีต่อมน้ำลายหลัก อยู่ 3 คู่ ประกอบด้วย

ต่อมน้ำลายหน้าหู (Parotid gland) เป็นต่อมน้ำลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่บริเวณหน้าหูทั้ง 2 ข้าง อ้อมลงมาที่ติ่งหูและอ้อมไปด้านหลังเล็กน้อย มีท่อน้ำลาย ไปเปิดบริเวณกระพุ้งแก้มในตำแหน่งที่ตรงกับฟันกรามบนซี่ที่ 2
ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร (Submandibular gland) เป็นต่อมน้ำลายขนาดกลาง ที่อยู่ใต้ขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง มีท่อน้ำลาย วิ่งมาตามพื้นปากและมีรูเปิดอยู่ที่พื้นปาก ใต้ต่อปลายลิ้นทางด้านหน้า
ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual gland) เป็นต่อมน้ำลายหลักที่มีขนาดเล็กที่สุด อยู่บริเวณใต้ลิ้น
ในบรรดาต่อมน้ำลายเหล่านี้ เราพบนิ่วในทางเดินของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรมากที่สุด ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการของท่อน้ำลายอุดตัน ทำให้มีอาการบวมใต้คาง เป็นๆหายๆ โดยเฉพาะเวลาที่จะกินอาหาร เนื่องจากน้ำลายที่ถูกสร้างไม่สามารถไหลออกมาได้ หากมีอาการคั่งของน้ำลายมากๆ ก็ทำให้มีอาการปวดได้ นอกจากนี้ หากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน ก็อาจทำให้เกิดการอักเสบ กลายเป็นฝีได้

การรักษา หากพบนิ่วในบริเวณส่วนปลายใกล้ทางเดินน้ำลาย อาจใช้การดื่มน้ำมากๆ หรือผ่าตัดเพื่อคีบก้อนนิ่วออก รวมทั้งเปิดปากทางออกของท่อน้ำลายให้กว้างขึ้น วิธีนี้มีข้อดีคือ สามารถทำได้ด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ และไม่จำเป็นต้องพักในโรงพยาบาล แต่มีข้อจำกัดที่ อาจมีการเกิดนิ่วซ้ำได้อีก

การรักษาอีกวิธีหนึ่ง คือการผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายข้างที่เป็นนิ่วออกเลย วิธีนี้ ทำให้หายขาด แต่จำเป็นต้องดมยาสลบ รวมทั้งต้องให้ผู้ป่วยพักในโรงพยาบาล ประมาณ 2 วัน มีบาดแผลขนาดยาวประมาณ 5 ซม.บริเวณใต้ขากรรไกร โรคแทรกซ้อนที่สำคัญของการผ่าตัดวิธีนี้ คือการเกิดอันตรายกับเส้นประสาทที่ไปเลีี้ยงมุมปาก หากเกิดขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีปากเบี้ยว เวลาแสยะยิ้ม หรือทำปากจู๋ ได้

การป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในทางเดินน้ำลาย ทำได้โดย ดื่มน้ำมากๆ รักษาความสะอาดในช่องปากและฟัน และหากมีปัญหา ควรรีบปรึกษาแพทย์ด้านหู คอ จมูก โดยตรง



ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.plan.msu.ac.th/kmplan/KMDetails.php?stat=read&kmid=48&group=7































การ์ตูนผู้หญิงแบบ PDF สั่งได้เลยที่ไลน์ไอดี fattycatty หรือแสกนคิวอาร์โค้ดไลน์ที่นี่




สั่งซื้อการ์ตูนตาหวาน
การ์ตูนผู้หญิงแบบ PDF
มีเป็นพันเล่มคลิกเข้าไปเลือกดูได้เลยที่นี่