โดย น.พ. เอกชัย จุละจาริตต์
ถั่วและงาเป็นอาหารชั้น ๑ ที่ทุกคนควรรับประทานทุกวันเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ เพราะถั่วและงามีอาหารครบ ๕ หมู่ เช่น มีไขมันไม่อิ่มตัวหรือไขมันดี มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ ที่ร่างกายนำไปใช้ในการซ่อมสร้างอวัยวะต่าง ๆ และไม่มีโคเลสเตอรอล.
ใน ยุคปัจจุบัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีไขมันในเลือดชนิดไม่ดีสูง เช่น มีโคเลสเตอรอล(LDL)และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นผลให้หลอดเลือดแดงตีบตันจากการมีไขมันไม่ดีไปจับตัวที่ผนังของหลอด เลือดแดง เป็นผลให้หลอดเลือดแดงตีบลง จึงทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี ทำให้หัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดที่ตีบตันอย่าง เพียงพอที่จะไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้กลายเป็นโรคความดันโลหิตสูง และมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบตัน เป็นต้น. ครั้นเส้นเลือดตีบตันมากขึ้น ความเสื่อมโทรมของร่างกายก็จะมากขึ้นตามสัดส่วนและเวลาด้วย เพราะเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ลดลง.
การรับประทานถั่วและงาในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันและลดปัญหาของไขมันในเลือดสูง จึงทำให้มีสุขภาพดี และมีอายุยืนยาว.
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
หลักการในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ คือ จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการระมัดระวังเรื่องของน้ำตาลและไขมันในเลือด เพราะในทางการแพทย์ เราถือว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเบาหวานและไขมันในเลือดสูงด้วยกันโดยถ้วนทั่ว. ผู้เขียนได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุได้อย่างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุจะมีน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสมาก และผู้ที่เป็นเช่นนี้ก็มักจะมีปัญหาทางด้านสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ตามมาด้วย.
อาหารเป็นองค์ประกอบสำคัญมากของการสร้างเสริมสุขภาพ ขณะเดียวกัน ก็เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยด้วย. ดังมีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพกายว่า “ You are what you eat.“ โดยมีการประมาณการไว้ว่า ๙๐% ของความเจ็บป่วยมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง.
ด้วยเหตุที่อาหารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จึงได้พยายามศึกษาเรื่องของอาหาร และการรับประทานอาหารเพื่อป้องกันและลดภาวะน้ำตาลและไขมันในเลือด โดยนำเอาความรู้มาทดลองปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อ เท็จจริงด้วยตนเอง.
การทดลองรับประทานถั่วและงาขาวด้วยตนเองเพียงลำพังคงจะไม่สนุกและไม่มีโอกาส ศึกษาผลของผู้อื่น ขณะเดียวกัน คงจะทำได้ไม่นานนักเพราะอายุมากแล้ว. จึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนท่านทั้งหลาย มาทดลองศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเอง และแบ่งปันประสบการณ์ให้กันและกัน โดยไม่ต้องหลงเชื่อผู้อื่น.
ควรสบาย ใจขึ้นที่วงการอาหารและสุขภาพของประเทศไทยและนานาชาติยอมรับและแนะนำให้รับ ประทานถั่วและงาเป็นประจำ เพราะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยตรง.
ชนิดของถั่วและงาที่แนะนำให้รับประทาน
ถั่วเหลืองเป็นถั่วที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า เป็นอาหารที่ดี มีคุณค่าสูง มีองค์ประกอบของอาหารครบทั้ง ๕ หมู่ และมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มาก. ที่สำคัญมาก คือ ไขมันในถั่วเหลืองเป็นไขมันดี คือ ไขมันไม่อิ่มตัวเป็นส่วนใหญ่ และมีปริมาณหรือสัดส่วนของโปรตีนสูงเหมือนกับเนื้อสัตว์.
แต่การรับประทานถั่วเหลืองมากเกินไปก็อาจมีโทษ เพราะถั่วเหลืองมีพิวรีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นที่จะไปเป็นกรดยูริก. คนที่เป็นเกาต์ไม่ควรรับประทาน แต่คนทั่วไปย่อมรับประทานได้.
หลายคนไม่เข้าใจเรื่องนี้ จึงไปคิดเอาเองว่า การรับประทานถั่วเหลืองจะทำให้เป็นเกาต์. ที่จริงแล้วถั่วเหลืองไม่ทำให้เป็นเกาต์ แต่ทำให้ผู้ที่เป็นเกาต์มีอาการของเกาต์รุนแรงขึ้น และผู้ที่มียูริคในเลือดสูงก็อาจจะมีโอกาสเป็นเกาต์ได้ ถ้ารับประทานมากและนาน. รวมความแล้ว คนที่ยังไม่เป็นเกาต์รับประทานถั่วเหลืองได้ แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเป็นเวลานาน.
ในถั่วเหลืองจะมีออกซาเลต. ดังนั้น การกินถั่วเหลืองมากเกินไปจะทำให้ปัสสาวะมี่ออกซาเลตออกมามากด้วย. ออกซาเลตที่ออกมาในปัสสาวะจำนวนมากจะจับกับแคลเซี่ยมในทางเดินปัสสาวะ ก็จะกลายเป็นตะกอนซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้. ดังนั้น การรับประทานถั่วเหลืองจำนวนมาก ควรรับประทานหลังอาหารทันทีเพื่อให้ออกซาเลตจับตัวกับแคลเซี่ยมในอาหารต่าง ๆ และตกตะกอนในทางเดินอาหาร ซึ่งจะไม่ถูกดูดซึม จึงถูกขับออกทางอุจจาระโดยไม่ไปตกตะกอนในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเิกิดนิ่วก็ได้.
การรับประทานถั่วเหลืองหรือน้ำถั่วเหลืองจำนวนไม่มากเกินไป ก็สามารถรับประทานเมื่อใดก็ได้.
เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ เราจึงไม่ควรรับประทานถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียว จึงขอแนะนำให้รับประทานถั่วเขียว ถั่วแดง และถั่วดำ หรือรับประทานถั่ว 4 สี เพื่อให้ได้อาหารและแร่ธาตุที่หลากหลาย รวมทั้งป้องกันสารพิษจากถั่วด้วย.
ในการรับประทานถั่วดังกล่าว ควรทำให้สุกเสียก่อน เพราะการรับประทานถั่วดิบจะได้รับสารพิษมากเกินไป.
เนื่องจากถั่วทั้ง 4 สีนั้น มีถั่วที่มีไขมันมากคือถั่วเหลือง ซึ่งเมื่อนำมารับประทานร่วมกับถั่วอื่นแล้ว ก็จะทำให้จำนวนไขมันที่รับประทานมีมากขึ้น.
ไขมันที่ดีมีประโยชน์ต่อร่าง กายมาก เพราะทุกเซ็ลของร่างกายต้องการไขมันเพื่อการซ่อมสร้างและใช้งาน. เพื่อป้องกันปัญหาของการขาดไขมันจึงขอแนะนำให้ใช้งาขาวตราไร่ทิพย์ ซึ่งเข้าใจว่า ผลิตจากการนำเอางาดำมาขัดเอาเปลือกออก.
งาดำที่ขัดเอาเปลือกออกแล้วจนเป็นงาขาวนั้น เมื่อนำมาต้มจะย่อยง่ายกว่าที่ยังไม่ได้ขัดเอาเปลือกออก.
งาดำที่เอามาคั่วจนหอมนั้น เป็นการใช้ความร้อนสูง น้ำมันในงาดำก็จะเป็นไอระเหยและแปรรูปเป็นไขมันแปรรูป ซึ่งเป็นอันตรายต่อหลอดเลือด. ขณะเดียวกัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต(แป้ง) ไขมันและงาบางส่วนที่ถูกคั่วก็จะไหม้เกรียมจนเป็นกลิ่นหอม และมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้น ครั้นรับประทานเข้าไป ก็จะเป็นสาเหตุให้เยื่อบุหลอดเลือดแดงเสียหายจนมีคราบไขมันมาเกาะ และยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย.
สัดส่วนของถั่วที่นำมาต้ม
เมื่อศึกษาส่วนประกอบของถั่วต่าง ๆ และงาที่พิมพ์ไว้หลังถุงที่บรรจุนั้น จะพบว่า ส่วนประกอบในด้านไขมันและโปรตีนในถั่วอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ถั่วเหลืองนั้น มีจำนวนน้อยกว่าถั่วเหลือง เพราะส่วนประกอบของถั่วแต่ละชนิดมีจำนวนไม่เท่ากัน.
ดังนั้น จึงควรศึกษาส่วนประกอบที่พิมพ์ไว้ที่ถุงใส่ถั่วให้เข้าใจเสียก่อน.
สัดส่วนในขั้นต้น คือ ให้ตวงถั่วและงาเท่ากันหมด คือ อย่างละ 1 ส่วน แล้วจึงเติมงาและถั่วเหลืองลงไปอีกอย่างละครึ่งส่วนเพิ่มขึ้นมาอีก เพื่อจะได้โปรตีนและไขมันอย่างเพียงพอ.
ล้างถั่วและงา 3 ครั้งแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมงเพื่อให้ถั่วพองน้ำ จะได้นุ่มและสุกง่ายขึ้นในเวลาต้ม.
การแยกงาออกมาล้างต่างหากทำให้การล้างง่ายขึ้น โดยการเอางามาใส่ในตาข่ายโลหะ(กระชอน) และปล่อยให้น้ำลาดหรือลดลงบนงา. ถ้าไม่แยกล้าง ก็ให้ล้างรวมกันแล้วเทเอาน้ำออกโดยเทผ่านตาข่ายดังกล่าวแ้ล้วก็ได้.
เมล็ดถั่วที่ลอยน้ำให้คัดทิ้ง เพราะอาจสกปรกหรือติดเชื้อรา.
นำถั่วมาต้มหรือหุงแบบข้าวก็ได้. ควรต้มจนน้ำเดือดแล้วหรี่ไฟให้ร้อนพอที่จะทำให้น้ำเดือดเบา ๆ 20 – 30 นาที หรือนานกว่านั้นถ้าต้องการความนิ่ม.
เมื่อต้มเสร็จแล้วไม่ต้องเทน้ำออก ให้รับประทานได้เลย ทำให้ไม่ฝืดคอ. เมื่อถั่วและงาเย็นแล้ว ให้เก็บไว้ในตู้เย็น.
ในการต้มถั่วและงาแต่ละครั้ง ควรเพียงพอสำหรับการรับประทานได้ 4 วัน. ถ้า 4 วันแล้วยังไม่หมด ก็ควรต้มซ้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค.
วิธีรับประทานถั่วและงา
โดยหลักการแล้ว เราต้องรับประทานอาหารครบทั้ง ๕ หมู่ในทุกมื้อ. เนื่องจากมื้อเช้ามีความสำคัญต่อสุขภาพมาก เพราะร่างกายขาดอาหารมาทั้งคืน ดังนั้นจึงควรรับประทานถั่วและงาเป็นอาหารเช้า ประมาณ 4-5 ช้อนโต๊ะแทนข้าว. ขณะเดียวกัน เป็นการลดภาระการหุงหาอาหารในตอนเช้า เราจึงใช้วิธีทานถั่วและงาจนเป็นนิสัย.
อาหารที่รับประทานคู่กับถั่วและ คือ นม เพื่อที่จะได้โปรตีนจากนมนั่นเอง. ถึงแม้ถั่วจะเป็นอาหารชั้น 1 แต่ถั่วไม่มีโปรตีนครบถ้วน จึงต้องการโปรตีนจากสัตว์จึงจะครบถ้วน. สำหรับผู้มี่มีไขมันในเลือดสูง ควรรับประทานนมไขมัน 0 เพื่อป้องกันไขมันในเลือดสูง.
แต่เนื่องจากร่างกายต้องการโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ต่อวัน จึงควรรับทานไข่ขาวต้มอีก 2 ฟองใหญ่. สำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ไม่ควรรับประทานไข่แดง และในไข่ขาวก็ไม่มีโคเลสเตอรอล.
อย่าลืมว่า ต้องเหลือกระเพาะไว้รับประทานผลไม้ด้วย สำหรับผักนั้น ให้ทานแนมไปกับถั่วและงาได้เลย.
สำหรับผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง อาจรับประทานผลไม้และผักก่อนรับทานข้าวจะช่วยให้การดูดซึมน้ำตาลในทางเดิน อาหารช้าลง เป็นผลให้น้ำตาลไม่สูงอย่างรวดเร็ว.
ผู้ที่เป็นไขมันในเลือดสูงและเป็นเบาหวาน ไม่ควรดื่มน้ำผลไม้เพราะน้ำผลไม้เป็นน้ำตาลฟรุกโตสที่ย่อยได้ง่ายและรวดเร็ว จึงทำให้น้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดสูงขึ้น.
ทางเลือกในการรับประทานถั่ว
บางครั้งทานถั่ว งา และไข่ต้มมาหลายวันเข้า ก็มักจะเบื่อ จึงอาจหันมารับประทานข้าวโอ๊ตและข้าวซ้อมมือแทนเป็นครั้งคราวก็ได้ แต่คุณค่าทางอาหารนั้นต่างกับถั่วและงาอย่างมากมาย. บางครั้งอาจรับประทานไข่ดาวแทนไข่ต้มก็ได้ หรือเปลี่ยนจากไข่ต้มมาเป็นปลาซาดีน หรือปลาทูน่าบ้างก็ดี.
การโรยผงขมิ้นชันและผงโกโก้ลงไปด้วยจะช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ และได้รับประโยชน์อื่น ๆ จากขมิ้นชันและโกโก้ด้วย. การเติมน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์มาก(extra virgin)ที่กลั่นเย็น 1 ช้อนโ๊ต๊ะลงไปด้วย จะช่วยให้ร่่างกายได้รับไขมันดีหรือไขมันไม่อิ่มตัวมากขึ้น.
ถ้ามื้อไหนที่อาหารมีโปรตีนและไขมันไม่เพียงพอ ก็ควรรับประทานถั่วและงาเสริมเข้าไปด้วย.
ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่รับประทานอาหารเย็นเร็ว ควรรับประทานถั่ว งา ประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะพูน และไข่ขาวต้มและหรือนมไขมัน 0 อีกครั้งตอนก่อนนอน เพื่อที่จะได้อาหารที่มีส่วนประกอบครบถ้วนไปหล่อเลี้ยงสมอง และซ่อมแซมร่างกายทั้งคืน.
ถั่วลิสงมีคุณค่าและมีไขมันชั้นดีเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเชื้อราขึ้นได้โดยง่าย จึงเกิดสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็ง. ดังนั้น ถ้าอยากจะรับประทานถั่วลิสง ก็ควรต้มถั่วลิสงที่ปอกเปลือกแล้ว แนะนำว่า ควรรับประทานตราไร่่ทิพย์ เพราะเป็นบริษัทใหญ่ ที่สามารถประชาสัมพันธ์ในโทรทัศน์หลักได้. ไม่ควรรับประทานถั่วลิสงมาก และต่อเนื่อง.
ซื้อถั่วและงาได้ที่ไหน
ถั่วและงาขาวมีขายตามร้านของชำในตลาดสดและที่ซูปเปอมาร์เก็ต. การซื้อที่ตลาดสดมักจะมีครบ.
ควรซื้อตราไร่ทิพย์เพราะน่าไว้วางใจ แต่ถ้าไม่มีก็ซื้อของบริษัทอื่นได้.
ควรซื้อถั่วเหลืองและถั่วเขียวที่ยังมีเปลือกหุ้มอยู่ และถั่วอื่นก็เช่นกัน. เปลือกชั้นในของถั่วจะช่วยป้องกันเชื้อรา.
เวลาซื้อควรตรวจวันที่ผลิตและหมดอายุ โดยเฉพาะถั่วลิสงจะติดเชื้อราได้โดยง่าย ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ..
ไม่ควรซื้อถั่วลิสงที่อยู่ในถุงขนาดใหญ่ เพราะอาจจะมีเชื้อรากระจายไปทั่ว. ควรซื้อที่อยู่ในถุงหรือซองพลาสติกที่ปิดแน่น ลมไม่เข้า. ถั่วลิสงที่มีสีขาวเกินไปน่าจะเป็นถั่วที่ผ่านการฟอกสีและอาจเคลือบด้วยสาร เคมีที่ป้องกันเชื้อรา ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ.