รู้จักยาลดความอ้วนกันเถอะ

ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคหัวใจ โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคทางระบบเดินหายใจ (sleep apnea, pickwickian syndrome) โรคข้อเสื่อม โรคเกาท์ และโรคมะเร็งหลายชนิด การลดน้ำหนักเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าว


สำหรับการรักษาโรคอ้วนนั้นมีหลายวิธี ได้แก่


การควบคุมอาหาร
การออกกำลังกาย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต
การใช้ยาลดน้ำหนัก
การผ่าตัดดูดไขมัน


ผู้ป่วยบางรายสามารถที่จะลดน้ำหนักได้ดีโดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถควบคุมด้วยวิธีการดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่ ผู้ป่วยอาจต้องมีการใช้ยาลดน้ำหนักร่วมด้วยหรือได้รับการผ่าตัดในบางราย


สำหรับการใช้ยาลดน้ำหนักในปัจจุบันมีข้อถกเถียงกันมากทั้งในแง่ของประสิทธิภาพของยา ระยะเวลาที่ให้การรักษาและผลข้างเคียงของยา นอกจากนี้การใช้ยายังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในปัจจุบันมีแนวคิดที่จะใช้ยาในระยะยาวเพื่อทำให้ควบคุมน้ำหนักได้เป็นระยะเวลานานมากขึ้น แต่คงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาร่วมด้วย 1


ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยาลดน้ำหนัก


1. การใช้ยาลดน้ำหนักนั้น ยาเพียงแต่ช่วยควบคุมน้ำหนักให้ลดลงและคงที่ แต่ยาไม่ได้รักษาโรคอ้วนให้หายไป เช่นเดียวกับโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงการให้ยาเพียงแต่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตลดลง ดังนั้นการหยุดยาลดน้ำหนักอาจจะทำให้น้ำหนัก เพิ่มใหม่ได้


2. การใช้ยาลดน้ำหนักจะได้ผลดีต้องใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยยาอาจช่วยควบคุมน้ำหนักโดยทำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การออกกำลังกายได้ถูกต้องยิ่งขึ้น


3. การใช้ยาลดน้ำหนัก ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ แต่พบว่าแพทย์จำนวนไม่น้อยใช้ยาลดน้ำหนักโดยที่ผู้ป่วยไม่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน ในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้


4. การใช้ยาในระยะยาว ควรพิจารณาเป็นราย ๆ ควรคำนึงถึงความปลอดภัย และผลที่ได้จากการใช้ยา ปัจจุบันเริ่มมียาใหม่ซึ่งมีข้อมูลในการใช้รักษาในระยะยาวมากขึ้น


ควรใช้ยาลดน้ำหนักเมื่อใด


การเลือกใช้ยาลดน้ำหนักในการรักษาโรคอ้วนนั้น ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรักษา ความคุ้มและประโยชน์ที่ได้รับจากการรักษาด้วยยา ตรวจดูว่าผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นหรือไม่ ตรวจวัดระดับดัชนีมวลกายโดยคำนวณจากอัตราส่วนระหว่างน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัมต่อความสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง สำหรับข้อแนะนำ ในการตัดสินใจรักษาด้วยยามีดังนี้


1. เมื่อดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้จนถึงเป้าหมาย


2. เมื่อดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดผิดปกติโดยที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการ ควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้


ควรลดน้ำหนักเท่าไรจึงจะดี


ในการลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนนั้นพบว่าการที่จะลดน้ำหนักลงให้เท่ากับน้ำหนักผู้ป่วยควรจะเป็น (ideal body weigh) นั้นกระทำได้ยากและอาจไม่มีความจำเป็น จากการศึกษาพบว่า การที่สามารถลดน้ำหนักได้เพียงร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักเริ่มต้นก่อนการรักษาจะช่วยลดการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนและลดอัตราตายได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการที่ผู้ป่วยควบคุม น้ำหนักให้คงที่ไม่ให้เพิ่มขึ้นเนื่องจากข้อมูลโดยส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยมักจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจนถึงระดับเดิมก่อนการรักษาภายหลังการหยุดยา


ชนิดของยาลดน้ำหนัก


สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้


1. Appetite suppressants: เป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว ทำให้รู้สึกอิ่ม ยาในกลุ่มนี้ยังแบ่งย่อยได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่


1.1 Noradrenergic agents : Phentermine, Diethylpropion, Phenylpropanolamine, Benzphetamine, Mazindol และPhendimetrazine


1.2 Serotoninergic agents : Dexfexfluramine, Fenfluramine และ Fluoxetine ปัจจุบันยา Dexfexfluramine และ Fenfluramine ได้ยกเลิกการจำหน่ายจากท้องตลาดเนื่องจาก ผลข้างเคียงทำให้เกิดลิ้นหัวใจผิดปกติ และเกิด pulmonary hypertension ทั้งในกรณีที่ใช้ตัวเดียวหรือร่วมกับ Phentermine


1.3 Noradernergic / serotoninergic agents : Sibutramine


2. Thermogenic agents: เป็นยากลุ่มที่ช่วยทำให้ความอยากอาหารลดลงร่วมกับการเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ยากลุ่มนี้ได้แก่


2.1 Adrenergic agents : ephedrine-caffeine


2.2 b3 – adrenergic receptor agonist


3. Digestion inhibitors : ยาที่ช่วยยับยั้งการดูดซึมโดยเฉพาะอาหารพวกไขมัน ได้แก่ lipase inhibitor (Orlistat)


4. Hormonal manipulation เป็นยาใหม่ที่เริ่มนำมาใช้ในการรักษาเพื่อลดน้ำหนัก


ได้แก่ leptin analogue, Neuropeptide Y antagonist, cholecystokinin, glucagon และ glucagon-like peptide-1


หลักการใช้ยาลดน้ำหนัก


1. ก่อนที่จะเริ่มใช้ยาลดน้ำหนัก ควรจะให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ในกรณีที่ให้การรักษาดังกล่าวแล้วน้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 การใช้ยาลดน้ำหนักอาจไม่มีความจำเป็นในผู้ป่วยกลุ่มนี้


2. ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาลดน้ำหนักเป็นระยะเวลา 3 เดือนแล้ว ถ้าน้ำหนักลดลงน้อยกว่าร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตัวก่อนเริ่มใช้ยา ควรพิจารณาเลิกใช้ยาดังกล่าวเนื่องจากมีการศึกษาพบว่าถ้าใช้ยาต่อไปจะไม่ได้ผลและอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงของยาได้


3. ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาลดน้ำหนักเป็นระยะเวลา 3 เดือน ถ้าน้ำหนักลดลงมากกว่า ร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวก่อนเริ่มใช้ยา แสดงว่าการใช้ยาได้ผล อย่างไรก็ตามควรต้องติดตามผู้ป่วยทุกเดือน ในกรณีที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 กิโลกรัม ขณะได้รับยาลดน้ำหนักอยู่ควรพิจารณาเลิกการใช้ยาดังกล่าวเช่นกัน ส่วนในกรณีที่ยังควบคุมน้ำหนักได้ดี จะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของยารวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในการใช้ยาระยะยาวและควรติดตามผู้ป่วยตลอดการใช้ยา


ข้อห้ามใช้ของยาลดน้ำหนัก


1. อายุน้อยกว่า 18 ปี เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับผลของยาต่อ puberty และเด็กในวัยเจริญเติบโต


2. สตรีตั้งครรภ์


3. ดัชนีมวลกายไม่ถึงเกณฑ์ (ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ยกเว้นมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดผิดปกติให้ใช้ค่าดัชนีมวลกาย น้อยกว่า 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตร


ลดความอ้วน


วิธีลดน้ำหนัก




ที่มา: ชมรมลดความอ้วน.blogspot.com/2012/02/1.html