อาหารสำหรับว่าที่คุณแม่

โดย เอมอร คชเสนี 23 กันยายน 2547 08:55 น. 
  นับ เป็นโอกาสดีที่คุณแม่จะปรับปรุงนิสัยการกินของตนเองในช่วง 9 เดือน อาหารที่รับประทาน นอกจากต้องมีสารอาหารครบถ้วน ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ ยังต้องมีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้นด้วย ได้แก่


       อาหารที่ให้โปรตีน เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ และถั่วเมล็ดแห้ง ควรรับประทานไข่วันละ 1-2 ฟอง นมสดวันละ 1-2 แก้ว หรือเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นวันละ 3-4 ช้อนโต๊ะ ทั้งสัตว์บกและสัตว์ทะเล ซึ่งจะได้ธาตุไอโอดีนด้วย อาหารประเภทเต้าหู้และนมถั่วเหลือง ก็มีโปรตีนไม่แพ้เนื้อสัตว์เช่นกัน
      
       อาหารที่ให้พลังงาน ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ไขมัน ควรรับประทานพอประมาณร่วมกับอาหารโปรตีน สตรีตั้งครรภ์ควรได้รับพลังงานมากขึ้นวันละประมาณ 300 แคลอรี่ และควรออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย เพราะอาหารที่ให้พลังงานอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังย่อยยากและทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ง่าย
      
       อาหารที่ให้วิตามินและเกลือแร่ ควรรับประทานผักผลไม้ทุกวันสลับกันไป เพื่อจะได้วิตามินและกากใยอาหารเพื่อช่วยในการขับถ่ายด้วย เกลือแร่ที่สำคัญ ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และไอโอดีน
      
       นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว น้ำจะช่วยละลายอาหารที่รับประทานให้เหลวขึ้น ซึ่งดีสำหรับทารก และช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้นด้วย
      
       ท้องที่โตขึ้นทุกวัน มักพาเอาอาการอีกหลายอย่างมาเป็นของแถม เช่น ปวดหลัง ตะคริว ท้องผูก ฯลฯ แต่อาการเหล่านี้ แก้ไขได้ค่ะ เพียงแค่เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่า และหลีกเลี่ยงของแสลงบางอย่าง เท่านี้ก็ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้แล้ว
      
       โลหิตจาง
      
       ช่วงที่ตั้งครรภ์ เม็ดเลือดแดงจะถูกสร้างเพิ่มขึ้น เพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายคุณแม่กับเจ้าตัวน้อย และยังต้องเผื่อการสูญเสียเลือดขณะคลอดอีกด้วย ถ้ารู้สึกเหนื่อย หน้าซีด มือเล็บซีด เป็นลมง่าย ก็น่าสงสัยว่าจะได้รับธาตุเหล็กน้อยไป
      
       อาหารที่ควรรับประทาน คืออาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ตับ เนื้อไม่ติดมัน อาหารทะเล นม ไข่ งา ถั่วเหลือง ผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง ผักปวยเล้ง และมะเขือเทศ วิตามินซีช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรซื้อวิตามินสำเร็จรูปมากินเองนะคะ ปรึกษาคุณหมอที่ฝากท้องก่อนจะดีกว่า
      
       ตะคริว
      
       เป็นสัญญาณว่าร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ เพราะต้องแบ่งไปให้เจ้าตัวน้อยสร้างกระดูกและฟัน วิธีแก้ไขก็คือ เพิ่มอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม กุ้งฝอย ปลาตัวเล็กๆ งาดำ ถั่วแดงหลวง ใบยอ ตำลึง
      
       ปวดหลัง
      
       เพราะต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น แถมฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ ยังทำให้เส้นเอ็นยืดขยาย ข้อต่อต่าง ๆ คลายตัวหลวมมากขึ้น ความแข็งแรงของข้อลดลง จึงทำให้ปวดหลังได้ ต้องหมั่นทำหน้าเชิด ยืดไหล่ หลังตรงเข้าไว้ และไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูง
      
       อาหารที่ควรรับประทาน ได้แก่ ขิง ขมิ้น ช่วยบรรเทาปวดจากกล้ามเนื้อและข้ออักเสบ กะหล่ำดอก ผลไม้สดที่มีวิตามินซีสูง ช่วยทำให้สร้างมวลกระดูกได้ดีขึ้น
      
       จุกเสียดยอดอก หรือที่เรียกว่า Heartburn
      
       เกิดจากมดลูกขยายตัวไปเบียดกระเพาะอาหาร จนทำให้ใส่อาหารได้น้อย ย่อยช้า ท้องอืด ผสมกับการคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง อันเนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ทำให้น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหาร
      
       วิธีแก้ไขก็คือ รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารทอด กาแฟ น้ำอัดลม นม ช็อกโกแลต จะทำให้ท้องอืดมากขึ้น ส่วนน้ำขิง น้ำมะตูม ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร และแก้ลมจุกเสียด
      
       ท้องผูก
      
       ขณะตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่คอยป้องกันมดลูกบีบตัวแรง กลับทำให้กล้ามเนื้อลำไส้ผ่อนคลาย และหดตัวน้อยไปด้วย ลำไส้จะเคลื่อนที่ช้าลง น้ำถูกดูดซึมกลับเข้าร่างกายจำนวนมาก ทำให้อุจจาระแข็ง เกิดอาการท้องผูกได้ ยิ่งถ้าเป็นเส้นเลือดขอดบริเวณทวารหนัก เนื่องจากน้ำหนักของมดลูกไปทับเส้นเลือดดำตรงนั้นพอดี ก็จะกลายเป็นริดสีดวงได้ง่าย ๆ
      
       วิธีแก้ไขก็คือ รับประทานอาหารเป็นเวลา ดื่มน้ำมากๆ รับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีเส้นใยสูง ช่วยในการขับถ่าย เช่น รำข้าว ข้าวซ้อมมือ ขี้เหล็ก มะขาม ลูกพรุน ไม่ควรซื้อยาระบายมารับประทานเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้
      
       แขนขาบวม
      
       หากมีอาการบวมเล็กน้อย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนท้อง เนื่องจากร่างกายมีการสะสมของน้ำเพิ่มขึ้น และยังเป็นอาการชวนสงสัยว่าคุณอาจจะมีความดันโลหิตสูง
       วิธีแก้ไขคือ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ช็อกโกแลต และคาเฟอีน ส่วนกะหล่ำปลีและขึ้นฉ่ายฝรั่ง ช่วยลดความดันได้
      
       นอนไม่หลับ
      
       อาจเป็นความกังวล ขี้ร้อน รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว อาหารที่ช่วยได้ก็คือ นมอุ่น ๆ หรือน้ำขิง ก่อนนอน ช่วยให้หลับง่ายขึ้น อาหารที่มีโปแตสเซียมช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น ส้ม ลูกพรุน กล้วย อะโวคาโด ผักปวยเล้ง ผักกาดหัว และแครอท ส่วนว่านหางจระเข้ช่วยให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า หากคุณนอนไม่พอ
      
       อาการน่ารำคาญเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง หันมาสนุกและมีความสุข รอเจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลกดีกว่าค่ะ