รศ.พญ.มานี ปิยะอนันต์
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การมีประจำเดือนเป็นธรรมชาติของสตรีเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จากการศึกษาของศิริราช เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่าอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนครั้งแรกของเด็กผู้หญิงไทยประมาณ 12 ปี 7 เดือน เด็กผู้หญิงทางภาคเหนือมีอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนเร็วกว่าภาคอื่น ๆ ส่วนเด็กภาคใต้มีอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนช้ากว่าภาคอื่น ๆ
เมื่อเริ่มมีประจำเดือนผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน บางคนจึงคิดว่าอาการปวดประจำเดือนนั้นเป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นระหว่างการ มีประจำเดือน ถ้าคิดแบบนี้ก็คงจะใช้ได้กับคนที่มีอาการปวดประจำเดือนไม่มาก คือ ปวดพอรู้สึกรำคาญ ไม่ต้องรับประทานยาอาการก็หายไปเอง อาการปวดประจำเดือนนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-2 ของการมีประจำเดือน และจะหายไปภายใน 1-2 วัน แต่มีผู้หญิงบางรายที่มีอาการปวดท้องมากขณะมีประจำเดือนทุกครั้ง จะต้องรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล 2 เม็ด อาการจึงทุเลา ซึ่งลักษณะการปวดประจำเดือนทั้ง 2 อย่างที่กล่าวมาแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดได้ในผู้หญิง เป็นอาการปวดประจำเดือนที่ไม่รู้สาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เมื่อแต่งงานแล้วอาการจะหายไป
พวงชมพูเป็นผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องมากเวลามีประจำเดือน อาการปวดท้องนี้เริ่มเป็นตั้งแต่อายุ 20 ปี ตอนแรก ๆ ก็ปวดพอทนไหวแต่ต่อมามีอาการปวดมากขึ้นต้องรับประทานพาราเซตามอล 2 เม็ด ในวันแรกของประจำเดือนอาการจึงจะดีขึ้น และต่อมาต้องเพิ่มการรับประทานยาพาราเซตามอลเป็นครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ในวันที่ 1-2 ของการมีประจำเดือน ใน 1 ปีที่ผ่านมาเริ่มรู้สึกยาแก้ปวดไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ เธอจึงต้องไปพบแพทย์ที่คลินิกทุกครั้งที่มีประจำเดือน เมื่อแพทย์ฉีดยาแก้ปวดให้อาการปวดจึงดีขึ้นบ้าง ขณะนี้อายุได้ 30 ปี เธอมีความกังวลใจมากเพราะระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เธอปวดท้องมากจนต้องหยุดงานทุกครั้งที่มีประจำเดือน บางทีมีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมด้วย ต้องรับประทานยาแก้ปวดที่แพทย์ให้มาแล้วนอนพักผ่อนหลังจากตื่นขึ้นมาอาการ จึงจะทุเลา
เมื่อเธอมาปรึกษาแพทย์ ๆ แนะนำให้ตรวจภายใน เพราะอาการไม่ใช่การปวดท้องธรรมดา น่าจะมีสาเหตุซึ่งแพทย์พบเสมอคือเยื่อบุมดลูกอยู่ผิดที่ เช่น เยื่อบุมดลูกไปอยู่ที่ในอุ้งเชิงกราน รังไข่ หรือแทรกเข้าไปในเนื้อมดลูก เป็นต้น จากการตรวจภายในพบว่ามีก้อนที่บริเวณรังไข่ ลักษณะเป็นถุงน้ำขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร แพทย์จึงแนะนำให้ทำผ่าตัด เธอกลัวมากกว่าจะต้องถูกตัดมดลูกทิ้ง แพทย์จึงอธิบายให้ฟังอยู่นานจนเข้าใจว่าก่อนอื่นแพทย์จะต้องพยายามทำผ่าตัด โดยเก็บมดลูกและรังไข่ไว้เพื่อให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ในอนาคต การมีเยื่อบุมดลูกผิดที่เป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้มีบุตรยาก แต่ถ้าตั้งครรภ์ได้เยื่อบุมดลูกที่อยู่ผิดที่นี้จะสลายตัวไป ในระหว่างการตั้งครรภ์ ดังนั้นหลังจากมีบุตรแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น
การมีเยื่อบุมดลูกอยู่ผิดที่นั้น หญิงบางรายเป็นมากแต่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย ส่วนบางรายเป็นไม่มากกลับมีอาการปวดท้องมาก ในรายที่เป็นไม่มากแพทย์อาจจะรักษาด้วยการให้ยา เช่น ยาพ่นจมูก ยารับประทานหรือยาฉีด แต่การใช้ยาเหล่านี้มักมีปัญหาคือยาค่อนข้างแพทย์ และผลการรักษาไม่แน่นอน บางรายอาจกลับมาเป็นอีกหลังจากหยุดยา
คุณพวงคราม ซึ่งเป็นคุณแม่ของคุณพวงชมพู สงสัยเกี่ยวกับ อาการเจ็บป่วยของบุตรสาว อยากทราบว่าเกิดเยื่อบุมดลูกอยู่ผิดที่มีสาเหตุมาจากอะไร เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ปัญหานี้คงตอบได้ยากเพราะยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง แต่เหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้มี 2 ประการคือ
1. เป็นมาแต่กำเนิด จากสาเหตุใดไม่ทราบทำให้มีเนื้อเยื่อคล้ายเยื่อบุมดลูกไปอยู่ในรังไข่ ๆ จึงโตเป็นถุงน้ำที่เรียกว่า ช็อคโกแลตซีส ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถ้าแพทย์ตรวจพบซีสที่รังไข่โตเกิน 6 เซนติเมตร จะแนะนำให้ทำผ่าตัด
2. เกิดจากการไหลย้อนกลับของเลือดประจำเดือนเข้าในช่องท้อง โดยไหลผ่านท่อนำไข่เข้าไป ซึ่งพิสูจน์ได้ โดยมักพบโรคนี้ในสตรีที่เคยมีบุตรแล้ว เพราะในเลือดประจำเดือนจะมีส่วนของเยื่อบุมดลูกลอกหลุดออกมาปนอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อเลือดไหลเข้าในช่องท้องจึงมีส่วนของเยื่อบุมดลูกหลุดเข้าไปฝัง ตัวได้