Mother & Care
ครอบครัวที่มีเด็กหลายคนอยู่รวมกัน อาจคงเคยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กคนนี้ไม่ค่อยซน เลี้ยงง่าย คนนี้ซนมาก เลี้ยงยากหน่อย แต่อีกคนซนสุดๆ จนผู้เลี้ยงถึงกับออกปากบ่นว่าเหนื่อย (แต่ท่องไว้ เด็กซนคือเด็กฉลาด ไม่เป็นไรลูก ซนมากๆ หนูจะได้ฉลาดๆ) เมื่อเห็นข้อเปรียบเทียบจึงเกิดคำถามในใจว่า ซนมากแบบนี้ลูกเราผิดปกติหรือเปล่านะ จะเสี่ยงเป็นสมาธิสั้น หรือมีปัญหาทางพัฒนาการด้านใดหรือเปล่า
ก่อนไปพบกับคำตอบ ขอชวนคุณพ่อคุณแม่มาสังเกตพื้นอารมณ์ของลูกกัน เพราะความเข้าใจความต่างของเด็ก จะช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างเหมาะสม
ลองสังเกตดู หนูอยู่กลุ่มไหน
พื้น อารมณ์ (Temperament) เป็นศาสตร์ที่ใช้อธิบายว่าทำไมเด็กแต่ละคนตอบสนองต่อเรื่องเดียวกันต่างกัน โดยพิจารณาที่ลักษณะเฉพาะตัวของเด็กเป็นหลัก สามารถแบ่งเป็น
• กลุ่มเด็กปรับตัวช้า 15 เปอร์เซ็นต์
• กลุ่มเด็กเลี้ยงง่าย 40 เปอร์เซ็นต์
• กลุ่มเด็กเลี้ยงยาก 10 เปอร์เซ็นต์
• กลุ่มเด็กที่มีความผสมผสานหลายๆ แบบ 35 เปอร์เซ็นต์
กลุ่มเด็กปรับตัวช้า
เมื่อ เจอสิ่งใหม่ๆ เด็กบางคนอาจจะถอย ร้องไห้ หรือต้องใช้เวลามากกว่าจะกล้าเข้าหา เด็กบางคนมีลักษณะขี้อาย ขี้กังวล เมื่อไปเจอสิ่งใหม่ๆ หรือคนแปลกหน้า จะยังไม่ตอบสนองในช่วงแรก ต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเขา
กลุ่มเด็กเลี้ยงยาก-เลี้ยงง่าย
อาศัยลักษณะบางอย่างในการจำแนกประเภท ซึ่งบางพฤติกรรมก็อาจจะเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเป็นกังวลอยู่แล้ว เช่น
ลักษณะ การเคลื่อนไหว เด็กๆ แต่ละคนมีการเคลื่อนไหวที่เป็นลักษณะเฉพาะบุคคล สังเกตว่าเด็กในกลุ่มที่เราเรียกว่าเลี้ยงยาก มักจะเคลื่อนไหวมาก ยุคยิก ไม่อยู่นิ่ง ชอบเดินไปเดินมา จนเป็นปัญหาว่าคุณแม่ไล่ตามไม่ทัน ส่วนเด็กที่อยู่ในกลุ่มเลี้ยงง่าย ก็มักจะเป็นเด็กที่มีการเคลื่อนไหวน้อย ชอบนั่งเล่นนิ่งๆ อยู่กับที่ ไม่ชอบเคลื่อนไหว พวกเด็กเลี้ยงง่ายบางคนก็มีการเคลื่อนไหวปานกลาง
ความสม่ำเสมอของ สรีรวิทยา เป็นลักษณะการปรับตัวของร่างกายลูกต่อการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น กินเป็นเวลา ถึงเวลานี้จะหิว นอนเป็นเวลา ถึงเวลานี้จะง่วง รู้จักกลางวัน กลางคืน นอนหลับได้ยาว ไม่ตื่นมากวนตอนดึก มากนักมีความสม่ำเสมอในตัวเอง ถือว่าเป็นเด็กเลี้ยงง่าย พฤติกรรมเมื่อเจอสิ่งใหม่ เด็กเลี้ยงง่ายบางคนเมื่อเจอสิ่งใหม่ก็สามารถตอบสนองได้เร็ว เข้าหาได้เลย ไม่มีอาการกลัวหรือเขินอาย แต่ในขณะที่บางคนมักจะถอยออก แล้วใช้เวลาสักระยะในการปรับตัว การดูว่าลูกอยู่ในกลุ่มใดจึงควรสังเกตว่าเขาปรับตัวง่าย หรือปรับตัวยาก
ลักษณะ การแสดงอารมณ์ เด็กเลี้ยงยากบางคนถ้าเจออะไรที่ไม่ชอบก็จะตอบสนองด้วยพฤติกรรมที่ค่อนข้าง รุนแรง เช่น ทำเสียงดัง โวยวาย แต่เด็กบางคนเมื่อเจอสถานการณ์เดียวกันก็อาจจะอยู่นิ่งๆ ทำเฉย ไม่ได้แสดงออกด้วยพฤติกรรมที่รุนแรงแต่อย่างใด อาจเป็นอาการให้คุณแม่สังเกตว่าไม่พอใจเพียงทำสีหน้าเล็กน้อยเท่านั้น
สมาธิ ความสามารถในการจดจ่อของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนถูกเบี่ยงเบนง่าย เล่นเพลินๆ มีเสียงดังนิดหน่อยก็ตกใจแล้ว แต่บางคนกลับไม่เป็นอะไร สามารถเล่นต่อ หรือหลับต่อได้อย่างสบาย ทั่วไปแล้วในเด็กเล็กๆ การใช้สมาธิจดจ่อกับบางสิ่ง จะทำได้แค่ในระยะสั้นๆ ประมาณ 5 นาทีถือว่าดีแล้ว และจะค่อยๆ อยู่ได้นานขึ้นตามวัยตัวอย่างข้างต้นเป็นหลักคร่าวๆ ในการสังเกตว่าลูกของคุณพ่อคุณแม่จัดอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งการสังเกตรายละเอียดต่างๆ นี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจพื้นอารมณ์ของเขา และมีวิธีตอบสนองเขาได้ดีมากขึ้น เช่น หากลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่าย คุณแม่ก็อาจไม่ต้องเหนื่อยปรับตัวกับเขามาก แต่ถ้าลูกเราอยู่ในกลุ่มเด็กเลี้ยงยาก ก็อาจต้องเพิ่มระดับความอดทนต่อพฤติกรรมี่ไม่สม่ำเสมอของเขา หรือมีความใจเย็นมากขึ้นเพื่อให้เวลาลูกสำหรับปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ
ซนขนาดนี้ ผิดปกติหรือเปล่า
เด็ก บางคนอาจซนมาก เกิดความลำบากในการเลี้ยงดู จนคุณแม่กังวลว่าลูกผิดปกติหรือไม่ ซึ่งในวัยเตาะแตะ ความซนส่วนหนึ่งเป็นพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็น และอยากทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ต้องการให้ผู้ใหญ่ตอบสนองอย่างเหมาะสม สำหรับความผิดปกติอาจพิจารณาได้ 2 ลักษณะคือ
1. ปัญหาซนสมาธิสั้น การสังเกตความเสี่ยงสมาธิสั้นจะมองภาพคร่าวๆ ว่าลูกเกิดอุบัติเหตุบ่อยหรือไม่ ผู้เลี้ยงมีความลำบากในการเลี้ยงมากน้อยเพียงไร หรือเขาเล่นโลดโผนรุนแรงไม่กลัวอันตรายเลย หรือจดจ่อกับอะไรได้ไม่นานหรือไม่
โดยทั่วไป แม้ลูกจะมีพฤติกรรมที่อยู่ในขั้นซนมาก ดูเหมือนว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น แต่แพทย์จะยังไม่วินิจฉัยว่าเด็กวัยเตาะแตะเป็นสมาธิสั้น เพราะวัยนี้ยังสามารถปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้นได้ โดยอาศัยความใจเย็นอดทน เช่น หากลูกเล่นของเล่นแล้วมีคนอยู่ด้วย คุณแม่พูดชักชวนให้เขาเล่นต่อ โน้มน้าวว่า เล่นแบบนี้หนูเก่ง ตบมือชม แล้วชวนให้ลูกเล่นต่อ ก็จะสามารถเล่นได้นานมากขึ้น เพราะลูกรู้สึกว่า ทำแบบนี้เขาได้รับการยอมรับ เด็กที่มีสมาธิดี อาจให้เวลาเขาให้เขาทำเอง 2 นาที จึงค่อยให้แรงเสริม แต่เด็กบางคนครึ่งนาทีก็ต้องให้แรงเสริมแล้ว
ระยะเวลาในการเสริมแรง ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจดจ่อของเด็กแต่ละคน การติดตามดูแลสังเกตพฤติกรรมเด็กที่ซนอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ
2. เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ เช่น เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าโดยรวมเด็กที่บกพร่องทางภาษา กลุ่มอาการออทิสติก เป็นต้น การสังเกตความเสี่ยงออทิสติก จะพิจารณาว่า ลูกมีพฤติกรรมไม่ค่อยมองหน้าสบตาไม่รับรู้ต่ออารมณ์ ซนไม่สนใจใคร มีพัฒนาการทางสังคม ภาษาและการสื่อสารที่ช้า ไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่แม่พูดเลยหรือไม่ เพราะเด็กวัยนี้ถึงแม้จะพูดได้ไม่มากนัก อาจจะเริ่มพูดเป็นคำๆ หรือพูดเป็นวลี เป็นประโยค แต่เด็กจะมีความเข้าใจภาพอสมควรทำตามคำสั่งได้ ฟังสิ่งที่เราพูดเข้าใจได้ แต่ถ้าลูกไม่เข้าใจสิ่งที่แม่พูดมาตลอด ก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบว่า ลูกมีปัญหาพัฒนาการด้านอื่น หรือมีอาการของออทิสติกหรือไม่ เพื่อเข้ารับการบำบัดต่อไป