เคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่า น้ำใสๆ ที่ไหลออกจากดวงตาเวลาที่เราร้องไห้ เพราะความทุกข์เศร้า ผิดหวัง เจ็บปวด หรือแม้ในยามที่เราดีใจ ตื้นตันใจ มันมีประโยชน์อะไรอีกหรือไม่ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือในการระบายความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา มาดูกันซิว่าคุณรู้จัก “น้ำตา” มากน้อยแค่ไหน
ในภาวะปกติน้ำตาสร้างมาจากต่อมน้ำตา ต่อมภายในเยื่อบุตา ต่อมบริเวณโคนขนตา ตลอดจนต่อมภายในหนังตา แต่ละต่อมสร้างน้ำตาต่างชนิดกัน โดยเรียงกันเป็น 3 ชั้น ดังนี้
ชั้นนอก เป็นชั้นไขมัน มีหน้าที่ป้องกันการระเหยของน้ำตา ทำให้น้ำตาคงอยู่ในตาได้นานขึ้น
ชั้นกลาง เป็นน้ำ เป็นชั้นที่หนาที่สุด ทำหน้าที่ให้อาหารและออกซิเจนหล่อเลี้ยงกระจกตา
ชั้นใน ที่ชิดผิวตาเป็นชั้นเมือก ทำหน้าที่ปรับสภาพของกระจกตา ทำให้น้ำตากระจายตัวได้อย่างรวดเร็วเวลากะพริบตา
น้ำตาทั้งสามส่วนล้วนมีความสำคัญ หากขาดชั้นใดชั้นหนึ่งไปอาจทำให้เกิดความผิดปกติของตาได้ เพราะน้ำตานั้นมีหน้าที่สำคัญมากมาย ได้แก่ ให้ความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและเยื่อบุตาขาว ปรับสภาพของกระจกตาให้เรียบ ทำให้เกิดการหักเหของแสงที่สม่ำเสมอ ทำให้มองเห็นชัดเจน ป้องกันการติดเชื้อของกระจกตา ชะล้างสิ่งแปลกปลอม เป็นแหล่งอาหารให้กับผิวดวงตา เนื่องจากกระจกตาเป็นอวัยวะที่ไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง จึงต้องอาศัยออกซิเจนจากอากาศและน้ำตาที่เต็มไปด้วยเกลือแร่ วิตามินเอ วิตามินอี สารต้านจุลชีพ และสารต้านอนุมูลอิสระ
อวัยวะสำหรับหลั่งน้ำตาประกอบไปด้วย
ต่อมน้ำตา อยู่ในเบ้าตา ตรงมุมบนหัวตาไปถึงมุมหางตา มีท่อเล็กๆ ประมาณ 3-9 ท่อ
หลอดน้ำตา เป็นหลอดเล็กๆ อยู่ในเปลือกตาบนและล่าง ตรงมุมหัวตา ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ทอดไปสู่ถุงน้ำตา
ถุงน้ำตา อยู่หลังผิวหนังระหว่างหัวตากับดั้งจมูก มีท่อยาวประมาณ 18 มิลลิเมตร กว้าง 3-4 มิลลิเมตร เปิดสู่ช่องจมูก
| ||
น้ำตาของคนเรานั้นไม่ได้สร้างขึ้นเฉพาะตอนที่ร้องไห้ แต่โดยปกติก็มีการสร้างน้ำตาอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า basic tear ซึ่งสร้างโดยต่อมที่อยู่บริเวณเยื่อบุตา ทุกครั้งที่เรากะพริบตาจะมีน้ำตาออกมาเล็กน้อยหล่อเลี้ยงดวงตาของเราอยู่ ตลอดเวลา ส่วนน้ำตาที่ออกมามากในช่วงที่มีอารมณ์เศร้าหรือเจ็บปวด เรียกว่า reflex tear เกิดจากการสั่งงานของระบบประสาทเมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรณีที่มีฝุ่นผงเข้าตา แดดจ้า ลมแรง หรือมีการอักเสบของเยื่อบุตา
ในต่างประเทศนั้นถึงขนาดมีการตั้งศูนย์วิจัยน้ำตากันเลยทีเดียว วิลเลียม เฟรย์ นักชีวเคมีแห่งศูนย์วิจัยน้ำตา ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องของน้ำตามานานกว่า 15 ปี และเขียนผลการวิจัยไว้อย่างน่าสนใจว่า การหลั่งน้ำตาของคนเรานั้นถูกควบคุมโดยต่อมน้ำตา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความเข้มของน้ำตา และควบคุมปริมาณการขับถ่ายแร่ธาตุต่างๆ ที่ร่างกายสร้างขึ้นขณะที่อารมณ์เปลี่ยนแปลง ออกไปจากร่างกาย
เฟรย์พบว่า ปริมาณของแร่ธาตุต่างๆ ที่มีในน้ำตานั้นมากกว่าที่มีในกระแสเลือดถึง 30 เท่า และอธิบายว่าคนที่ร้องไห้จะรู้สึกสบายขึ้น เนื่องจากร่างกายได้ขจัดเอาสารเคมีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีความทุกข์ออกไปจากร่างกายพร้อมกับน้ำตานั่นเอง ในการศึกษาของเฟรย์พบว่าผู้ชาย 73% และผู้หญิง 75% กล่าวว่ารู้สึกสบายขึ้นหลังจากร้องไห้
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การหลั่งน้ำตาเนื่องจากสาเหตุที่แตกต่างกัน จะทำให้ส่วนประกอบทางเคมีของน้ำตาที่หลั่งออกมานั้นแตกต่างกันด้วย โดยพบว่าสารเคมีบางอย่างเหมือนกันและบางอย่างแตกต่างกัน
การทดลองนี้ใช้ชายหญิงจำนวน 100 คนหลั่งน้ำตาด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน 2 วิธี วิธีแรกโดยการหั่นหัวหอมสด ทำให้เกิดการระคายเคืองตา น้ำตาก็จะไหลออกมา กับอีกวิธีหนึ่งก็คือให้ดูภาพยนตร์ 3 เรื่องที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์จนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
หลังจากนั้นก็นำน้ำตาที่หลั่งเนื่องจากสาเหตุทั้งสองมาวิเคราะห์หา ส่วนประกอบดูความเหมือนและความแตกต่าง พบว่าส่วนประกอบที่แตกต่างกันก็คือปริมาณของโปรตีนในน้ำตา น้ำตาที่หลั่งเนื่องจากความรู้สึกสะเทือนอารมณ์จะมีโปรตีนสูงกว่าน้ำตาที่ หลั่งเนื่องจากการระคายเคืองตาถึง 24%
ข้อสังเกตที่เห็นได้จากเรื่องนี้ก็คือ ผู้ที่ร้องไห้มากๆ โดยมีสาเหตุมาจากความสะเทือนอารมณ์ มักจะมีสุขภาพทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะร่างกายต้องสูญเสียโปรตีนไปนั่นเอง ประกอบกับความสะเทือนอารมณ์ต่างๆ ก็มักจะมาพร้อมๆ กับภาวะกินไม่ได้ นอนไม่หลับร่วมด้วย
น้ำตาที่มาจากการร้องไห้ยังประกอบด้วยสารเคมี 3 ชนิดซึ่งเป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายอยู่ในภาวะตึงเครียด ได้แก่
1.สารเอนดอร์ฟิน เป็นตัวช่วยให้ผ่อนคลายความรู้สึกเจ็บปวด
2.เอซีพีเอช (ACPH) เป็นตัวบ่งชี้ได้มากที่สุดว่าร่างกายกำลังอยู่ในภาวะกดดัน
3.โพรแลกติน เป็นตัวส่งเสริมการผลิตน้ำตา และเป็นตัวสำคัญที่นำมาใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างเพศในเรื่องการร้องไห้ด้วย
การค้นพบนี้ถูกนำมาอธิบายความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงใน เรื่องการร้องไห้ว่า ในวัยเด็กจนถึงวัยแรกรุ่น เด็กชายและเด็กหญิงจะมีระดับโพรแลกตินใกล้เคียงกัน จึงพบว่าเด็กชายและเด็กหญิงร้องไห้บ่อยพอๆ กัน แต่เมื่อผู้หญิงโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีระดับโพรแลกตินในกระแสเลือดสูงกว่าผู้ชายในวัยเดียวกันถึงเกือบ 60% จึงทำให้ผู้หญิงร้องไห้ง่ายกว่าผู้ชาย
สำหรับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน จะมีระดับโพรแลกตินลดลงอย่างมาก จึงมักพบว่ามีอาการตาแห้งซึ่งเนื่องมาจากต่อมน้ำตาหลั่งน้ำตาออกมาหล่อลื่น ได้ไม่เพียงพอ และหลั่งน้ำตาได้ช้า แม้จะเกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ก็ตาม
เมื่อ “น้ำตาธรรมชาติ” ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ จึงต้องมี “น้ำตาเทียม” มาเป็นตัวช่วย ตอนต่อไปมารู้จักน้ำตาเทียมกันบ้างค่ะ