แนะปรับพฤติกรรมการกิน ลดเสี่ยง มะเร็งเต้านม



เต้านม

 รณรงค์ตระหนักภัยร้าย..มะเร็งเต้านม!!! (ไทยโพสต์)

          แพทย์แนะปรับพฤติกรรมการทานอาหารของตัวเอง ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม แนะผู้หญิงอายุเกิน 20 ปี ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม

          นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์ หัวหน้ากลุ่มงานด้านศัลยกรรม ผู้ดูแล "คลินิกเต้านม" แห่งโรงพยาบาลวิภาวดี เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มะเร็งเต้านมเป็นภัยร้ายที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของผู้หญิงทั่วโลก และเป็นสาเหตุนำไปสู่การเสียชีวิตที่สำคัญของผู้หญิง ด้วยอัตราเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 9 ของผู้หญิงทั้งหมด พบมากในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

          โดย เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุร้อยละ 30 เกิดจากพันธุกรรม หรือคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็ง ทั้งที่เต้านม, มดลูก, รังไข่หรือลำไส้ใหญ่ หรืออาจเกิดขึ้นด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิ เด็กสาวที่มีประจำเดือนครั้งแรกเร็ว หรือหญิงสูงวัยที่ประจำเดือนหมดช้า การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การใช้ฮอร์โมนในเพศหญิงมากเกินไป เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ๆ ผู้มีบุตรช้าหรือไม่มีบุตร เป็นต้น
   
          การตรวจดูแลเต้านมเป็นประจำ เพื่อเช็กความเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้น สามารถทำได้เองง่าย ๆ คือ การตรวจด้วยตนเอง ซึ่งระยะเวลาในการตรวจที่เหมาะสมคือ ช่วงหลังหมดประจำเดือนประมาณ 7-10 วัน ซึ่ง นอกจากการตรวจ ดูแลเบื้องต้นด้วยตนเองแล้ว การมาพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียด ด้วยเครื่อง Mammography เป็นวิธีการตรวจที่ให้ผลค่อนข้างแม่นยำ ซึ่งเมื่อได้ตรวจครั้งแรกแล้ว แพทย์จะเก็บข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบสำหรับครั้งต่อไปถึงความเปลี่ยนแปลง ส่วนการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจคือ ช่วงที่หลังประจำเดือนหมด 7-10 วันเช่นเดียวกัน

          เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการหลีกเลี่ยง "มะเร็งเต้านม" นพ.ธเนศให้คำแนะนำว่า ไม่ ยากเลยที่เราจะเริ่มต้นปรับพฤติกรรมการทานอาหารของตัวเราเอง เช่น ลดอาหารเนื้อแดง ลดอาหารมัน ลดเกลือ เลือกรับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้ ควบคุมน้ำหนักมิให้อ้วนเกินไป หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเว้นการ สูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกันนี้ควรทำการตรวจเต้านมเป็นประจำ ซึ่งสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนด้วยตัวเองเดือนละครั้ง สำหรับผู้ที่มีอายุ 20-35 ปีควรตรวจเต้านมด้วยแพทย์ทุกๆ 3 ปี ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปีควรตรวจเป็นประจำทุกปี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก