เกร็ดควรรู้เมื่อไปตรวจสุขภาพ/ เอมอร คชเสนี

โดย เอมอร คชเสนี 1 กุมภาพันธ์ 2553 10:35 น.
เมื่อจะไปตรวจสุขภาพประจำปี เราควรเตรียมตัวและปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะมีผลต่อการตรวจ โดยมีข้อปฏิบัติต่างๆ ดังนี้
       

       - นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรอดนอนก่อนวันตรวจสุขภาพ
      
       - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มกาเฟอีนโดยเฉพาะในวันก่อนตรวจ
       - งดอาหารและน้ำ 8-12 ชั่วโมงก่อนเจาะเลือด หากต้องการตรวจเฉพาะระดับน้ำตาลในเลือด ควรงดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แต่หากต้องการตรวจระดับไขมันในเลือดด้วย อาจต้องงดถึง 12 ชั่วโมง
      
       - การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน บางกรณีแพทย์จะระบุว่าไม่จำเป็นต้องงดอาหาร
      
       - ควรไปถึงโรงพยาบาลในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ร่างกายอิดโรยเกินไป เพราะงดน้ำและอาหารมาหลายชั่วโมงแล้ว
      
       - สวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดที่ข้อพับแขน
      
       -
หากต้องตรวจภายในควรสวมกระโปรง และควรตรวจก่อนหรือหลังมีประจำเดือน 7 วัน
      
       - หากทดสอบสมรรถภาพของหัวใจด้วยการวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test) ควรสวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่เคลื่อนไหวสะดวก
      
       - นั่งพักให้หายเหนื่อยก่อนตรวจวัดความดันโลหิต
      
       -
เมื่อเจาะเลือดแล้ว ควรใช้นิ้วมือกดเบาๆ ลงบนพลาสเตอร์ที่ปิดไว้ตรงตำแหน่งที่เจาะ ประมาณ 5 นาที จนกว่าเลือดจะหยุดไหล ไม่จำเป็นต้องพับแขน และไม่ควรนวดคลึงบริเวณที่เจาะเลือด เพราะอาจทำให้เป็นรอยช้ำได้
       

       - ผู้ที่มีประวัติเขียวช้ำง่าย หรือเจาะเลือดแล้วเกิดรอยช้ำเสมอ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเลือดหรือโรคที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้ไม่ดี เมื่อเจาะเลือดแล้วให้กดนิ่งๆ ไว้นานกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อให้แน่ใจว่าเลือดหยุดแล้วจึงไปทำกิจกรรมอื่น
      
       - ทำความสะอาดบริเวณภายนอกอวัยวะขับถ่ายด้วยน้ำสะอาดก่อนเก็บปัสสาวะ
      
       - การใช้ทิชชูเช็ดทำความสะอาด อาจทำให้ปนเปื้อนเชื้อโรคจากทิชชูได้
      
       -
เก็บปัสสาวะช่วงกลาง คือปล่อยปัสสาวะช่วงต้นทิ้งไปเล็กน้อย และทิ้งปัสสาวะช่วงสุดท้ายไป
      
       - กรณีที่ต้องการถ่ายอุจจาระ หรือต้องเก็บอุจจาระด้วย ควรเก็บปัสสาวะก่อน เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
      
       - หากมีประจำเดือนควรเลื่อนการตรวจร่างกายไปก่อนจนกว่าจะหมด การตรวจปัสสาวะขณะมีประจำเดือน จะมีเม็ดเลือดแดงปน ซึ่งมีผลต่อการอ่านค่า
      
       -
กรณีเก็บอุจจาระ ควรถ่ายลงบนโถที่แห้งก่อนใช้ไม้หรือช้อนพลาสติกป้ายตัวอย่างอุจจาระขนาด ประมาณหัวแม่มือใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้ หากถ่ายลงน้ำอาจทำให้อุจจาระถูกเจือจางด้วยน้ำ ซึ่งมีผลต่อการตรวจ
      
       - หากสังเกตเห็นอุจจาระที่ผิดปกติ เช่นมีมูกสีขาว หรือมีสีแดงหรือดำคล้ายเลือด ควรป้ายบริเวณนั้นมาตรวจด้วย
      
       - ตรวจสอบชื่อ นามสกุล บนภาชนะที่เก็บเลือด ปัสสาวะ และอุจจาระให้ดีว่าถูกต้องแล้ว
      
       - หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนตรวจร่างกาย หากตั้งครรภ์ไม่ควรเอกซเรย์
      
       -
ถอดเสื้อ เสื้อชั้นใน และเครื่องประดับที่เป็นโลหะก่อนเอกซเรย์
      
       - บางโรงพยาบาลได้ยกเลิกการเก็บฟิล์มเอกซเรย์ โดยแพทย์สามารถเรียกดูภาพจากห้องตรวจผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หากต้องการฟิล์มเอกซเรย์กลับบ้าน อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
      
       - การตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ควรตรวจก่อนหรือหลังมีประจำเดือน 7 วัน งดทาแป้ง โลชั่น ครีม และโรลออน บริเวณเต้านมและรักแร้ในวันตรวจ และควรงดอาหารไขมันสูงก่อนตรวจ 3 วัน
      
       -
การตรวจมะเร็งปากมดลูก ห้ามสอดยา เหน็บยา หรือสวนล้างภายในช่องคลอด และงดมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันตรวจ
       

       - ก่อนตรวจลำไส้ใหญ่ 2 วัน ควรรับประทานอาหารอ่อนและมีกากน้อย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ไข่ ปลา น้ำเต้าหู้ และควรงดผัก ผลไม้ และต้องรับประทานยาระบายหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอนเป็นเวลา 2 วัน
      
       - การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน ควรงดน้ำและอาหารก่อนทำ 6 ชั่วโมง หากกระหายน้ำ ให้จิบน้ำได้เล็กน้อย
      
       - การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนล่างหรือมดลูก ควรดื่มน้ำมากๆ และอย่าเพิ่งปัสสาวะก่อนตรวจ
      
       - การตรวจบางอย่างอาจต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะทราบผล เช่น ตรวจโรคธาลัสซีเมีย ตรวจมะเร็งปากมดลูก
      
       - หากผลการตรวจไม่ปกติและต้องมีการตรวจรักษาเพิ่มเติมไปจากโปรแกรมการตรวจสุขภาพ ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
      
       -
นอกจากการตรวจสุขภาพทั่วไปประจำปีแล้ว ยังมีการตรวจพิเศษก่อนแต่งงาน เพื่อตรวจหาโรคเลือดทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส ตับอักเสบจากไวรัสบี และเอชไอวี และตรวจว่ามีภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมันหรือไม่ หากยังไม่มี ควรฉีดวัคซีนป้องกัน เนื่องจากหากติดโรคระหว่างตั้งครรภ์ อาจจะทำให้ทารกพิการได้
       

       - สำหรับผู้ที่ต้องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ไม่ทราบประวัติการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนที่ชัดเจน อาจจะตรวจหาเชื้อและ/หรือภูมิต้านทานต่อโรคตามความเหมาะสม ส่วนผู้ที่จะไปศึกษาต่อหรือทำงานต่างประเทศ อาจต้องฉีดวัคซีนหรือตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคบางโรค
       
อกหัก...คลิกที่นี่ / เอมอร คชเสนี
โดย เอมอร คชเสนี 8 กุมภาพันธ์ 2553 18:25 น.

เมื่อ เขาที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราได้จากไป ไม่รัก ไม่แคร์เราอีกแล้ว โลกที่เคยเป็นสีชมพูก็กลับกลายเป็นสีเทาหม่นๆ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จะทำอะไร ก็ดูเหมือนมันจะยากเย็นไปเสียหมด ไม่เหลือเรี่ยวแรงและสติปัญญาจะทำการงานเหมือนที่เคยทำได้ สิ่งเดียวที่ดูเหมือนจะทำได้ดีก็คือการร้องไห้
      
       หลายคนคงเคยมีอาการเจ็บปวดทรมานคล้ายๆ กันนี้ เมื่อต้องตกอยู่ในภาวะ “อกหัก” แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป ดังนั้นเรามาหาวิธี “ดามอก” กันดีกว่าค่ะ

      
       การจากไปมีหลายแบบ เช่นแบบตัดบัวไม่เหลือใย คือหันหลังเดินจากไปทันที ไม่พูด ไม่ฟัง ไม่ให้โอกาสอธิบายหรืองอนง้อขอคืนดีใดๆ ทั้งสิ้น ทิ้งเราไว้แบบงงๆ
      
       กับอีกประเภทเป็นแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น คือค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ห่างเหิน และเงียบหายไปในที่สุด อาจมีคำอธิบายที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ เช่น “เราเข้ากันไม่ได้” ทั้งๆ ที่คบกันมาหลายปี หรืออย่างเช่น “คุณดีเกินไป” ชวนให้สงสัยว่าเขาคงชอบคนเลว
      
       แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน สรุปแล้วคนจะไป ยังไงๆ ก็จะไป ดังนั้นขอให้ทำใจยอมรับความจริง ช่วงแรกๆ อาจจะรู้สึกเจ็บปวดทรมานแทบจะขาดใจตาย แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่ถึงตาย คนที่ตัดสินใจจบชีวิตลง ไม่ได้ตายเพราะอาการอกหักทำให้ถึงตาย แต่ตายเพราะขาดสติ
      
       
บางคนปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งอยู่กับกองทุกข์ จนรู้สึกว่าไม่อยากอยู่บนโลกนี้อีกต่อไป อาจจะคิดว่าถ้าเราตายไป เขาจะได้เสียใจที่ทำให้เราต้องเป็นแบบนี้ แต่ที่จริงเขาอาจจะไม่ได้เสียใจ เพียงแค่ตกใจ เผลอๆ จะโล่งใจที่เราไปพ้นหูพ้นตาเสียได้ และคนที่เสียใจจะเป็นคนที่รักเราจริงๆ แทน
      
       การแก้แค้นก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น หากเราคิดทำร้ายเขา เราก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เราทำลงไป การทำอะไรด้วยอารมณ์นั้นควบคุมยากและก่อให้เกิดผลเสียได้ง่าย บางทีเราอาจต้องเสียใจมากกว่าที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำไป
      
       หลายคนโศกเศร้าเสียใจจนไม่เป็นอันทำอะไร กินไม่ลง นอนไม่หลับ งานไม่เดิน ไม่อยากพบอยากเจอผู้คน หมกตัวอยู่ในห้องคนเดียว บางคนทำร้ายตัวเองด้วยการเที่ยวดึก ดื่มเหล้า เสพยาให้ลืมๆ มันไป สุขภาพทรุดโทรมทั้งกายและใจ นี่ยังไม่รวมผลกระทบต่อหน้าที่การงาน
      
       ก็ไม่แปลกที่การไม่สมหวังในรักจะทำให้เราเสียใจได้ขนาดนั้น เพราะการยึดติดมักจะทำให้เราคิดว่าเขาเป็นของเรา และจะต้องอยู่กับเรานานเท่าที่เราปรารถนา และความคาดหวังก็ทำให้เราคิดว่า เมื่อเรารักเขามาก ทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจให้กับเขา จะทำให้เขารักเราตอบ เท่าๆ กับรักที่เรามอบให้
      
       แต่โลกนี้ไม่ยุติธรรมเสมอไป เราไม่สามารถกะเกณฑ์ให้อีกฝ่ายคิดและทำเหมือนเราได้ ความรักต้องเป็นเรื่องที่ลงตัวระหว่างคนสองคน ไม่ใช่ความต้องการของเราฝ่ายเดียวหรือเขาฝ่ายเดียว ลองคิดในทางกลับกัน เราเองก็ยังเลือกรักเขา ไม่รักคนอื่น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เขาก็เลือกที่จะไม่รักเราได้เหมือนกัน
      
       
ช่วงแรกๆ อาจจะยังเศร้าอยู่มาก อยากจะร้องไห้ก็ร้องไป แต่ให้บอกตัวเองทุกครั้งที่ตื่นนอนว่า วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน พยายามฝืนใจกลับมาสู่ชีวิตประจำวันให้ได้ หรือหากิจกรรมใหม่ๆ ทำ จะได้ไม่มีเวลาว่างให้คิดมาก
      
       อย่าพยายามแยกตัวอยู่คนเดียว หาใครสักคนที่เราจะพูดคุยปรึกษาได้ อาจจะเป็นพ่อแม่พี่น้องหรือเพื่อนสนิทที่เราไว้ใจ แม้เขาจะช่วยแก้ปัญหาให้เราไม่ได้ แต่การได้ระบายความรู้สึกออกไปบ้าง จะช่วยให้สบายใจขึ้น หรืออาจจะได้คำแนะนำดีๆ ที่เราคิดไม่ถึง เพราะมัวแต่หน้ามืดตาบอด
      
       คำแนะนำเชยๆ แต่ใช้ได้ผลก็คือ พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไปตัดผมใหม่ให้สดใสขึ้นก็ได้ อย่าลืมยิ้มให้ตัวเองด้วยเวลาที่ส่องกระจก เปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว ก็อย่าลืมปรับทัศนคติภายในจิตใจด้วย
      
       
ความรู้สึกว่าถูกทิ้ง เป็นทัศนคติด้านลบที่ควรระวังอย่างยิ่ง เราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่มีค่าพอที่จะมีใครมารัก ยิ่งต้องอกหักซ้ำซากก็จะยิ่งตอกย้ำความคิดอันนี้ พลอยทำให้ความนับถือตัวเองและความมั่นใจในตัวเองลดน้อยถอยลง
      
       บางคนโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เขาทิ้งไป ก็อาจจะจริงหรืออาจจะไม่ใช่เลยก็ได้ แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะเขาได้จากไปแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการให้อภัยตัวเอง
      
       เมื่อเขาจากไปแล้ว ก็จงปล่อยเขาไป หันกลับมามองตัวเอง แล้วเยียวยารักษาใจตัวเองดีกว่า แรกๆ อาจจะเจ็บปวดทรมานอยู่สักหน่อย ก็เหมือนแผลสด แต่เมื่อเวลาผ่านไป แผลก็จะหาย อาจจะมีรอยแผลเป็นบ้าง ก็ขอให้เป็นเครื่องเตือนใจ เก็บเป็นประสบการณ์และบทเรียนของชีวิต
       บางคนอาจจะบอกว่า “เวลาไม่ช่วยอะไร” แต่ขอให้เชื่อเถอะว่า แม้คุณจะไม่สามารถสลัดความเจ็บปวดทิ้งไปได้อย่างปุ๊บปั๊บ คุณอาจจะไม่สามารถลืมคนรักของคุณได้เลยในชั่วชีวิตนี้ แต่เวลาจะค่อยๆ ลบเลือนความทุกข์เศร้าในใจลงอย่างช้าๆ ไม่แปลกถ้าคุณต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ
      
       ความช้าหรือเร็วในการทำใจ มักขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง ไฟที่แผดเผาใจเราอยู่มีต้นทุนอยู่เพียงแค่นั้น เผาไหม้หมดแล้วก็หมดกัน แต่กลับเป็นตัวของเราเองที่คอยเติมเชื้อไฟให้โหมเผาใจเราให้ร้อนไหม้อยู่ทุก วัน
      
       ดังนั้น
ถ้าอยากหายเร็ว ก็อย่าเติมเชื้อ อย่า หยิบรูปเก่าๆ ขึ้นมาดู อย่าฟังเพลงที่เคยเป็น “เพลงของเรา” อย่าเปิด sms หรืออีเมล์เก่าๆ อย่ามัวนึกถึงคำพูดของเขาหรือสิ่งที่เคยทำร่วมกัน ฯลฯ
      
       อย่าจมอยู่กับอดีตที่ผ่านไปแล้ว แต่จงอยู่กับปัจจุบันและยอมรับความจริงให้ได้ว่า “เขาไม่อยู่กับเราแล้ว”
      
       อย่าแอบสร้างความหวังว่าเขาจะกลับมา อย่าวาดวิมานในอากาศ ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลกแห่งความฝัน เราก็จะยิ่งเป็นทุกข์ เพราะในที่สุดเราก็ต้องตื่นมาอยู่ในโลกแห่งความจริงที่โหดร้าย
      
       อย่าพยายามหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงพูดอย่างนั้น ทำไมเขาถึงทำอย่างนี้ ทำไมเขาถึงทิ้งเราไป อย่าคิดเอาเองว่าคงเป็นเพราะเขาเข้าใจเราผิด โทรไปถามหน่อย จะได้อธิบายให้เข้าใจกัน อ้อนวอนขอให้เขากลับมา
      
       ยิ่งคิด ยิ่งทำ ก็ยิ่งทุกข์ และไม่จบ ปล่อยวางแล้วย้ำกับตัวเองง่ายๆ แค่ว่า “เขาไม่อยู่กับเราแล้ว” แค่นั้นพอ

      
       “อกหัก” เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เมื่อมีความรัก ใครๆ ก็อยากสมหวังและอยู่กันยืดยาวทั้งนั้น แต่ทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นไปตามกฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ความรักก็เช่นเดียวกัน แม้แต่คู่ที่รักกันจนแก่จนเฒ่า ก็หนีไม่พ้นกฎแห่งความจริงข้อนี้ เพราะวันหนึ่งก็ต้องตายจากกันไป
      
       ขอเพียงแต่ให้ยอมรับความจริง มันอาจต้องเจ็บปวดบ้าง แต่ชีวิตต้องก้าวเดินไปข้างหน้า การจมอยู่กับกองทุกข์ ก็เหมือนทำร้ายตัวเองวันแล้ววันเล่า
      
       เวลาจะช่วยเยียวยารักษาใจของเรา อย่ามัวแต่รักคนอื่นจนลืมรักตัวเอง ยิ้มไว้และให้กำลังใจตัวเอง ย้ำกับตัวเองว่า นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะผ่านพ้นไปในที่สุด
      
       
เมื่อเราเข้มแข็งพอ เราอาจจะสามารถก้าวไปถึงขั้นที่หยุดความโศกเศร้าเอาไว้ได้ และยิ้มคนเดียวกับความทรงจำดีๆ ว่า...
       “ครั้งหนึ่งเราเคยรักกัน”


คุณแปรงฟันแบบนี้หรือเปล่า / เอมอร คชเสนี
โดย เอมอร คชเสนี 19 กุมภาพันธ์ 2553 12:48 น.
       คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อรับชมและฟัง ในรูปแบบ Photo Slide Show
      
       เราทุกคนต่างก็แปรงฟันกันทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แล้วทำไมฟันถึงยังผุได้ คุณแน่ใจแล้วหรือยังว่าคุณแปรงฟันอย่างถูกวิธี
      
       บางคนสักแต่ว่าแปรงฟัน ถูๆ ซ้ายทีขวาทีแล้วก็บ้วนปาก บางคนแปรงผิดวิธี แปรงนาน แปรงแรง หรือแปรงบ่อยเกินไป บางคนใช้แปรงสีฟันจนบานหมดสภาพ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่เป็นผลดี

      
       ดังนั้น เรามาเรียนรู้วิธีการแปรงฟันอย่างถูกวิธี เริ่มต้นจากเลือกอุปกรณ์ในการแปรงฟันให้เหมาะก่อนค่ะ
      
       

  • แปรงสีฟัน
          
           แปรงสีฟันที่ใช้ควรมีขนาดพอเหมาะกับช่องปาก แปรงที่ดีจะช่วยให้แปรงฟันได้โดยไม่ต้องออกแรงมาก สามารถป้องกันการสึกกร่อนและอาการเสียวฟันที่อาจเกิดขึ้นได้ แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม ไม่มีความคม จะทำความสะอาดได้ดีกว่าแปรงสีฟันแข็งๆ เพราะการสปริงตัวของขนแปรงที่ดีจะช่วยให้ขนแปรงสามารถซอกซอนเข้าไปตามซอก ซึ่งเป็นที่สะสมของเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ได้อย่างทั่วถึง โดยไม่จำเป็นต้องแปรงฟันแรงๆ เพื่อให้ฟันสะอาด
          
           

  • ยาสีฟัน   
          
           แปรงฟันอย่างสม่ำเสมอด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ จะเป็นส่วนเสริมที่ช่วยในการป้องกันฟันผุได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะช่วยลดสภาวะความเป็นกรดในช่องปาก และเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับฟัน ยาสีฟันสำหรับเด็กจะมีปริมาณฟลูออไรด์น้อยกว่ายาสีฟันสำหรับผู้ใหญ่
          
           เมื่อเลือกอุปกรณ์ในการแปรงฟันได้แล้ว ก็มาถึงวิธีการแปรงฟันให้สะอาดค่ะ


  •        ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะตอนเช้าและก่อนนอน โดยพยายามแปรงช้าๆ ให้ทั่วถึงทุกซี่ ทุกด้าน
          
           คนส่วนใหญ่มักแปรงเข้าไปไม่ถึงฟันกรามซี่ที่อยู่ลึกที่สุดด้านที่ติด กับแก้ม หรือไม่ค่อยพิถีพิถันกับการแปรงฟันด้านในที่ติดกับลิ้นโดยเฉพาะฟันหน้า จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ฟันผุได้ง่าย ดังนั้น อาจเริ่มต้นแปรงฟันซี่ที่คุณคิดว่าแปรงได้สะอาดน้อยที่สุด เพื่อเน้นการทำความสะอาดบริเวณนั้นให้ดีที่สุด ก่อนที่จะแปรงซี่อื่นๆ ต่อไป
            
           การแปรงฟันนั้นให้ใช้วิธีขยับและปัด ฟันบนให้ปัดลง ฟันล่างให้ปัดขึ้น โดยวางแปรงเอียง 45 องศากับเหงือก การแปรงโดยใช้วิธีถูไปถูมาตามขวางหรือถูขึ้นๆ ลงๆ นอกจากจะไม่สะอาดเพราะขนแปรงแทรกเข้าไปในร่องเหงือกและซอกฟันได้ไม่ดี แล้วยังอาจทำให้เหงือกร่นหรือฟันสึกได้อีกด้วย ยกเว้นการแปรงฟันกรามด้านที่ใช้บดเคี้ยว สามารถใช้ขนแปรงถูไปมาให้สะอาดได้
          
           นอกจากนี้ยังควรเน้นการแปรงฟันบริเวณขอบเหงือกด้วย เนื่องจากเป็นรอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน ซึ่งจะเป็นบริเวณที่เกิดคราบจุลินทรีย์สะสมได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบและฟันผุ
          
           การแปรงฟันโดยใช้ขนแปรงที่อ่อนนุ่มนวดขอบเหงือกเบาๆ ยังเป็นการกระตุ้นการทำงานของเหงือกด้วย ผู้ที่มีอาการเหงือกอักเสบ การแปรงฟันบริเวณขอบเหงือกอาจทำให้มีเลือดออกได้ แต่หากอดทนแปรงต่อไปอย่างต่อเนื่อง อาการเหงือกอักเสบและเลือดออกขณะแปรงฟันจะค่อยๆ ดีขึ้น
          
           การแปรงฟันแต่ละครั้งยังต้องใช้เวลาให้นานพออีกด้วย โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที หรือฟังเพลงให้จบ 1 เพลง เพื่อให้นานพอที่ฟลูออไรด์จะทำปฏิกิริยาในการป้องกันฟันผุ และเพื่อให้แน่ใจว่าคุณแปรงฟันได้สะอาดและทั่วถึง
          
           สำหรับผู้ที่จัดฟัน ควรแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหารโดยเฉพาะของหวาน แต่สำหรับคนทั่วไป การแปรงฟันบ่อยเกินไปมีส่วนทำให้เกิดภาวะเหงือกร่นได้ โดยเฉพาะถ้าแปรงไม่ถูกวิธี ดังนั้นอาจใช้วิธีบ้วนปากให้สะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
          
           บริเวณลิ้นอาจมีคราบเศษอาหารหรือมีลักษณะเป็นฝ้าขาวติดอยู่ ซึ่งหากหมักหมมอยู่นานๆ อาจทำให้เกิดกลิ่นปากได้ จึงควรทำความสะอาดลิ้นเพื่อช่วยลดแบคทีเรียด้วย โดยใช้ขนแปรงสีฟันถูเบาๆ
          
           ที่สำคัญ ควรใช้ไหมขัดฟันทุกวัน ให้ทั่วทุกซี่ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งก่อนนอน เพื่อทำความสะอาดซอกฟันซึ่งเป็นบริเวณที่การแปรงฟันไม่สามารถทำความสะอาดได้ สำหรับคนที่เริ่มใช้ใหม่ๆ อาจมีเลือดออกบ้าง แต่เมื่อใช้เป็นประจำอย่างถูกวิธีแล้ว อาการเลือดออกก็จะหายไป
          
           อย่าลืมดูแลแปรงสีฟันให้ดีด้วย โดยล้างขนแปรงให้สะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน แล้ววางผึ่งลมให้แห้งโดยให้ขนแปรงตั้งขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย ไม่ควรใช้แปรงสีฟันร่วมกับคนอื่น เพราะอาจจะแพร่เชื้อโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ นอกจากนี้ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3-4 เดือน หรือเร็วกว่านั้นหากขนแปรงเริ่มบานออกแล้ว
          
           หลายคนคงเคยทรมานกับโรคฟันหรือโรค เหงือกมาแล้ว ดังนั้น อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย เพิ่มความพิถีพิถันขึ้นอีกสักนิด จะทำให้คุณมีสุขภาพช่องปากที่แข็งแรง และยิ้มสวยโชว์ใครๆ ได้อย่างมั่นใจค่ะ


    เลือกแปรงสีฟันแบบไหน ถูกหลักอนามัย/เอมอร คชเสนี
    โดย เอมอร คชเสนี 8 มีนาคม 2553 10:22 น.
    ปัจจุบันนี้ หากใครคิดจะซื้อแปรงสีฟันสักอันหนึ่ง คงจะใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะเลือกได้ เพราะในท้องตลาดมีให้เลือกมากมาย หลายรุ่น หลายยี่ห้อ หลายระดับราคา หลายคนคงสงสัยว่า เราควรจะเลือกแปรงสีฟันอย่างไรดี วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
          
           แปรงสีฟันอาจแบ่งได้ตามขนาด โดยใช้อายุของผู้ใช้เป็นเกณฑ์ ได้แก่ ต่ำกว่า 3 ปี (baby) 3-6 ปี (child) 6-12 ปี (junior) และผู้ใหญ่ (medium)
          
           ทันตแพทย์แนะนำว่า ลักษณะของแปรงสีฟันที่ดีควรจะประกอบไปด้วย
          
           
    1.หัวแปรงควรมีลักษณะมน ไม่เป็นเหลี่ยม ขนาดไม่ใหญ่เกินไป เพื่อให้สามารถทำความสะอาดฟันทุกซี่ในช่องปากได้ง่าย
          
           2.ด้ามแปรงตรง จับถนัดมือ เพื่อที่จะสามารถบังคับหัวแปรงให้เข้าไปในบริเวณที่ต้องการทำความสะอาดได้ โดยไม่กระแทกกับเหงือกหรือกระพุ้งแก้ม
          
           3.ขนแปรงนุ่มและมีปลายมน ไม่แหลมคมหรือขรุขระ เพื่อที่จะทำความสะอาดซอกฟันได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ทำอันตรายต่อเหงือก

           

           ขนแปรงส่วนใหญ่ทำด้วยไนลอน อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ 1.ชนิดแข็ง 2.ชนิดปานกลาง (medium) 3.ชนิดนุ่ม (soft) 4.ชนิดนุ่มพิเศษ (extra soft)
          
           ในกรณีที่เป็นเด็ก หรือมีปัญหาเรื่องเหงือกอักเสบ อาจใช้ขนแปรงชนิดนุ่มพิเศษได้ แต่ขนแปรงนุ่มมักจะบานเร็ว ทำให้ต้องเปลี่ยนแปรงบ่อยๆ บางคนจึงชอบขนแปรงแข็ง ก็อาจเลือกใช้ขนแปรงชนิดปานกลาง แต่ก็ต้องระมัดระวังขณะแปรงฟัน เพราะหากขนแปรงแข็งเกินไปและแปรงฟันไม่ถูกวิธี อาจทำให้ฟันสึกบริเวณคอฟัน เหงือกร่น หรือเกิดแผลที่เหงือกได้
          
           4.ฉลากมีข้อมูลครบ 5 ส่วน คือ
           - ลักษณะขนแปรง
           - ชนิดของขนแปรง
           - วัสดุที่ใช้ทำด้ามและขนแปรงสีฟัน
           - วิธีใช้ เช่น ใช้แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
           - ข้อแนะนำ เช่น ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันเมื่อขนแปรงเริ่มบาน และล้างแปรงให้สะอาดหลังใช้และเก็บในที่แห้ง
          
           ส่วนลักษณะอื่นๆ ของแปรงสีฟันนอกเหนือไปจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้ามแปรงที่โค้งงอแบบต่างๆ ด้ามจับกลมมนหรือเป็นเหลี่ยม การเรียงตัวของขนแปรง หรือหน้าตัดแปรงสีฟันที่มีทั้งแบบเรียบ โค้ง ซิกแซก ตลอดจนสีสันลวดลายสวยสดสะดุดตา เป็นเพียงกลยุทธ์ในการขายของผู้ผลิตเท่านั้น
          
           กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยสำรวจแปรงสีฟันที่จำหน่ายในท้องตลาด พบว่า มีแปรงสีฟันหลายรุ่นหลายยี่ห้อที่ไม่ได้มาตรฐาน แปรงสีฟันที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่ได้มาตรฐาน ส่วนที่ไม่ได้มาตรฐานมักจำหน่ายอยู่ในตลาดล่าง เช่น ตามตลาดนัด
           แปรงสีฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน คือ ขน แปรงแข็งและไม่มนปลาย หัวแปรงคม ด้ามแปรงสั้นกว่า 150 มิลลิเมตร ฉลากข้อมูลไม่ครบ 5 ส่วน ยกตัวอย่างเช่น แปรงสีฟันที่นำเข้าจากจีน ฉลากเป็นภาษาจีนทั้งหมด แม้ว่าอาจจะได้มาตรฐาน แต่ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง
           

           สำหรับแปรงสีฟันไฟฟ้า หลายคนคงสงสัยว่ามันมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟันมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับแปรงสีฟันธรรมดา
          
           แต่เดิมแปรงสีฟันไฟฟ้าผลิตขึ้น เพื่อใช้กับผู้พิการที่ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของมือได้ตามปกติ แต่ปัจจุบันคนทั่วไปก็ใช้แปรงชนิดนี้กัน และมีการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาหลายแบบให้เลือกใช้
          
           จากรายงานผลการวิจัยส่วนใหญ่พบว่า แปรงสีฟันธรรมดากับแปรงสีฟันไฟฟ้ามีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟันได้พอๆ กัน ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก นอกเสียจากคุณจะใช้แปรงสีฟันธรรมดาแปรงอย่างลวกๆ แบบขอไปที แปรงสีฟันไฟฟ้าก็อาจให้ผลที่ดีกว่า
          
           ข้อดีของแปรงสีฟันไฟฟ้า ก็คือ สะดวกสบายดี เพียงแค่ถือไว้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ข้อเสียก็คือมีราคาแพงกว่าแปรงสีฟันธรรมดามาก ทั้งด้ามแปรงและหัวเปลี่ยน
          
           เคยมีข่าวว่ามีผู้ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า แล้วหัวแปรงหลุดเข้าไปในคอ แต่ที่จริงแล้ว โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มีน้อย โดยอาจจะเกิดกับผู้ป่วยออทิสติกหรืออัมพาต ซึ่งต้องให้ผู้อื่นช่วยเหลือ ทำให้การแปรงฟันไม่สะดวก หัวแปรงไปกระทบกับฟัน หรือผู้ป่วยใช้ฟันขบที่หัวแปรง ทำให้หัวแปรงหลุดจากสลักเข้าไปในลำคอ แต่สำหรับคนทั่วไปจะไม่ค่อยเกิดปัญหานี้ แนะนำให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำบนฉลาก และไม่ควรใช้ฟันขบที่หัวแปรงขณะใช้ เพราะอาจไปโดนสลักยึด ทำให้หัวแปรงหลุดเข้าไปในลำคอได้
          
           นอกจากการเลือกแปรงที่ได้มาตรฐานแล้ว ที่สำคัญก็คือ ควร เปลี่ยนแปรงใหม่เมื่อขนแปรงบาน หรือมีคราบสกปรก แปรงสีฟันจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3 เดือน ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าให้เปลี่ยนแปรงสีฟันอย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน อย่าใช้แปรงจนขนแปรงบาน เพราะประสิทธิภาพในการทำความสะอาดจะลดลง หากเสียดายเงิน ให้นึกไว้เสมอว่าเสียค่าทำฟันแพงกว่าค่าแปรงสีฟัน
           
    วิธีการปฐมพยาบาลกรณีฉุกเฉิน / เอมอร คชเสนี
    โดย เอมอร คชเสนี 12 มีนาคม 2553 13:50 น.
        
           การปฐมพยาบาล คือ การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในขั้นแรก ก่อนส่งโรงพยาบาล หรือก่อนจะถึงมือแพทย์ ทุกคนควรมีความรู้ในการปฐมพยาบาล เพื่อที่จะใช้เวลาทุกวินาทีให้เป็นประโยชน์ที่สุดเพื่อช่วยเหลือตัวเองและ ผู้อื่น

          
           การปฐมพยาบาลนั้น ต้องทำด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง ขั้นแรกต้องระงับความตื่นเต้นตกใจ ตั้งสติให้ดี ไม่ว่าคนที่คุณต้องช่วยเหลือจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือแม้แต่คนแปลกหน้า
          
           พยายามอย่าให้คนมุง เพื่อให้คนเจ็บได้รับอากาศบริสุทธิ์ ปลอดโปร่ง มีแสงสว่างเพียงพอ และสะดวกในการปฐมพยาบาล โทรเรียกรถพยาบาลก่อน แล้วรีบตรวจดูคนเจ็บและปฐมพยาบาลเบื้องต้น
          
           กรณีที่คนเจ็บยังมีสติ ควรแนะนำตัวเอง สอบถามชื่อนามสกุลของคนเจ็บ และสอบถามอาการ
           กรณีที่คนเจ็บหมดสติ ให้ตรวจดูว่ายังหายใจหรือไม่
          
           การกู้ชีพ
           

           หากคนเจ็บหายใจไม่สะดวกหรือหยุดหายใจให้เริ่มผายปอดแบบเป่าปาก โดยให้คนเจ็บนอนหงาย จับปลายคางให้เชิดขึ้น มือกดหน้าผากไว้ ตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในปากหรือลำคอ หากตรวจพบให้ล้วงออกมาให้หมด เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
           
           ใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกคนเจ็บ มืออีกข้างดึงปลายคางไว้เพื่อเปิดช่องปาก จากนั้นสูดลมเข้าปอดแล้วเป่าเข้าไปทางปากของคนเจ็บ สังเกตว่าลมเข้าปอดโดยดูจากการเคลื่อนไหวของหน้าอก รอให้ลมออกจากปอดก่อนแล้วจึงเป่าครั้งที่สอง จากนั้นให้สำรวจชีพจร ง่ายที่สุดคือที่คอ บริเวณสองข้างของลูกกระเดือก หากคลำชีพจรไม่พบ ให้นวดหัวใจด้วย
          
           วิธีการนวดหัวใจ ให้นั่งคุกเข่าอยู่ข้างตัวคนเจ็บ ให้เข่าข้างหนึ่งอยู่บริเวณเอว อีกข้างอยู่บริเวณหัวไหล่ วางมือข้างที่ไม่ถนัดตรงกึ่งกลางหน้าอกเหนือกระดูกลิ้นปี่เล็กน้อย วางมือข้างที่ถนัดไว้ด้านบน แล้วยืดแขนให้ตรง โน้มตัวมาข้างหน้า ถ่ายน้ำหนักลงไปบนแขน เริ่มนวดหัวใจโดยการกดมือลงไป
          
           จังหวะการนวดคือ 15 ครั้งต่อ 10 วินาที แรงกดให้ดูจากการยุบตัวของหน้าอก ควรยุบแค่ประมาณ 1 ½ ถึง 2 นิ้ว หลังจากนวดครบ 15 ครั้ง ให้เป่าปาก 2 ครั้ง แล้วตรวจดูชีพจรอีกครั้ง หากยังไม่มีชีพจร ให้เริ่มนวดหัวใจอีกครั้ง ทำจนกว่าคนเจ็บจะเริ่มหายใจเองได้ หรือรถพยาบาลมาถึง
          
           การเคลื่อนย้ายคนเจ็บ
          
           หากบาดเจ็บที่คอ หรือกระดูกสันหลัง ห้ามเคลื่อนย้ายคนเจ็บ หากเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ที่ประสบอุบัติเหตุ อย่าเพิ่งถอดหมวกกันน็อก จนกว่าจะตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีกระดูกคอ หรือหลังหัก
          
           
    รู้ได้อย่างไรว่ากระดูกสันหลังหักหรือไม่
           - หากเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีความรุนแรง มีโอกาสสูงที่คนเจ็บจะกระดูกสันหลังหักจากแรงกระแทก
           - หากคนเจ็บยังมีสติ ลองให้เขาขยับนิ้วมือ นิ้วเท้า เป็นจังหวะ หรือลองให้คนเจ็บบีบมือของคุณ หากยังเคลื่อนไหวนิ้วได้ หรือยังมีแรงบีบ กระดูกสันหลังไม่น่าจะหัก
           - ลองหาวัตถุแข็งๆ ลากบริเวณฝ่าเท้า หากมีการตอบสนองแบบเดียวกับจั๊กจี๋ หรือหัวแม่โป้งกระดิก เป็นสัญญาณที่ดี
          
           แต่หากลองทำทุกอย่างแล้ว ไม่มีการตอบสนองที่ดี นั่นเป็นสัญญาณว่าคนเจ็บอาจมีกระดูกสันหลังหัก ไม่ควรเคลื่อนย้ายคนเจ็บ ยกเว้นว่าอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงเกินไป เช่น ไฟไหม้ ใกล้เชื้อเพลิงที่อาจระเบิด บนถนนที่อาจถูกรถทับ หรือตึกที่กำลังจะถล่ม ให้เคลื่อนย้ายคนเจ็บอย่างถูกวิธี และทำด้วยความระมัดระวังที่สุด
          
           วิธีการเคลื่อนย้ายที่ใช้ได้กับคนเจ็บที่สงสัยว่าอาจจะมีกระดูก สันหลังหรือกระดูกคอหัก ก็คือ การลากไหล่ โดยยืนอยู่เหนือศีรษะของคนเจ็บ ย่อเข่าลง สอดมือทั้งสองข้างเข้าไปที่ใต้แขนของคนเจ็บ แล้วจับให้แน่น ให้ศีรษะและคอของคนเจ็บอยู่ระหว่างแขนทั้งสองข้างของคุณ ค่อยๆ เดินถอยหลังทีละก้าวช้าๆ โดยลากไปตรงๆ ห้ามลากไปทางซ้ายหรือขวา พยายามให้ศีรษะ คอ ลำตัว และขาของคนเจ็บ อยู่ในแนวเส้นตรงระนาบเดียวกัน สังเกตด้วยว่าเสื้อของคนเจ็บไม่รั้งที่คอจนขาดอากาศหายใจ

           การห้ามเลือด
          
           หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดของคนเจ็บโดยตรง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้รีบล้างมือด้วยสบู่ รวมทั้งบริเวณที่เปื้อนเลือดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
          
           การห้ามเลือดทำได้โดย
           - ใช้นิ้วมือกดไว้ตรงบาดแผล
           - ใช้ผ้าสะอาดพันปิดแผลไว้ อย่าให้แน่นจนชา
           หากไม่มีผ้าพันแผล เราสามารถดัดแปลงสิ่งของใกล้ตัวมาใช้ได้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ชายเสื้อ ชายกระโปรง เนคไท
           - แผลที่แขนหรือขาให้ยกสูง จะช่วยให้เลือดไหลช้าลง ปกติเลือดจะหยุดไหลภายในเวลาประมาณ 15 นาที ถ้าเลือดไหลไม่หยุด ให้กดเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงแขน ขา
           - การกดเส้นเลือดแดงใหญ่เพื่อห้ามเลือด ให้กดบริเวณเหนือบาดแผล ตำแหน่งที่ใช้กดเพื่อห้ามเลือดคือ ถ้าเลือดไหลที่แขนให้กดแขนด้านใน ช่วงระหว่างข้อศอกและหัวไหล่ ถ้าเลือดไหลที่ขา ให้กดที่หน้าขาบริเวณขาหนีบ
          
           การห้ามเลือดโดยการกดเส้นเลือดแดงใหญ่นั้น ควรทำก็ต่อเมื่อใช้วิธีการห้ามเลือดโดยการกดบาดแผล หรือใช้ผ้าพันแผลแล้วไม่ได้ผล เพราะจะทำให้อวัยวะที่ต่ำกว่าจุดกดขาดเลือดไปเลี้ยง หากกดนานๆ กล้ามเนื้ออาจตายได้ จึงไม่ควรกดเส้นเลือดแดงใหญ่เกินกว่าครั้งละ 15 นาที
           ไม่ควรถอดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าของคนเจ็บ แม้ว่าจะเปื้อนเลือดจนชุ่มแล้ว เพราะอาจยิ่งทำให้เลือดไหลออกมาอีก
          
           
    กระดูกหัก
           

           หากมีเลือดออกให้ห้ามเลือดทันที หากกระดูกแทงทะลุออกมานอกผิวหนัง ห้ามจับกระดูกกลับเข้าที่เดิม
           สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือคนเจ็บที่กระดูกหัก ก็คือ การใส่เฝือกเพื่อยึดไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ถ้ากระดูกหักที่แขน มือ หรือข้อศอก ให้ใส่ผ้าคล้องแขนด้วย
          
           สิ่งที่จะใช้ทำเฝือกได้ ก็คือ วัสดุที่แข็งและไม่ยืดหยุ่น เช่น ไม้กระดาน ด้ามไม้กวาด หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่นำมาม้วนให้แข็ง หากพื้นผิวของวัสดุไม่เรียบ ให้หาผ้ารองไว้ชั้นในก่อน เฝือกควรมีความยาวมากกว่าอวัยวะส่วนที่หักเล็กน้อย ผูกเฝือกด้วยเชือก เนกไท ผ้าพันคอ หรือเศษผ้าที่หาได้ โดยไม่ควรผูกให้แน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากสังเกตว่าบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ หรือมีอาการชา ให้รีบคลายเฝือกออก         
          
           แผลถูกแทง
          
           หากวัตถุที่แทงมีขนาดยาวมาก สามารถตัดให้สั้นลงได้โดยทำอย่างระมัดระวัง แต่ห้ามดึงออกเพราะจะทำให้เลือดออกมากยิ่งขึ้นหรือเพิ่มอันตรายต่ออวัยวะ ใกล้เคียง ห้ามเลือดโดยใช้ห่วงผ้ารองไม่ให้วัตถุนั้นปักลึกมากยิ่งขึ้น ไม่ควรให้กินอะไรทั้งสิ้น ให้คนเจ็บอยู่นิ่งๆ ให้มากที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
          
           แผลถูกยิง
           

           ห้ามเลือดโดยใช้วิธีกดลงบนบาดแผลโดยตรง หรือกดเส้นเลือดแดงเหนือบาดแผล ถ้ามีกระดูกหักร่วมด้วยให้ดามกระดูกที่หัก ให้คนเจ็บนอนนิ่งๆ ห่มผ้าให้อบอุ่นเพื่อป้องกันการช็อค งดให้น้ำหรืออาหารใดๆ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด


    ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินประจำบ้าน/ เอมอร คชเสนี
    โดย เอมอร คชเสนี 19 มีนาคม 2553 13:20 น.
    หาก ประสบพบเจออุบัติเหตุหรือผู้ป่วยฉุกเฉินนอกบ้าน คงจะได้เรียนรู้จากตอนที่แล้วแล้วนะคะ ว่าเราสามารถดัดแปลงสิ่งของรอบตัวมาใช้ในการปฐมพยาบาลได้ แต่หากเหตุฉุกเฉินนั้นเกิดขึ้นในบ้าน เราควรจะเตรียมตัวให้พร้อมรับสถานการณ์ล่วงหน้าเอาไว้ ด้วยการจัดชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินไว้ประจำบ้านค่ะ
          
           ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินประจำบ้าน ประกอบด้วย
          
           1.ยาสามัญประจำบ้าน คือยาที่ควรมีไว้ประจำบ้าน ใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย ท้องอืด หรือบาดแผลเล็กน้อย แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
           -
    ยาใช้ภายใน หรือยาที่ใช้สำหรับรับประทาน ได้แก่ ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำเชื่อม ยาแก้ไอน้ำดำ ยาธาตุ ยาขับลม ผงน้ำตาลเกลือแร่ เป็นต้น
           -
    ยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน ได้แก่ ยาดม ยาป้าย ครีม ขี้ผึ้ง ทิงเจอร์ โพวิโดนไอโอดีน เป็นต้น สังเกตฉลากยาจะมีคำว่า ยาใช้ภายนอกหรือยาใช้เฉพาะห้ามรับประทาน พิมพ์ด้วยตัวอักษรสีแดง
           2.ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้แก่ ผ้าพันแผลทั้งชนิดแผ่นและชนิดม้วนที่ฆ่าเชื้อแล้ว พลาสเตอร์ปิดแผลทั้งชนิดแผ่นและชนิดม้วน สำลีที่ฆ่าเชื้อแล้ว ผ้าก๊อซขนาด 3 นิ้ว และ 4 นิ้ว ผ้าก๊อซสำหรับปิดตาและแผ่นครอบตาโดยเฉพาะ ผ้าก๊อซแบบยืดได้ ผ้าพันแผลแบบยืดได้ เทปขนาดต่างๆ สำหรับติดผ้าก๊อซ ผ้าสามเหลี่ยมสำหรับการดามหรือขันชะเนาะ กรรไกรปลายมน เข็มกลัดซ่อนปลาย เทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดไข้ แผ่นประคบร้อน-เย็น ถุงมือยาง น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ ได้แก่ น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ โพวิโดนไอโอดีน และทิงเจอร์ไอโอดีน เป็นต้น
          
           3.อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ได้แก่ กระเป๋าน้ำร้อน ไฟฉาย ไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ เทียนไข น้ำยาดับเพลิง หนังสือเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เบอร์โทรศัพท์โรงพยาบาลหรือเบอร์โทรฉุกเฉินต่างๆ
          
           ยาและอุปกรณ์เหล่านี้ควรมีติดบ้านไว้เสมอ เวลาที่ต้องเดินทางก็ควรหากล่องใส่ยาและอุปกรณ์ทำแผลเล็กๆ น้อยๆ ติดตัวไปด้วย
          
           หากคนในครอบครัวมีโรคประจำตัวที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ควรเขียนรายละเอียดเก็บไว้กับชุดฉุกเฉินประจำบ้านให้ชัดเจนด้วย เช่น ชื่อ นามสกุล อายุของผู้ป่วย พร้อมทั้งรูปภาพ รวมไปถึงข้อมูลอาการเจ็บป่วยและแนวทางในการช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ที่มาประสบเหตุสามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง หากผู้ป่วยหมดสติหรือไม่สามารถพูดได้ อุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินอื่นๆ สำหรับแต่ละกรณี แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษา เพื่อขอคำแนะนำที่จำเป็นเฉพาะโรค
          
           การเก็บรักษาชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน
           - ควรมีตู้ยาประจำบ้าน และแยกเก็บยาแต่ละประเภทไว้คนละช่อง คือยาใช้ภายใน ยาใช้ภายนอก อุปกรณ์ตวงยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ
           - อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรมีกระเป๋าบรรจุโดยเฉพาะ และแยกเก็บไว้ต่างหาก เพื่อให้สะดวกต่อการหยิบใช้
           - เก็บไว้ในที่อุณหภูมิเหมาะสม แสงแดดส่องไม่ถึง ห่างไกลจากความร้อน เปลวไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า และความอับชื้น
           - เก็บในที่ที่สะดวกต่อการหยิบใช้ แต่ให้พ้นจากมือเด็ก
           - อย่าเก็บยาฆ่าแมลง ยาเบื่อหนู หรือสารพิษอื่นๆ ไว้ด้วยกัน เพราะอาจมีคนหยิบผิดและเกิดอันตรายขึ้นได้
          
           นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจเช็คชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินเป็นประจำ อาจจะกำหนดวันตรวจเช็คให้แน่นอนเพื่อที่จะได้ไม่ลืม เช่น ทุกวันสิ้นเดือน ตรวจดูว่ายาหมดอายุหรือไม่ อุปกรณ์ที่เป็นยางยืดเสื่อมหรือหมดอายุหรือไม่ พลาสเตอร์ปิดแผลยังมีความยืดหยุ่นดีหรือไม่ ตรวจน้ำยาดับเพลิง หรือเปลี่ยนถ่ายไฟฉายหากจำเป็น พยายามทำทุกเดือนให้เป็นกิจวัตร คุณก็จะมีอุปกรณ์ฉุกเฉินที่พร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินจริงๆ