4 ขั้นตอนลดความเครียด รับมือกับภาวะน้ำท่วม
เผยเคล็ดง่ายสี่ขั้นตอนลดความเครียดรับมือกับภาวะน้ำท่วม (กรมควบคุมโรค)
นางจิตติมา ศรศาสตร์ปรีชา นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ กลุ่มพัฒนาวิชาการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทั้งที่ท่วมมานานหลายเดือนและน้ำลดแล้ว พบว่ามีผู้ประสบภัยที่มีภาวะความเครียดเพิ่มมากขึ้นจำนวนมาก เพราะผู้ประสบภัยน้ำท่วมต้องเผชิญปัญหาหลายด้านพร้อม ๆ กัน เช่น ความไม่สะดวกในการดำรงชีวิต ความเสียหายของบ้าน รถยนต์ และทรัพย์สินเงินทอง พื้นที่ทำการเกษตร มีภาระหนี้สิน หรือบางคนเกิดการเจ็บป่วย สูญเสียญาติพี่น้อง ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง วิตกกังวล และอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ สำหรับอาการที่พบได้ในผู้ที่มีอาการเครียดคือ ปวดศีรษะ กระวนกระวาย ไม่ค่อยมีสมาธิ หลง ๆ ลืม ๆ บางรายอาจมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย
นางจิตติมา กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำท่วมเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นประชาชนผู้ประสบภัยควรได้มีแนวทางฟื้นฟูสุขภาพจิตใจที่ได้รับผลกระทบ จากภาวะน้ำท่วม โดยมีคำแนะนำดังนี้
1) ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำความเข้าใจและยอมรับ ว่าภัยพิบัติไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราไม่ใช่เป็นผู้เคราะห์ร้ายอยู่คนเดียว ยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกจำนวนมาก อาจจะต้องใช้เวลาบ้างในการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น "ท้อแท้ได้ แต่อย่านาน และต้องลุกขึ้นเดินต่อ"
2) จัดลำดับความสำคัญของปัญหา พยายามนั่งพักให้จิตใจสงบนิ่ง แล้วรวบรวมสติมองปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เช่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้า การอยู่ การกิน การนอน เรื่องการขับถ่าย การป้องกันโรคและสัตว์มีพิษ เป็นต้น
3) พยายามใช้ชีวิตเรียบง่าย ผู้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมต้องปรับวิธีคิด และปล่อยวางเรื่องทรัพย์สินสิ่งของนอกกาย อนาคตยังมีโอกาสหาใหม่ได้ พยายามใช้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อลดความรู้สึกเครียดลงบ้าง บางคนห่วงทรัพย์สินจนไม่ยอมอพยพ ควรมีการชั่งน้ำหนักข้อดีและเสีย "ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ชีวิตเรามีค่าสำหรับคนที่คุณรักและคนที่รักคุณ"
4) เอาใจใส่ ดูแลกันและกัน คนที่แข็งแรงกว่าต้องช่วยคนที่อ่อนแอ ต้องคอยให้กำลังใจกับคนที่รู้สึกหมดแรง ท้อแท้ ได้ระบายความรู้สึกแล้วก็ให้กำลังใจกัน
สำหรับ บางคนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราจะต้องผ่านเหตุการณ์ภัยธรรมชาตินี้ไปให้ได้ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งหลัก ตั้งสติให้ได้ แล้วลุกขึ้นเดินต่อ ร่วมมือร่วมใจกัน เป็นกำลังใจให้กัน เพื่อฟันฝ่าวิกฤตไปให้ได้ ดังนั้นขอให้ผู้ประสบ ภัยทุกคนมีความหวัง ให้เวลาเยียวยาจิตใจ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องดีขึ้นแน่นอน ในส่วนของการเยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนั้นต้องทำควบคู่กัน ไปทั้งในส่วนของภาครัฐ สังคมรอบข้าง และที่สำคัญคือตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบเอง
นอกจากเยียวยาจิตใจแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การดูแลสุขภาพร่างกายช่วงน้ำท่วมให้ปลอดภัยจากโรคและภัยสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัด อุจจาระร่วง ตาแดง ไข้เลือดออก ไข้ฉี่หนู ฯลฯ หาก ประชาชนมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือกรณีฉุกเฉินสามารถโทรติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เบอร์ 1669
ขอขอบคุณข้อมูลจาก