ตรวจร่างกายประจำปี จำเป็นแค่ไหน/ เอมอร คชเสนี

โดย เอมอร คชเสนี 22 มกราคม 2553 01:17 น.
   
      
       แพทย์มักรณรงค์ให้ตรวจร่างกายประจำปี อาจจะเป็นต้นปี ปลายปี หรือทุกๆ วันเกิด เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำเมื่อครบรอบปี เป็นการตรวจคัดกรองหาโรคหรือภาวะบางอย่างที่สามารถรักษาได้ในระยะแรก ซึ่งการรักษาในระยะต้นๆ จะได้ผลดีกว่า และอาจช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ แต่แพทย์ก็แนะนำให้เลือกตรวจเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่า “เท่าที่จำเป็น”
       

       สำหรับคนทั่วไป การตรวจร่างกายประจำปีจะประกอบไปด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ซึ่งจะช่วยประเมินภาวะน้ำหนักเกิน การวัดความดันโลหิตจะช่วยตรวจว่ามีความดันโลหิตสูงหรือไม่
      
       การตรวจเลือด จะทำให้ทราบความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ช่วยตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง วัดระดับน้ำตาลเพื่อตรวจหาเบาหวาน วัดระดับไขมันในเลือด คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด วัดระดับกรดยูริคซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคเก๊าท์ รวมทั้งตรวจการทำงานของตับและไต
      
       การตรวจปัสสาวะว่ามีภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือไม่ และตรวจคัดกรองโรคไตบางชนิด
      
       การตรวจอุจจาระเพื่อหาพยาธิในอุจจาระ และตรวจหาภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหาร หากมีเลือดในอุจจาระควรตรวจว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่
      
       การเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อตรวจสภาพปอดและหัวใจ ตรวจหาวัณโรค โรคปอดเรื้อรังบางชนิด หรือรอยโรคผิดปกติอื่นๆ
      
       การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อหาความผิดปกติของหัวใจหรือภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ อาจจะเริ่มตรวจเมื่ออายุ 40 ปี และตรวจซ้ำตามที่แพทย์แนะนำ
      
       นอกจากนี้ยังควรตรวจตา หู และฟัน โดยตรวจสุขภาพฟันและช่องปากทุก 6 เดือน สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจตาทุก 2-3 ปี แต่หากมีประวัติโรคต้อหินในครอบครัวควรตรวจปีละครั้ง และเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปอาจตรวจการได้ยินทุก 5 ปี
      
       ผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการคลำต่อมลูกหมากและการเจาะเลือดเพื่อหาสาร PSA (Prostate Specific Antigen) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตจากต่อมลูกหมาก
      
       สำหรับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรตรวจหามะเร็งปากมดลูก หรือแม้จะยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แต่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ก็ควรตรวจทุก 1-3 ปี
      
       การตรวจที่กล่าวมาเป็นการตรวจพื้นฐาน แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง ก็อาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม
      
       สำหรับผู้หญิงทั่วไป การตรวจคลำเต้านมของตัวเองเดือนละครั้งร่วมกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ก็จะช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ดี แต่แพทย์บางท่านก็จะแนะนำให้ตรวจ Mammogram ในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี ยกเว้นตรวจพบความผิดปกติ มีก้อนในเต้านม หรือในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 40 ปี ก็ควรตรวจ Mammogram ก่อนอายุ 40 ปี
      
       การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ยกเว้นมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมีความเสี่ยงสูงอาจตรวจ เร็วกว่านั้น
      
       การตรวจ EST (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจด้วยการวิ่งบนสายพาน ส่วนใหญ่แนะนำให้ตรวจในผู้ที่มีอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยหอบขณะออกกำลังกาย หรือผู้ที่ไม่มีอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน แต่มีอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น นักบิน นักดับเพลิง หรือมีความเสี่ยงในเรื่องต่อไปนี้ 2 ประการขึ้นไป คือ สูบบุหรี่ เป็นโรคเบาหวาน มีไขมันสูง อ้วน มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัวที่เป็นตั้งแต่อายุยังน้อย
      
       การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีประวัติในครอบครัวเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
      
       ดังเช่นที่กล่าวแล้วว่าการตรวจร่างกายประจำปีโดยละเอียดนั้นไม่จำ เป็นนักเพราะสิ้นเปลือง เลือกตรวจเฉพาะสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลทั้งเพศ อายุ ลักษณะอาชีพการงาน ประวัติการเจ็บป่วย รวมทั้งประวัติการเป็นโรคของคนในครอบครัวซึ่งอาจจะถ่ายทอดทางพันธุกรรม จะดีกว่าเหมาตรวจเหมือนกันสำหรับทุกคน โดยอาจจะปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกการตรวจที่เหมาะสม
      
       การตรวจพิเศษบางอย่างอาจไม่คุ้มค่า เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาสารที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิด การตรวจเอกซเรย์เต้านมในคนที่ไม่มีข้อบ่งชี้ การตรวจมวลกระดูก การตรวจอัลตราซาวนด์ตับ หรืออาจก่อให้เกิดผลเสียในกรณีที่ผลการตรวจขั้นต้นนั้นผิดปกติ แต่เมื่อตรวจเพิ่มเติมโดยละเอียดแล้วไม่พบโรค ทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินจำนวนมาก ดังนั้นอาจให้แพทย์ตรวจร่างกายดูก่อนว่าคุ้มหรือไม่กับการตรวจด้วยวิธีพิเศษ แม้แต่การตรวจเอกซเรย์ปอดซึ่งราคาไม่แพง แต่หากตรวจพร่ำเพรื่อเกินไปก็อาจสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
      
       อีกประการหนึ่ง มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อย แต่เก็บมาวิตกกังวลจนถึงขั้นเครียด แทนที่จะควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้สุขภาพดีขึ้น
      
       นอกจากนี้ยังมีไม่น้อยที่หมอสั่งยาให้ทันทีหลังจากที่ตรวจพบความผิด ปกติเล็กน้อย แทนที่จะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยอีก
      
       แพทย์อีกหลายท่านจึงแนะนำว่าการตรวจร่างกายประจำปีควรเป็นการตรวจหา ความเสี่ยงต่อโรค ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น เมื่อทราบความเสี่ยงแล้วก็ร่วมกันหาหนทางป้องกันความเสี่ยงอย่าให้เป็นโรค นั้น
      
       ดังนั้นหากเป็นไปได้ โรงพยาบาลควรมีระบบรองรับผู้ป่วย มีเวลาซักประวัติ เพื่อสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารตลอดจนการไม่ออกกำลังกาย ทำให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน ไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เกิดปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือผู้ที่ต้องทำงานยกของหนักอยู่ทุกวัน ส่วนใหญ่จะมีปัญหาปวดหลัง ปวดเข่า ก็ควรได้รับคำแนะนำว่าจะยกของหนักอย่างไรไม่ให้ปวดเมื่อย หรือหากต้องทำงานในโรงงานที่มีเสียงดังและเต็มไปด้วยฝุ่นละออง อาจเสี่ยงต่อโรคปอดหรือหูตึง ก็ควรได้รับคำแนะนำว่าจะทำงานอย่างไรในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นโดยไม่เจ็บป่วย ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการตรวจเหมือนๆ กันตามแพคเกจที่โรงพยาบาลจัดไว้แล้ว
      
       อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคอีกมากที่การตรวจสุขภาพไม่สามารถตรวจพบโรคได้ในระยะแรกๆ ดังนั้นถึงแม้ผลการตรวจสุขภาพจะเป็นปกติดี ก็ยังควรใส่ใจรักษาสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่ สุรา ยาเสพติด พักผ่อนให้เพียงพอ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ