แมวในบ้านทะเลาะกัน ทำอย่างไรดี? (Cat Magazine)
เรื่อง : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ ภาพ : shutterstock
สำหรับ บ้านที่เลี้ยงแมว (หมู่) มีปัญหาแมวทะเลาะกันบ้างไหมครับ การทะเลาะเบาะแว้งกันของแมวที่เลี้ยงไว้อยู่ด้วยกัน มีได้หลายสาเหตุ เช่น ความเครียด ความกังวล และความไม่สมหวัง หาก ต้องการแก้ปัญหาให้ตรงจุด เจ้าของจำเป็นต้องฝึกการสังเกตการแสดงออกของท่าทาง สีหน้า และน้ำเสียงของแมวในช่วงก่อน, ระหว่าง และหลังจากที่แมวทะเลาะกัน และสังเกตถึงบริเวณที่แมวมักจะทะเลาะกันด้วย การทะเลาะกันของแมวภายในบ้าน หากไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากจะทำให้บาดเจ็บทางร่างกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อจิตใจของแมว ทำให้เกิดความเครียดและอาจนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมอื่น เช่น การปัสสาวะไม่เป็นที่ การเลียตัวเองตลอดเวลา หรือโรคอ้วนได้
ภาษากาย และสีหน้าแมวที่ควรรู้
การสังเกตสีหน้าและท่าทางจะช่วยให้เราแยกแมวที่มีความก้าวร้าวจริงๆ ออกจากแมวที่แสดงความก้าวร้าวเพราะความกลัวได้ แมวที่มีอาการกลัวอาจจะส่งเสียงขู่ฟ่อ ขนลุกขัน โก่งหลังขึ้น ม่านตาขยาย และตะแคงด้านข้างลำตัวเข้าหาผู้รุกรานเพื่อเป็นการขู่ เพราะจะทำให้ดูตัวใหญ่ขึ้น หากสังเกตที่หูจะพบว่าแมวที่ก้าวร้าวเพราะความกลัวหูจะหมุนลงด้านข้างและลู่ ไปทางด้านหลัง แมวจะแสดงอาการอย่างนี้ ต่อเมื่ออยู่ในสภาพที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ไม่สามารถหนีได้จึงจำเป็นต้องสู้ ในขณะที่แมวที่เป็นฝ่ายรุกรานแมวตัวอื่นส่วนหูมักจะหันไปด้านหลังแต่ปลายใบ หูจะยกขึ้น จะใช้สายตาจ้องมองขู่ และอาจเข้าไปขวางทางเดินหรือเดินเข้าไปหาแมวตัวอื่นอย่างมั่นใจ
เมื่อคุณอ่านภาษากายของแมวเป็นแล้ว ก็เริ่มจดบันทึกได้เลยครับว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในบ้านบ้างที่บริเวณไหน แมวตัวไหนแสดงความก้าวร้าวเฉพาะต่อเมื่อถูกรุกกราน และเหตุการณ์ที่แมวในบ้านแสดงอาการขู่ฟ่อ ตะปบ ข่วน คำราม วิ่งไล่ กัด หรือตะลุมบอนกันเกิดขึ้นบ่อยมากน้อยแค่ไหน
วิเคราะห์แก๊งแมวในบ้าน
การเก็บข้อมูลขั้นต่อมา คือ ดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับแมวและปฏิสัมพันธ์ระหว่างแมวกับแมวตัวอื่น สำรวจดูก่อนครับว่าแมวในบ้านตัวไหนอยู่กลุ่มเดียวกันบ้าง โดยดูจากพฤติกรรมการเลียแต่งตัวให้กันการเอาคางไปถูกัน และการใช้ชามน้ำ ชามอาหาร พร้อมกัน หรือมักจะพักผ่อนนอนเล่นที่บริเวณเดียวกัน ใช้เวลาจดบันทึก 1 ถึง 2 สัปดาห์ว่าแมวแต่ละกลุ่มมีการใช้สอยพื้นที่ตรงไหนของบ้านบ้าง คราวนี้เราจะมาลงรายละเอียดในส่วนของเหตุการณ์วิวาท ต้องสังเกตครับว่าอะไรคือปัจจัยกระตุ้น และแมวตัวไหนมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ต้องดูต่อไปถึงอาการเครียดของแมวที่ตกเป็นเหยื่อว่ามีอาการมากน้อยแค่ไหน เช่น หลบซ่อนตัว ไม่ค่อยออกมากินอาหารไม่เลียขนหรือไม่ยอมออกมาใช้กระบะทราย
สาเหตุที่แมวทะเลาะกัน มีอะไรบ้าง
สาเหตุ ของความก้าวร้าวที่พบได้บ่อย ได้แก่ การหวงพื้นที่ การเปลี่ยนสถานะทางสังคม ความกลัว กระระบายความเครียด แมวที่มีอารมณ์ฉุนเฉียว การป้องกันตนเอง การคุกคามตัวอื่น และการทะเลาะกันระหว่างแมวตัวผู้ ขอยกตัวอย่างสาเหตุที่พบบ่อย ๆ ครับ
การหวงพื้นที่และการเปลี่ยนสถานะทางสังคม สถานะทางสังคมของแมวในบ้านเปลี่ยนแปลงได้จากหลายสาเหตุ เช่น ลูกแมวในบ้านเริ่มโตขึ้นและมีอายุได้ 1 ถึง 2 ปี มีแมวโตบางตัวออกไปจากบ้านหรือมีแมวใหม่เข้ามาในบ้าน เมื่อสภาพแวดล้อมภายในบ้านหรือสถานภาพของแมวเปลี่ยนไปการจัดสรรพื้นที่ภายใน บ้านระหว่างแมวจะเริ่มขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาทกันเอง
การวิวาทกันระหว่างแมวต่างจากในสุนัข คือ แมวจะเลือกใช้การคุกคามด้วยสายตาและท่าทางก่อน เช่น อาจจ้องหน้าแมวอีกตัวเดินไปปิดขวางทางเดิน หรือเดินเข้าไปหาช้า ๆ เพื่อขับไล่แมวอื่นออกจากบริเวณที่ตัวเองต้องการ หากแมวที่ถูกคุกคามยอมแพ้มักจะหมอบ หูลู่ลง และเดินหนีไปทางอื่นในที่สุด การวิ่งไล่กวด การขู่ คำราม ร้องเสียงดังยาว ๆ หรือกัดเป็นทางเลือกสุดท้าย กรณีที่ใช้วิธีการกดดันแล้วไม่ได้ผล
แมวที่ตกเป็นเหยื่อมักจะจำกัดพื้นที่ในการเคลื่อนไหวเพื่อหลีกเลี่ยงการประ ทะกับแมวตัวที่ก้าวร้าว ดังนั้นหากปัญหาความก้าวร้าวรุนแรงจำเป็นต้องแยกกันเลี้ยงครับ เพราะส่วนใหญ่มักจะรักษาไม่หายในเร็ววัน ส่วนในกรณีที่ความก้าวร้าวเกิดเฉพาะช่วงที่แมวตัวอื่นพยายามจะเข้าไปหาชาม อาหาร ชามน้ำ กระบะทราย หรือที่นอนพัก เราสามารถแก้ไขได้โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้อย่างเพียงพอและให้ อยู่ในบริเวณที่เข้าถึงง่าย อย่าลืมว่าแมวจะมีการจัดสรรพื้นที่ในบ้านแบ่งกัน ซึ่งใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ควรสังเกตเพื่อหาที่วางสิ่งเหล่านี้อย่างเหมาะสม
ความระบายความเครียด กลิ่น เสียง การมองเห็นแมวตัวอื่นหรือสัตว์อื่น อาจทำให้แมวบางตัวรู้สึกหงุดหงิดแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เช่น เมื่อแมวในบ้านอาจถูกยั่วยุจากแมวที่อยู่นอกหน้าต่างทำให้ไม่สบอารมณ์จนส่ง เสียงขู่และคำราม จังหวะนั้นเองเจ้าของหรือแมวตัวอื่นในบ้านเดินเข้ามาในห้องพอดีก็จะตกเป็น เหยื่อให้แมวได้ระบายอารมณ์ในทันที ส่วนมากแมวที่ตกเป็นเหยื่อมักไม่พอใจและต่อสู้กลับ ทำให้ปัญหาลุกลาม และสัมพันธภาพระหว่างแมวในบ้านแย่ลง ถึงขนาดที่ว่าถ้าแค่เห็นหน้ากันก็จะเริ่มขู่ หรือหาที่ซ่อนตัวทันที
ความก้าวร้าวจากความกลัว เป็นการตอบโต้ที่พบได้บ่อยในแมวที่ตกเป็นเหยื่อ เจ้าของต้องฝึกสังเกตลักษณะท่าทางของแมวตามที่แนะนำไปข้างต้น เมื่อแมวที่เป็นผู้คุกคามพบว่าแมวที่เป็นเหยื่อตอบโต้มักจะยิ่งแสดงความก้าว ร้าวมากขึ้นและปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้นตามลำดับ
แมวขี้โมโห หากเราสังเกตและวิเคราะห์แล้วไม่พบเหตุผลที่แมวแสดงความก้าวร้าวเลย บางครั้งอาจเป็นได้ว่าแมวตัวนั้นมีนิสัยก้าวร้าวเป็นปกติ ซึ่งมักมีสาเหตุโน้มนำมาจากปัญหาเรื่องสุขภาพ สภาพแวดล้อมภายในบ้านและปฏิสัมพันธ์ระหว่างแมวกับเจ้าของ หากแก้ปัญหาให้ตรงจุดได้ความก้าวร้าวของแมวจะลดลง
แนวทางแก้ปัญหา
สร้างห้องสงบสติอารมณ์ภายในบ้าน
เมื่อแมวในบ้านทะเลาะกันคุณจำเป็นต้องแยกแมวออกจากกันก่อนครับ อาจใช้ไม้กวาดต้อนใช้ถุงมือหรือผ้าขนหนูหนาๆ ตะครุบ หรือเอาตะกร้าผ้าครอบแมวไว้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยไม่ให้เจ้าของโดนกัด จากนั้นแยกแมวแต่ละตัวเข้าห้องสงบสติซึ่งควรจะเป็นห้องที่มืดๆ ใส่อาหาร น้ำ กระบะทรายไว้ให้พร้อม แมวอาจต้องใช้เวลาในห้องเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ เพื่อให้ใจเย็นลง เจ้าของจะเข้าไปในห้องเพื่อเปิดไฟแล้วให้น้ำให้อาหาร เท่านั้น เมื่อไรที่เจ้าของเข้าไปในห้องแล้วแมวเดินเข้ามาหาด้วยท่าทางที่สงบและดู ผ่อนคลายค่อยปล่อยแมวออกจากห้อง สิ่งสำคัญคืออย่าปล่อยแมวออกมาเร็วเกินไปเพราะหากทะเลาะกันใหม่ปัญหาจะ รุนแรงกว่าเดิม และอย่าให้แมวทั้งสองเจอหน้ากันในทันทีออกจากห้องพยามวางชามน้ำ ชามอาหาร กระบะทราย กระจายไว้ในบ้านในบริเวณที่แมวเดินเข้าเดินออกได้หลายทางเพื่อให้มีทางหนี ที่ไล่ โดยดูให้อยู่ในพื้นที่ของแมวแต่ละตัวเพื่อลดโอกาสการเผชิญหน้ากัน แมวตัวที่ก้าวร้าวต้องใส่กระดิ่งที่ปลอกคอ เพื่อเป็นการเตือนภัยให้แมวที่เป็นเหยื่อรู้ล่วงหน้าก่อนจะถูกบุกรุกถึงตัว
การปรับพฤติกรรม
หลักการคือการสร้างความรู้สึกดีเวลาที่แมวคู่กรณีอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อความปลอดภัยควรใส่สายจูงแมวทั้งคู่ก่อนนำแมวทั้งสองตัวมาเจอหน้ากันโดย ให้อยู่ไกลกันพอที่แมวจะไม่รู้สึกเครียดให้นำอาหารหรือขนมที่มีความน่ากิน สูงมาให้แมวเพื่อเป็นการสร้างทัศนคติด้านบวกในการเจอกัน หากแมวยังไม่ยอมกินอาหารและแสดงอาหารเครียดอยู่ให้ถอยห่างออกจากกันมากขึ้น ซึ่งหากยังเครียดเหมือนเดิมก็ให้เลิกการฝึกและเริ่มฝึกในมื้ออาหารถัดไป แต่หากแมวทั้งคู่ยอมกินอาหาร ให้ปล่อยให้แมวกินจนเสร็จแล้วค่อยแยกย้ายออกจากกันครั้งต่อไปที่ฝึกยังคงใช้ ระยะห่างเท่าเดิม หากแมวกินเป็นปกติ การฝึกครั้งหน้าให้เลื่อนระยะห่างระหว่างแมวให้ใกล้มากขึ้นครั้งละ 6 ถึง 8 นิ้ว หากแมวยังคงกินอาหารปกติให้เจ้าของปล่อยให้แมวได้มีโอกาสเลียแต่งตัวได้บ้าง ก่อนที่จะจับแยกกัน ทุก 2 ครั้ง ที่แมวกินอาหารโดยไม่มีอาการเครียดเราจะขยับชามให้ใกล้ขึ้นอีก สิ่งสำคัญคือเจ้าของห้ามใจร้อน เพราะหากขยับชามเข้าหากันเร็วไปแล้วแมวแสดงอาการก้าวร้าวใส่กัน เท่ากับการบำบัดถอยหลัง และโอกาสสำเร็จจะลดน้อยลง นอกจากช่วงที่ฝึกภายใต้การดูแลของเจ้าของแล้ว ในเวลาอื่น ๆ ควรแยกแมวทั้งสองออกจากกัน แต่อาจมีการสลับกระบะทรายกันหรือใช้วิธีเอาผ้าถู เพื่อเก็บกลิ่นมาผสมกันให้แมวรู้สึกคุ้นเคย ตามที่ผมเคยแนะนำไปในเล่มก่อนครับ
แมวบางตัวอาจไม่ยอมกินขนมหรืออาหารที่ให้เลยหากเจอแมวคู่อริ ในรายนี้อาจฝึกแบบไม่ให้เห็นหน้ากันก่อน เริ่มจากให้กินอาหารโดยอยู่กันคนละฝั่งของประตูที่ปิดไว้ใน 2 ถึง 3 วันแรก ก่อนจะลองเปิดประตูอีกครั้ง หรือในบางครั้งอาจใช้การฝึกแบบประยุกต์โดยให้แมวตัวที่ก้าวร้าวอยู่ในกรงและ แมวอีกตัวอยู่นอกกรงในขณะที่ให้อาหาร หากเป็นไปได้ด้วยดีให้สลับตำแหน่งกันแต่คราวนี้ต้องระวังมากขึ้น อย่าให้แมวตัวที่ก้าวร้าวขู่แมวในกรง หากแมวรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ยอมกินอาหารอาจต้องพิจารณาให้แมวอยู่ในกรงด้วยกันทั้งคู่ในขณะฝึก
สำหรับแมวที่มีความก้าวร้าวไม่มากอาจใช้วิธีการปรับความสัมพันธ์ผ่านการเล่น ได้ ให้เจ้าของแง้มประตูไว้โดยแมวทั้งสองอยู่คนละฝั่งของประตูแล้วให้แมวทั้งคู่ เล่นด้วยกันผ่านเบ็ดตกแมว
การ บริหารความสัมพันธ์ระหว่างแมวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องมีการตรวจสาเหตุ อย่างละเอียด และบางครั้งต้องใช้ยาประกอบการรักษา กรณีปัญหารุนแรงระยะเวลาในการบำบัดอาจนาน 6 เดือน ถึงเกือบ 2 ปี ไม่ว่าอย่างไรก็อย่าเพิ่งถอดใจนะครับ ลองปรึกษากับสัตวแพทย์ใกล้บ้าน หรือเข้ามาปรึกษาผมได้ทาง www.facebook.com/petmanner ยินดีให้คำปรึกษาครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สั่งซื้อการ์ตูนตาหวาน
การ์ตูนผู้หญิงแบบ PDF
มีเป็นพันเล่มคลิกเข้าไปเลือกดูได้เลยที่นี่