วัณโรค
รับมือกับ วัณโรค คืนชีพ (Lisa)
มีไข้ เบื่ออาหาร ไอเรื้อรังหรือไอมาก จนมีเลือดปนออกมามีเหงื่อออกตอนกลางคืน นี่คืออาการของผู้เป็น วัณโรค ซึ่งจะต้องกินยาอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกัน วัณโรค ดื้อยา
สตรี หมายเลขหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส คาร์ลาบรูนี่-ซาร์โกซี (Carla Bruni-Sarkozy) เป็นทูตพิเศษในการต่อต้านเอดส์และ วัณโรค ซึ่งยังไม่มียาปราบสองโรคนี้ให้อยู่หมัดได้ และในส่วนของประเทศไทยนั้นองค์การอนามัยโลกได้จัดให้อยู่ในลำดับที่ 18 ในกลุ่ม 22 ประเทศทั่วโลก ที่ยังไม่สามารถควบคุมโรค วัณโรค ได้ ดังนั้น พญ.พรรณราย เลอวัฒนกิจถาวธ แพทย์เวชศาสตร์ ครอบครัว โรงพยาบาลปิยะเวท จึงได้ให้ความกระจ่างเรื่อง วัณโรค ดังนี้ค่ะ
Q ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วย วัณโรค มากน้อยแค่ไหน
A ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็น วัณโรค ที่ขึ้นทะเบียนรักษาไว้ประมาณห้าหมื่นแปดพันคน แต่คาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยมากกว่าเก้าหมื่นคน และกว่าครึ่งเป็น วัณโรค ชนิดแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ โดยติดต่อผ่านทางลมหายใจในอัตรา 1 ต่อ 10 คน
Q วัณโรค เกิดจากสาเหตุอะไร
A วัณโรค เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มของ Mycobacterium spp. ชนิดที่พบบ่อยคือ Mycobacterium Tuberculosis ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เกือบทุกอวัยวะของร่างกาย ทั้งนี้ วัณโรค เป็นโรคที่พบมานานกว่า 50 ปี แต่ก่อนเชื่อว่าโรคนี้สามารถขจัดได้หมด แต่ในระยะหลังนี้มักพบ วัณโรค ระบาดในทุกๆ ประเทศ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการติดเชื้อเอดส์ จึงทำให้ วัณโรค กลับมามากขึ้น จากสถิติขององค์การอนามัยโรคพบว่า มีจำนวนผู้ป่วย วัณโรค ทั่วโลกประมาณเก้าล้านคนต่อปี และในจำนวนนี้มีประมาณสี่แสนเก้าหมื่นคน ที่เป็นในกลุ่ม วัณโรค ที่ดื้อยาหลายขนาน และสถานการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2527 พบว่ามีกลุ่มคนที่เป็น วัณโรค ประมาณเก้าหมื่นคนต่อปีที่เป็นรายใหม่ ในจำนวนนี้มีประมาณ 20% ที่ติดเชื้อเอชไอวีและประมาณ 5% ของกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ดื้อยาอย่างรุนแรง
Q วัณโรค ติดต่อกันทางใดได้บ้าง
A เชื้อแบคทีเรียตัวก่อ วัณโรค มักถูกทำลายในแสงแดด แต่ถ้าเชื้อนี้ไปอยู่ในที่ที่ไม่มีแสงแดด มันก็จะมีฤทธิ์มากกว่าหนึ่งสัปดาห์ ส่วนเสมหะแห้งๆ ถ้าไม่โดนแดดก็อยู่ได้นานถึง 6 เดือน ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่คนไข้ที่มีเชื้อ วัณโรค ไอหรือจาม ซึ่งมีทั้งละอองเล็กและละอองใหญ่ ถ้าเป็นละอองเล็กก็จะแขวนลอยอยู่ในอากาศ หากมีคนสูดดมเข้าไป เชื้อก็จะเข้าไปในปอด ส่วนละอองใหญ่มักจะตกตามพื้น โดยถ้าไม่โดนแสงแดดก็จะมีชีวิตอยู่กับภูมิคุ้มกันของคนที่สัมผัสเชื้อเข้าไป ถ้าเป็นผู้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงก็จะมีอาการน้อย เชื้อสามารถถูกกำจัดได้หมดด้วยความสามารถของเม็ดเลือดขาว แต่คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กเล็กและคนชรา ผู้ป่วยเอชไอวี คนที่ทานยากดภูมิคุ้มกันในโรคมะเร็ง ก็มีโอกาสทำให้เชื้อก่อโรคมากขึ้น ในความเป็นจริงก็คือเชื้อ วัณโรค สามารถเข้าไปได้ทุกที่ แต่โดยส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะแสดงอาการที่ปอด
Q อาการของผู้ติดเชื้อ วัณโรค เป็นอย่างไร
A ผู้ป่วย วัณโรค จะมีไข้ เบื่ออาหาร ไอเรื้อรัง บางคนจะไอมากจนมีเลือดปน มีเหงื่อออกตอนกลางคืน กินไม่ได้ อีก 20% ไม่ได้ติดเชื้อที่ปอดอย่างเดียว เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและไปที่อวัยวะต่างๆ โดยแสดงอาการแต่ละที่ต่างกัน ถ้าเข้าไปที่บริเวณสมองหรือเยื่อหุ้มสมองก็จะทำให้เป็นไข้ปวดศีรษะ โดยบางคนเป็นมากก็จะซึม คลื่นไส้อาเจียน ถ้าเข้าไปในระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ หรือท้อง จะทำให้มีไข้ ปวดท้องเรื้อรังโดยหาสาเหตุไม่ได้ ถ้าเข้าไปที่กระดูกก็จะมีไข้ ปวดตามข้อและกระดูก คือส่วนใหญ่จะมีไข้ต่ำๆ ทานอาหารไม่ได้ อาการไม่ได้เฉพาะเจาะจง
Q วิธีการรักษา วัณโรค เป็นอย่างไร
A การรักษาแบ่งออกเป็น 2 ระยะใหญ่ๆ ระยะแรกคือ ช่วงสองเดือนแรกของการรักษาจะให้ยามาตรฐานในการรักษาประมาณ 4-5 ตัว โดยยาหลักตัวแรกคือ lsoniazid (INH) ตัวที่สองคือ Rifampicin ตัวที่สามคือ Ethambutol และ Pyrazinamide และอีกตัวหนึ่งเป็นยาฉีด ระยะสองเดือนแรกของการรักษาจะทำให้เชื้อถูกทำลายหรือถูกยับยั้ง ถ้าคนไข้รักษาในช่วงสองเดือนแรกอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอก็จะมีโอกาสทำให้เชื้อดื้อยาน้อยลง ส่วนระยะที่สองของการรักษาต่อจากสองเดือน ดังกล่าวก็จะเป็นระยะที่ต่อเนื่อง คือช่วยให้ปริมาณเชื้อในร่างกายค่อยๆ อ่อนแอแล้วก็หมดไป ซึ่งก็มีสูตรการรักษาหลายสูตร แต่มาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปมักจะเป็นหกเดือน คือสองเดือนและสี่เดือน แต่ละสูตรก็จะมีความเหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนแต่ละแบบ อย่างสูตรเก้าเดือน จะใช้ในกรณีที่เป็นคนท้องหรือคนที่มีปัญหาการทำงานของตับผิดปกติเล็กน้อย ส่วนสูตร 18 เดือนใช้สำหรับกลุ่มของไวรัสตับอักเสบที่รุนแรง
Q เราสามารถป้องกัน วัณโรค ได้อย่างไร
A จะต้องให้คนไข้ปิดปาก โดยเฉพาะในช่วงสองสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ ต้องปิดปากไม่ให้ไอจามในทีสาธารณะ ควรมีแบบแผนบังคับโดยการฉีดวัคซีนในเด็กคือ BCG Vaccine ซึ่งเป็นวัคซีนที่มาจากเชื้อแบคทีเรีย แม้ว่าวัคซีนจะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่จะช่วยลดความรุนแรงใ นกรณีที่ติดเชื้อ วัณโรค แบบแพร่กระจายไปทั่วร่างกายรวมถึงเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งจะผลต่อระบบประสาทในเด็กได้ ดังนั้น อีกข้อหนึ่งคือ ควรหลีกเลี่ยงการไปสัมผัสเชื้ออย่าเข้าไปอยู่ในที่ชุมชนแออัด เช่น ไปห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ เมื่อเจอคนไอจามแล้วไม่ระวัง เราก็ต้องระวังด้วยการปิดปากและจมูกเอง
Q การเอ็กซเรย์ปอดทุกปีมีความจำเป็นมั้ย
A มีความจำเป็น เพราะในปัจจุบันเรามีโอกาสรับเชื้อโรคจากข้างนอกโดยไม่รู้ตัว จึงสมควรเอ็กซเรย์ปอดปีละครั้งเป็นอย่างน้อย
Q คนที่ติดเชื้อ วัณโรค อย่างอ่อนสามารถรักษาให้หายได้มั้ย
A ได้ค่ะ คือ ถ้าทานยาอย่างต่อเนื่องแล้วก็รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีโอกาสหายจาก วัณโรค ได้ แต่คนที่หายก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกถ้าไปรับเชื้อมาใหม่
Q แล้วคนที่เป็น วัณโรค มีโอกาสเสียชีวิตมั้ย
A เสียชีวิตได้ถ้าเป็นในอวัยวะที่สำคัญ เช่น ที่สมองเพราะถ้าเป็นขั้นรุนแรงก็จะรักษายากขึ้น เช่น กรณีเป็น วัณโรค ดื้อยาก็อาจมีผลทำให้ใช้ยามาตรฐานตามสูตร ดังกล่าวไม่ได้ ก็ต้องใช้ยาสำรอง หรือยาทดลองอื่นซึ่งอาจให้ผลการรักษาไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และก็จะเสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้นและใช้ระยะเวลาในการรักษานานขึ้น อาจเป็นปีหรือปีครึ่งถึงสองปี ก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
Q ในกรณีที่เป็น วัณโรค ดื้อยาล่ะ
A ปกติจะมีเกณฑ์ในการรักษา คือถ้าคนไข้รักษาแล้วประมาณสองเดือนก็จะมีการตรวจสอบเสมหะซ้ำ ถ้ายังพบเชื้อในเสมหะไปเพาะเชื้อ เพื่อดูว่าเชื้อมีความไวต่อยาชนิดอื่นหรือไม่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนยาที่เชื้อนั้นไวให้เป็นกลุ่มนั้นแทนและติดตามคนไข้ ตามอาการ และดูฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นระยะ ปัจจัยที่ทำให้ วัณโรค ดื้อยาคือหนึ่ง เลือกยาที่ไม่เหมาะสมสองคือ คนไข้มารักษาไม่ต่อเนื่องแล้วก็กินยาไม่สม่ำเสมอ ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขลดปัญหาดื้อยา ด้วยการให้คนไข้กินยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่หรือต่อหน้าญาติคนไข้ คือยามีสองแบบ หนึ่ง คือยาที่ต้องกินทุกวัน ในกรณีที่เชื่อใจคนไข้ว่ากินยาง่าย สอง คือยาที่กินสองครั้งต่อสัปดาห์ วิธีนี้จะให้ได้ผลก็ต้องให้คนไข้กินยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการบังคับไปในตัว ส่วน วัณโรค ดื้อยาก็คือ วัณโรคที่ดื้อยา lsoniazid และ Rifampicin สองตัวนี้เป็นหลักจึงจะเรียกว่า วัณโรค ดื้อยา หรือในกรณีที่วัณโรคดื้อยารุนแรงก็คือ การดื้อยาสองตัวดังกล่าวและรวมทั้งดื้อยาในกลุ่มอื่นๆ ด้วย
Q ถ้าคนที่เป็น วัณโรค แล้วไม่แสดงอาการจะแพร่เชื้อได้มั้ย
A ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อถูกขจัดไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะตอนแรกๆ ที่เชื้อเข้าไปมันยังไม่สามารถแพร่กระจายได้ คือหลังการรับเชื้อประมาณ 2 เดือนขึ้นไป เชื้อจะเพาะตัวซึ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายได้ เมื่อเชื้อปะทุขึ้นมาแล้วร่างกายก็ไม่สามารถขจัดได้หมด
ข้อแนะนำจาก พญ.พรรณราย เลอวัฒนกิจถาวร
ถ้า คนใกล้ตัวเราเป็น วัณโรค ไม่ว่าจะเป็นญาติ คนรู้จัก หรือผู้ร่วมงานที่ติดเชื้อ แล้วสงสัยว่าจะเป็น วัณโรค ก็ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัย แต่ถ้าเป็นจริงก็ต้องแยกตัวผู้ป่วยออกไปสองสัปดาห์แรกในการรักษา เพราะเป็นช่วงที่เชื้อแพร่กระจายมากที่สุด และอาจต้องแยกเครื่องใช้ต่างๆ ของคนไข้ นอกจากนี้ก็อาจจะต้องระมัดระวัง คือ หลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยง ในเรื่องของการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เช่น ระวังเรื่องการติดเชื้อเอดส์ หากมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องป้องกัน หรือ ไม่ควรเสพยาเสพติดโดยการฉีดยาเข้าเส้น เป็นต้น หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ชุมชนแออัด ที่สำคัญคือต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ภูมิคุ้มกันไม่ต่ำจนเกินไป
http://health.kapook.com/view858.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก