สรุปประเด็นโดยกระปุกดอทคอม
สธ.สั่ง เฝ้าระวังโรคติดต่อจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาตามแนวชายแดนไทยพม่า ลาว กัมพูชา หลังพบป่วยมากที่สุด 3 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน มาลาเรีย และโรคหัด งัด 4 มาตรการเฝ้าระวัง
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทยมากขึ้น โดยล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2553 พบว่ามีกว่า 1 ล้านคน และส่วนใหญ่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ไม่ได้ผ่านระบบการตรวจสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากระบบการควบคุมป้องกันโรคไม่ดีพอ คนต่างด้าวอาจนำโรคมาแพร่สู่คนไทยได้ง่ายขึ้น
ทั้ง นี้ จากรายงานผลการเฝ้าระวังโรคติดต่อในกลุ่มต่างด้าว สำนักระบาดวิทยา โดยเฉพาะในศูนย์พักพิงชั่วคราวชายแดนไทย-พม่า และแนวชายแดนไทย-ลาว-กัมพูชา พบว่าโรคที่เป็นปัญหาในกลุ่มคนต่างด้าว 3 โรคสำคัญอันดับแรก ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคมาลาเรีย และโรคหัด ซึ่งในปีที่ผ่านมาพบมีรายงานผู้ป่วยรวมกว่า 10,000 ราย และโรคดังกล่าวเป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์โรคที่เกิดในต่างด้าว พบว่ามีความสอดคล้องกับการเกิดโรคในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จะเกี่ยวพันกับการพบโรคอหิวาตกโรคในจังหวัดชายฝั่งหลายแห่งในปี 2552 และระบาดต่อเนื่องจนถึงปี 2553 ใน 43 จังหวัด
ดังนั้นการป้องกันควบคุมโรคนั้น จะต้องใช้ 4 มาตรการ คือ
1.นายจ้างต้องพาแรงงานไปตรวจสุขภาพ ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อค้นหาโรคติดต่อ ซึ่งเชื้ออาจยังไม่แสดงอาการเจ็บป่วยให้เห็นก็ได้ เช่น โรคเท้าช้าง วัณโรค หากพบว่าติดเชื้อก็จะได้รับการรักษาให้หายขาด
2.สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขในจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดนทั้งหมด เฝ้าระวังสถานการณ์อุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลันอย่างใกล้ชิด หากพบแนวโน้มสูงขึ้น ให้ส่งเชื้อตรวจวิเคราะห์ เพื่อตรวจจับเชื้ออหิวาตกโรคและควบคุมให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นท่าเรือประมง มีแรงงานต่างด้าวมาก ต้องเน้นความสะอาดห้องน้ำห้องส้วม ตลาดสด ตรวจระดับคลอรีนคงค้างในน้ำประปาให้ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้บางพื้นที่กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง และกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งโรคมีโอกาสแพร่ระบาดได้ง่าย
3.ให้ทุกจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้เด็กไทยอายุ 9 เดือน-12 ปี และเด็กต่างด้าวทุกคนให้ครอบคลุมมากที่สุด
4.ติวเข้มบุคลากรทางการแพทย์ ในการตรวจวินิจฉัยโรคมาลาเรีย เพื่อให้การรักษา ควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายต่อในจังหวัด
http://health.kapook.com/view21865.html
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก