ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 27 กรกฎาคม 2554 18:27 น. |
|
วันนี้ (27 ก.ค.) นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ประธานคณะ อนุกรรมการประเมินและติดตามประสิทธิภาพเครื่องมือทางการแพทย์ และหัตถการโรคผิวหนัง สมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว “การฉีดโบท็อกซ์ และสารเติมเต็มอย่างไรให้ปลอดภัย” ที่จัดขึ้น ณ สมาคมผิวหนังฯ กทม.ว่า ปัจจุบันกระแสความนิยมการใช้โบท็อกซ์เพื่อความงามอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนผู้เข้ามารับบริการที่สถาบันโรคผิวหนัง จากปกติเฉลี่ยเดือนละ 10 คน กลับเพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 100 คน ซึ่งจะมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้ง อายุเฉลี่ยของผู้ใช้บริการต่ำลงเรื่อยๆ อยู่ที่อายุ 19-20 ปี ทั้งนี้ ยังมีการพบด้วยว่า มีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดอย่างไม่ถูกต้องเข้ารับการแก้ไขที่สถาบันฯ ซึ่งปัจจุบันแม้พบไม่มาก แต่ก็ถือเป็นเรื่องพึงระวัง เพราะส่วนใหญ่มาจากการใช้สารเติมเต็มที่เรียกว่า Filler ซึ่งขณะนี้นิยมไม่แพ้โบท็อกซ์ เพราะได้ผลในเรื่องการปรับโครงสร้างใบหน้า เช่น การเสริมจมูก คาง เติมร่องลึก รอยบุ๋มต่างๆ
“อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของผลข้างเคียงนั้น มีความจำเป็นต้องศึกษาอย่างมาก เพราะโบท็อกซ์ จัดเป็นสารสกัดจากแบคทีเรีย ที่เรียกว่า คลอสตริเดียมโบทูลินัม ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวที่พบในหน่อไม้บี๊ป มีพิษต่อร่างกาย ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบปลายประสาท ทำให้กล้ามเนื้อลีบ และหากใช้มาก หรือไม่ถูกต้องมีสิทธิเข้ากระแสเลือด เสียชีวิตได้ ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น เกิดจุดเลือดออกบนผิว ทำให้เกิดรอยจ้ำช้ำ อาการปวดหัว เนื่องจากตัวสารโบท็อกซ์ ไปยืดกระดูก ทำให้ความดันเพิ่ม ในกรณีที่ฉีดคิ้วไม่ให้ตก หรือบริเวณรอบดวงตา หากฉีดไม่ถูกต้อง หรือใช้ปริมาณมากเกินไป หรือใช้สารไม่มีความบริสุทธิ์พอ อาจส่งผลต่อสายตาให้เห็นภาพซ้อน หรือหนังตาตก จนส่งผลต่อการมองเห็น สุดท้ายทำให้ใบหน้าผิดรูป โดยเฉพาะการฉีดบริเวณกล้ามเนื้อคอ อาจส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และลุกนั่งได้ลำบาก และการฉีดที่กล้ามเนื้อน่อง ต้องระวังในเรื่องอาการแทรกซ้อนเรื่องการปวดเมื่อยเกร็งมากขึ้น นอกจากนี้ การฉีดสารดังกล่าวเข้ากล้ามเนื้อบ่อยๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อบางลง โดยพบว่า คนไข้ที่ฉีดบริเวณกรามจะทำให้กล้ามเนื้อที่ยึดรอยต่อของกระดูกบาง จนเมื่อขยับปากก็จะมีอาการปวดทันที ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ฉีดอย่างมาก ดังนั้น การฉีดโบท็อกซ์จำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม ต้องมีแพทย์ที่เข้าใจเรื่องระบบกล้ามเนื้อและมีประสบการณ์ คุณภาพของยาต้องดีจริงๆ” นพ.จินดา กล่าว
นพ.จินดา กกล่าวด้วยว่า ในส่วนของผลข้างเคียงของฟิลเลอร์ สิ่งที่น่าห่วงตรงที่แม้จะไม่ถึงแก่ชีวิต แต่มีผลข้างเคียงสูงกว่าโบท็อกซ์ เนื่องจากเป็นสารที่มีความหลากหลายของวัตถุที่นำมาใช้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่สลายได้ตามธรรมชาติ ผลิตจากคลอลาเจนจากหมู วัว อยู่ได้เพียง 4-6 เดือน 2.ซิลิโคน และพาราฟิน เป็นสารที่ไม่สลายเลย จึงทำให้มีผลข้างเคียงระยะยาว เพราะเกรงว่าอาจเกิดสารก่อมะเร็งในอนาคต ที่สำคัญเมื่อใช้เวลานานสารอาจไหลย้อยไปอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง บวมแดง ซึ่งรักษาต้องผ่าตัด เลาะเนื้อเยื่อยบริเวณใต้ผิวหนังเพียงอย่างเดียว ทำให้เจ็บปวดและมีแผลเป็น ที่สำคัญ ยังอาจเกิดอาการแพ้จนมีเม็ดแข็งๆ อยู่ใต้ผิวหนัง จับแล้วขรุขระ อีกทั้งยังเสี่ยงติดเชื้อเข้าอวัยวะอื่นๆ หรือเข้ากระแสเลือดได้เช่นกัน แต่น้อยกว่าโบท็อกซ์ นอกจากนี้ สารนี้ยังมีโอกาสอุดตันเส้นเลือด เมื่อเลือดไม่หล่อเลี้ยงก็จะทำให้เนื้อบริเวณดังกล่าวเน่า ตาย และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มสลายตัวช้าๆ 1-2 ปี ซึ่งผลข้างเคียงคล้ายกลุ่มที่ 2
ด้าน รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนจะตัดสินใจในการดำเนินการนั้น ประชาชนต้องพิจารณาว่าวิธีที่ปลอดภัยคืออะไร เพราะขนาดแพทย์เชี่ยวชาญก็เกิดผิดพลาดได้ ทั้งนี้ ควรเลือกสถานที่ที่ทำ พร้อมทั้งแพทย์ที่มีประสบการณ์ หรือสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ www.dht.or.th ซึ่งมีรายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ ตรวจสอบได้ทันที
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000092880