ชานิ้วมือ...ระวัง! พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ (ไทยรัฐ)
ที่มา : ศูนย์ศัลยกรรมทางมือ โรงพยาบาลเวชธานี
โรคพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือพบได้บ่อย ผู้ที่เป็นจะมีอาการชานิ้วมือ ซึ่งมักจะเป็นที่นิ้วกลางและนิ้วนาง รวมทั้งนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือก็ชาได้ เริ่มแรกมักจะมีอาการชาตอนกลางคืน ถ้าสะบัดข้อมืออาการจะดีขึ้น ต่อมาอาการชาจะเป็นมากและบ่อยขึ้น จนกระทั่งชาเกือบตลอดเวลา นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีแรง ทำของหลุดจากมือโดยไม่ได้ตั้งใจ ถ้าเป็นนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการอุ้งมือด้านข้างลีบได้
นพ.ทวีพงษ์ จันทรเสโน ศัลยแพทย์ กระดูกและข้อโรงพยาบาลเวชธานี บอกว่า ส่วนใหญ่อาการมือชาที่พบ มี สาเหตุจากเส้นประสาทกดทับที่ฝ่ามือ (Carpal Tunnel Syndrome) ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดมือ ปวดร้าวขึ้นไปที่แขน และมักจะมีอาการชาที่นิ้วมือ โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและบางส่วนของนิ้วนางตามแนวของเส้นประสาทอาการปวดจะมีมากขึ้น เมื่อมีการใช้งานในลักษณะการเกร็งอยู่นานๆ ในท่าเดิม เช่น การจับมีด กรรไกร การทำงานช่างที่ใช้ค้อนหรือใช้เครื่องมือที่มีแรงสั่นสะเทือน ตั้งแต่เครื่องเป่าผมจนถึงเครื่องกระแทกเจาะคอนกรีต มักจะมีอาการปวดในเวลากลางคืนหรือเวลาตื่นนอนตอนเช้า บางรายที่ถูกกดทับอยู่นานๆ จะเริ่มมีอาการอ่อนแรงของมือ เช่น จะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีแรงเวลากำมือ โดยเฉพาะการใช้มือหยิบของเล็กๆ จะทำได้ลำบากและมีกล้ามเนื้อลีบที่ฝ่ามือ
อาการปวดและชาเกิดเนื่องจากมีความดันสูงในช่องอุโมงค์ที่เส้นประสาทลอดผ่าน ที่บริเวณฝ่ามือ เนื่องจากมีการอักเสบและการหนาตัวของเนื้อเยื่อพังผืดที่คลุมช่องอุโมงค์นี้ ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการชามือได้ ซึ่งในรายที่เป็นมากๆ จะเกิดเนื้อเยื่อพังผืดบางๆ รัดเส้นประสาทอีกชั้นหนึ่ง ทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล นอกจากนี้อาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพราะพังผืดหนาขึ้นก็ได้ เช่น เยื่อหุ้มรอบเส้นเอ็นหนาตัวขึ้น ก็อาจทำให้มีความดันในช่องอุโมงค์บริเวณฝ่ามือสูงขึ้นได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงและโรคที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
เช่น โรคเบาหวาน , โรคข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์, เก๊าต์, โรคต่อมไทรอยด์บกพร่อง, ภาวะตั้งครรภ์, ก้อนถุงน้ำหรือเนื้องอกในช่องอุโมงค์, กระดูกหักบริเวณข้อมือ, การใช้งานมือนานๆ, ภาวะบวมน้ำจากโรคไต โรคตับ เป็นต้น
ทำอย่างไรเมื่อพบอาการน่าสงสัยดังกล่าวข้างต้น
เบื้องต้นผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยก่อนว่าใช่โรคพังผืดทับเส้น ประสาทที่ข้อมือหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นโรคอื่น หรือการกดทับเส้นประสาทที่ตำแหน่งอื่นก็ได้ โดยแพทย์จะดูจากอาการปวดแปลบๆ เวลาเคาะที่เส้นประสาท และอาจพบว่ามีกล้ามเนื้อลีบ ในบางรายอาจต้องใช้การตรวจระบบไฟฟ้าของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ หากแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้
การรักษาเบื้องต้นคือการลดความดันในโพรงข้อมือ ได้แก่
การดามข้อมือ พบว่าถ้าให้ข้อมืออยู่นิ่งๆ ตรงๆ จะมีความดันในโพรงข้อมือต่ำสุด ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงเส้นประสาทดีขึ้น วิธีนี้ใช้สำหรับกรณีที่เป็นระยะแรก คือพังผืดยังไม่หนามากนัก จะได้ผลค่อนข้างดี
ปรับ การใช้ข้อมือในการทำงานและชีวิตประจำวัน การทำงานที่ต้องใช้ข้อมือกระดกขึ้น หรืองอข้อมือซ้ำๆ กันนานๆ รวมทั้งงานที่มีการสั่นกระแทกจะทำให้ความดันในโพรงข้อมือสูงขึ้นได้ การปรับอุปกรณ์การทำงานให้ถูกตามหลักวิชาชีพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการใช้งานมือในลักษณะเกร็งนานๆ
ควบคุมหรือรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวานให้ดี
การใช้ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดรับประทานมักจะได้ผลดี แต่ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
การ ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในช่องอุโมงค์จะช่วยลดการอักเสบและบางรายอาจหายได้ แพทย์จะใช้ยาชาผสมกับยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าไป โดยจะหลีกเลี่ยงการฉีดตรงเส้นประสาท แต่จะฉีดไปในโพรงข้อมือรอบๆ แทน วิธีนี้พบว่าได้ผลดีเฉลี่ยประมาณ 40-50% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และปัจจัยอื่นๆ ถ้าการรักษาเบื้องต้นไม่ประสบความสำเร็จ และผู้ป่วยมีอาการชามากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้อาจจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
การผ่าตัด เป็นการรักษาในรายที่มีอาการมากหรือกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงหรือลีบลง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดทำให้โรคหายขาดได้ โดยทั่วไปหลักการของการผ่าตัดโรคพังผืดทับเส้นประสาทในข้อมือ คือ การเข้าไปตัดพังผืดที่พาดผ่านบริเวณด้านหน้าข้อมือออก ซึ่งจะทำให้ช่องว่างในโพรงข้อมือเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20% ทำให้ความดันในโพรงข้อมือลดลง และเลือดสามารถมาเลี้ยงเส้นประสาทได้ดีขึ้น
วิธีการผ่าตัดพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือมีหลายวิธี โดยวิธีที่ศัลยแพทย์นิยมทำกัน และยังถือว่าเป็นวิธีมาตรฐาน ได้แก่
การผ่าตัดแบบเปิด (Open carpal tunnel release) วิธี นี้จะเปิดให้เห็นเส้นประสาทได้โดยตรง โอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาทจะน้อยกว่า และสามารถทำการผ่าตัดอื่นร่วมด้วยได้ เช่น ตัดเยื่อหุ้มเอ็นออกได้ด้วย เป็นต้น
วิธีการผ่าตัดทางเลือกอื่น
1.การผ่าตัดแบบเปิดแผลจำกัด (Limited open carpal tunnel release) วิธี นี้จะเปิดแผลประมาณ 1.5 เซนติเมตร ที่ฝ่ามือและสามารถตัดพังผืดออกได้เช่นเดียวกับวิธีผ่าตัดแบบมาตรฐาน แต่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการตัด วิธีนี้จะมีแผลที่เล็กกว่า ผู้ป่วยกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น ส่วนผลการรักษาก็ดีพอๆ กับวิธีมาตรฐาน
2.การผ่าตัดผ่านกล้อง (Arthroscopic carpal tunnel release) วิธีนี้จะใช้กล้องส่องเข้าไปใต้ต่อพังผืดข้อมือ และตัดพังผืดออกจากด้านใน วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยกลับไปทำงานตามปกติได้เร็วขึ้น และเนื่องจากปราศจากแผลผ่าตัดที่มือ ผู้ป่วยจึงไม่เกิดการปวดที่ฝ่ามือหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นปัจจัยที่พบได้บ่อยในการผ่าตัดแบบเดิม
ทั้งนี้การรักษาสามารถทำได้ทุกวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค รวมถึงประสบการณ์และความชำนาญของศัลยแพทย์เป็นหลัก
http://health.kapook.com/view449.html
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก