จรัญสนิทวงศ์-บางพลัด

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com


สวัสดี คุณน้าชาติ

เราเป็นสาว (เหลือ) น้อยชาวบางกอก อยากทราบประวัติถนนจรัญสนิทวงศ์ กับบางพลัด แต่งกิ๊ว แปลว่า ขอบคุณค่า

กวนจัง

ตอบ กวนจัง

ถนน จรัญสนิทวงศ์ (Thanon Charan Sanit Wong) เป็นถนนในฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากถนนเพชรเกษม ที่สี่แยกท่าพระ ในแขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ ตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนพณิชยการธนบุรี (จรัญสนิทวงศ์ 13) ที่สามแยกพณิชยการธนบุรี จากนั้นข้ามคลองมอญ เข้าสู่พื้นที่แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย ตรงไปทางทิศเหนือ ตัดกับถนนพรานนกที่สามแยกไฟฉาย จากนั้นโค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับทางรถไฟสายใต้ (จากสถานีรถไฟธนบุรี) เข้าแขวงบางขุนนนท์ ตัดกับถนนบางขุนนนท์ที่สามแยกบางขุนนนท์

จากนั้นข้ามคลองบางกอกน้อย เข้าสู่แขวงอรุณอมรินทร์ ตัดกับถนนบรมราชชนนีที่สี่แยกบรมราชชนนี เข้าสู่พื้นที่เขตบางพลัด โดยเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงบางบำหรุกับแขวงบางยี่ขัน ไปจนตัดกับถนนสิรินธรและถนนราชวิถีที่สี่แยกบางพลัด จากนั้นจึงเข้าสู่แขวงบางพลัด มุ่งตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามคลองบางพลัดเข้าสู่พื้นที่แขวงบางอ้อ และไปสิ้นสุดที่เชิงสะพานพระราม 7 ในพื้นที่ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

สำหรับชื่อถนน "จรัญสนิท วงศ์" ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่ หลวงจรัญสนิทวงศ์ โดยที่เดิมกรุงเทพมหานครติดป้ายชื่อถนนว่า ถนนจรัลสนิทวงศ์ ซึ่งต่อมาได้แก้ไข เป็น จรัญสนิทวงศ์ ตามนามของ หลวงจรัญสนิทวงศ์ หรือนามเดิม หม่อมหลวงจรัญ สนิทวงศ์ เป็นบุตรของ เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับ ท่านผู้หญิงวงศานุประพัทธ์ (ตาด สิงหเสนี) ท่านเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2456 ก่อนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ท่านเคยเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และตำแหน่งสุดท้ายเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ในรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานราชทินนามเป็น หลวงจรัญสนิทวงศ์ นามของท่านถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของถนนที่กรมทางหลวงตัดใหม่ในฝั่งธนบุรี ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระยะทาง 11.4 กิโลเมตร ดังกล่าว

สำหรับ "บางพลัด" เป็น 1 ใน 50 เขตการปกครองของกรุงเทพ มหานคร อยู่ในกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของฝั่งธนบุรี) มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่การปกครองต่างๆ เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบางกรวย (นนทบุรี) มีทางรถไฟสายใต้เป็นเส้นแบ่งเขต ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตบางซื่อ เขตดุสิต และเขตพระนคร มีแนวกึ่ง กลางแม่น้ำเจ้า พระยาเป็นเส้นแบ่งเขต ทิศใต้ ติดต่อกับเขตบางกอกน้อย มีถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าเป็นเส้นแบ่งเขต ทิศตะวันตกติดต่อกับ เขตบางกอกน้อยและเขตตลิ่งชัน มีถนนบรมราชชนนีและคลองบางกอกน้อยเป็นเส้นแบ่งเขต

เดิมมีฐานะเป็น อำเภอชั้นในของพระนคร ชื่อ อำเภอบางพลัด ต่อมาถูกลดฐานะเป็น ตำบลบางพลัด ขึ้นกับอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี กระทั่งรวมจังหวัดธนบุรีกับจังหวัดพระนครเข้าด้วยกันเป็นจังหวัดนครหลวง กรุงเทพธนบุรี ก่อนเปลี่ยนเป็นกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2515 จึงเปลี่ยนฐานะเป็น แขวงบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ครั้นมกราคม พ.ศ.2532 กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งสำนักงานเขตบางกอกน้อย สาขาบางพลัด ดูแลพื้นที่แขวงบางพลัด บางอ้อ บางบำหรุ และบางยี่ขัน

ซึ่งต่อมาท้อง ที่ทั้ง 4 แขวงนี้ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางกอกน้อยและจัดตั้ง เขตบางพลัด และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2534 ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางพลัด โดยตัดพื้นที่แขวงบางบำหรุและบางยี่ขัน เฉพาะส่วนที่อยู่ทางทิศใต้ของถนน บรมราชชนนีและถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า กลับไปเป็นพื้นที่ในการปกครองของเขตบางกอกน้อยอีกครั้ง