เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ปฏิเสธ ไม่ได้เลยว่า ข่าวการจากไปของศิลปินชื่อดังหลายท่านจากโรค มะเร็งตับ ทำให้ใครหลายคนเริ่มวิตกกังวล และหันมาสนใจโรคดังกล่าวนี้กันมากขึ้น ด้วยความจริงที่ชวนให้พองขนว่า หากประสบกับโรคนี้แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่หายขาด ซ้ำร้ายจะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ไม่เกิน 6 เดือน!!!
ปี 2549 ดีเจ.โจ้ - อัครพล ธนะวิทวิลาศ ดีเจชื่อดังจากค่ายเอไทม์ เสียชีวิตด้วยโรค มะเร็งตับ หลังต่อสู้กับโรคร้ายนี้ มานานกว่า 3 เดือน ด้วยวัย 35 ปี
ปีนี้ 2551 ยอดรัก สลักใจ ขุนพลเพลงลูกทุ่งไทย ลาโลกไปด้วยโรค มะเร็งตับ อีกเช่นกัน หลังพบเป็นมะเร็งที่ขั้วตับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา....
สอดคล้องกับความจริงที่ว่า มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง และผู้ป่วยที่เป็น มะเร็งตับ นี้ถ้ารู้ตัวก็มักจะเสียชีวิตใน 3 -6 เดือน
มะเร็งตับ มีสาเหตุมาจากอะไร ?
1. ส่วนใหญ่ของการเกิด มะเร็งตับ มีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบบีและซี จากข้อมูลสถิติของหลายสถาบันได้ผลใกล้เคียงกันว่า 80% ของผู้ป่วยโรค มะเร็งตับ เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็น มะเร็งตับ โดยมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติถึง 223 เท่า (ข้อมูลจากหนังสือความรู้เรื่องโรคตับสำหรับประชาชน)
2. มีข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า ประมาณ 90% ของผู้ป่วยโรค มะเร็งตับ จะมีตับแข็งร่วมด้วย นั่นก็หมายความว่า ถ้าท่านป่วยเป็นพาหะตับอักเสบบี และมีตับแข็งแล้ว ความเสี่ยงที่จะเป็น มะเร็งตับ จะสูงมากๆ ทีเดียว
3. มะเร็งตับ ยังมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีข้อมูลทางวิชาการที่ยืนยันได้ว่า ผู้ที่ดื่มสุราแอลกอฮอล์เป็นประจำมีความเสี่ยงเป็น มะเร็งตับ สูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
4. สารอะฟลาท๊อกซิน (Aflatoxin) ซึ่งพบปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ก็เป็นสารก่อมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิด มะเร็งตับ จากการศึกษาพบว่า อะฟลาท๊อกซิน มีความสัมพันธ์กับไวรัสตับอักเสบบี โดยเชื่อว่าเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นตัวทำให้เกิดมะเร็งตับ และอะฟลาท๊อกซินเป็นตัวเสริม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี จึงควรที่จะหลีกเลี่ยง ถั่วลิสง โดยเฉพาะถั่วลิสงป่นที่ค้างนานๆ ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว และเต้าหู้ยี้
จะทราบได้อย่างไรว่ากำลังเป็น มะเร็งตับ ?
สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเป็น มะเร็งตับ มีอัตราการอยู่รอดต่ำก็คือ มะเร็งตับในระยะแรกซึ่งจะสามารถรักษาให้หายขาดได้นั้น มักไม่แสดงอาการที่ชัดเจนออกมา โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลุมเคลือ เช่น เสียดท้องด้านขวา มีอาการจุกแน่นในบางครั้ง แต่โดยส่วนใหญ่แทบไม่มีอาการอะไรเลย ทั้งนี้ ก็เพราะตับเป็นอวัยวะที่มีกำลังสำรองมาก คนเราสามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำงานของตับประมาณ 30% ดังนั้น เมื่อมีอาการที่ชัดเจนมะเร็งก็อยู่ในระยะลุกลาม หรือ มีขนาดใหญ่และไม่สามารถจะรักษาได้แล้ว
อาการของผู้ป่วย มะเร็งตับ
ที่ชัดเจนก็คือ รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกเสียด แน่นท้อง น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว และอาการที่เด่นชัดก็คือ ปวดชายโครงด้านขวา โดยอาจร้าวไปที่ไหล่ด้านขวาหรือลำตัวซีกขวา และอาจคลำพบก้อนที่ชายโครง
การตรวจหา มะเร็งตับ ทำได้อย่างไร ?
เนื่องจาก มะเร็งตับ เปรียบเหมือนมฤตยูเงียบ การเฝ้าระวังจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการที่จะเป็น มะเร็งตับ คือ ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปและมีอาการตับแข็งร่วมด้วยควรจะต้องตรวจร่างกายอย่างน้อยทุก 6 เดือน
การตรวจหา มะเร็งตับ ในปัจจุบัน จะมีการตรวจหาระดับของสารอัลฟาฟิโตโปรตีน (Alfafeto-protein) ซึ่งเป็นสารที่มักพบในผู้ป่วย มะเร็งตับ แต่การตรวจหาค่าอัลฟาฟิโตโปรตีนอย่างเดียวไม่เพียงพอ เนื่องจากมีโอกาสผิดพลาดได้ถึง 30% การตรวจจึงควรจะร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์ เพื่อตรวจหาก้อนมะเร็งที่มีขนาดเล็ก ๆ ได้ ถ้าจะให้ละเอียดมากกว่านี้ก็คือ การตรวจโดยใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า C T Scan ซึ่งจะสามารถเห็นมะเร็งที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรได้
มีวิธีรักษา มะเร็งตับ อย่างไรบ้าง ?
มะเร็งตับ ดูเป็นโรคที่มีความน่ากลัว เพราะผู้ป่วยมักเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ส่วนใหญ่ก็เพราะเมื่อตรวจพบมะเร็งก็มีขนาดใหญ่มากแล้ว อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบในระยะแรกๆ ก็มีวิธีที่จะรักษาให้หายขาดได้ เช่น
1. การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก โดยมีเงื่อนไขว่าก้อนมะเร็งนั้นมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร เป็นมะเร็งก้อนเดียว มีเปลือกห่อหุ้ม และอยู่ภายในตับกลีบเดียว วิธีการนี้ถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
2. Transcatheter Oily Chemo-embolization หรือ TOCE ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้ เนื่องจากมีขนาดใหญ่เกินไป วิธีรักษาแบบ TOCE นี้มักจะกระทำโดยรังสีแพทย์ โดยการสอดสายขนาดเล็กเข้าไปทางเส้นเลือดแดงตับ เพื่อเข้าไปถึงก้อนมะเร็งโดยตรงเพื่อใส่ยาเคมีเข้าไปที่ก้อนมะเร็ง พร้อมทั้งอุดเส้นเลือดหลักที่เข้าไปเลี้ยงก้อนมะเร็งด้วยในเวลาเดียวกัน วิธีการรักษาแบบนี้ก็ได้ผลอยู่บ้างแต่ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ โดยส่วนใหญ่มะเร็งจะกลับโตขึ้นมาได้อีก หรืออาจแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นได้ เช่น ปอดหรือกระดูก ในทางการแพทย์การรักษาโดยวิธีนี้จึงเป็นการรักษาเพื่อยืดเวลา ในบางกรณีเมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงและไม่กระจายไปที่อื่นอาจจะผ่าตัดเอา ก้อนมะเร็งออกเลยก็ได้
3. การใช้คลื่นเสียง RFA (Radiofrequency Ablation) เป็นการฉีดแอลกอฮอล์โดยตรงที่ก้อนมะเร็ง เป็นวิธีการทำลายก้อนมะเร็งด้วยการใช้เข็มแบบพิเศษ (RF needle) ขนาดเท่ากับไส้ปากกาลูกลื่น ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร แทงผ่านผิวหนังเข้าไปในก้อนมะเร็งเป้าหมาย โดยใช้หลักการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากเครื่อง ทำให้เกิดคลื่นความถี่สูงประมาณ 375-500 KHz จะทำให้โมเลกุลของเนื้อเยื่อรอบๆ เข็มสั่นสะเทือนและเสียดสีกันจนเกิดความร้อน (Friction heat) ซึ่งจะแผ่กระจายออกไปรอบๆ จนครอบคลุมก้อนมะเร็งทั้งก้อน จากการศึกษาพบว่าความร้อนที่มากกว่า 50 องศาเซลเซียส สามารถทำให้เซลล์ตายได้ ก้อนมะเร็งที่ได้รับการรักษาจะเปรียบเสมือนเนื้อย่าง ซึ่งในต่างประเทศใช้วิธีการรักษามะเร็งตับ RFA นี้กันมานานประมาณ 12 ปีแล้ว ส่วนในประเทศไทยเริ่มใช้กันมา ประมาณ 3-4 ปี ที่ผ่านมานี้เอง แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาเหล่านี้ล้วนเป็นการรักษาแบบประทังทั้งสิ้น
4. การเปลี่ยนตับ ปัจจุบันแพทย์ไทยก็สามารถปลูกถ่ายตับได้ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งมักมีข้อจำกัดมากมาย ทำให้การเปลี่ยนถ่ายตับมักไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการรักษา
5. การฉายรังสี วิธีการนี้ไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากตับที่ดี มักมีผลเสียจากฉายรังสี
มะเร็งตับ ป้องกันได้...
1. แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี แก่เด็กทุกราย รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนถึงวิธีการติดต่อของไวรัสตับอักเสบ บี และซี
2. ลดสาร aflatoxin โดยการเน้นการเก็บอาหารให้แห้งเพื่อลดปริมาณ aflatoxin
3. โรคตับแข็ง โดยการลดการดื่มสุรา
4. ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาดิบ ก้อยปลา เพราะอาจจะทำให้เป็น โรคพยาธิใบไม้ตับหรืออาหารที่หมัก เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า แหนม ฯลฯ เพราะมีสาร ไนโตรซามีน ซึ่งทำให้เป็นโรคมะเร็งตับได้ ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกใหม่ๆ
5. ไม่รับประทานอาหารที่มีเชื้อรา ระมัดระวังอาหารที่ตากแห้ง รวมทั้งอาหารที่เตรียมแล้ว เก็บค้างคืน เพราะอาจมีเชื้อราปะปนอยู่
6. ไม่รับประทานอาหารซ้ำๆ หรืออาหารที่ใส่ยากันบูด
7. ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
http://health.kapook.com/view76.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- arokaya.org
- nci.go.th
- yourhealthyguide.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- arokaya.org
- nci.go.th
- yourhealthyguide.com