โดย : แม่ช้อยนางรำ | ||||
ขายมานานกว่า 60 ปี ตั้งแต่สมัยเตี่ยจนถึงตี๋ บัดนี้ตี๋กลายเป็นเตี่ยแล้วก็กลายเป็น "อากง" "อาเหลียง" ชื่อเหมือนพระเอกเสื่อผืนหมอนใบ "ลอดลายมังกร" แต่เจ้านายค่ะ คนละเหลียงหันค่ะ อาเหลียง..คนที่อีชั้นเขียนเล่าสัปดาห์นี้ เป็นอาเหลียงเข็นขนมจีนแต้จิ๋วขาย อยู่บนถนนทรงวาด ราชวงศ์ ถนนคนจีนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยคนจีนเดินทางมาเมืองไทย เมื่อต้นรัตนโกสินทร์เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เป็นที่จีนเขาเรียกกันว่า "จีนซินตึ๊ง" ซึ่งหมายถึง...จีนใหม่ อะไรคือจีนใหม่หรือเจ้าค่ะ? | ||||
บรรพบุรุษมาจากเมืองจีนด้วยเรือหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนจีนเก่า ที่เรียกว่า "จีนหลวง" คือจีนที่รับ ใช้สงครามรวมกับพระเจ้าตากสินหรือพระเจ้ากรุงธนบุรี มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงธนบุรีแล้วก็เลยเรื่อยจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ก็คือบรรพบุรุษของข้างมารดาของอีชั้น...แฮะ แฮะ คุยซะเลย "อาเหลียง" คนจีนเข็นรถขนมจีบเป็นคนแต้จิ๋ว เพราะฉะนั้นถึงขายขนมจีบแบบแต้จิ๋ว ซึ่งแตกต่างไปจากขนมจีบแบบกวางตุ้งที่เจ้านายกิน | ||||
แล้วเรียกว่า "ขนมจีบชาววัง" ประดิดประดอยทำแข่งกันในวัง แล้วฝากคนออกมาขายแถวท่าช้าง วังหน้า ท่าช้างวังหลัง จนกระทั่งแถมพาหุรัด หน้าร้านขายทองแม่ทองใบสมัย 5-60 ปีก่อน ตอนอีชั้นเด็ก..เด็ก คุณหญิงย่าพาไปซื้อกินเป็นประจำ ข้อแตกต่างระหว่าง "ขนมจีบแต้จิ๋ว-กวางตุ้ง" 1. ใบเกี๊ยวห่อขนมจีบใบใหญ่ไม่ผสมสี 2. เนื้อขนมจีบแต้จิ๋วเป็นหมูล้วน แต่กวางตุ้งผสมกุ้ง 3. ซีอิ๊วเปรี้ยวที่เรียกว่า "จิ๊กโซว" เหมือนกัน แต่แต้จิ๋วจะโรยกระเทียมเจียว 4. ขนมจีบแต้จิ๋วจะแนบด้วยผักชี ผักกาดหอม แต่ของกวางตุ้งไม่มี | ||||
แล้วห่อกระดาษนสพ.สดซ้ำ สำหรับอาเหลียง ขายขนมจีบแต้จิ๋วคนนี้ เข็นรถขายอยู่ถนนทรงวาด ไม่โยกย้ายไปไหน เข็นขายตั้งแต่หัวถนนตรงท่าน้ำราชวงศ์ ไปจนถึงท่าน้ำสวัสดี วัดเกาะ สัมพันธวงศ์ ขายขายมาตั้งแต่สมัยเตี่ยคือเมื่อประมาณเกือบร้อยปี นักเลงกินขนมจีบก็รู้จักกันดี อยู่ไกล..ไกลยังไงก็ต้องขับรถมาซื้อ โดยถือเวลาที่อาเหลียงจะออกขายก็ตะวันตกดินไปแล้ว ส่วนเวลาเลิกไม่แน่นอน ขายหมดเมื่ไหร่ก็เข็นรถกลับบ้านเมื่อนั้น บ้านของอาเหลียงก็อยู่ใกล้กับรร.จีน "เผยอิง" โรงเรียนที่ผลิตเศรษฐีเชื้อสายมังกรมากมาย เจ้าสั้วรวยหมื่นล้าน..แสนล้านท่านหนึ่งคนรู้จักทั่วแผ่นดิน ท่านก็เคยอยู่ซอยเดียวกับอาเหลียง บรรพบุรุษของท่านมาจากเมืองจีนเก็บขวดขาย ..อาเหลียงมองเพื่อนบ้านผู้ร่ำรวยแล้วสะท้อนใจ บรรพบุรุษของอาเหลียง ทำไมไม่เก็บขวดขายก็ไม่รู้ ลูกหลานเลยต้องเข็นรถเข็นขายขนมจีบต่อไป..เข็นไปถึงชาติหน้า ก็คนจะรวยเจ้าค่ะ |
"อาเหลียง"ขนมจีบแต้จิ๋ว..เจ้าสุดท้ายของถนนทรงวาด / แม่ช้อยนางรำ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 มีนาคม 2552 16:06 น.