คลายหนาวด้วย “ขิง”สมุนไพรฤทธิ์ร้อน / เอมอร คชเสนี

โดย เอมอร คชเสนี 13 ธันวาคม 2552 11:53 น.

      
      
       หากเรากินอาหารให้เหมาะกับฤดูกาลแล้ว อาหารนั้นก็จะยิ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพนะคะ ตัวอย่างเช่น สมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนอันที่จริงโดยทั่วไปก็กินกันได้ทุกฤดู แต่ก็เหมาะอย่างยิ่งที่จะกินในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น สมุนไพรฤทธิ์ร้อนมีหลายชนิด เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย กะเพรา โหระพา พริก พริกไทย ฯลฯ แต่ที่จะกล่าวถึงในวันนี้ ก็คือ “ขิง” ค่ะ

      
       ขิงเป็นสมุนไพรที่เรารู้จักกันดีและใช้กันมานาน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ไก่ผัดขิง ปลานึ่ง ปลาต้มส้ม โจ๊กใส่ขิง เมี่ยงคำ เต้าฮวย บัวลอยน้ำขิง หรือหากใครชอบน้ำผลไม้ปั่น ลองเพิ่มรสชาติด้วยขิงก็หอมอร่อยดีค่ะ
      
       สรรพคุณของขิง
       ตำรายาไทยมีการนำขิงมาใช้ประโยชน์แทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นต้น ใบ ดอก ราก ผล แต่ส่วนมากที่นำมาใช้กันก็คือ เหง้าขิง ซึ่งนิยมใช้เหง้าแก่สด เพราะขิงยิ่งแก่จะยิ่งมีรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม และมีใยอาหารมาก
      
       นอกจากขิงจะช่วยขับเหงื่อ ไล่ความเย็น ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นแล้ว ยังมีสรรพคุณอื่นๆ อีกมากมาย ได้แก่ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน เมารถเมาเรือ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการท้องร่วง ท้องเสีย บำรุงน้ำนม ช่วยย่อยอาหาร และช่วยเจริญอาหาร นอกจากนี้ผู้ที่เป็นหวัดหรือปวดศีรษะ กินขิงสดๆ จะช่วยได้มาก
       การศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าในเหง้าขิงมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีสารที่ทำให้ขิงมีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีฤทธิ์ขับลม ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ลำไส้เพิ่มการเคลื่อนไหว ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และยังมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า ขิงช่วยลดอาการข้ออักเสบได้ แต่เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ร้อน จึงยากที่จะกินในปริมาณมากเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ
      
       ในประเทศอินเดียใช้ขิงในการบำบัดรักษาสุขภาพมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว โดยอาศัยสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
       บางตำราก็ระบุว่ามารดาที่ให้นมบุตรหากได้กินขิง สารสำคัญจากขิงสามารถผ่านไปยังน้ำนม ช่วยทำให้ทารกไม่มีอาการปวดท้องได้อีกด้วย
      
       
วิธีการนำมาใช้
       บรรเทาอาการจุกเสียด ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน เมารถเมาเรือ : นำขิงแก่สดประมาณ 2-3 เหง้ามาทุบพอแตก แล้วนำไปต้มกับน้ำ
      
       บรรเทาอาการหวัด : นำขิงแก่ขนาดประมาณหัวแม่มือ ทุบให้แตก ต้มกับน้ำ 1 แก้ว ใช้ไฟอ่อนๆ ต้มให้เดือดนาน 5 นาที แล้วเติมน้ำเล็กน้อย ดื่มขณะยังอุ่น 3 เวลา เช้า-กลางวัน-เย็น หรือนำขิงแก่มาปอกเปลือก ฝานเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำไปตากในที่ร่มประมาณ 2 วันจนแห้ง แล้วนำขิงแห้ง 3 กรัมต้มกับน้ำ 1 แก้วจนเดือดนาน 3 นาที ดื่มบรรเทาอาการหวัด หรือจะใช้ขิงแก่ 2-3 เหง้า นำมาทุบให้ละเอียดต้มกับน้ำอาบเพื่อขับเหงื่อ ลดอาการไข้เนื่องจากหวัด
      
       บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ : นำขิงสดมาตำ คั้นน้ำให้ได้ประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 2 ถ้วย ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้ขิงสดฝนกับมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
      
       บรรเทาอาการท้องเสีย ท้องร่วง : ใช้ขิงแห้งชงกับน้ำอุ่น ดื่มวันละครั้ง น้ำขิงจะช่วยให้การอักเสบที่เกิดจากพิษของเชื้อโรคลดลง และช่วยขับเชื้อโรค
       
       บรรเทาอาการปวดประจำเดือนในช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน : นำขิงแก่แห้งมาต้มกับน้ำ ดื่มบ่อยๆ
      
       รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก : ตำขิงสดให้ละเอียดแล้วนำกากมาพอกที่แผล บรรเทาอาการอักเสบเป็นหนอง
      
       กำจัดกลิ่นรักแร้ : นำเหง้าขิงแก่มาทุบ คั้นเอาแต่น้ำขิง ทารักแร้เป็นประจำจะช่วยกำจัดกลิ่นได้
       ข้อควรระวัง
       การใช้น้ำสกัดจากขิงที่เข้มข้นมากๆ จะให้ผลในทางตรงข้าม คือจะไประงับการบีบตัวของลำไส้ ดัง นั้นไม่ควรดื่มน้ำสกัดจากขิงที่เข้มข้นมากเกินไป เพราะจะไม่ให้ผลในการรักษาตามที่ต้องการ และเนื่องจากขิงมีฤทธิ์ร้อน หากกินมากเกินไป อาจทำให้แสบคอ เจ็บคอ และร่างกายร้อนจนเกินไป
       

       นอกจากขิงแล้ว ก็อย่าลืมสมุนไพรฤทธิ์ร้อนตัวอื่นๆ ด้วยนะคะ จะช่วยให้ร่างกายของคุณอบอุ่นขึ้น กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต หากป่วยไข้ไม่สบาย ก็จะช่วยบรรเทาอาการให้หายเร็วขึ้น
      
       นอกจากนี้ ฤดูนี้ยังเหมาะที่จะรับประทานอาหารรสเปรี้ยวและรสขม เช่น ต้มยำ ยำต่างๆ แกงส้มดอกแค แกงขี้เหล็ก สะเดาน้ำปลาหวาน ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการหวัดได้แล้ว ยังช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วยค่ะ
      
       


      
       ติดตามฟังรายการ “Happy & Healthy”
       ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
       ทางคลื่นของประชาชน คนนำปัญญา FM 97.75 MHz
       และ www.managerradio.com

คุณรู้จัก “น้ำตา” ดีหรือยัง / เอมอร คชเสนี

โดย เอมอร คชเสนี 17 ธันวาคม 2552 12:02 น.
           
       เคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่า น้ำใสๆ ที่ไหลออกจากดวงตาเวลาที่เราร้องไห้ เพราะความทุกข์เศร้า ผิดหวัง เจ็บปวด หรือแม้ในยามที่เราดีใจ ตื้นตันใจ มันมีประโยชน์อะไรอีกหรือไม่ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือในการระบายความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา มาดูกันซิว่าคุณรู้จัก “น้ำตา” มากน้อยแค่ไหน

      
       ในภาวะปกติน้ำตาสร้างมาจากต่อมน้ำตา ต่อมภายในเยื่อบุตา ต่อมบริเวณโคนขนตา ตลอดจนต่อมภายในหนังตา แต่ละต่อมสร้างน้ำตาต่างชนิดกัน โดยเรียงกันเป็น 3 ชั้น ดังนี้
      
       ชั้นนอก เป็นชั้นไขมัน มีหน้าที่ป้องกันการระเหยของน้ำตา ทำให้น้ำตาคงอยู่ในตาได้นานขึ้น
      
       ชั้นกลาง เป็นน้ำ เป็นชั้นที่หนาที่สุด ทำหน้าที่ให้อาหารและออกซิเจนหล่อเลี้ยงกระจกตา
      
       ชั้นใน ที่ชิดผิวตาเป็นชั้นเมือก ทำหน้าที่ปรับสภาพของกระจกตา ทำให้น้ำตากระจายตัวได้อย่างรวดเร็วเวลากะพริบตา
      
       น้ำตาทั้งสามส่วนล้วนมีความสำคัญ หากขาดชั้นใดชั้นหนึ่งไปอาจทำให้เกิดความผิดปกติของตาได้ เพราะน้ำตานั้นมีหน้าที่สำคัญมากมาย ได้แก่ ให้ความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและเยื่อบุตาขาว ปรับสภาพของกระจกตาให้เรียบ ทำให้เกิดการหักเหของแสงที่สม่ำเสมอ ทำให้มองเห็นชัดเจน ป้องกันการติดเชื้อของกระจกตา ชะล้างสิ่งแปลกปลอม เป็นแหล่งอาหารให้กับผิวดวงตา เนื่องจากกระจกตาเป็นอวัยวะที่ไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง จึงต้องอาศัยออกซิเจนจากอากาศและน้ำตาที่เต็มไปด้วยเกลือแร่ วิตามินเอ วิตามินอี สารต้านจุลชีพ และสารต้านอนุมูลอิสระ
      
       อวัยวะสำหรับหลั่งน้ำตาประกอบไปด้วย
      
       ต่อมน้ำตา อยู่ในเบ้าตา ตรงมุมบนหัวตาไปถึงมุมหางตา มีท่อเล็กๆ ประมาณ 3-9 ท่อ
      
       หลอดน้ำตา เป็นหลอดเล็กๆ อยู่ในเปลือกตาบนและล่าง ตรงมุมหัวตา ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ทอดไปสู่ถุงน้ำตา
      
       ถุงน้ำตา อยู่หลังผิวหนังระหว่างหัวตากับดั้งจมูก มีท่อยาวประมาณ 18 มิลลิเมตร กว้าง 3-4 มิลลิเมตร เปิดสู่ช่องจมูก

       ขณะร้องไห้ ต่อมน้ำตาจะหลั่งน้ำตาออกมามาก บางส่วนจะล้นขอบตาไหลลงมาบนใบหน้า บางส่วนผ่านหลอดน้ำตาและถุงน้ำตาไปตามท่อสู่โพรงจมูกและคอ ที่เหลือจะระเหยหายไป น้ำตาที่ไหลลงคอเราจะรู้สึกว่ามีรสเค็ม ทั้งนี้เพราะน้ำตามีเกลือเป็นส่วนประกอบ
      
       น้ำตาของคนเรานั้นไม่ได้สร้างขึ้นเฉพาะตอนที่ร้องไห้ แต่โดยปกติก็มีการสร้างน้ำตาอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า basic tear ซึ่งสร้างโดยต่อมที่อยู่บริเวณเยื่อบุตา ทุกครั้งที่เรากะพริบตาจะมีน้ำตาออกมาเล็กน้อยหล่อเลี้ยงดวงตาของเราอยู่ ตลอดเวลา ส่วนน้ำตาที่ออกมามากในช่วงที่มีอารมณ์เศร้าหรือเจ็บปวด เรียกว่า reflex tear เกิดจากการสั่งงานของระบบประสาทเมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรณีที่มีฝุ่นผงเข้าตา แดดจ้า ลมแรง หรือมีการอักเสบของเยื่อบุตา
      
       ในต่างประเทศนั้นถึงขนาดมีการตั้งศูนย์วิจัยน้ำตากันเลยทีเดียว วิลเลียม เฟรย์ นักชีวเคมีแห่งศูนย์วิจัยน้ำตา ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องของน้ำตามานานกว่า 15 ปี และเขียนผลการวิจัยไว้อย่างน่าสนใจว่า การหลั่งน้ำตาของคนเรานั้นถูกควบคุมโดยต่อมน้ำตา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความเข้มของน้ำตา และควบคุมปริมาณการขับถ่ายแร่ธาตุต่างๆ ที่ร่างกายสร้างขึ้นขณะที่อารมณ์เปลี่ยนแปลง ออกไปจากร่างกาย
      
       เฟรย์พบว่า ปริมาณของแร่ธาตุต่างๆ ที่มีในน้ำตานั้นมากกว่าที่มีในกระแสเลือดถึง 30 เท่า และอธิบายว่าคนที่ร้องไห้จะรู้สึกสบายขึ้น เนื่องจากร่างกายได้ขจัดเอาสารเคมีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีความทุกข์ออกไปจากร่างกายพร้อมกับน้ำตานั่นเอง ในการศึกษาของเฟรย์พบว่าผู้ชาย 73% และผู้หญิง 75% กล่าวว่ารู้สึกสบายขึ้นหลังจากร้องไห้
      
       สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การหลั่งน้ำตาเนื่องจากสาเหตุที่แตกต่างกัน จะทำให้ส่วนประกอบทางเคมีของน้ำตาที่หลั่งออกมานั้นแตกต่างกันด้วย โดยพบว่าสารเคมีบางอย่างเหมือนกันและบางอย่างแตกต่างกัน
      
       การทดลองนี้ใช้ชายหญิงจำนวน 100 คนหลั่งน้ำตาด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน 2 วิธี วิธีแรกโดยการหั่นหัวหอมสด ทำให้เกิดการระคายเคืองตา น้ำตาก็จะไหลออกมา กับอีกวิธีหนึ่งก็คือให้ดูภาพยนตร์ 3 เรื่องที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์จนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
      
       หลังจากนั้นก็นำน้ำตาที่หลั่งเนื่องจากสาเหตุทั้งสองมาวิเคราะห์หา ส่วนประกอบดูความเหมือนและความแตกต่าง พบว่าส่วนประกอบที่แตกต่างกันก็คือปริมาณของโปรตีนในน้ำตา น้ำตาที่หลั่งเนื่องจากความรู้สึกสะเทือนอารมณ์จะมีโปรตีนสูงกว่าน้ำตาที่ หลั่งเนื่องจากการระคายเคืองตาถึง 24%
      
       ข้อสังเกตที่เห็นได้จากเรื่องนี้ก็คือ ผู้ที่ร้องไห้มากๆ โดยมีสาเหตุมาจากความสะเทือนอารมณ์ มักจะมีสุขภาพทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะร่างกายต้องสูญเสียโปรตีนไปนั่นเอง ประกอบกับความสะเทือนอารมณ์ต่างๆ ก็มักจะมาพร้อมๆ กับภาวะกินไม่ได้ นอนไม่หลับร่วมด้วย
      
       น้ำตาที่มาจากการร้องไห้ยังประกอบด้วยสารเคมี 3 ชนิดซึ่งเป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายอยู่ในภาวะตึงเครียด ได้แก่
      
       1.สารเอนดอร์ฟิน เป็นตัวช่วยให้ผ่อนคลายความรู้สึกเจ็บปวด
       2.เอซีพีเอช (ACPH) เป็นตัวบ่งชี้ได้มากที่สุดว่าร่างกายกำลังอยู่ในภาวะกดดัน
       3.โพรแลกติน เป็นตัวส่งเสริมการผลิตน้ำตา และเป็นตัวสำคัญที่นำมาใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างเพศในเรื่องการร้องไห้ด้วย
      
       การค้นพบนี้ถูกนำมาอธิบายความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงใน เรื่องการร้องไห้ว่า ในวัยเด็กจนถึงวัยแรกรุ่น เด็กชายและเด็กหญิงจะมีระดับโพรแลกตินใกล้เคียงกัน จึงพบว่าเด็กชายและเด็กหญิงร้องไห้บ่อยพอๆ กัน แต่เมื่อผู้หญิงโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีระดับโพรแลกตินในกระแสเลือดสูงกว่าผู้ชายในวัยเดียวกันถึงเกือบ 60% จึงทำให้ผู้หญิงร้องไห้ง่ายกว่าผู้ชาย
      
       สำหรับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน จะมีระดับโพรแลกตินลดลงอย่างมาก จึงมักพบว่ามีอาการตาแห้งซึ่งเนื่องมาจากต่อมน้ำตาหลั่งน้ำตาออกมาหล่อลื่น ได้ไม่เพียงพอ และหลั่งน้ำตาได้ช้า แม้จะเกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ก็ตาม
      
       เมื่อ “น้ำตาธรรมชาติ” ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ จึงต้องมี “น้ำตาเทียม” มาเป็นตัวช่วย ตอนต่อไปมารู้จักน้ำตาเทียมกันบ้างค่ะ

น้ำตาเทียม..เลือกใช้อย่างไร/ เอมอร คชเสนี

โดย เอมอร คชเสนี 20 ธันวาคม 2552 12:34 น.
      
      
       โดยปกติน้ำตาตามธรรมชาติของคนเราสามารถให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาเพียง พออยู่แล้ว แต่ในบางกรณีที่ทำให้ความชุ่มชื้นของดวงตาน้อยกว่าปกติ อาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยหล่อลื่นและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวง ตา

      
       น้ำตาเทียมจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติในการสร้างน้ำตาตาม ธรรมชาติ ทำให้มีน้ำตาน้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยบางรายที่ปิดตาได้ไม่สนิท ผู้ที่มีความผิดปกติของเยื่อบุตาหรือกระจกตา ผู้ที่มีอาการตาแห้ง อาจเนื่องมาจากความเครียด ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุ 50% ของผู้ป่วยที่มีตาแห้ง ในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้น้ำตาระเหยง่าย เช่น แสงแดดจัด ร้อนจัด ลมแรง ความชื้นต่ำเช่นในห้องปรับอากาศ หรือมีสิ่งระคายเคืองต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง เขม่าควัน การใช้คอนแท็กเลนส์ รวมทั้งการใช้สายตาเป็นเวลานานๆ เช่น อ่านหนังสือหรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์
      
       น้ำตาเทียมจะช่วยหล่อลื่นดวงตาและเพิ่มความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและ เยื่อบุตาขาว เพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง ซึ่งจะมีอาการแสบตา เคืองตา รู้สึกว่าตาแห้งฝืด บางครั้งมีขี้ตาเป็นเส้นๆ เมือกๆ ทำให้ลืมตายาก อาการมักเป็นมากในช่วงบ่ายๆ เย็นๆ หากมีอาการเรื้อรัง ขี้ตาเป็นเมือกติดแน่นที่กระจกตา ทำให้ผิวตาดำไม่เรียบ ติดเชื้อง่าย จะทำให้เกิดแผล หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี จะทำให้แผลอักเสบถึงขั้นตาบอดได้
      
       น้ำตาเทียมเป็นสารสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นโดยให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด มีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้
      
       - ส่วนผสมที่ช่วยเพิ่มความหนืดเพื่อให้ฉาบอยู่บนกระจกตาได้นานขึ้น แต่หากเป็นน้ำตาเทียมที่มีความหนืดมาก ระยะเวลาที่น้ำตาเทียมฉาบอยู่บนกระจกตานานๆ อาจทำให้มีอาการตามัว มองไม่ชัดหลังหยอดตาในระยะแรก
      
       - สารกันเสีย ช่วยให้น้ำตาเทียมคงสภาพอยู่ได้นาน และป้องกันการเติบโตของเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนเข้าไปขณะหยอด ทำให้สามารถเก็บได้นานประมาณ 1 เดือนหลังจากเปิดขวด
      
       - ส่วนผสมที่ช่วยปรับสมดุลขององค์ประกอบอื่นในน้ำตาเทียม ปรับความเป็นกรดด่างให้พอเหมาะ ไม่แสบตาเวลาหยอด และช่วยคงสภาพของน้ำตาเทียม
      
       - ส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อให้น้ำตาเทียมมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด เช่น ไกลซีน แมกนีเซียมคลอไรด์ โซเดียมคลอไรด์ แคลเซียมคลอไรด์ โซเดียมบอเรต และซิงค์
      
       น้ำตาเทียม มีอยู่ 2 ประเภท คือ
      
       - น้ำตาเทียมที่ใส่สารกันเสีย จะบรรจุในขวดใหญ่ ประมาณ 3 - 15 ซีซี สามารถใช้ได้นานประมาณ 1 เดือนหลังจากเปิดขวด มีข้อเสียคือสารกันเสียอาจทำให้เกิดการแพ้ระคายเคืองต่อเยื่อบุตา หรือเกิดการปนเปื้อนในกรณีที่เก็บไว้นานๆ
      
       - น้ำตาเทียมที่ไม่ใส่สารกันเสีย จะบรรจุในหลอดเล็กๆ หลอดละ 0.3 - 0.9 ซีซี มีตั้งแต่ 20 - 60 หลอดต่อ 1 กล่อง แต่ละหลอดเมื่อเปิดใช้แล้ว ต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง ข้อดีคือผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพ้เลย แต่จะมีราคาสูงกว่า
      
       ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำตาเทียมโดยใช้สารกันเสียที่สามารถสลายตัวได้ เองเมื่อถูกแสงแดด กลายเป็นเกลือที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อเยื่อบุตา
      
       ควรเก็บน้ำตาเทียมไว้ที่อุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส แต่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน หากเก็บไว้นอกห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ก็ควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำตาเทียม และไม่ควรใช้หลังจากหมดอายุที่ระบุไว้บนกล่อง
      
       การเลือกใช้น้ำตาเทียม
      
       การเลือกใช้น้ำตาเทียมนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น ผู้ที่มีอาการตาแห้งธรรมดาโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ผู้ที่ใส่คอนแท็กเลนส์ สัมผัสกับแสงแดด ลมแรง หรือใช้สายตานานๆ ก็สามารถเลือกใช้น้ำตาเทียมชนิดขวดใหญ่ที่มีสารกันเสียก่อนได้ หรือในบางราย เพียงแค่ปรับสภาพแวดล้อมหรือปรับพฤติกรรมตัวเองให้ดี อาการตาแห้งที่เป็นอยู่ก็อาจดีขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียม
      
       แต่หากมีอาการตาแห้งรุนแรง ต้องหยอดน้ำตาเทียมมากกว่า 4 ครั้งต่อวันเป็นเวลานานๆ หรือผู้ที่มีโรคของผิวกระจกตา เซลล์ของผิวกระจกตาไม่สมบูรณ์ หรือมีประวัติแพ้สารกันเสีย ก็ควรใช้น้ำตาเทียมหลอดเล็กๆ ชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย
      
       เราสามารถใช้น้ำตาเทียมได้บ่อยครั้ง โดยไม่มีผลแทรกซ้อน ยกเว้นกรณีแพ้สารกันเสีย แต่การใช้น้ำตาเทียมก็ควรพิจารณาถึงความจำเป็นว่ามีปัญหาของน้ำตามากน้อย เพียงใด จะได้ไม่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น และหากมีอาการตาแห้ง ควรไปตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์อย่างละเอียด ไม่ควรซื้อน้ำตาเทียมมาใช้เองเป็นเวลานานๆ โดยไม่หาสาเหตุที่แท้จริง

ตรวจร่างกายประจำปี จำเป็นแค่ไหน/ เอมอร คชเสนี

โดย เอมอร คชเสนี 22 มกราคม 2553 01:17 น.
   
      
       แพทย์มักรณรงค์ให้ตรวจร่างกายประจำปี อาจจะเป็นต้นปี ปลายปี หรือทุกๆ วันเกิด เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำเมื่อครบรอบปี เป็นการตรวจคัดกรองหาโรคหรือภาวะบางอย่างที่สามารถรักษาได้ในระยะแรก ซึ่งการรักษาในระยะต้นๆ จะได้ผลดีกว่า และอาจช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ แต่แพทย์ก็แนะนำให้เลือกตรวจเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่า “เท่าที่จำเป็น”
       

       สำหรับคนทั่วไป การตรวจร่างกายประจำปีจะประกอบไปด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ซึ่งจะช่วยประเมินภาวะน้ำหนักเกิน การวัดความดันโลหิตจะช่วยตรวจว่ามีความดันโลหิตสูงหรือไม่
      
       การตรวจเลือด จะทำให้ทราบความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ช่วยตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง วัดระดับน้ำตาลเพื่อตรวจหาเบาหวาน วัดระดับไขมันในเลือด คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด วัดระดับกรดยูริคซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคเก๊าท์ รวมทั้งตรวจการทำงานของตับและไต
      
       การตรวจปัสสาวะว่ามีภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือไม่ และตรวจคัดกรองโรคไตบางชนิด
      
       การตรวจอุจจาระเพื่อหาพยาธิในอุจจาระ และตรวจหาภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหาร หากมีเลือดในอุจจาระควรตรวจว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่
      
       การเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อตรวจสภาพปอดและหัวใจ ตรวจหาวัณโรค โรคปอดเรื้อรังบางชนิด หรือรอยโรคผิดปกติอื่นๆ
      
       การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อหาความผิดปกติของหัวใจหรือภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ อาจจะเริ่มตรวจเมื่ออายุ 40 ปี และตรวจซ้ำตามที่แพทย์แนะนำ
      
       นอกจากนี้ยังควรตรวจตา หู และฟัน โดยตรวจสุขภาพฟันและช่องปากทุก 6 เดือน สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจตาทุก 2-3 ปี แต่หากมีประวัติโรคต้อหินในครอบครัวควรตรวจปีละครั้ง และเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปอาจตรวจการได้ยินทุก 5 ปี
      
       ผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการคลำต่อมลูกหมากและการเจาะเลือดเพื่อหาสาร PSA (Prostate Specific Antigen) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตจากต่อมลูกหมาก
      
       สำหรับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรตรวจหามะเร็งปากมดลูก หรือแม้จะยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แต่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ก็ควรตรวจทุก 1-3 ปี
      
       การตรวจที่กล่าวมาเป็นการตรวจพื้นฐาน แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง ก็อาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม
      
       สำหรับผู้หญิงทั่วไป การตรวจคลำเต้านมของตัวเองเดือนละครั้งร่วมกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ก็จะช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ดี แต่แพทย์บางท่านก็จะแนะนำให้ตรวจ Mammogram ในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี ยกเว้นตรวจพบความผิดปกติ มีก้อนในเต้านม หรือในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 40 ปี ก็ควรตรวจ Mammogram ก่อนอายุ 40 ปี
      
       การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ยกเว้นมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมีความเสี่ยงสูงอาจตรวจ เร็วกว่านั้น
      
       การตรวจ EST (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจด้วยการวิ่งบนสายพาน ส่วนใหญ่แนะนำให้ตรวจในผู้ที่มีอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยหอบขณะออกกำลังกาย หรือผู้ที่ไม่มีอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน แต่มีอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น นักบิน นักดับเพลิง หรือมีความเสี่ยงในเรื่องต่อไปนี้ 2 ประการขึ้นไป คือ สูบบุหรี่ เป็นโรคเบาหวาน มีไขมันสูง อ้วน มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัวที่เป็นตั้งแต่อายุยังน้อย
      
       การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีประวัติในครอบครัวเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
      
       ดังเช่นที่กล่าวแล้วว่าการตรวจร่างกายประจำปีโดยละเอียดนั้นไม่จำ เป็นนักเพราะสิ้นเปลือง เลือกตรวจเฉพาะสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลทั้งเพศ อายุ ลักษณะอาชีพการงาน ประวัติการเจ็บป่วย รวมทั้งประวัติการเป็นโรคของคนในครอบครัวซึ่งอาจจะถ่ายทอดทางพันธุกรรม จะดีกว่าเหมาตรวจเหมือนกันสำหรับทุกคน โดยอาจจะปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกการตรวจที่เหมาะสม
      
       การตรวจพิเศษบางอย่างอาจไม่คุ้มค่า เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาสารที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิด การตรวจเอกซเรย์เต้านมในคนที่ไม่มีข้อบ่งชี้ การตรวจมวลกระดูก การตรวจอัลตราซาวนด์ตับ หรืออาจก่อให้เกิดผลเสียในกรณีที่ผลการตรวจขั้นต้นนั้นผิดปกติ แต่เมื่อตรวจเพิ่มเติมโดยละเอียดแล้วไม่พบโรค ทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินจำนวนมาก ดังนั้นอาจให้แพทย์ตรวจร่างกายดูก่อนว่าคุ้มหรือไม่กับการตรวจด้วยวิธีพิเศษ แม้แต่การตรวจเอกซเรย์ปอดซึ่งราคาไม่แพง แต่หากตรวจพร่ำเพรื่อเกินไปก็อาจสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
      
       อีกประการหนึ่ง มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อย แต่เก็บมาวิตกกังวลจนถึงขั้นเครียด แทนที่จะควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้สุขภาพดีขึ้น
      
       นอกจากนี้ยังมีไม่น้อยที่หมอสั่งยาให้ทันทีหลังจากที่ตรวจพบความผิด ปกติเล็กน้อย แทนที่จะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยอีก
      
       แพทย์อีกหลายท่านจึงแนะนำว่าการตรวจร่างกายประจำปีควรเป็นการตรวจหา ความเสี่ยงต่อโรค ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น เมื่อทราบความเสี่ยงแล้วก็ร่วมกันหาหนทางป้องกันความเสี่ยงอย่าให้เป็นโรค นั้น
      
       ดังนั้นหากเป็นไปได้ โรงพยาบาลควรมีระบบรองรับผู้ป่วย มีเวลาซักประวัติ เพื่อสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารตลอดจนการไม่ออกกำลังกาย ทำให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน ไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เกิดปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือผู้ที่ต้องทำงานยกของหนักอยู่ทุกวัน ส่วนใหญ่จะมีปัญหาปวดหลัง ปวดเข่า ก็ควรได้รับคำแนะนำว่าจะยกของหนักอย่างไรไม่ให้ปวดเมื่อย หรือหากต้องทำงานในโรงงานที่มีเสียงดังและเต็มไปด้วยฝุ่นละออง อาจเสี่ยงต่อโรคปอดหรือหูตึง ก็ควรได้รับคำแนะนำว่าจะทำงานอย่างไรในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นโดยไม่เจ็บป่วย ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการตรวจเหมือนๆ กันตามแพคเกจที่โรงพยาบาลจัดไว้แล้ว
      
       อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคอีกมากที่การตรวจสุขภาพไม่สามารถตรวจพบโรคได้ในระยะแรกๆ ดังนั้นถึงแม้ผลการตรวจสุขภาพจะเป็นปกติดี ก็ยังควรใส่ใจรักษาสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่ สุรา ยาเสพติด พักผ่อนให้เพียงพอ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ

กำจัดเชื้อราภายในบ้าน ทำได้ยังไงบ้างนะ



ทำความสะอาด

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          หลัง จากเผชิญกับภาวะน้ำท่วมมานานเกือบ 2 เดือน ระยะนี้ ดูเหมือนว่าสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่จะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แบบนี้ใครหลาย ๆ คนก็คงจะดีใจกันยกใหญ่ เพราะในที่สุดก็ได้กลับไปอยู่ในบ้านของตัวเองสักที อ๊ะ ๆ แต่อย่าสบายใจไปค่ะ เพราะไม่ว่าน้ำจะลด ที่บ้านมีความเสียหายน้อยยังไง สิ่งที่คุณ ๆ ต้องจัดการกันแน่ ๆ หลังจากบ้านเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ก็คือความอับชื้น กลิ่นเหม็นอับ และเชื้อราที่ผุดขึ้นในบ้านนั่นเอง

          วันนี้ กระปุกดอทคอมก็เลยขอรวบรวมวิธีกำจัดเชื้อราในบ้านมาฝากกัน เพื่อให้ผู้ (เคย) ประสบอุทกภัยได้จัดการกับเชื้อราที่นำมาซึ่งอันตรายและเชื้อโรคอย่างหมดจด และถูกวิธีค่ะ

          1. เมื่อเกิดเชื้อราขึ้นกับวัสดุที่เป็นพื้นแข็ง ให้ใช้น้ำสบู่ แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาขัดห้องน้ำล้าง และขัดให้ด้วยแปรงชนิดแข็งจนเชื้อราออกจนหมดจด จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหลาย ๆ รอบจนกว่าจะแน่ใจว่าสะอาด

          2. วัสดุที่เป็นเนื้ออ่อน เช่น หนังสือ กระดาษมัน พลาสติก กล่อง ให้ใช้สำลีชุบฟอร์มาลีนเช็ด แล้วตามด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด จากนั้นนำไปวางไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเท และมีแสงแดดส่องถึงเล็กน้อย แล้วปล่อยให้แห้ง



          3. พรม ฝ้า หรือที่นอน หาก มีเชื้อราขึ้น ให้โยนทิ้งจะปลอดภัยที่สุด เพราะวัสดุที่มีรูอย่างพรม ฝ้า และที่นอนนี้ เป็นวัสดุที่ล้างเชื้อราออกได้ยากมาก และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถล้างออกได้หมดจด 100% ซึ่งถ้าหากยังดันทุรังใช้ต่อไป ความชื้นในห้องก็อาจจะทำให้เชื้อราลุกลาม ฟักตัวได้กว้างขึ้น ทำให้เกิดโรคและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของผู้อยู่อาศัยไม่รู้ตัว ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่คุ้มกันเลยล่ะ

          4. อย่าทาสีหรือแลคเกอร์ทับในบริเวณที่เกิดเชื้อรา ให้ล้างออกให้สะอาดหมดจดก่อน จากนั้นค่อยเริ่มทาสีหรือแลคเกอร์

          5. กรณีที่เชื้อราผุดให้เห็นในข้าวของเครื่องใช้ประเภทเครื่องหนัง ให้ใช้น้ำส้มสายชูเช็ดหลาย ๆ ครั้ง จนแน่ใจว่าสะอาด จากนั้นเช็ดครั้งสุดท้ายด้วยน้ำสะอาด น้ำส้มสายชูจะช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี

          6. เฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้ที่เป็นไม้เนื้ออ่อน โดยปกติวัสดุเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการขึ้นราเมื่อมีความชื้นอยู่แล้ว ซึ่งมันจะไม่เป็นอะไรมากนักหากนำมาล้างทำความสะอาดภายใน 24-48 ชั่วโมงที่พบเชื้อ หรือเริ่มสังเกตเป็นดอกเป็นดวงขึ้น แต่ในกรณีที่น้ำท่วมแล้วปล่อยบ้านไว้นานเป็นเดือน ๆ ขอแนะนำให้ทิ้งข้าวของเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนเหล่านั้นไปอย่างไม่ ต้องเสียดาย เพราะอาจจะฟักตัวเป็นเชื้อราที่อันตรายมากขึ้นได้


งานบ้าน
          7. ย้ายเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องใช้ที่มีราขึ้น (และตอนนี้ได้ทำความสะอาดแล้ว) ไปอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือที่แสงแดดส่องถึงสักระยะหนึ่ง คือประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วหมั่นคอยตรวจสอบว่า หลังจากทำความสะอาดแล้วยังมีเชื้อราขึ้นอยู่อีกหรือไม่ หากไม่มีก็แสดงว่าสามารถแน่ใจแล้วว่าเราได้ทำความสะอาดเชื้อราออกไปได้อย่าง หมดจดแล้วจริง ๆ แต่หากยังพบร่องรอยของเชื้อรา ขอให้นำมาทำความสะอาดใหม่ เพราะมันจะลามได้ง่ายมากถ้าหากวันหนึ่งอากาศชื้นอีกครั้ง

          8. วอลเปเปอร์ ใช้กรดซาลิไซลิด ผสมกับแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1:5 จากนั้นนำผ้ามาชุบไปเช็ดวอลเปเปอร์ซ้ำ ๆ ประมาณ 2 รอบ แต่ถ้าหากว่ามีเชื้อราอยู่มาก แนะนำให้รื้อทิ้งแล้วเปลี่ยนวอลเปเปอร์ใหม่จะดีกว่า

          9. เสื้อผ้า ผ้าม่าน และผ้าห่ม หาก พบเชื้อรา สามารถฆ่าเชื้อเบื้องต้นได้โดยใช้น้ำร้อน จากนั้นขยี้แล้วซักให้สะอาดหลาย ๆ ครั้ง และตากในที่ที่มีแสงแดดเท่านั้น เพื่อเป็นการฆ่าเชื้ออีกที

          10. งดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความชื้นภายในบ้าน หากตัวบ้านเพิ่งมีราขึ้นและได้รับการทำความสะอาดไปใหม่ ๆ ไม่ควรต้มน้ำ ซักผ้า ตากผ้า เปิดเครื่องปรับอากาศเย็นจัด แต่ควรเปิดให้อากาศภายนอกได้ระบายเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันแดดจัด แม้ว่าจะทำให้คุณร้อนอบอ้าวไปบ้าง แต่แสงแดดจะช่วยฆ่าเชื้อราได้ดีเลยทีเดียว

          อย่าง ไรก็ดี การกำจัดเชื้อรานั้นต้องทำไปควบคู่กับการรักษาความสะอาดทุก ๆ จุด และสิ่งของทุก ๆ อย่างภายในบ้านเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกที่บ้านยังคงเก็บความชื้นจากภาวะน้ำเอ่อท่วมไว้อยู่ ต้องคอยดูแลใส่ใจอย่างดีเลยทีเดียวค่ะ รับรอง ว่าถ้าหากทำได้อย่างนี้แล้ว พอพ้นช่วง 2-3 สัปดาห์หลังน้ำท่วมเมื่อไหร่ คุณก็จะได้บ้านอบอุ่นและปลอดภัยปลอดเชื้อโรคหลังเดิมคืนอย่างแน่นอนค่ะ