โดย เอมอร คชเสนี 20 ธันวาคม 2552 12:34 น. |
|
โดยปกติน้ำตาตามธรรมชาติของคนเราสามารถให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาเพียง พออยู่แล้ว แต่ในบางกรณีที่ทำให้ความชุ่มชื้นของดวงตาน้อยกว่าปกติ อาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยหล่อลื่นและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวง ตา
น้ำตาเทียมจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติในการสร้างน้ำตาตาม ธรรมชาติ ทำให้มีน้ำตาน้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยบางรายที่ปิดตาได้ไม่สนิท ผู้ที่มีความผิดปกติของเยื่อบุตาหรือกระจกตา ผู้ที่มีอาการตาแห้ง อาจเนื่องมาจากความเครียด ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุ 50% ของผู้ป่วยที่มีตาแห้ง ในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้น้ำตาระเหยง่าย เช่น แสงแดดจัด ร้อนจัด ลมแรง ความชื้นต่ำเช่นในห้องปรับอากาศ หรือมีสิ่งระคายเคืองต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง เขม่าควัน การใช้คอนแท็กเลนส์ รวมทั้งการใช้สายตาเป็นเวลานานๆ เช่น อ่านหนังสือหรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์
น้ำตาเทียมจะช่วยหล่อลื่นดวงตาและเพิ่มความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและ เยื่อบุตาขาว เพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง ซึ่งจะมีอาการแสบตา เคืองตา รู้สึกว่าตาแห้งฝืด บางครั้งมีขี้ตาเป็นเส้นๆ เมือกๆ ทำให้ลืมตายาก อาการมักเป็นมากในช่วงบ่ายๆ เย็นๆ หากมีอาการเรื้อรัง ขี้ตาเป็นเมือกติดแน่นที่กระจกตา ทำให้ผิวตาดำไม่เรียบ ติดเชื้อง่าย จะทำให้เกิดแผล หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี จะทำให้แผลอักเสบถึงขั้นตาบอดได้
น้ำตาเทียมเป็นสารสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นโดยให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด มีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้
- ส่วนผสมที่ช่วยเพิ่มความหนืดเพื่อให้ฉาบอยู่บนกระจกตาได้นานขึ้น แต่หากเป็นน้ำตาเทียมที่มีความหนืดมาก ระยะเวลาที่น้ำตาเทียมฉาบอยู่บนกระจกตานานๆ อาจทำให้มีอาการตามัว มองไม่ชัดหลังหยอดตาในระยะแรก
- สารกันเสีย ช่วยให้น้ำตาเทียมคงสภาพอยู่ได้นาน และป้องกันการเติบโตของเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนเข้าไปขณะหยอด ทำให้สามารถเก็บได้นานประมาณ 1 เดือนหลังจากเปิดขวด
- ส่วนผสมที่ช่วยปรับสมดุลขององค์ประกอบอื่นในน้ำตาเทียม ปรับความเป็นกรดด่างให้พอเหมาะ ไม่แสบตาเวลาหยอด และช่วยคงสภาพของน้ำตาเทียม
- ส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อให้น้ำตาเทียมมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด เช่น ไกลซีน แมกนีเซียมคลอไรด์ โซเดียมคลอไรด์ แคลเซียมคลอไรด์ โซเดียมบอเรต และซิงค์
น้ำตาเทียม มีอยู่ 2 ประเภท คือ
- น้ำตาเทียมที่ใส่สารกันเสีย จะบรรจุในขวดใหญ่ ประมาณ 3 - 15 ซีซี สามารถใช้ได้นานประมาณ 1 เดือนหลังจากเปิดขวด มีข้อเสียคือสารกันเสียอาจทำให้เกิดการแพ้ระคายเคืองต่อเยื่อบุตา หรือเกิดการปนเปื้อนในกรณีที่เก็บไว้นานๆ
- น้ำตาเทียมที่ไม่ใส่สารกันเสีย จะบรรจุในหลอดเล็กๆ หลอดละ 0.3 - 0.9 ซีซี มีตั้งแต่ 20 - 60 หลอดต่อ 1 กล่อง แต่ละหลอดเมื่อเปิดใช้แล้ว ต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง ข้อดีคือผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพ้เลย แต่จะมีราคาสูงกว่า
ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำตาเทียมโดยใช้สารกันเสียที่สามารถสลายตัวได้ เองเมื่อถูกแสงแดด กลายเป็นเกลือที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อเยื่อบุตา
ควรเก็บน้ำตาเทียมไว้ที่อุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส แต่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน หากเก็บไว้นอกห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ก็ควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำตาเทียม และไม่ควรใช้หลังจากหมดอายุที่ระบุไว้บนกล่อง
การเลือกใช้น้ำตาเทียม
การเลือกใช้น้ำตาเทียมนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น ผู้ที่มีอาการตาแห้งธรรมดาโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ผู้ที่ใส่คอนแท็กเลนส์ สัมผัสกับแสงแดด ลมแรง หรือใช้สายตานานๆ ก็สามารถเลือกใช้น้ำตาเทียมชนิดขวดใหญ่ที่มีสารกันเสียก่อนได้ หรือในบางราย เพียงแค่ปรับสภาพแวดล้อมหรือปรับพฤติกรรมตัวเองให้ดี อาการตาแห้งที่เป็นอยู่ก็อาจดีขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียม
แต่หากมีอาการตาแห้งรุนแรง ต้องหยอดน้ำตาเทียมมากกว่า 4 ครั้งต่อวันเป็นเวลานานๆ หรือผู้ที่มีโรคของผิวกระจกตา เซลล์ของผิวกระจกตาไม่สมบูรณ์ หรือมีประวัติแพ้สารกันเสีย ก็ควรใช้น้ำตาเทียมหลอดเล็กๆ ชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย
เราสามารถใช้น้ำตาเทียมได้บ่อยครั้ง โดยไม่มีผลแทรกซ้อน ยกเว้นกรณีแพ้สารกันเสีย แต่การใช้น้ำตาเทียมก็ควรพิจารณาถึงความจำเป็นว่ามีปัญหาของน้ำตามากน้อย เพียงใด จะได้ไม่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น และหากมีอาการตาแห้ง ควรไปตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์อย่างละเอียด ไม่ควรซื้อน้ำตาเทียมมาใช้เองเป็นเวลานานๆ โดยไม่หาสาเหตุที่แท้จริง
โดย เอมอร คชเสนี 22 มกราคม 2553 01:17 น. |
|
แพทย์มักรณรงค์ให้ตรวจร่างกายประจำปี อาจจะเป็นต้นปี ปลายปี หรือทุกๆ วันเกิด เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำเมื่อครบรอบปี เป็นการตรวจคัดกรองหาโรคหรือภาวะบางอย่างที่สามารถรักษาได้ในระยะแรก ซึ่งการรักษาในระยะต้นๆ จะได้ผลดีกว่า และอาจช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ แต่แพทย์ก็แนะนำให้เลือกตรวจเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่า “เท่าที่จำเป็น”
สำหรับคนทั่วไป การตรวจร่างกายประจำปีจะประกอบไปด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ซึ่งจะช่วยประเมินภาวะน้ำหนักเกิน การวัดความดันโลหิตจะช่วยตรวจว่ามีความดันโลหิตสูงหรือไม่
การตรวจเลือด จะทำให้ทราบความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ช่วยตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง วัดระดับน้ำตาลเพื่อตรวจหาเบาหวาน วัดระดับไขมันในเลือด คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด วัดระดับกรดยูริคซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคเก๊าท์ รวมทั้งตรวจการทำงานของตับและไต
การตรวจปัสสาวะว่ามีภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือไม่ และตรวจคัดกรองโรคไตบางชนิด
การตรวจอุจจาระเพื่อหาพยาธิในอุจจาระ และตรวจหาภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหาร หากมีเลือดในอุจจาระควรตรวจว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่
การเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อตรวจสภาพปอดและหัวใจ ตรวจหาวัณโรค โรคปอดเรื้อรังบางชนิด หรือรอยโรคผิดปกติอื่นๆ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อหาความผิดปกติของหัวใจหรือภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ อาจจะเริ่มตรวจเมื่ออายุ 40 ปี และตรวจซ้ำตามที่แพทย์แนะนำ
นอกจากนี้ยังควรตรวจตา หู และฟัน โดยตรวจสุขภาพฟันและช่องปากทุก 6 เดือน สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจตาทุก 2-3 ปี แต่หากมีประวัติโรคต้อหินในครอบครัวควรตรวจปีละครั้ง และเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปอาจตรวจการได้ยินทุก 5 ปี
ผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการคลำต่อมลูกหมากและการเจาะเลือดเพื่อหาสาร PSA (Prostate Specific Antigen) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตจากต่อมลูกหมาก
สำหรับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรตรวจหามะเร็งปากมดลูก หรือแม้จะยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แต่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ก็ควรตรวจทุก 1-3 ปี
การตรวจที่กล่าวมาเป็นการตรวจพื้นฐาน แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง ก็อาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม
สำหรับผู้หญิงทั่วไป การตรวจคลำเต้านมของตัวเองเดือนละครั้งร่วมกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ก็จะช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ดี แต่แพทย์บางท่านก็จะแนะนำให้ตรวจ Mammogram ในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี ยกเว้นตรวจพบความผิดปกติ มีก้อนในเต้านม หรือในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 40 ปี ก็ควรตรวจ Mammogram ก่อนอายุ 40 ปี
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ยกเว้นมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมีความเสี่ยงสูงอาจตรวจ เร็วกว่านั้น
การตรวจ EST (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจด้วยการวิ่งบนสายพาน ส่วนใหญ่แนะนำให้ตรวจในผู้ที่มีอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยหอบขณะออกกำลังกาย หรือผู้ที่ไม่มีอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน แต่มีอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น นักบิน นักดับเพลิง หรือมีความเสี่ยงในเรื่องต่อไปนี้ 2 ประการขึ้นไป คือ สูบบุหรี่ เป็นโรคเบาหวาน มีไขมันสูง อ้วน มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัวที่เป็นตั้งแต่อายุยังน้อย
การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีประวัติในครอบครัวเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
ดังเช่นที่กล่าวแล้วว่าการตรวจร่างกายประจำปีโดยละเอียดนั้นไม่จำ เป็นนักเพราะสิ้นเปลือง เลือกตรวจเฉพาะสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลทั้งเพศ อายุ ลักษณะอาชีพการงาน ประวัติการเจ็บป่วย รวมทั้งประวัติการเป็นโรคของคนในครอบครัวซึ่งอาจจะถ่ายทอดทางพันธุกรรม จะดีกว่าเหมาตรวจเหมือนกันสำหรับทุกคน โดยอาจจะปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกการตรวจที่เหมาะสม
การตรวจพิเศษบางอย่างอาจไม่คุ้มค่า เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาสารที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิด การตรวจเอกซเรย์เต้านมในคนที่ไม่มีข้อบ่งชี้ การตรวจมวลกระดูก การตรวจอัลตราซาวนด์ตับ หรืออาจก่อให้เกิดผลเสียในกรณีที่ผลการตรวจขั้นต้นนั้นผิดปกติ แต่เมื่อตรวจเพิ่มเติมโดยละเอียดแล้วไม่พบโรค ทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินจำนวนมาก ดังนั้นอาจให้แพทย์ตรวจร่างกายดูก่อนว่าคุ้มหรือไม่กับการตรวจด้วยวิธีพิเศษ แม้แต่การตรวจเอกซเรย์ปอดซึ่งราคาไม่แพง แต่หากตรวจพร่ำเพรื่อเกินไปก็อาจสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
อีกประการหนึ่ง มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อย แต่เก็บมาวิตกกังวลจนถึงขั้นเครียด แทนที่จะควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้สุขภาพดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีไม่น้อยที่หมอสั่งยาให้ทันทีหลังจากที่ตรวจพบความผิด ปกติเล็กน้อย แทนที่จะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยอีก
แพทย์อีกหลายท่านจึงแนะนำว่าการตรวจร่างกายประจำปีควรเป็นการตรวจหา ความเสี่ยงต่อโรค ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น เมื่อทราบความเสี่ยงแล้วก็ร่วมกันหาหนทางป้องกันความเสี่ยงอย่าให้เป็นโรค นั้น
ดังนั้นหากเป็นไปได้ โรงพยาบาลควรมีระบบรองรับผู้ป่วย มีเวลาซักประวัติ เพื่อสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารตลอดจนการไม่ออกกำลังกาย ทำให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน ไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เกิดปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือผู้ที่ต้องทำงานยกของหนักอยู่ทุกวัน ส่วนใหญ่จะมีปัญหาปวดหลัง ปวดเข่า ก็ควรได้รับคำแนะนำว่าจะยกของหนักอย่างไรไม่ให้ปวดเมื่อย หรือหากต้องทำงานในโรงงานที่มีเสียงดังและเต็มไปด้วยฝุ่นละออง อาจเสี่ยงต่อโรคปอดหรือหูตึง ก็ควรได้รับคำแนะนำว่าจะทำงานอย่างไรในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นโดยไม่เจ็บป่วย ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการตรวจเหมือนๆ กันตามแพคเกจที่โรงพยาบาลจัดไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคอีกมากที่การตรวจสุขภาพไม่สามารถตรวจพบโรคได้ในระยะแรกๆ ดังนั้นถึงแม้ผลการตรวจสุขภาพจะเป็นปกติดี ก็ยังควรใส่ใจรักษาสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่ สุรา ยาเสพติด พักผ่อนให้เพียงพอ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
ดื่มน้ำสะอาด...วิธีรับมือโรคที่มากับอุทกภัย (ไทยโพสต์)
ในช่วงที่มีน้ำท่วมขังอย่างนี้ การเตรียมพร้อมรับมือกับสารพัดโรคที่มาพร้อมน้ำท่วม เช่น โรค ทางเดินอาหาร โรคทางเดินหายใจ โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคน้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู ฯลฯ นั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กเล็ก ดังนั้นการดื่มน้ำสะอาดและสังเกตอาการเบื้องต้นของโรค และรีบพบแพทย์ทันทีหากพบความผิดปกติรุนแรง สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคที่แฝงมากับน้ำท่วมลงได้
รอ.นพ.พันเลิศ ปิยะลาศ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การดูแลตนเองและสังเกตอาการผิดปกติในเบื้องต้น จะช่วยป้องกันโรคได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้ง หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันอันตรายจากไข้หวัดใหญ่และปอดบวม
ขณะเดียวกันก็ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด หรืออาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม รวมทั้งดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำจากขวดที่ฝาปิดสนิท หรือน้ำต้มสุกเพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำ ใน ส่วนของน้ำใช้หากไม่แน่ใจว่ามีความสะอาดเพียงพอหรือไม่ ให้ใช้ผงปูนคลอรีนทำลายเชื้อโรคในน้ำ โดยคลอรีนสามารถทำลายเชื้อโรคได้มากกว่า 99% รวมทั้งเชื้อ อีโคไล (E.coli) และเชื้อไวรัส นอกจากนี้ผงปูนคลอรีนสามารถเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำได้ ซึ่งการใช้คลอรีนอย่างระมัดระวังจะไม่เกิดอันตราย และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการถ่ายอุจจาระลงในน้ำ ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของโรคระบาด
สำหรับการป้องกันตัวเองจากโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส ที่เป็นโรคยอดฮิตในช่วงน้ำท่วมนั้น ควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน และ ป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัสถูกน้ำ โดยการสวมร้องเท้าบู๊ตยาง หากไม่สามารถเลี่ยงได้ควรรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด แต่หากพบอาการระคายเคืองบริเวณตา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตาแดง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดทันที หรือถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาไม่ควรขยี้ตาด้วยมือที่สกปรก อย่าให้แมลงตอมตา และหลีกเลี่ยงที่จะใช้ของร่วมกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
นอกจากนี้ อุบัติเหตุที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมได้แก่ ไฟดูด จมน้ำ เหยียบของมีคม สามารถป้องกันได้โดยถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัตเอาต์ตัดไฟฟ้าในบ้านก่อนที่น้ำจะท่วมถึง ขณะเดียวกันคุณหมอกล่าวว่า การเก็บกวาดขยะวัตถุแหลมคมในบริเวณอาคารบ้านเรือน และตามทางเดินอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากของมีคมได้แล้ว ยังช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นงู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านเรือนได้ด้วย
อย่าง ไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม คุณหมอกล่าวว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือ มีสติ อย่าตกใจหรือกลัวจนขาดสติ ควรเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ติดตามรายงานของทางราชการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนศึกษาขั้นตอนการอพยพ ระบบการเตือนภัยและเส้นทางการเคลื่อนย้ายในกรณีเร่งด่วน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก