แพทย์ชี้ผู้สูงอายุเสี่ยงกระดูกสะโพกหักสูง (กระทรวงสาธารณสุข)
แพทย์กระดูกชี้ผู้สูงอายุไทย เสี่ยงกระดูกสะโพกหักสูงเพิ่มตามอายุ เหตุร้อยละ 90 มาจาก "หกล้ม" ชี้ผู้ที่มีปัญหากระดูกพรุน เสี่ยงอาการรุนแรง ต้องเร่งป้องกันตั้งแต่วัยหนุ่มสาว
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรมกระดูก ประจำโรงพยาบาลลำปาง ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "อุบัติการณ์กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุจังหวัดลำปาง ผลการศึกษา 10 ปี และการพยากรณ์" ซึ่งจะเป็นข้อมูลวิชาการประกอบการวางแผนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุไทย ซึ่งมีทิศทางเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่อยู่ในภาวะเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ จึงต้องมีการวางแผนการดูแลอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้กระดูกสะโพกหัก เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหากระดูกพรุนอยู่แล้ว จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้สูงอายุทั่วไป ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เสียชีวิต และเสียค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลรักษา
ขณะนี้ มีรายงานพบปัญหากระดูกสะโพกหักสูงสุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ กลุ่มสแกนดิเนเวียและอเมริกาเหนือ ส่วนในทวีปเอเชียพบมากที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและไต้หวัน นักวิจัยได้คาด ประมาณว่า จำนวนผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักทั่วโลกใน พ.ศ.2568 จะมีมากถึง 2 ล้าน 6 แสนราย โดยร้อยละ 37 อยู่ในทวีปเอเชีย และในพ.ศ.2593 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 4 ล้าน 5 แสนราย ซึ่งร้อยละ 45 อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก จะมีอัตราเสียชีวิตภายในปีแรกร้อยละ 17-28 และมีรายงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีว่า ผู้ป่วยดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษารายละประมาณ 116,000 บาทต่อปี
นาย แพทย์ณัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอุบัติการณ์กระดูกสะโพกหักสูงขึ้น เพราะประชาชนมีอายุยืนขึ้น จำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 7 ล้านคน แต่ที่ผ่านมา สถิติการเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ยังต่ำกว่าความเป็นจริงมาก พบได้ประมาณแสนละ 7 คน โดยยังไม่เคยมีรายงานการศึกษาผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก และคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยในอนาคตมาก่อน ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษา ปัญหาดังกล่าวของจังหวัดลำปาง เพื่อหาลักษณะและอัตราการเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปของจังหวัดลำปาง ระหว่างพ.ศ. 2540-2549 และคาดทำนายจำนวนผู้ป่วยในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อนำมาวางแผนป้องกัน และจัดการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
ในการศึกษาครั้งนี้ ได้เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป อายุสูงสุดคือ 80 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่ากระดูกสะโพกหัก และรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ระหว่างพ.ศ. 2540-2549 พบมีผู้ป่วยทั้งหมด 2,572 ราย เป็นหญิง 1,822 ราย ที่เหลืออีก 750 รายเป็นชาย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี ผู้หญิงจะเริ่มป่วยอายุประมาณ 75 ปี ขณะที่ผู้ชายเริ่มเมื่ออายุประมาณ 74 ปี
นาย แพทย์ณัฐพงศ์ กล่าวต่อไปว่า จุดที่เกิดการหักของกระดูกสะโพกมากที่สุดคือ บริเวณส่วนหัวของกระดูกขาท่อนบน ที่มีชื่อว่าโทรแชนเตอร์ (Trochanter) ซึ่งกระดูกส่วนนี้จะเป็นส่วนที่รองรับกับเบ้ากระดูกสะโพกทั้ง 2 ข้าง โดยส่วนปลายกระดูกจะมีลักษณะเป็นหัวกลม ๆ และคอค่อนข้างกิ่วคล้ายกับหัวค้อน เมื่อโดนแรงกระแทกจึงหักง่าย พบมากถึงร้อยละ 59-66 ยิ่งอายุมากก็ยิ่งพบปัญหามาก โดยในรอบ 10 ปี เพศหญิงป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 153 ส่วนชายป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 136
นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ผลจากการศึกษาปัญหากระดูกสะโพกหักตลอด 10 ปีในจังหวัดลำปาง สามารถพยากรณ์ได้ว่าผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกสะโพกหัก ซึ่งจังหวัดลำปางมีมีอัตราเพิ่มขึ้นของคนวัยนี้ร้อยละ 2.6 ต่อปี จึงคาดว่าในปี 2559 จังหวัดลำปางจะมีผู้สูงอายุกระดูกสะโพกหักจำนวน 1,568 ราย หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 3 เท่าตัว และจะเพิ่มเป็น 2,128 รายในปี 2569
ทั้ง นี้สาเหตุกระดูกสะโพกหัก ส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหากระดูกพรุน ซึ่งคนไทยขณะนี้มีแนวโน้มใช้ชีวิตแบบคนเมืองมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลง กินอาหารที่ไม่ได้ส่งเสริมความแข็งแรงของมวลกระดูก เช่น กินอาหารจานด่วนที่มีแต่เนื้อ ไม่มีกระดูก โดยอาหารที่จะส่งเสริมให้มีมวลกระดูกมากขึ้น ก็คือ นม หรือจำพวกปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งตัว เพราะมีแคลเซียมมาก นอกจากนี้จะต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการยึดของกล้ามเนื้อกับกระดูกได้ดีขึ้น โดยการป้องกันปัญหาโรคกระดูกพรุน จะต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เพื่อสะสมความแข็งแรงไปเรื่อย ๆ เป็นต้นทุนสุขภาพ เมื่อก้าวสู่วัยสูงอายุก็จะมีปัญหาน้อยน้อยลง หรือไม่เกิดปัญหาเลย
http://health.kapook.com/view18033.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

อย.เตือนอย่าหลงเชื่อน้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว โวสรรพคุณ รักษาสารพัดโรค (กระทรวงสาธารณสุข)
อย.เตือน ผู้บริโภค อย่าตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร "น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว" อ้างสรรพคุณรักษาโรคมะเร็ง หัวใจ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ อัมพฤกษ์ เบาหวาน ความดัน เป็นต้น อาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ย้ำ! ผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยารักษาโรค หากจะใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคู่ไปกับการรักษา ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด และอย่าเชื่อโฆษณาเกินจริงที่หวังผลทางการค้ามากเกินไป
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบเกี่ยวกับการโฆษณาน้ำมันรำข้าว โดยได้รับการร้องเรียนจากสมาคมขายตรงเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมันรำข้าว และจมูกข้าว โดยระบุ สรรพคุณ รักษาโรคมะเร็ง หัวใจ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ อัมพฤกษ์ เบาหวาน ความดัน เป็นต้น มีการอ้างผลการทดสอบจากผู้รับประทาน และประสบการณ์จากผู้ป่วยที่ต่อสู้กับโรคร้ายต่าง ๆ ซึ่งจากการตรวจสอบไม่มีข้อเท็จจริงทางวิชาการยืนยันถึงความน่าเชื่อถือ และเอกสารที่ปรากฏน่าจะเป็นการตัดต่อข้อมูลของกลุ่มสมาชิกผู้จำหน่ายสินค้า ซึ่ง อย. ได้แจ้งเตือนไปยังผู้ทำการโฆษณาให้ระงับการโฆษณา และดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว
อย่าง ไรก็ตาม อย.มีความห่วงใยในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะที่จริงแล้วผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทาน เสริม นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติเท่านั้น จึงขอให้ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะมุ่งหวังรักษาโรคโดยเด็ดขาด อาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง เช่น ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องตัดเท้า ผู้ป่วยมะเร็งมีอาการทรุดหนัก เป็นต้น
หากจะใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคู่ไปกับการรักษา ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด และไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาที่หวังผลทางการค้ามากเกินไป ทั้งนี้ โฆษณาส่วนใหญ่ เป็นการจำหน่ายในลักษณะขายตรง ซึ่งบางราย บางเครือข่ายอาจหาประโยชน์ที่ผิดกฎหมายในลักษณะแชร์ลูกโซ่ จึงขอให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ก็ตาม ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อโดยอ่านข้อมูลของอาหารนั้นบนฉลากทุกครั้งว่า มีสารอาหารอะไรตามที่ร่างกายขาด หรือต้องการเสริม แต่หากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่า สามารถรักษาโรคได้ หรือโฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อโดยการขายตรง ขอให้แจ้งเบาะแสโดยละเอียดผ่านสายด่วน อย. 1556 สำหรับในส่วนภูมิภาคแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อทางราชการจะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวดต่อไป
http://health.kapook.com/view17972.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ถึงแม้ว่าหน่วยงานควบคุมเวชภัณฑ์ในยุโรป จะสั่งระงับการจำหน่ายยาลดความอ้วนที่มีชื่อว่า "ซิบูทรามีน" ตั้งแต่วันที่ 21มกราคม ที่ผ่านมา เนื่องจากยาดังกล่าวมีผลต่อสมอง และถ้าใช้มากเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเกิดอาการนอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว และเกิดอาการเครียด แต่ที่ประเทศเกาหลีใต้กลับใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะ Korea Food and Drug Administration (KFDA) ซึ่งทำหน้าที่ประเมินและรับรองยาระบุว่าไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงผลข้างเคียงจาก การกินยา "ซิบูทรามีน" เพียงแต่ห้ามจ่ายยาให้คนวัย 65 ปีขึ้นไป หรือต่ำกว่า 15 ปีเท่านั้น
ทำให้การกินยาลดความอ้วนและยาลดความอยากอาหารของคนเกาหลีใต้ ใกล้จะขึ้นทำเนียบสูงสุดของโลกแล้ว หลังพบว่าการ ผลิตและการนำเข้ายาลดความอ้วน "ซิบูทรามีน" เพิ่มขึ้น 11 เท่า จากมูลค่าเดิม 4,400 ล้านวอน หรือเกือบ 1,200 ล้านบาท เมื่อปี 2546 เป็น 49,000 ล้านวอน หรือราว 1,300 ล้านบาท เมื่อปี 2551 ขณะวงเงินในตลาดซื้อขายยาระงับความอยากอาหาร ที่ถูกคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ จัดให้เป็นยาเสพติด ได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า
รายงานอ้างผลการสำรวจชาวเกาหลี 1,000 คน โดย คอนซูเมอร์ โคเรีย พบว่า 86 เปอร์เซ็นต์ ของคนเกาหลี ผ่านการลดน้ำหนัก หรืออยู่ระหว่างลดน้ำหนักมาตั้งแต่ปี 2551 อีก 13 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าต้องพึ่งพายาลดน้ำหนัก ปัญหาคือ แม้แต่คนที่มีน้ำหนักมาตรฐานก็ยังกินยาลดความอ้วน และแพทย์ก็จ่ายยาให้โดยไม่ไตร่ตรอง
http://health.kapook.com/view17964.html
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
