เห็ดเผาะ ของมีค่าจากป่า

       สายฝนที่เริ่มโปรยปรายในหน้าฝนนี้ นอกจากจะนำความเย็นชุ่มฉ่ำมาสู่กาย ใจ เราแล้ว ยังนำมาซึ่งพืชพรรณนานาชนิดที่จะแตกหน่อผลิผลในช่วงฤดูกาลนี้ หนึ่งในนั้น มีของโปรดจากป่าที่มาพร้อมฝนของ "108เคล็ดกิน" อย่าง "เห็ดเผาะ"รวมอยู่ด้วย
      
       หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหูชื่อเห็ดชนิดนี้กันนัก เรามาทำความรู้จักกันเสียหน่อยดีกว่า “เห็ดเผาะ" มีชื่อเรียกแบ่งไปตามภาษาถิ่นอีก เช่น เห็ดเหียง,เห็ดหนัง บางคนก็เรียกว่า เห็ดดอกดิน แต่ชื่อที่เรียกกันติดปากมาที่สุดคือ "เห็ดถอบ" (ภาษาถิ่นภาคเหนือ) เป็นเห็ดสมุนไพรอย่างหนึ่ง คือ มีรสเย็นหวาน บำรุงกำลัง แก้ช้ำใน มีให้กินกันเฉพาะช่วงต้นฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมเท่านั้น
      
       ลักษณะเด่นของเห็ดพันธุ์นี้ คือ มีรูปร่างเป็นก้อนค่อนข้างกลม สีสันค่อนไปทางดำ มีขนาดประมาณ 1.5 – 3.5 ซม. ไม่มีลำต้น ไม่มีราก ขึ้นตามดินร่วนที่ถูกไฟไหม้ ตามโคนต้นไม้ในป่าแพะ (ป่าเบญจพรรณ) หรือบริเวณที่เป็นป่าโปร่งตามพุ่มต้นเหียงต้นตึง (ไม้พลวง) ที่มีใบไม้หล่นทับถมกัน ทำให้บริเวณนั้นมีอากาศอับชื้น เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เชื้อเห็ดเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี
      
       เมื่อดอกเห็ดบานพร้อมกับเปลือกนอกแตกออกเป็นรูปดาว เมื่อผ่าดอกเห็ดออกแล้วหากดอกอ่อนจะเห็นเนื้อในเป็นสีขาวเนื้อนุ่มน่ากิน ตรงข้ามหากดอกแก่เนื้อข้างในจะเป็นสีดำปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครวิจัยหรือเพาะ พันธุ์เห็ดชนิดนี้ได้สำเร็จ จึงทำให้เห็ดเผาะมีราคาสูงในท้องตลาด

ส้มโอมือ ผลไม้เก่าแก่ตระกูลส้ม

       คนไทยสมัยก่อนคุ้นเคยกับส้มมือที่นำมาใช้ทำเป็นยาดม เรียกกันว่า 'ยาดมส้มโอมือ' ที่มีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ใช้สูดดมบรรเทาอาการเป็นลม หน้ามืดตาลาย แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่ไม่รู้ว่ายาดมส้มโอมือทำมาจาก "ผลส้มโอมือ" ซึ่งเป็นผลไม้หายากในปัจจุบัน วันนี้"108เคล็ดกิน"จึงขอพาไปทำความรู้จักผลไม้ชนิดนี้กัน
      
       ส้มโอมือ หรือ ส้มมือ เป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในจำพวกส้ม พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเขตร้อน ผลรูปร่างแปลกกว่าส้มอื่น มีรูปร่างเรียวยาวห้อยลงมาเป็นแฉก ๆ คล้ายนิ้วมือ บ้างก็ว่าคล้ายลำเทียน ขนาดใกล้เคียงกับนิ้วมือผู้ใหญ่ หรือใหญ่กว่า
      
       ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ผลมีผิวขรุขระ มีร่องแฉกคล้าย นิ้วมือกว่า 10 นิ้ว เมื่อสุกผลมีสีเหลืองสด ภายในผลสีขาว ไม่มีเมล็ด เปลือกหนาคล้ายฟองน้ำอย่างส้มโอ เนื้อแห้งไม่ชุ่มน้ำ ผิวเปลือกมีน้ำมันหอมระเหย กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะนาว
      
       ส่วนเนื้อแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ มักไม่นิยมนำผลมารับประทานสดเหมือนส้มทั่วไป รสชาติจืดชืดไม่อร่อยแต่จะนำเปลือกไปใช้ประกอบในการปรุงอาหาร และทำยา เพราะมีสรรพคุณในการกระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ทำให้เลือดลมดี ไปสกัดทำน้ำมันหอมระเหย แก้อาการวิงเวียนศีรษะ คลายเครียด ในประเทศจีนและญี่ปุ่นนิยมนำไปไว้ในห้องนอนและห้องน้ำเพื่ออบกลิ่น ขณะที่ในประเทศตะวันตกรู้จักสรรพคุณทางการแพทย์ของส้มโอมือมาช้านาน ด้วยเหตุนี้ จึงตั้งชื่อส้มชนิดนี้เป็นภาษาละตินว่า medica

ภัยจากสีชาเย็น

       ชาเย็น ถือว่าเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม ที่ซื้อง่าย ขายคล่อง ทีเดียว เพราะมีขายตั้งแต่ในร้านอาหารในห้องแอร์ยันร้านริมฟุตปาธข้างทาง เพราะรสชาติหวานเย็นเข้ากับสภาพอากาศของเมืองไทย แต่เพราะความที่หากินกันได้ง่ายดาย "108เคล็ดกิน" จึงมีเรื่องควรระวังเกี่ยวกับชาเย็นมาฝากกัน
      
       รู้หรือไม่ว่า ชาผงสำเร็จรูปที่ใช้ทำชาเย็นนั้นหลายยี่ห้อ ผู้ผลิตอาจจะนำสีย้อมผ้ามาใช้ผสม ในชาสำหรับชงดื่ม โดยพบว่ามีการใส่สีสังเคราะห์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่ในอาหารในชาผง ซึ่งส่วนใหญ่พบในชาผงที่ลักลอบนำเข้าประเทศ
      
       อันตรายจากสีผสมอาหารที่พบในชา จะส่งผลต่อผู้บริโภคได้ 2 ทางคือ เกิดจากตัวสีเอง หากบริโภคในปริมาณมากหรือบ่อยครั้งสีจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก ทำให้ท้องเดิน น้ำหนักลดและอ่อนเพลีย
      
       เกิดจากสารอื่นที่ปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตสี ได้แก่ โลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู ปรอท พลวง โครเมียม เป็นต้น สารเหล่านี้จะเข้าไปสะสมในร่างกาย จนก่อให้เกิดโรคโลหิตจาง เนื้องอก และมะเร็งได้
      
       เพื่อความปลอดภัย ควรเลือกซื้อชาผงที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว โดยฉลากจะต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย มีเครื่องหมาย อย. ระบุเลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องมีระบุไว้
      
       แม้ว่าเราจะไม่สามารถสังเกตความแตกต่างระหว่างชาผงที่ผสมสีกับชาผง ที่ไม่ผสมสีด้วยตาเปล่าได้ แต่เมื่อนำไปชงในน้ำแล้วพบว่า น้ำชามีสีสันที่ฉูดฉาดกว่าปกติหรือผิดสังเกต ก็เป็นไปได้ว่าชาผงที่นำมาชงนั้นมีการใส่สีสังเคราะห์ ฉะนั้น ก่อนดื่มชาดูให้ดี ชาดีสีไม่สดเกินไป

เกาลัดคั่วในกรวดทราย

       "108เคล็ดกิน" เคยสงสัย เวลาไปเดินเล่นแถวย่านไชน่าทาวน์ เยาวราช อยู่เสมอว่า เจ้า "เกาลัด" ที่ คั่วขายกันมากมายหลายเจ้านั้น แท้จริงแล้วเขาใช้อะไรให้การคั่ว ถามเพื่อนฝูงบ้างก็ว่าใช้กาแฟ บ้างก็ว่าใช้ทราย เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย ต้องมาเซาะหาคำตอบกันหน่อย
      
       เกาลัด ภาษาจีนเรียกว่า "เลียกก้วย" "ไต่เลียก" หรือ "ปังเลียก" เป็นพืชจำพวกนัต หรือพืชเมล็ดเปลือกแข็งเช่นเดียวกับอัลมอนด์ และมะม่วงหิมพานต์ มีลักษณะค่อนข้างกลม สีเขียว มีขนแหลม เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลและแตกออก ภายในมีเมล็ด และใช้ส่วนเนื้อในเมล็ดกินเป็นอาหารในประเทศจีนนิยมกินเกาลัดทั้งดิบและสุก คนจีนถือว่าเกาลัดเป็น "ราชาแห่งเมล็ดพันธุ์พืช" จึงมีการปลูกอย่างแพร่หลายในจีนและผลิตสำหรับส่งออกเมื่อนำเกาลัดไปคั่วในทรายร้อน ๆ จะมีรสหวานอร่อย
      
       ทรายที่คั่วก็คือ เม็ดสีดำเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 3-5 มิลลิเมตร คนขายจะนำเอาทรายแห้งใส่ลงไปในกระบะใบใหญ่ พอทรายร้อนระอุได้ที่จนเป็นสีดำ ก็จะนำเอาลูกเกาลัดใส่ลงไป บางร้านโรยน้ำตาลลงไปคั่วรวมกันให้ได้รสหวาน กรวดทรายเมื่ออมความร้อนมากๆ พอน้ำตาล โดนความร้อน จึงเกิดกระบวนการ" Calamelization " คือน้ำตาลไหม้จึงทำให้เกิดกลิ่นหอมเหมือนคาราเมลจางๆ บางร้านเพิ่มกลิ่นหอมด้วยการใส่เมล็ดกาแฟคั่วรวมไป
      
       เหตุผลที่ต้องใช้เม็ดทราย เพราะเม็ดทรายช่วยเก็บความร้อนไว้ได้นาน ซึ่งดีสำหรับการทำให้เกาลัดสุกถึงเนื้อผลด้านใน ซึ่งจะคั่วกันนาน 30-40 นาที เม็ดทรายนั้นใช้ได้นานกว่า 1 เดือน เรียกว่าคั่วเกาลัดได้หลายกระทะ จนทรายที่เป็นเม็ดเริ่มป่นเป็นผง แล้วจึงจะเปลี่ยนไปใช้เม็ดทรายชุดใหม่

ประโยชน์ของผลไม้เคลือบเงา

       เดี๋ยวนี้เวลากินผลไม้ "108เคล็ดกิน" สังเกตว่า เปลือกผิวของผลไม้มันเงาวาวกว่าปกติ สีสวยเด่นชวนเลือกซื้อเลือกหาดี สอบถามจากแม่ค้า จึงรู้ว่าการที่ผิวของผลไม้เงาสวยนั้น เป็นเพราะผลไม้ล้วนผ่านการ แว๊กซ์ หรือ เคลือบเงาผิว จึงทำให้สีสันแลดูสดสวย ผิวของผลไม้น่ากินยิ่งขึ้น
      
       แว๊กซ์ หรือ สารเคลือบผิวผลไม้ ที่ว่านี้ได้มาจากไขผสม ทั้งที่เป็นไขจากแหล่งตามธรรมชาติ และที่สังเคราะห์ขึ้น แต่จะใช้ได้ต้องผ่านการควบคุมและตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค มีคุณสมบัติคือ ช่วยปิดบังริ้วรอยขีดข่วนที่ผิวผลไม้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ระหว่างการเก็บเกี่ยว ทดแทนไขธรรมชาติที่หลุดออกระหว่างการทำความสะอาด และช่วยยืดอายุการสุกของผลไม้ให้ยาวนานขึ้น ป้องกันการสูญเสียน้ำอันเป็นเหตุให้ผลไม้เหี่ยวแห้วเร็ว การเคลือบยังทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อสินค้าจากรูปลักษณ์ภายนอก เพราะความเงางาม สีสันแวววาว ได้อีกด้วย
      
       สารเคลือบผลไม้มีอยู่หลายชนิด แต่ที่ส่วนใหญ่จะเห็นชัดเจนบนผิวแอปเปิ้ลหรือส้ม เรียกชื่อเต็มว่า Wax Soluble มีคุณสมบัติละลายในน้ำปกติได้ ถ้ากินเข้าไปบ้าง ก็ไม่เป็นอันตราย เพราะไตสามารถขับออกได้ อย่างไรก็ดี ควรล้างทำความสะอาดหรือ เช็ดออกให้สะอาดทุกครั้งที่จะส่งผลไม้เข้าปาก
      
       ส่วนสารที่มีคุณสมบัติให้ความเงามันเหมือน Wax Suloble ที่นิยมใช้อีกอย่างคือ "ไขเทียนที่ไม่ใส่สี" ตัวนี้ยิ่งต้องทำความสะอาดออกให้มาก เพราะเป็นสารที่ไม่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในร่างกาย