ดื่มน้ำสะอาด...วิธีรับมือโรคที่มากับอุทกภัย (ไทยโพสต์)
ในช่วงที่มีน้ำท่วมขังอย่างนี้ การเตรียมพร้อมรับมือกับสารพัดโรคที่มาพร้อมน้ำท่วม เช่น โรค ทางเดินอาหาร โรคทางเดินหายใจ โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคน้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู ฯลฯ นั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กเล็ก ดังนั้นการดื่มน้ำสะอาดและสังเกตอาการเบื้องต้นของโรค และรีบพบแพทย์ทันทีหากพบความผิดปกติรุนแรง สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคที่แฝงมากับน้ำท่วมลงได้
รอ.นพ.พันเลิศ ปิยะลาศ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การดูแลตนเองและสังเกตอาการผิดปกติในเบื้องต้น จะช่วยป้องกันโรคได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้ง หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันอันตรายจากไข้หวัดใหญ่และปอดบวม
ขณะเดียวกันก็ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด หรืออาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม รวมทั้งดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำจากขวดที่ฝาปิดสนิท หรือน้ำต้มสุกเพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำ ใน ส่วนของน้ำใช้หากไม่แน่ใจว่ามีความสะอาดเพียงพอหรือไม่ ให้ใช้ผงปูนคลอรีนทำลายเชื้อโรคในน้ำ โดยคลอรีนสามารถทำลายเชื้อโรคได้มากกว่า 99% รวมทั้งเชื้อ อีโคไล (E.coli) และเชื้อไวรัส นอกจากนี้ผงปูนคลอรีนสามารถเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำได้ ซึ่งการใช้คลอรีนอย่างระมัดระวังจะไม่เกิดอันตราย และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการถ่ายอุจจาระลงในน้ำ ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของโรคระบาด
สำหรับการป้องกันตัวเองจากโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส ที่เป็นโรคยอดฮิตในช่วงน้ำท่วมนั้น ควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน และ ป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัสถูกน้ำ โดยการสวมร้องเท้าบู๊ตยาง หากไม่สามารถเลี่ยงได้ควรรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด แต่หากพบอาการระคายเคืองบริเวณตา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตาแดง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดทันที หรือถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาไม่ควรขยี้ตาด้วยมือที่สกปรก อย่าให้แมลงตอมตา และหลีกเลี่ยงที่จะใช้ของร่วมกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
นอกจากนี้ อุบัติเหตุที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมได้แก่ ไฟดูด จมน้ำ เหยียบของมีคม สามารถป้องกันได้โดยถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัตเอาต์ตัดไฟฟ้าในบ้านก่อนที่น้ำจะท่วมถึง ขณะเดียวกันคุณหมอกล่าวว่า การเก็บกวาดขยะวัตถุแหลมคมในบริเวณอาคารบ้านเรือน และตามทางเดินอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากของมีคมได้แล้ว ยังช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นงู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านเรือนได้ด้วย
อย่าง ไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม คุณหมอกล่าวว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือ มีสติ อย่าตกใจหรือกลัวจนขาดสติ ควรเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ติดตามรายงานของทางราชการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนศึกษาขั้นตอนการอพยพ ระบบการเตือนภัยและเส้นทางการเคลื่อนย้ายในกรณีเร่งด่วน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมอนามัยเตือนเล่นน้ำเน่าอาจถึงตายได้ (ไอเอ็นเอ็น)
อธิบดีกรมอนามัย เผย การทำความสะอาดหลังน้ำลด ต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้าก่อน ย้ำ อย่าลงเล่นน้ำเน่า เพราะอาจถึงชีวิตได้
น.พ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการทำความสะอาดบ้านเรือนให้ปราศจากเชื้อโรคตกค้างภายหลังน้ำลด ว่า เบื้องต้น ต้องตรวจระบบไฟฟ้าภายในบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด รวมทั้งควรตรวจสอบฝ้าและเพดาน ว่า ได้รับความเสียหายผุพังหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้พังลงมาทับ ควรนำถุงดำ แยกขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย หรือกระป๋องสเปร์ย จากนั้นให้เริ่มทำความสะอาดพื้นบ้านด้วยการขัดล้างให้สะอาด ที่สำคัญ การทำความสะอาดห้องน้ำ ถ้าพบว่ามีกลิ่นเหม็น ต้องใช้สารอีเอ็มใส่ลงไปในโถสุขภัณฑ์เพื่อลดกลิ่น สำหรับเชื้อราที่ขึ้นตามฝาผนังบ้าน ควรใช้แปรงขัดร่วมกับผงซักฟอกขจัดเชื้อรา
สำหรับประชาชนที่ยังถูกน้ำท่วมขัง ไม่ควรถ่ายอุจจาระ หรือทิ้งขยะลงน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ ที่สำคัญไม่ควรลงเล่นน้ำเน่าเสีย เนื่องจากมีเชื้อโรคจำนวนมากที่พร้อมจะเข้าร่างกาย ทั้งทางปาก จมูก หรือทางบาดแผล ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
เตือนภัยอุทกภัย...ผู้สูงอายุเสี่ยง ลื่นล้มซ้ำกระดูกหัก-พรุนเพิ่มขึ้น (ไอเอ็นเอ็น)
จาก วิกฤตการณ์ภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในหลายจังหวัดขณะนี้ ส่งผลทำให้ผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมโดยเฉพาะผู้สูงอายุ อยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น
โดยในปัจจุบันหญิงและชายสูงอายุส่วนใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น ซึ่ง ในช่วงของอุทกภัยที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานหลายเดือน จะส่งผลทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาทางร่างกายด้วยการขาดแคลเซียม อันเนื่องมาจากการรับประทานอาหารน้อย และที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการหรือไม่ครบ 5 หมู่ เช่น อาหารกระป๋องหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ขณะที่บางคนเมื่อน้ำท่วมบ้านหนัก ๆ ก็ไม่สามารถออกจากบ้านพักอาศัย ได้แต่อยู่ในที่แคบ ๆ ไม่ได้โดนแดด หรือรับวิตามินดีจากแสงแดด หรือไม่มีการเดินเหินเหมือนปกติทั่วไป ผู้สูงอายุบางคนอาจเกิดอาการ ลื่นหกล้มจากตะไคร่ หรือพื้นบ้านที่ลื่น ทำให้กระดูกหักตามส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกตามแขน ข้อมือ นิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อเท้า ขา ทั้งหมดเป็นปัญหากับผู้สูงอายุทั้งสิ้น ปัญหาของโรคกระดูกพรุนก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก
นพ.บุญวัฒน์ จะโนภาษ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ คลินิก ศูนย์แพทย์พัฒนา กล่าวว่า การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุอันเกิดจากพื้นไม่เรียบ หรือแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นมหันตภัยเงียบของโรคกระดูกพรุน ผู้ป่วยสูงอายุเหล่านี้ไม่เคยรู้ตัวเองเลยว่าป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมาก่อน แต่เมื่อเกิดการหักของกระดูก หรือกระดูกยุบตัวจากอุบัติเหตุจึงได้รู้ความจริง แต่ขั้นตอนการรักษานั้นทำได้ยาก ถึงแม้จะมีหลายวิธีที่จะทำการรักษา แต่ก็ไม่หายขาดเหมือนเก่า ซึ่งวิธีการรักษาก็จะมีทั้งการรับยา การทานยาแคลเซียมเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูก การเข้าเฝือก การดามเหล็กหรือการฉีดซีเมนต์ เมื่อมีอาการกระดูกแตกหรือหักหรือยุบตัว
"ใน ช่วงภาวะน้ำท่วม ขณะนี้มีผู้สูงอายุได้รับอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น บางคนถึงกับเกิดกระดูกสันหลังยุบตัว เพราะไปช่วยคนในครอบครัวยกของหนักเพื่อหนีน้ำ นำของขึ้นที่สูง บางคนเดินไปสะดุดล้ม หรือลื่นหกล้ม ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมามีคนไข้ที่กระดูกมือกระดูกเท้าหัก และมีคนไข้ที่กระดูกสันหลังยุบ เนื่องจากไปช่วยลูกหลานของตัวเองยกของ ซึ่งภายในไม่กี่วันที่ผ่านมามีคนไข้ผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนสูงขึ้น และส่วนใหญ่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการ"
"นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าห่วงผู้สูงอายุในขณะนี้ก็คือ ควรระมัดระวังเรื่องของการดูแลเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง เนื่องจากบางทีเด็กเล็กมักจะเล่นกับคุณยาย คุณย่ารุนแรง หรือเราไปอุ้มเขาผิดท่าผิดจังหวะบ้าง ทำให้เราบาดเจ็บผิดท่า เกิดอาการกระดูกสันหลังยุบตัว หรือข้อมือข้อเท้าหักได้ หรือบางครั้งคนสูงอายุชอบเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข แล้วเดินจูงไปจูงมา เกิดลื่นหรือหกล้มทำให้เกิดกระดูกหักได้"
สำหรับ การป้องกัน และปรับพฤติกรรมของผู้สูงอายุในขณะนี้ ควรจะต้องมีการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การยืดแขนยืดขาให้สุดหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้การทรงตัวดีขึ้น และจะต้องรับประทานอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ ตามสูตร "ส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู" รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม หรือปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว กะปิ กุ้งแห้ง หรือยาแคลเซียมที่แพทย์จ่ายให้ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนอยู่แล้ว แพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้ด้วย ซึ่งยาเหล่านี้ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องและอยู่ในการดูแลของแพทย์
หาก ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประสิทธิผลของยาในการลดการหักของกระดูกไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ยังมียาอีกชนิดหนึ่งเป็นยาชนิดฉีด เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ใช้ฉีดปีละ 1 ครั้งทางหลอดเลือดดำ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยที่มีปัญหารับประทานยาไม่สม่ำเสมอ และผู้ป่วยที่ลำบากในการเดินทางมาตรวจกับแพทย์.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก