เตือน ยาฤทธิ์ตีกัน ภัยเงียบถึงตาย


ยารักษาโรค



เตือน"ยาตีกัน"ภัยเงียบถึงตาย (ไทยโพสต์)

        เภสัชกรเตือน ภัยเงียบของผู้ใช้ยา ระวังกินยาหลายชนิด เกิดอาการ "ยาตีกัน" โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังหลายโรค อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต รวมทั้งการรักษาไม่ได้ผล ไม่สามารถควบคุมโรคได้ รณรงค์ให้คนไทยทำ "สมุดบันทึกยา" ป้องกันการกินยาซ้ำซ้อน หรือยาออกฤทธิ์ตีกัน

        สภาเภสัชกรรม ร่วมกับเภสัชกรรมสมาคมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) จัดโครงการสัปดาห์เภสัชประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย.-2 ก.ค.2554 รณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการบันทึกรายการยาที่ใช้ เพื่อลดปัญหาเรื่องยาตีกัน การใช้ยาซ้ำซ้อน ซึ่งมีผลอันตรายและอาจเป็นภัยเงียบอันตรายต่อผู้ใช้ยาได้

        ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2553 สัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 12% แต่อีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 17% ในปี 2563 ซึ่งแน่นอนว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะมีโรคเรื้อรังประจำตัวตามลำดับ ดังนี้ คือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ และเบาหวาน ทำให้บางคนต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน และใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และผู้ป่วยอาจได้รับยาจากสถานพยาบาลหลายแห่ง ช่วงเวลาการนัดเพื่อติดตามผลการรักษาอาจมีความถี่ต่ำไม่เท่ากัน อาจเป็น 3-6 เดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อน เกิดอาการยาตีกัน หรือผู้ป่วยบางคนมีพฤติกรรมบริโภคอาหาร สูบบุหรี่ และดื่มเหล้า หรือบางคนหยุดยาเองโดยไม่บอกแพทย์ ทำให้โรคยิ่งเป็นมากขึ้น หรือยาที่ใช้รักษาได้ผลลดลง หรือมีฤทธิ์เพิ่มมากขึ้น จนเป็นอันตรายได้ จากข้อมูลการติดตามผู้ป่วยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล สาเหตุมาจากเรื่องของยา โดยที่ 40% มาจากสาเหตุการใช้ยาไม่ถูกต้อง และอีก 60% มาจากอาการไม่พึงประสงค์จากยา

        ภศ.รศ.ธิดา กล่าวว่า ส่วนอาการ "ยาตีกัน" หมายถึงการที่ฤทธิ์ของยาตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อได้รับยาอีกตัวร่วมเข้าไป ผลที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดผลการรักษาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรืออาจทำให้ผลของการรักษาลดลงได้ บางครั้งก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

        "ในภาพรวมการรักษาโรคเรื้อรังเราพบ ว่า แม้จะมีการรักษาแต่ควบคุมโรคไม่ได้ เช่น เบาหวาน ควบคุมไม่ได้ 43.5% หรือโรคความดันโลหิตสูง แม้จะเข้าถึงการรักษา เข้าถึงยา แต่ควบคุมโรคไม่ได้ 26.4% เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการใช้ยาที่ยังไม่มีประสิทธิผลพอ เพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ ทั้งจากการใช้ยาชนิดอื่นร่วมกันและอาหารที่รับประทาน หรือพฤติกรรมการกินอยู่ของผู้ป่วย"

        นายกสภาเภสัชกรรมกล่าวอีกว่า ดังนั้นแนวความคิดในการรณรงค์เรื่องการใช้ยาในสัปดาห์เภสัชกรรมที่จะจัดขึ้น ในวันที่ 26 มิ.ย.-2 ก.ค.นี้ ทางสภาเภสัชฯ และภาคีเครือข่าย จึงได้มีการจัดพิมพ์สมุดบันทึกยาล็อตแรกจำนวน 5 หมื่นเล่ม เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตามโรงพยาบาล และร้านยาคุณภาพ โดยผู้ป่วยสามารถจะบันทึกข้อมูลการใช้ยาด้วยตนเองหรือจะให้แพทย์ เภสัชกร เป็นผู้บันทึกก็ได้ เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการรับการรักษาครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการติดตามรักษาของแพทย์เป็นไปอย่างเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย

        ด้าน ภก.จตุพร ทองอิ่ม เภสัชกรประจำศูนย์บริการสาธารณสุข 51 วัดไผ่ตัน สำนักอนามัย กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การใช้ยาผู้ป่วยเรื้อรังมานานกว่า 10 ปี พบปัญหาการใช้ยาของประชาชนไม่ถูกวิธีหลายประการ ส่งผลให้ยาตีกัน อาทิ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทานยาลดความดันร่วมกับยาปฏิชีวนะบางชนิด จะส่งผลให้ระดับยาในเลือดเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิม ผู้ป่วยก็จะได้รับอันตราย หรือกรณีผู้ป่วยที่ได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดจากแพทย์ต้องระมัด ระวังในการซื้อยา หรือกินอาหารเสริม หรือในยาปฏิชีวนะบางชนิด จะตีกับยาที่ได้รับอยู่แล้ว เช่น ยาลดไขมัน ยาหัวใจ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น ทำให้ระดับยาในเลือดของยาเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น ในผู้ป่วยบางคนอาจเป็นอันตรายได้ หรือในกรณียาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งผู้ใช้ยาจะต้องระมัดระวังในการซื้อยาหรือกินอาหารเสริม เพราะจะเกิดปฎิกริยาต่อกัน ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ หรือการกินยาฆ่าเชื้อบางกลุ่ม ร่วมกับยาลดกรด หรือแคลเซียม เหล็ก วิตามินบางชนิด จะทำให้การดูดซึมของยาฆ่าเชื้อลดลงกว่าครึ่ง ผลการฆ่าเชื้อลดลงด้วย รวมทั้งอาหารเสริม หรือสมุนไพรบางชนิด

        นอกจากยาตีกันเองแล้ว อาหารเสริมที่ไม่ได้จัดเป็นยาหรือสมุนไพรบางชนิด ก็สามารถ "ตีกับยา" ได้ เช่น น้ำผลไม้บางชนิด เช่น เกรพฟรุต แครนเบอรี่ หรือกระเทียม แป๊ะก๊วย อาจไปเพิ่มฤทธิ์ยาที่ต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือยาวาทาริน ที่ต้านการแข็งตัวของเลือด

        "เราพบว่าใน ยาคลายกล้ามเนื้อกินต่อเนื่อง 5-7 วัน ยาตัวนี้จะมีตัวยาพาราเซลตามอลผสมรวมอยู่ด้วย แต่ผู้ป่วยไม่รู้ กินยาพาราฯ เข้าไปอีก หรือในยาตัวเดียวกันแต่มีรูปร่างต่างกัน ผู้ป่วยไปหาหมอหลายคนให้ยามาเหมือนกัน ก็กินเข้าไปหลายขนานก็จะเกิดอันตรายและผลเสียได้ เกิดการกินยาตีกันหรือกินยาซ้ำซ้อน แต่ถ้าผู้บริโภครู้ว่าเราใช้ยาอะไร โดยยื่นสมุดบันทึกยาให้หมอที่รักษาและเภสัชกรดู เขาก็จะหาวิธีในการหลีกเลี่ยง เช่น  ถ้ากินยาแก้โรคกรดไหลย้อน และในผู้สูงอายุต้องกินแคลเซียมด้วย ถ้ากินพร้อมกัน ประสิทธิภาพของแคลเซียมจะลดลง เพราะแคลเซียมจะละลายดูดซึมดีกับสภาพความเป็นกรดในลำไส้ ซึ่งทางแก้อาจต้องแยกมื้อกิน ไม่ให้ยา 2 ตัวนี่เจอกัน" ภก.จตุพร กล่าว




ขอขอบคุณข้อมูลจาก