บริหารด้วยท่าฤาษีดัดตน ภูมิปัญญาไทยเพื่อสุขภาพ


ฤาษีดัดตน

บริหารด้วยท่าฤาษีดัดตน ภูมิปัญญาไทยเพื่อสุขภาพ (ไทยโพสต์)

          ท่า บริหารร่างกายฤาษีดัดตนนั้น เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยซึ่งมีมาช้านาน นอกจากท่าฤาษีดัดตนจะช่วยบำบัดตน รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย ซึ่งท่าส่วนใหญ่ของฤาษีดัดตนนั้น เป็นการเลียนแบบท่าทางหรืออิริยาบทของไทย ขณะเดียวกันก็ใช้หลักการเคลื่อนไหวร่างกาย ให้สอดคล้องกับลมหายใจเข้าออก ผลลัพธ์ที่ได้คือสุขภาพแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า และช่วยให้ผู้ฝึกมีสมาธิมากยิ่งขึ้น

          สำหรับท่าฤาษีดัดตนนั้นมีทั้งหมดประมาณ 127 ท่า แต่มี 15 ท่าพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขยอมรับ และคนทั่วไปสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

          อาจารย์สุกัญญา หงสประภาส แพทย์แผนไทยประจำโรงพยาบาลนครธน เผยให้ทราบถึงวงล้อสำหรับการเคลื่อนไหวนั้น ประกอบด้วย 4 อย่าง คือ การยืน การเดิน การนอน การนั่ง แต่ท่าฤาษีดัดตน 15 ท่าพื้นฐาน จะประกอบเพียงแค่ 3 อย่างเท่านั้น คือ การยืน การนอน การนั่ง ซึ่งผู้ฝึกจะต้องประสานกันให้ดี เพื่อไม่เกิดการติดขัดของเลือดและลม ขณะเดียวกันผู้ฝึกควรเลือกท่าฝึกที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่ง หลักของการฝึกท่าฤาษีดัดตนที่ถูกต้องคือ ต้องทำแค่พอตึง หากเกิดอาการเจ็บก็ควรเลิกทำ และที่สำคัญต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปจึงจะเห็นผล และไม่จำเป็นต้องทำให้ครบทั้ง 15 ท่า แต่ควรเลือกท่าใดท่าหนึ่งที่เหมาะสำหรับตนเอง ขณะเดียวกันผู้ที่มีอาการปวด บวม หรือกระดูกหัก กระดูกเสื่อมนั้น ควรหลีกเหลี่ยงการบริหารร่างกายด้วยวิธีนี้


สำหรับท่าฤาษีดัดตนประกอบไปด้วย

ท่าที่ 1 ท่านวดกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า

          อาจารย์สุกัญญากล่าวว่า ประกอบด้วย 7 ท่า คือ 1.1 ท่าเสยผม 1.2 ท่าทาแป้ง 1.3 ท่าเช็ดปาก 1.4 ท่าเช็ดคาง 1.5 ท่ากดใต้คาง 1.6 ท่าถูหูและถูหลัง 1.7 ท่าตบท้ายทอย ซึ่งท่านี้จะช่วยในเรื่องของการส่งเลือดไปเลี้ยงที่บริเวณใบหน้า รวมทั้งช่วยบำรุงสายตา และส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง

ท่าที่ 2 ท่าเทพพนม

          วิธีการฝึกนั้นเริ่มตั้งแต่การพนมมือ หลังจากนั้นดันมือที่พนมไปทางซ้าย แล้วกลับมาที่จุดเดิมแล้วดันมือไปทางขวา ซึ่งจุดประสงค์การฝึกท่านี้คือ ต้องการส่งเลือดและลมไปตามแขน เพื่อแก้โรคลมในข้อแขน

ท่าที่ 3 ชูหัตถ์วาดหลัง

          วิธีการฝึกเริ่มจากการชูมือทางข้างขึ้นเหนือศีรษะ จากนั้นประสานมือโดยให้มือทั้งสองจับกัน ต่อมากางมือทั้งสองข้างออกข้างลำตัว และลดระดับมือลงมาจับที่บริเวณเอว กำมือทั้งสองค่อยเข้าหากันและนำมาชนกันบริเวณด้านหลังของเอว

ท่าที่ 4 ท่าแก้เกียจ

          เริ่มจากการประสานมือทั้งสองข้างเข้าหากัน จากนั้นเหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง โดยที่มือทั้งสองประสานกันในลักษณะเหยียดออก จากนั้นยืดแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะพร้อมด้วยมือที่ประสานกัน แล้ววางมือที่ประสานกันลงบนศีรษะ ท่านี้ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้


ออกกำลังกาย

ท่าที่ 5 ท่าดึงศอกไล้คาง

          เริ่มจากการนำมือซ้ายมาแตะบริเวณปลายคาง และมือขวาจับที่บริเวณข้อศอก แล้วลูบปลายคางจากด้านซ้ายมาด้านขวา หลังจากนั้นเปลี่ยนข้างมาใช้มือขวาจบบริเวณปลายคาง แล้วมือซ้ายแตะที่ปลายศอกขวา แล้วลูบปลายคางจากขวามาด้านซ้าย จากนั้นเปลี่ยมมาใช้บริเวณหลังมือแทนฝ่ามือในการลูบปลายคาง โดยทำในลักษณะเดียวกับการใช้ฝ่ามือในขั้นตอนแรก โดยการสลับมือซ้ายและมือขวา

ท่าที่ 6 ท่านั่งนวดขา

          เริ่มจากการนั่งเหยียดขา แล้วนำมือทั้งสองข้างมาจับบริเวณหน้าขา จากนั้นเลื่อนไปจับบริเวณปลายเท้า แล้วค่อย ๆ เลื่อนมาจับบริเวณหน้าขา

ท่าที่ 7 ท่ายิงธนู

          เริ่มจากการนั่งโดยเหยียดขาข้างซ้ายออก ส่วนขาข้างขวานั้นพับงอไว้ มือทั้งสองข้างทำท่าเหมือนการยิงธนู จากนั้นสลับเปลี่ยนขาและทำเช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น

ท่าที่ 8 ท่าอวดแหวนเพชร

          เริ่มต้นจากการนั่งชันเข่า จากนั้นเหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง และกางฝ่ามือซ้ายขึ้น แล้วใช้มือขวาดัดที่บริเวณฝ่ามือซ้าย จากนั้นกางมือซ้ายออกแล้วค่อย ๆ พับนิ้วทั้ง 5 ลงที่ละนิ้วจนครบ จากนั้นสลัดข้อมือขึ้นลงในขณะที่กำลังกำมืออยู่ ทำสลับข้างกันไปเรื่อย ๆ จะช่วยป้องกันในเรื่องของการเกิดโรคนิ้วล็อกได้

ท่าที่ 9 ท่าดำรงค์กายอายุยืน

          เริ่มจากลุกขึ้นยืนพร้อมกับกำมือทั้งสองข้าง โดยให้มือข้างซ้ายอยู่บนมือข้างขวาจากนั้นย่อเข่าลง พร้อม ๆ กับการขมิบท้องและแขม่วก้น จากนั้นจึงค่อย ๆ ผ่อนคลายลง และทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

ท่าที่ 10 ท่านางแบบ

          เริ่มจากการลุกขึ้นยืน จากนั้นใช้มือข้างขวาจับด้านหลัง มือข้างซ้ายจับที่ต้นขา แล้วเอียงคอไปทางด้านขวามือเช่นเดียวกับมือที่จับข้างหลัง หลังจากนั้นหันคอกลับมาที่เดิม ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วทำการเปลี่ยนสลับข้าง สำหรับท่านี้เรียกได้ว่าเป็นการบริหารร่างกายใน แนวบิด จะช่วยในเรื่องของการปวดเมื่อยบริเวณสะโพกได้เป็นอย่างดี

ท่าที่ 11 ท่านอนหงายผายปอด

          ท่านี้ประกอบด้วย 2 จังหวะ โดยจังหวะที่ 1 นั้น เริ่มจากนอนหงายแล้วยังแขนขึ้น จากนั้นเหยียดแขนให้ตรงและแนบกับศีรษะ จากนั้นยกแขนกลับมาแนบบริเวณข้างลำตัว

          ส่วนจังหวะที่ 2 นั้น เริ่มจากนอนหงายใช้มือข้างขวาวางบริเวณหน้าท้อง จากนั้นค่อย ๆ ยกมือทั้งสองข้างชูขึ้น แล้วเหยียดไปแนบข้างศีรษะ จากนั้นประสานมือทั้งสองข้างมาวางไว้บนหน้าผาก แล้วค่อย ๆ เลื่อนมือที่ประสานกันไว้มาอยู่ที่บริเวณหน้าท้อง โดยที่มือทั้งสองข้างยกสูง จากนั้นดึงมือที่ประสานกันทั้งสองข้างกลับมาวาง บนหน้าท้อง ซึ่งท่านี้จะช่วยในเรื่องของการบริหารหัวใจ และแก้โรคในทรวงอก

ท่าที่ 12 ท่าเต้นโขน

          เริ่มจากการยืนกางขาทั้งสองข้างออก แล้วใช้มือทั้งสองข้างวางลงบนหน้าขาทั้งสองข้าง จากนั้นยกขาซ้ายขึ้น แล้ววางขาซ้ายลงกลับมาสู่ท่าเดิม จากนั้นยกขาขวาขึ้น แล้ววางขาขวาลงและกลับมาสู่ท่าเดิม ท่านี้จะช่วยในเรื่องของการทรงตัว

ท่าที่ 13 ท่ายืนนวดขา

          เริ่มจากการยืนตรง จากนั้นก้มตัวลง และใช้มือทั้งสองข้างจับที่บริเวณหัวเข่า แล้วค่อย ๆ ไล่ลงมาถึงปลายเท้า จากนั้นก็เลื่อนมือทั้ง 2 ข้างกลับไปที่หัวเข่าเช่นเดียวกัน สำหรับท่านี้ผู้ที่ปวดหลัง หรือมีอาการเสียวแปลบที่หลัง รวมถึงอาการปวดร้าวและลงขาควรหลีกเหลี่ยงท่านี้

ท่าที่ 14 ท่านอนคว่ำทับหัตถ์

          เริ่มจากการนอนคว่ำ โดยมือทั้งสองข้างวางทับกันอยู่ใต้บริเวณคาง หลังจากนั้นยกศีรษะขึ้น แล้วกระดกเข่าทั้งสองข้างขึ้น และกระดกขาและงอเท้าเข้ามายังบริเวณด้านหลังให้มากที่สุด ท่านี้จะช่วยขับลมเพื่อให้ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น

ท่าที่ 15 ท่าองค์แอ่นแหงนพักตร์

          เริ่มจากการนอนตะแคง จากนั้นยกขาข้างขวาขึ้นและใช้มือจับบริเวณข้อเท้า จากนั้นเปลี่ยนทำสลับข้างกันและทำต่อไปเรื่อย ๆ

          ขณะที่ฝึกท่าฤาษีดัดตนทั้ง 15 ท่านี้ ต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกไปพร้อม ๆ กับการออกท่าทางด้วย จึงจะทำให้การฝึกได้ผลดีกับผู้ฝึก โดยสูดหายใจเข้าให้ลึกที่สุด จากนั้นกลั้นลมหายใจไว้ก่อน แล้วจึงค่อยผ่อนลมหายใจออก


http://health.kapook.com/view21234.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก