จี้รื้อประกันสุขภาพ ยิ่งจ่าย - ไร้สิทธิ์



ประกันสุขภาพ


จี้รื้อประกันสุขภาพ ยิ่งจ่าย-ไร้สิทธิ์ (ไทยโพสต์)

          นักวิชาการแฉระบบประกันสุขภาพของไทยเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ชี้บัตรทองของ สปสช.มีสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลดีกว่าประกันสังคม ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงิน แต่กลับได้รับสิทธิน้อยกว่าคนไม่จ่ายเงิน จี้ยกเครื่องโครงสร้างองค์กรและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ดีขึ้น ฝ่ายตัวแทนลูกจ้างยังยินดีจ่ายเงินสมทบ เชื่อยังไงก็ดีกว่าบัตรทอง
          เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และนักวิจัยเรื่องความแตกต่างสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพระหว่างระบบประกัน สังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เปิดเผยว่า หลัก ประกันสุขภาพทั้งสองระบบของไทยเกิดความเหลื่อมล้ำ โดยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองที่บริหารโดยสำนักงานประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) มีสิทธิประโยชน์ดีกว่าระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทั้งเงื่อนไขการคุ้มครองที่สะดวกต่อผู้รับบริการมากกว่า มีสิทธิประโยชน์มากกว่า และมีการบริหารจัดการเฉพาะเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพดี กว่า จึงเกิดคำถามว่าทำไมผู้ประกันตนที่มี 9.4 ล้านคนในปัจจุบันต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่กลับได้สิทธิประโยชน์ด้อยกว่ากลุ่มคนที่ไม่ต้องจ่ายเงิน

          นพ.พงศธรกล่าวว่า งานวิจัยนี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 18 เดือน มีเนื้อหา 4 ด้าน คือ 

          1. สิทธิประโยชน์

          2. การบริหารจัดการ

          3. กรณีศึกษา

          4. ผลการรักษาทั้งสองระบบแตกต่างกันอย่างไร

          ขณะนี้มีข้อมูลเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ทั้งสองระบบ พบว่าแตกต่างกันหลายรายการ เช่น กรณี เจ็บป่วยฉุกเฉิน ประกันสังคมให้สิทธิไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี บัตรทองไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีโรคไตวายเฉียบพลัน ประกันสังคมคุ้มครองไม่เกิน 60 วัน บัตรทองคุ้มครองไม่จำกัดเวลา กรณีรักษาตัวแบบพักฟื้นและบริการหลังผู้ป่วยกลับบ้าน ประกันสังคมไม่คุ้มครอง บัตรทองคุ้มครอง กรณีทันตกรรม ประกันสังคมไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี บัตรทองไม่จำกัดจำนวนครั้ง และยังมีอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดโรคที่แตกต่างกัน ประกันสังคมมี 81 รายการ บัตรทองมี 207 รายการ
          กรณีการบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย โรคที่เกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดในสมอง โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคหืด วัณโรค เบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นต้น สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ระบบประกันสังคมไม่มีการจัดการเฉพาะ ในขณะที่บัตรทองมีการจัดการเฉพาะ สำหรับกรณีผ่าตัดสมองเป็นรายการเดียวที่ประกันสังคมมี แต่บัตรทองไม่มี นอกจากนี้ กรณีเจ็บป่วย ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะได้รับสิทธิคุ้มครองรักษา แต่บัตรทองได้รับสิทธิทันทีที่ลงทะเบียน

          นพ.พงศธรกล่าวว่า กฎหมายประกันสังคมเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2533 ช่วงนั้นประเทศไทยยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุม จึงถือว่าประกันสังคมเป็นนวัตกรรมสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ก้าวหน้าของสังคม แต่เมื่อประเทศไทยมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ 2545 ที่ดูแลคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เวลานี้กฎหมายประกันสังคมจึงล้าหลังและถึงเวลาแล้วต้องยกเครื่อง โดยขอเรียกร้องให้ผู้ประกันตนทั้ง 9.4 ล้านคนช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่าต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมอย่างไรให้มี สิทธิประโยชน์ดีขึ้น เช่น การรักษาพยาบาลโรคต่าง ๆ และสิทธิประโยชน์ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตระยะยาว การเพิ่มเงินบำนาญชราภาพและการให้กู้ยืม เป็นต้น

          "สังคม ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สปส.ควรจะเพิ่มเงินบำนาญชราภาพให้มากขึ้น ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอแน่นอน จากการตรวจสอบตัวเลขค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลและคลอดบุตรเมื่อปี 2552 จ่ายให้โรงพยาบาล 28,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 64% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งควรที่จะนำเงินก้อนนี้มาบริหารจัดการให้ดีกว่านี้" นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเผย

          น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์จากการรักษาพยาบาลด้อยกว่าบัตรทอง ที่ไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น วันนี้ผู้ประกันตนถามตัวเองว่าเราจะจ่ายเงินไปเพื่ออะไร ทั้ง ๆ ที่บัตรทองก็ให้สิทธิประโยชน์มากกว่า ขณะนี้จึงได้ตั้งชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนเพื่อตรวจสอบการบริหารงานอย่าง ต่อเนื่อง และจะจัดเวทีสมัชชาผู้ประกันตนให้มาร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมกับเตรียมยื่นหนังสือให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ในเร็ว ๆ นี้

          นางวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกันตนยังยินดีจ่ายเงินสมทบประกันสังคม แม้ว่าอาจจะมีสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ด้อยกว่าบัตรทอง แต่ก็ยังคิดว่าประกันสังคมดีกว่า การนำเสนอข้อมูลวิจัยครั้งนี้เป็นเรื่องดีที่กระตุ้นให้คณะกรรมการประกัน สังคมเร่งจัดหาสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่การโอนย้ายผู้ประกันตน 9.4 ล้านคนให้เข้าไปรวมกับบัตรทองเป็นเรื่องยุ่งยากและที่ต้องใช้ระยะเวลา รวมทั้งต้องให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมตัดสินใจ จากการสอบถามแรงงานที่ถือบัตรประกันสังคมก็รู้สึกเฉย ๆ กับเรื่องนี้ เพราะข้อมูลในทางวิชาการกับข้อเท็จจริงอาจแตกต่างกัน

          "ตอน นี้กฎหมายประกันสังคมฉบับร่างใหม่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานให้เป็นองค์กรอิสระ เปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสและเพิ่มสิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น" นางวิไลวรรณกล่าว

          ด้านนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม บอกว่า ได้แจ้งให้กรรมการที่เป็นแพทย์ไปพิจารณาว่าสิทธิประโยชน์ข้อใดที่ยังด้อย กว่าบัตรทอง ก็ควรปรับเปลี่ยนให้ใกล้เคียงกัน ยังมีสิทธิประโยชน์อีกหลายเรื่องที่ไม่มีอยู่ในบัตรทอง ส่วนสาเหตุที่สิทธิประโยชน์ทั้งสองระบบมีความแตกต่างกัน เพราะโครงสร้างการบริหารงานไม่เหมือนกัน ระบบประกันสังคมจ่ายเงินให้โรงพยาบาลแบบเหมาจ่าย ซึ่งแตกต่างจากบัตรทองที่รับผิดชอบโดยรัฐบาล ดังนั้น หากเห็นว่าสิ่งใดที่ปรับปรุงแล้วดีขึ้นก็จะทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน


http://health.kapook.com/view21433.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล